xs
xsm
sm
md
lg

สุขภาพดีต้องบริหาร 4 มิติ กาย กรรม จิต พลัง (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การบริหารสุขภาพแนวพุทธ ตามที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่า สุขภาพดีต้องขึ้นอยู่กับ 4 มิติ ได้แก่ กาย กรรม จิต และพลัง นั้น ท่านผู้อ่านได้เรียนรู้แนวทางการดูแลตนเองในมิติที่ 1 คือ กาย ด้วยการกินที่ดี และการ บริหาร เพื่อให้กลไกการทำงานของกายเป็นไปโดยปกติแล้ว ฉบับนี้ต้องติดตามอีก 3 มิติ คือ กรรม จิต และพลัง ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกค่ะ

กรรม ในที่นี้หมายถึงการกระทำในอดีต ที่มีผลถึงปัจจุบัน ในทางพุทธศาสนากล่าวว่า “สัตว์โลกล้วนมีกรรม เป็นของตน” ไม่ว่าจะถือกำเนิดในฐานะใดก็ตาม หากศึกษาพุทธประวัติจะพบว่า แม้องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังมีการเวียนว่ายตายเกิดหลายภพหลายชาติ และมีการใช้กรรม ที่กระทำในภพที่ผ่านมา ก่อนจะถึงชาติสุดท้ายที่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

แพทย์แผนจีนเชื่อว่า กรรมเป็นเรื่องสำคัญที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเรา ความเจ็บป่วย โชคร้าย อุบัติเหตุ และเรื่องที่ไม่คาดคิด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกรรม เชื่อกันว่าการรักษาโรคใดๆก็ตาม จะชนกับเจ้ากรรมนาย เวรของแต่ละคน จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับกรรมที่เคย ทำไว้ ต้องทำการแก้ไขอย่างที่เรียกว่า “แก้กรรม” ให้บรรเทา เบาบางลง ซึ่งทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญ ใส่บาตร ทำสังฆทาน และปฏิบัติดีปฏิบัติชอบต่อผู้อื่น แต่วิธีที่เชื่อว่า ดีที่สุด คือการปฏิบัติธรรม วิปัสสนากรรมฐาน การวิปัสนากรรมฐานช่วยให้จิตใจนิ่งสงบ เมื่อจิตสงบ จะไม่ขึ้นๆ ลงๆ ไม่หงุดหงิดอารมณ์เสีย น้อยใจ เสียใจ หรือเคร่งเครียดวิตกกังวล จิตที่นิ่งสงบเปิดโอกาสให้เราทำความเข้าใจผู้อื่น และเข้าใจตนเอง เข้าใจสภาวะแวดล้อม มีเมตตา รู้จักให้อภัย และอยู่ได้อย่างมีความสุข

อีกวิธีหนึ่งคือการฝึกสติ เพื่อเปลี่ยนแปลงตนเอง มีข้อสังเกตประการหนึ่งในอาการของคนที่ไม่เคยฝึกสติ คือ เดินเร็ว พูดเร็ว โต้ตอบเร็วอย่างขาดความยั้งคิด และมักโต้เถียง ด้วยอารมณ์หรือทะเลาะวิวาท ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ซึ่งมักจะแก้ไม่ได้ หรือไม่ถูกต้อง คนที่ตั้งสติได้ก่อน จะแก้ปัญหาได้ ถือเป็นบุญประการหนึ่ง

จิตที่ดี สามารถแก้ปัญหาสุขภาพได้ ตรงข้ามกับจิตที่ไม่นิ่ง เกิดความเครียดได้ง่าย และความเครียดส่งผลให้เกิด สารพัดโรค เช่น โรคไมเกรน โรคกระเพาะอาหาร โรคความ ดันโลหิตสูง

สภาวะจิตที่ไม่นิ่ง ส่งผลต่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกาย แพทย์ทางเลือกแยกไว้ 5 อย่างดังนี้
- คนที่ตกใจง่าย ขี้กังวล จะมีผลกระทบต่อไตและกระเพาะปัสสาวะ สังเกตง่ายๆ บางคนกลัวจนปัสสาวะราด
- คนที่โมโหง่าย โกรธ หงุดหงิด อารมณ์เสีย มีผลต่อ ตับ ถุงน้ำดี เพราะร่างกายหลั่งสารอะดรีนาลีนมากเกินไป
- คนที่ตื่นเต้นง่าย มีผลต่อหัวใจ แพทย์จึงมักสั่งห้ามมิให้คนที่เป็นโรคหัวใจต้องกระทบกระเทือนด้วยเรื่อง ตื่นเต้นต่างๆ
- คนช่างวิตกกังวล เครียด มีผลต่อม้ามและกระเพาะ
อาหาร ทำให้เกิดโรคมะเร็ง
- คนที่มีอารมณ์อ่อนไหว กระทบกระเทือนใจง่าย เสียใจง่าย ร้องไห้ง่าย จะส่งผลถึงปอดและลำไส้ใหญ่ ดังจะเห็นได้ว่า บางคนเสียใจจนเป็นลม


มิติสุดท้ายคือ พลัง หรือพลังงาน พลังชีวิต ที่จะช่วยหนุนเสริมมิติทั้ง 3
ในพระไตรปิฎกเรียกพลังชีวิตว่า “อุตุ” พลังในร่างกายเรียกว่า “อัฌฆัตอุตุ” พลังนอกร่างกายเรียกว่า “พหิทธะอุตุ” การที่เราจะสร้างสุขภาพที่ดี เราต้องดึงพลังนอกร่างกาย เข้ามา เพื่อให้เรามีพลังเพิ่มมากขึ้น

คนทั่วไปมีระดับพลังในร่างกายไม่แตกต่างกันมากนัก คือประมาณ 0.7 เก๊าส (gauss -หน่วยวัดพลังงานแม่เหล็ก) แต่คนที่เจ็บป่วย ไม่ว่าทางกายหรือจิตใจ พลังจะลดลง หากเรารู้วิธีฝึกพลัง เพื่อเพิ่มปริมาณพลังงานในร่างกายให้สูงขึ้น จะช่วยให้เราสามารถมีสัมผัสที่เร็ว สุขภาพกายและจิตดีขึ้น ถ้าป่วยก็จะฟื้นตัวได้เร็ว เป็นการพึ่งตนเองขั้นพื้นฐานประการหนึ่ง

วิธีฝึกเพื่อเพิ่มพลังขั้นพื้นฐาน ทำได้โดยการนั่งตัวตรง หลังตรง ขาทั้งสองเหยียดตรงไปข้างหน้า มือทั้งสองวางหงายไว้บนหน้าตัก แล้วเดินลมปราณด้วยการสูดลมหายใจ เข้าช้าๆ จนท้องพอง ใช้ลิ้นแตะเพดานปากบนแล้วขมิบก้น (ทวารหนัก) เพื่อให้พลังงานในร่างกายเชื่อมกันทั้งระบบ ให้นึกว่ามีแสงสีขาวเข้ามาที่กลางศีรษะและกลางฝ่ามือทั้ง สองข้าง จนกระทั่งตัวของเราเป็นสีขาวไปจนถึงเท้า จากนั้น หายใจออกจนหมด

ฝึกวันละ 20 ครั้งเป็นอย่างน้อย โดยก่อนฝึกทุกครั้ง ให้ตั้งสมาธิด้วยการไหว้ หนึ่งคือพระรัตนตรัย สองคือบิดามารดา สามคือครูบาอาจารย์ สี่คือเทวดาที่รักษาตัวเรา และห้า คือสิ่งศักดิ์สิทธ์ทั่วทั้งอนันตจักรวาล

พลังงานเป็นสิ่งที่สูญหายไปได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อเราอยู่ สภาวะแวดล้อมที่มีคนพลังงานต่ำ เช่น คนที่มีความเครียด หรือคนที่เจ็บไข้ได้ป่วย เราจึงควรฝึกทุกวันเพื่อรักษาและเพิ่มพูนระดับพลังงานในร่างกาย

นอกจากรักษาพลังงานและเพิ่มพลังงานแล้ว เรายังสามารถใช้พลังงานในการดูแลตัวเอง ด้วยการอธิษฐานจิตแล้วทำสมาธิที่ 2 ตำแหน่งในร่างกาย คือบริเวณกลางหน้าอก (หัวใจ) และกึ่งกลางหน้าผาก ระหว่างคิ้ว
วิธีการอธิษฐานจิตเพื่อใช้พลังงานดูแลตนเอง ทำได้โดยวิธีต่อไปนี้

นั่งตัวตรง หลังตรง เหยียดขาตรงไปข้างหน้า หลับตา ตั้งจิตอธิษฐานว่า ขอให้ข้าพเจ้ามีร่างกายแข็งแรง สมองสดชื่น แจ่มใส จิตใจเบิกบาน กล่าวในใจซ้ำ 3 ครั้ง แล้วทำสมาธิเพ่งที่กลางหัวใจและกลางหน้าผาก ประมาณ 3 นาที

นอกจากนี้ เรายังสามารถส่งพลังงานให้กับผู้อื่นได้อีกด้วย โดยอธิษฐานจิตและเพ่งสมาธิที่ 2 ตำแหน่งของตนเอง จากนั้นให้นึกถึงใบหน้าของผู้ที่เราต้องการเผื่อแผ่พลัง เช่น นึกถึงใบหน้าของลูก ใบหน้าของญาติที่กำลังป่วย หรือใบหน้า บุคคลที่เราปรารถนาดี แล้วส่งพลังไปที่จุดกึ่งกลางหน้าผาก ของบุคคลนั้น

มีข้อควรจำว่า พลังที่ส่งต่อให้ผู้อื่น ต้องเป็นการอธิษฐานจิตในทางที่ดีเท่านั้น และที่สำคัญ เมื่อเราฝึกเพิ่ม พลังงานให้กับตนเองแล้ว เราต้องแบ่งให้คนอื่นๆ ในภาษา ทางพุทธคือการแผ่เมตตานั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การอธิษฐานเพื่อเพิ่มพลังงานไม่ได้ทำแล้วสำเร็จในทันที การฝึกฝนทุกอย่างต้องได้มาด้วยความเพียร การฝึกเพื่อเพิ่มพลังงานต้องปฏิบัติทุกวัน ควบคู่ไปกับการดูแลร่างกาย จิตใจ และการกระทำที่ดีงาม เพื่อให้สุขภาพดีทั้ง 4 มิติ

(หมายเหตุ : เรียบเรียงจากการบรรยายของ อาจารย์ณิชาพัฒน์ ธาดาธนากร ในงานอุทยานอนุรักษ์สุขภาพ ครั้งที่ 23 ณ บ้านเจ้าพระยา จัดโดยโครงการผู้จัดการสุขภาพ)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 85 ธ.ค. 50 โดยพรนภัส)
กำลังโหลดความคิดเห็น