xs
xsm
sm
md
lg

อุดมการณ์อันแน่วแน่ ของ ‘ปัญญานันทภิกขุ’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การมรณภาพของพระพรหมมังคลาจารย์ หรือหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2550 ที่ผ่าน มา ยังความเศร้าโศกเสียใจอย่างสุดซึ้งมาสู่พุทธศาสนิกชน ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสและเคารพรักในองค์หลวงพ่ออย่างไม่เสื่อมคลาย

77 ปีแห่งการเป็นศิษย์ตถาคตของหลวงพ่อปัญญา เป็น 77 ปีแห่งการดำรงมั่นในการเจริญรอยตามพระศาสดา ดังคำของพระพุทธองค์ ที่หลวงพ่อได้นำมาสอนพระภิกษุเสมอๆว่า

“เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่มหาชน จงประกาศธรรมะอันไพเราะเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด แก่เขา คนที่มีกิเลสบังดวงตาน้อยๆมีอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะไม่ได้สดับตรับฟัง จึงไม่ รู้ไม่เข้าใจ เธอจงไปสอนเขา อย่าไปทางเดียว กันสองรูป เพราะว่าพระน้อย ให้ไปทางเดียว รูปเดียว แล้วเราก็จะไปเหมือนกัน”

• คำอธิษฐานของหลวงพ่อ

เมื่อครั้งเป็นสามเณร ได้ไปศึกษาพระปริยัติธรรม ที่นครศรีธรรมราช หลวงพ่อได้ไปสักการะพระบรมธาตุ พร้อมตั้งจิตอธิษฐานเป็นครั้งแรก ว่า

“มาอยู่ที่นี่เพื่อศึกษาธรรมะให้แตกฉาน แล้วจะสอนคนให้รู้จักผิดชอบชั่วดี ขอมอบ กายถวายชีวิตแด่พระพุทธเจ้า”

และหลวงพ่อยังได้เคยอธิษฐานต่อพระแก้วมรกต, พระพุทธชินราช, พระบรมธาตุ ที่พระมหาเจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง พม่า และที่ต้นพระศรีมหาโพธิ พุทธคยา อินเดีย ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้

“ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายชีวิตแด่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ข้าพเจ้าเกิดมาเพื่อรับใช้พระพุทธศาสนา ข้าพเจ้าจะอยู่เพื่อทำงานให้แก่พระศาสนาจนกว่าชีวิตจะหาไม่ จะประกาศแต่สิ่งที่ถูกต้องตาม คำสอนของพระพุทธเจ้า”

• อุดมการณ์ประจำใจ

“ฉันเกิดมาเพื่องาน อยู่เพื่องาน งานคือชีวิต ชีวิตคืองานบันดาลสุข ทำงานให้สนุก เป็นสุขขณะทำงาน ไม่หวังอะไร ทำเพื่อให้..ไม่ได้เพื่อจะเอา..ไม่ได้อยู่เพื่อลาภเพื่อยศ”

เป็นอุดมการณ์ที่ท่านได้ยึดถือปฏิบัติอย่างแน่วแน่และมั่นคงมาตลอดชีวิต ตั้งแต่ ก้าวเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ และอุดมการณ์อีกอย่างหนึ่งที่ท่านได้อธิษฐานใจไว้ จนกลาย มาเป็นนักเทศน์ฝีปากกล้า ก็คือ

“เราต้องแก้ไขความเป็นอยู่ของพุทธ-บริษัท แก้ไขความเชื่อ แก้ไขการกระทำของ พุทธบริษัท ก็เลยตั้งใจว่า ต้องเทศน์อย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องเกรงใจใคร ไม่ว่าใคร จะอยู่ในที่นั้น ถ้าทำผิดก็ต้องเทศน์ว่าผิด ถ้าทำถูกก็ต้องบอกว่าถูก เมื่อได้ตั้งใจอย่าง นี้แล้วก็ได้ทำตามอุดมการณ์ เพราะฉะนั้นเมื่อไปเทศน์เมืองไหน เขาก็หาว่าไปเทศน์ด่าเขา เพราะไปแนะนำให้เขาเลิกไหว้ผีสาง เทวดา ให้เลิกไหว้อะไรๆที่ไม่สมควรไหว้ ให้มีใจจงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อย่างแท้จริง...”

• จุดเริ่มของการเป็นพระนักเทศน์

ท่านปัญญานันทภิกขุ เริ่มเทศน์ในพรรษาที่ 2 ของการเป็นพระภิกษุท่านได้เล่า ไว้ในปาฐกถาครั้งประวัติศาสตร์ ท่ามกลางที่ชุมนุมยุวสงฆ์นับหมื่นรูป ว่า

“เทศน์ครั้งแรกมีคนฟัง 2 คนเท่านั้นเอง สองคนนั้นก็ใช่ใครที่ไหน ผัวกับเมียที่มาฟังกัน พอคืนที่สอง เพิ่มขึ้นเป็น 3 คน เพราะพาลูกมาด้วยคนหนึ่ง ถึงกระนั้นก็ไม่ท้อถอย เทศน์เรื่อยไป ไม่คำนึงถึงว่าคน มากคนน้อย เรานึกแต่เพียงเรื่องเผยแผ่ธรรมะ พระพุทธเจ้าเทศน์ครั้งแรก มีคนฟัง 5 คน เรามันลูกศิษย์ชั้นปลายแถว เอาแค่ 2 คนก็พอแล้ว นึกอย่างนี้มันก็สบายใจ เลยเทศน์ให้ญาติโยมฟัง ญาติโยมพอใจ ก็ไปเล่าลือกันว่า “พระอะไรก็ไม่รู้ ห่มจีวรดำๆ เทศน์ปากเปล่า ไม่ถือคัมภีร์” คนก็มาฟังกันใหญ่...”

• พระธรรมกถึกผู้ยิ่งใหญ่ ด้วยลีลา การสอน แจ่มแจ้ง จูงใจ แกล้วกล้า ร่าเริง

จากวันนั้นจนวันที่ท่านจากไป เป็นเวลาถึง 75 ปี ที่ท่านออกเดินทางไปเทศน์ทุกหนทุกแห่งทั่วประเทศไทย รวมถึงในต่างประเทศ อย่างมิรู้เหน็ดเหนื่อย ด้วยอยาก เห็นคนไทยเป็นพุทธบริษัทที่ถูกต้อง เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ไม่ปฏิบัติตนในสิ่งที่ขัดแย้งกับแก่นแท้ของพุทธศาสนา เช่น การบน บานศาลกล่าว ไหว้พระเพื่อขอหวย ดูดวง ทรงเจ้าเข้าทรง เป็นต้น แม้ว่าการเดินทาง ในยุคแรกๆจะยากลำบากก็ตามที ท่านเล่าว่า

“สมัยโน้นมันลำบาก...เดินกันจนริมสบงขาดเลยทีเดียว เดินวันหนึ่งไปเทศน์กัณฑ์หนึ่ง เดินกลับมานอนวัดคืนหนึ่ง แล้วเดินไปอีกวันหนึ่งไปเทศน์กัณฑ์หนึ่ง..”

“..สงสาร ว่าทำไมมันโง่ ต้องฆ่าโง่ เราต้องสอนคนให้ฉลาด คนว่ายน้ำไม่เป็น เรานั่งดูไม่ได้ ต้องไปช่วย ไม่ให้มันตกน้ำตาย ถ้าไม่ช่วยก็เสีย ไม่มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์”

และไม่ว่างานนั้นจะเล็กหรือใหญ่ มีคน ฟังน้อยหรือมาก หลวงพ่อก็ไม่เคยปฏิเสธ

“เรามีหน้าที่สอนคน คนเดียวก็สอน ห้า คนก็สอน สิบคนก็สอน”

สำหรับผู้ได้เคยฟังธรรมของหลวงพ่อมาแล้ว ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ท่านคือพระธรรมกถึก หรือพระนักเทศน์ผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้สมบูรณ์แล้วด้วยธรรมของนักเทศน์ 5 ประการ คือ 1.กล่าวความไปตามลำดับ คือ แสดงหลักธรรมหรือเนื้อหาวิชาตามลำดับความง่ายยากลุ่มลึก 2.ชี้แจงยกเหตุผลมาแสดงให้เข้าใจชัดในแต่ละประเด็น 3.แสดงธรรมด้วยอาศัยเมตตา คือสอนด้วยจิตเมตตา มุ่งจะให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง 4.ไม่แสดงธรรมด้วยเห็นแก่อามิส คือ มิใช่สอนเพราะมุ่งหมายว่าจะได้ลาภ หรือผลประ-โยชน์ตอบแทน 5.แสดงธรรมไม่กระทบตนและผู้อื่น

สำหรับลีลาการสอนของหลวงพ่อนั้น ก็ มีองค์ประกอบเข้าตามคุณลักษณะ 4 ประการ ในเทศนาวิธี 4 คือ 1.ชี้แจงให้เห็นชัดเจน จำแนกแยกแยะ แสดงเหตุผลจนผู้ฟังเข้าใจ แจ่มแจ้ง เห็นจริงเห็นจัง เพื่อปลดเปลื้องความเขลาหรือความมืดมัว 2.จูงใจให้อยาก รับเอาไปปฏิบัติ โดยแนะนำหรือบรรยายให้ ซาบซึ้งในคุณค่าของสิ่งที่ควรประพฤติปฏิบัติ ให้ผู้ฟังมองเห็นความสำคัญที่จะต้องฝึกฝน บำเพ็ญ อยากนำไปปฏิบัติ เพื่อปลดเปลื้องความประมาท 3.เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า คือปลุกเร้าใจผู้ฟังให้กระตือรือร้น เกิดความ อุตสาหะ มีกำลังใจแข็งขัน มั่นใจที่จะทำให้สำเร็จจงได้ โดยไม่กลัวยากลำบาก เพื่อปลดเปลื้องความล่าช้าเกียจคร้าน 4.ปลอบชโลมใจผู้ฟังให้สดชื่นร่าเริงเบิกบาน โดยชี้ให้เห็นผลดีหรือคุณประโยชน์ที่จะได้รับและทางที่จะก้าวหน้าบรรลุผลสำเร็จยิ่งขึ้นไป ทำให้ผู้ฟังมีความหวังและร่าเริงเบิกบานใจ ทั้งนี้ก็เพื่อให้สัมฤทธิ์ในการปฏิบัติ

• ไม่อยากเป็นสมภาร

เมื่อครั้งที่หม่อมหลวงชูชาติ กำภู อธิบดีกรมชลประทาน ได้นิมนต์หลวงพ่อ ซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่ และเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากการตระเวนออกเทศน์ โดยรถยนต์ติดเครื่องขยายเสียงไปตามหมู่บ้านต่างๆ ให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ ซึ่งเป็นวัดที่กรมชลประทานสร้างใหม่ เบื้องต้นท่านยังไม่รับปาก แต่ขอไปดูก่อน ด้วยความรู้สึกตามที่ท่านเล่าว่า

“อาตมานี่ ไม่อยากเป็นสมภาร แต่มีข้อ แม้ว่า ถ้าวัดใหม่เอี่ยม เขานิมนต์ให้เป็นสมภาร..เป็น หรือวัดเก่าร้างไม่เหลือพระสักองค์เดียว..เป็น ทำไมจึงตั้งอย่างนั้น เพราะวัดใหม่เราวางรากฐานใหม่ได้ วัดเก่าไม่มีใครเหลือสักองค์เลย เราวางมาตรใหม่ได้”

เมื่อท่านได้เดินทางมาดูเห็นว่าบริเวณวัดชลประทานฯส่วนใหญ่ยังเป็นทุ่งนา แต่มีกุฏิสร้างแล้ว และเห็นว่าที่ตรงนี้เหมาะที่จะวางรากฐาน เพราะอยู่ตรงกลาง สะดวกแก่การเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ ท่านจึงได้ตัดสินใจรับเป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2503 เป็นต้นมา

• วางหลักการวัด ปฏิรูปพิธีกรรม

หลวงพ่อได้เทศน์สอนญาติโยมเสมอว่า “หลักธรรมของพระพุทธเจ้าท่านสอนประหยัด หลักปฏิบัติทฤษฎีอันใดที่เป็นไปเพื่อความสุรุ่ยสุร่าย ไม่ใช่พุทธศาสนา”

ดังนั้น เมื่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดชลประทานฯแล้ว ท่านก็เริ่มวางรากฐานวัดให้มั่นคง ด้วยการวางหลักการของวัดชลประทานรังสฤษฏ์ ไว้ดังนี้ 1.สร้างวัดให้เป็นสถาน ที่พักผ่อนกายและจิต หว่านโปรยความสงบ สุขแก่สาธุชนทั่วไป 2.แก้ไขประเพณีที่ไม่เกิด ความรู้ความฉลาด ชำระล้างความเชื่ออันไร้เหตุผลให้หมดสิ้นไป 3.ชักจูงประชาชนให้ ใช้ธรรมะเป็นประทีปส่องทางดำเนินชีวิต 4.ไม่สนับสนุนการศึกษาและปฏิบัตินอกแนว พุทธธรรม ไม่ส่งเสริมไสยศาสตร์ 5.ไม่แสวง หาเงินบำรุงวัดจากความโง่หลงของชาวบ้าน

ในส่วนการปฏิรูปพิธีกรรมทางศาสนาภายในวัด ก็เน้นให้เป็นไปเพื่อส่งเสริมสติปัญญา ตามหลักการเป็นระเบียบ เรียบง่าย ประหยัด ได้ประโยชน์ ซึ่งท่านบอกว่าพิธี กรรมบางอย่าง ก็ช่วยยกระดับจิตใจ แต่บาง อย่างก็ช่วยให้งมงาย ต้องดูว่าพิธีกรรมอะไร
เป็นประโยชน์

ด้วยเหตุนี้ พิธีกรรมต่างๆอาทิ งานบวช งานศพ ที่วัดชลประทานฯ จึงเป็นไปตามหลักการที่ท่านตั้งไว้

• บวชแบบเรียบง่าย ประหยัด ได้สาระ

ภาพงานบวชที่เราคุ้นเคยกันมานานตามวัดต่างๆก็คือมีการมีการทำขวัญนาค แห่รอบโบสถ์ โปรยทาน มีภาพยนต์ดนตรีเฉลิมฉลอง แต่งานบวชที่วัดชลประทานฯไม่มีสิ่ง เหล่านี้!! ซึ่งหลวงพ่ออธิบายว่า

“ไม่ต้องทำขวัญนาค ทำขวัญโยมดีกว่า สอนให้โยมรู้ว่า มาวัดทำไม มาเพื่ออะไร มาแล้วควรจะได้อะไร การบวชคืออะไร แล้วควรทำอย่างไร พูดให้เขาเข้าใจ แล้วก็ไม่ต้องให้ซื้ออะไรมากมาย เงินทั้งนั้น เอาไปทิ้งฟุ่มเฟือย เสียประโยชน์...

...ความจริงคำทำขวัญมันก็ดีเหมือนกัน คือสอนให้นาคมีความกตัญญูกตเวที นึกถึงน้ำนมข้าวป้อนของบิดามารดา แล้วก็พูดแบบไพเราะ คนก็ชอบฟังกัน แต่ว่ามันได้สาระไม่คุ้ม แล้วต้องเสียเงินด้วย ค่าทำขวัญนาคแพง ก็เลยเปลี่ยนเอาพระเทศน์ดีกว่า พุ่งเข้าจุดที่ต้องการ ทำอย่างนั้นประหยัด

...การแห่รอบโบสถ์ก็ไม่จำเป็น เพราะเราจะไปหาพระพุทธเจ้า จะไปเที่ยวเดินเวียนอยู่ทำไม พุ่งเข้าไปหาเลย ไม่เสียเวลา..”

หรือแม้กระทั่งเส้นผมของนาคที่โกนแล้ว เมื่อมีผู้ถามท่านว่า จะให้เอาผมไปไว้ที่ไหน ท่านบอกสั้นๆว่า “โยนทิ้งขยะไป”

เนื่องจากที่วัดชลประทานฯกำหนดการบวชทุกวันที่ 1 ของเดือน (ยกเว้นเทศกาลเข้าพรรษา) จึงไม่มีฤกษ์ยามให้กับผู้บวช ดังนั้นผู้มาบวชที่นี่จึงมีเพียงแต่การเตรียมใจให้พร้อม งดเหล้าบุหรี่ได้อย่างเด็ดขาด และต้องผ่านการสอบท่องคำอุปสมบทให้ผ่าน จึงจะบวชได้ และต้องบวชอย่างน้อย 15 วัน (เฉพาะผู้บวชนอกพรรษา) ขณะบวชต้องศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัย เข้ารับการอบรม ทั้งภาคเช้า-บ่าย ส่วนกลางคืนต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐาน พร้อมทำวัตรเช้า-เย็นไม่ให้ขาด และต้องฟังพระปาฏิโมกข์ในวันอุโบสถด้วย

ส่วนวันสึกนั้นก็ไม่จำเป็นต้องมีฤกษ์สึก เช่นกัน แต่ส่วนมากท่านมักจะสึกให้ตอนตีห้าครึ่ง เพราะเป็นช่วงเวลาที่ท่านจะได้มีโอกาสสอนลูกศิษย์อีกครั้งก่อนจะก้าวออกจากอาราม

มีญาติโยมบางรายที่อาจไม่คุ้นชินกับการ ไม่ดูฤกษ์ยามในการบวชการสึก โดยเฉพาะเรื่องการสึก ด้วยความเชื่อที่ฝังมานานว่า หากไม่หาฤกษ์สึกให้ดีแล้ว สึกออกไปอาจเป็นบ้าได้ จึงต่างพากันวิตกกังวล หลวงพ่อ จึงเทศน์ให้ฟังว่า

“ฤกษ์ของอาตมาวิเศษกว่าใครๆ อาตมานี่ใช้ตำราพระพุทธเจ้า...ตำราพระพุทธเจ้าว่า ทำดีเวลาไหน มันก็ดีเวลานั้นแหละ ทำชั่วเวลาไหน มันก็ชั่วเวลานั้นแหละ เวลา...
มันไม่ดีไม่ชั่ว ดี-ชั่วมันอยู่ที่การกระทำ”

• งานศพ..ลดสวด เพิ่มสอน

ตามปกติแล้วงานศพทั่วไป มักจะมีการสวดพระอภิธรรม 4 จบ และในระหว่างนั้นจะมีการพักให้ผู้มาร่วมงานรับประทานอาหารเล็กๆน้อยๆ แต่สำหรับวัดชลประทานฯจะลดการสวด แต่เพิ่มการสอน โดยสวดพระอภิธรรมเพียง 1 จบ และเทศน์ 1 จบ ไม่มีการเลี้ยงอาหาร มีแต่น้ำดื่มเท่านั้น ในเรื่องนี้หลวงพ่อให้อรรถาธิบายว่า

“...สวดพอเป็นพิธีเล็กน้อย เพราะว่า การสวด ไม่ใช่สวดศพสวดผี แต่สวดเพื่อให้คนเป็นฟัง เมื่อคนเป็นฟังไม่รู้เรื่อง สวดทำไมนานๆ เสียเวลาเปล่าๆ...”

“...งานศพไม่ใช่งานสนุก เป็นงานที่ทุก คนมาเอาศพเป็นตัวอย่างสอนใจ การสวดไม่ได้เรื่อง ต้องเปลี่ยนเป็นสอนให้คนไม่ประมาท จะตายแล้วต้องรีบทำดีก่อนตาย เราทำหน้าที่ คือ สอน เขามาแล้วเราไม่สอน มันก็โง่ ไปทำแบบโง่ๆ...”

“...ไม่ประหยัด เรื่องเลี้ยงนะ ตั้งศพ 7 คืนนี่ต้องเลี้ยงทุกคืนๆ เสียเงินเท่าไหร่ เจ้าภาพเป็นทุกข์เพราะคุณพ่อคุณแม่ตายนี่ก็พอแล้ว ยังมาเป็นทุกข์เรื่องหาของเลี้ยงอีก เลี้ยงพอดีพอร้ายก็ไม่ได้ กลัวคนนินทา กลัวไม่สมเกียรติ ก็ต้องทำเต็มที่ สิ้นเปลือง มาก อาตมาได้ศึกษาแล้ว งานศพหนึ่งเลี้ยงเท่าไหร่ แล้วก็เลยประกาศว่า งานศพที่วัดชลประทานไม่มีการเลี้ยง โยมรับได้ เขาพอใจ...”

นอกจากนี้ ยังมีการขอให้งดใช้พวงหรีด ในงานศพ ด้วยเหตุผลที่หลวงพ่อบอกว่าเป็น การไม่ประหยัดและไม่เกิดประโยชน์

“พวงหรีดนี่ก็แพง พวงละ 400-500 แล้ว ถ้าศพที่มีคนรู้จักมากๆ เป็นเงินรวมแล้วตั้งแสน สิ้นเปลือง เลยแนะนำว่า เอาเงินใส่ซอง เขียนชื่อ บ้านเลขที่ เบอร์โทร-ศัพท์ด้วย มอบเจ้าภาพ เจ้าภาพเก็บเงินเหล่านี้ไว้ ทำศพเสร็จแล้ว รวมญาติมานั่งเปิดซองกัน จดไว้ใครเท่าไหร่ๆจะได้เอาคืน เขาเวลาเขาตายกัน แล้วเงินนี้อย่าเอาไปใช้ เอาไปทำบุญ มูลนิธิ สภากาชาด อะไรเยอะแยะเป็นส่วนรวม ทำอย่างนั้นมันจะเกิดประโยชน์มากกว่าที่ซื้อพวงหรีด”

และก่อนการเผาศพ จะมีการเทศน์ก่อน ทุกครั้งเพื่อเตือนสติเตือนใจผู้มาเผาศพ

• ปฏิเสธไสยศาสตร์ ดูดวงสะเดาะ-เคราะห์

หลวงพ่อปฏิเสธเรื่องไสยศาสตร์ ดูดวง สะเดาะเคราะห์ รดน้ำมนต์ พ่นน้ำหมาก เพราะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ที่ แท้จริง และการที่พระไปประพฤติปฏิบัติเช่นนั้น เป็นการไม่ซื่อตรงต่อพระพุทธเจ้า เป็นการทำไปเพื่อลาภสักการะ

“หลักการของวัดนี้มีว่า ให้การศึกษาแก่ ประชาชนผู้เข้ามาในวัด จะมาคนเดียว สองคน สิบคน เท่าไรก็ตาม ต้องให้การศึกษา ให้ออกไปด้วยการลืมหูลืมตา ฉลาดขึ้น ไม่ทำอะไรที่ทำให้คนหลงหรืองมงาย

ถ้าเขามาขออะไรที่มันไม่ถูกต้อง..ไม่ให้ แต่จะอธิบายให้เขาเข้าใจ ยกตัวอย่างว่า ผู้หญิงคนหนึ่ง มีความทุกข์มาก หน้าตาซีด เซียว บอกหนูนี่เกิดมาอาภัพอับโชค มีแต่ความทุกข์ ช่วยรดน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์ให้หนูหน่อย เอ้า..หนูนั่งก่อน เอาน้ำให้กิน หนูเล่าชีวิตของหนูให้หลวงพ่อฟังซิ เล่าตามความจริง ว่ามีความเป็นอยู่อย่างไรบ้าง แกก็เล่าๆๆๆ หลวงพ่อนั่งฟังเฉยๆ พอจบแล้วก็อธิบายเป็นเรื่องๆ จุดประสงค์จะให้เข้าใจว่า อะไรๆที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรานั้น เกิดจากตัวเราเอง ไม่ใช่เกิดจากเรื่องอื่น แก้ที่ตัวก่อน หนูยังต้องการรดน้ำมนต์อีกมั้ยไม่ต้องแล้วเจ้าค่ะ หนูเข้าใจแล้ว หนูจะไปจัดการกับหนูเอง เออ..มันฉลาดขึ้น ใช้ธรรมะช่วย น้ำมนต์รดตัวนิดหน่อยไม่ได้เรื่องอะไร เอาน้ำธรรมดีกว่า”

• ริเริ่มโครงการเพื่อพัฒนาปัญญา

ไม่เพียงแต่ปรับรูปแบบพิธีกรรมในวัดให้เป็นไปเพื่อปัญญาแล้ว หลวงพ่อยังได้ริเริ่มโครงการต่างๆเพื่อส่งเสริมให้ผู้คนทั่วไปได้เกิดปัญญาเพิ่มขึ้นอีกด้วย อาทิ การแสดงปาฐกถาธรรมที่วัดทุกวันอาทิตย์ การบวชพระนวกะประจำเดือน โครงการธรรม-ทายาท อบรมพระภิกษุให้เป็นนักเผยแผ่ธรรมะที่ดี โครงการส่งหนังสือธรรมะเป็น ส.ค.ส.ปีใหม่ การจัดค่ายคุณธรรมแก่เยาวชนตามโรงเรียนต่างๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ท่านยังได้ริเริ่มการปาฐกถาธรรมหรือการแสดงธรรมจากการนั่งเทศน์มาเป็นการยืนเทศน์ในบางครั้งบางคราวด้วย

• ทำงานหนักจวบจนวาระสุดท้าย

หลวงพ่อถือว่า การทำงาน คือการปฏิบัติธรรม ดังนั้นตลอดชีวิตของท่านจึงทำงานให้กับพระพุทธศาสนาอย่างชนิดที่แทบจะเรียกได้ว่า ไม่มีวันใดเลยที่จะไร้ซึ่งการงาน แม้ว่าสังขารของท่านจะร่วงโรยไปตามกาลเวลาและมีโรคภัยไข้เจ็บมากมายเข้ามาเบียดเบียนก็ตาม ยกเว้นช่วงที่ป่วยและต้องเข้าไปนอนในโรงพยาบาลเท่านั้น

กระทั่งกระทรวงพัฒนาสังคมและความ มั่นคงของมนุษย์ ได้ถวายรางวัลผู้สูงอายุแห่งชาติ ปี 2550 ให้กับท่าน ซึ่งถือเป็นคนแรกของประเทศไทยที่ได้รางวัลนี้ หลวงพ่อ ได้เล่าให้ญาติโยมฟังอย่างติดตลกว่า “เป็นรางวัล ‘พระแก่’ เพื่อตอบแทนความดี ในฐานะที่แก่แล้วแต่ยังไม่หยุดทำงาน”

เหตุผลในการมุมานะทำงานหนัก แม้ใน ยามบั้นปลายของชีวิตเช่นนี้ หลวงพ่อบอกว่า

“ยิ่งแก่ยิ่งต้องทำให้มาก ยิ่งป่วยยิ่งทำงานหนัก ยิ่งไม่สบายยิ่งทำงานหนัก เพราะต้องรีบ ไม่รีบ มันจะตายแล้ว ตายแล้วทำไม่ได้ ต้องทำเสียก่อนตาย ทำก่อนจนกว่าจะหมดลมหายใจ”

• คำสั่งของหลวงพ่อ

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เคยสนทนากับหลวงพ่อในรายการขอคิดด้วยคน เมื่อปี 2540 ถึงเรื่องความตายว่า สมมติว่าหลวงพ่อ ตายลง มีความตั้งใจว่าจะให้พวกเราทำอย่าง ไร จะให้มีการสวดหรือไม่ จะให้เก็บกี่วัน และหากมีคำสั่งสักอย่างหนึ่ง จะสั่งอะไร หลวงพ่อได้ตอบว่า

“ตายลงก็รีบเผาเสีย เก็บสามเดือนแล้ว ก็เผา ไม่ช้า พอพิมพ์หนังสือทันไว้แจกชาวบ้าน ไม่ต้องสวดทุกคืน เทศน์ให้ฟัง เปิดเทป เทปที่อาตมาพูดไว้เยอะแยะ ถ้ามี คนมาก็เปิดเทป เอาไมโครโฟนตั้งไว้บนหีบ ศพเลย เหมือนว่าเสียงดังมาจากในโลง”

“สั่งไม่ให้ใช้จ่ายในทางที่ไม่ควรจ่ายสุรุ่ยสุร่าย เพราะว่าพระผู้ใหญ่ตายนี่สิ้นเปลืองมาก ทีนี้อยากจะทำให้เป็นตัวอย่าง ไม่ต้องให้สิ้นเปลือง เผาง่ายๆ”

อย่างไรก็ตาม หลวงพ่อปัญญาก็ไม่ได้พูดเรื่องนี้กับพระในวัด โดยพระเทพปริ-ยัติเมธี(รุ่น ธีรปญฺโญ) รักษาการเจ้าอาวาสวัดชลประทานฯบอกว่าหลวงพ่อท่านไม่ได้สั่งอะไรเป็นหลักเป็นเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องร่างกายหรือสรีระของท่าน ดังนั้น ในส่วนของ คณะสงฆ์ในวัดจึงได้ตกลงกันว่า จะเก็บเอา ไว้ให้ครบ 100 ปี ตามที่ท่านปรารภไว้ว่าจะอยู่ 100 ปีแล้วค่อยตาย ก็เหลือเวลาอีก 3 ปีครึ่ง ดังนั้น เมื่อบำเพ็ญกุศลเสร็จ 100 วัน ก็จะเคลื่อนย้ายศพมาไว้ที่อาคารพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อปัญญา เพื่อให้ญาติโยมสะดวกใน การกราบไหว้

• เตรียมเสนอ ‘ยูเนสโก’ ยกหลวงพ่อปัญญา เป็น ‘บุคคลสำคัญของโลก’

ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะกรรมการบริหารขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก) กล่าวถึงการจะเสนอชื่อหลวง-พ่อปัญญาฯ ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ว่า ผู้ที่จะถูกนำเสนอได้จะต้องมีอายุครบ 100 ปี หรือหากเสียชีวิตไปแล้วจะต้องรอให้ครบรอบวันเกิดของบุคคลคนนั้นให้ครบ 100 ปี และต้องทำเรื่องเสนอต่อยูเนสโกล่วงหน้า 2 ปี ก่อนที่ผู้ที่จะถูกเสนอชื่อจะมีอายุครบ 100 ปี ดังนั้น หากจะเสนอชื่อหลวงพ่อปัญญาฯ จะต้องเสนอชื่อในปี 2552 เพราะหลวงพ่อปัญญาฯ จะมีอายุครบ 100 ปี ในปี 2554

.....
แม้หลวงพ่อปัญญาจะละสังขารไปแล้วด้วยวัย 97 ปี แต่ศีลาจารวัตรและปฏิปทาอันน่าเลื่อมใส รวมทั้งคุณูปการยิ่งใหญ่ที่ท่านสร้างไว้ในบวรพระพุทธศาสนา ยังคงดำรงอยู่เป็นอนุสรณ์แก่ชนรุ่นหลังสืบไปตราบกาลนาน

ขอฝากคำสอนของหลวงพ่อไว้เตือนใจผู้คนที่ท้อแท้จากการทำงานแล้วไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คาดหวัง

“มันเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรที่สำเร็จดังที่เราต้องการ ต้องทำแล้วทำอีก ทำจนสำเร็จ อย่าท้อแท้ การท้อแท้ไม่ใช่วิสัยคน ไม่ใช่วิสัยมนุษย์ ที่เป็นคนขี้แพ้ เราไม่ใช่อยู่เพื่อ ความแพ้ เกิดมาเพื่อชนะ ต้องสู้มันต่อไป ทำให้ถูก ผิดแก้ใหม่ แก้จนถูก ไม่ละไม่เลิก ตราบใดที่ยังไม่ถึงฝั่งเธอต้องว่ายเรื่อยไป ไม่หยุด จนถึงปลายทาง”

ประวัติพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ)

พระพรหมมังคลาจารย์ นามเดิมว่า ปั่น เสน่ห์เจริญ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2454 ที่ ต.คูหาสวรรค์ อ.เมือง จ.พัทลุง เป็นบุตรของนายวัน และนางคล้าย เสน่ห์เจริญ เมื่ออายุ 18 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดอุปนันทาราม จ.ระนอง และอายุครบ 20 ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดนางลาด ต.เขาเจียก อ.เมือง จ.พัทลุง โดยมีพระครูจรูญกรณีย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อปี พ.ศ. 2474 ได้รับฉายาว่า ปญฺญานนฺโท

หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุได้เดินทางไปศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมในหลายจังหวัดที่มีสำนักเรียน เช่น นครศรีธรรมราช สงขลา และกรุงเทพมหานคร ท่านสอบนักธรรมตรีได้เป็นที่ 1 ของมณฑลภูเก็ต และสอบได้นักธรรมโทและเอกในเวลาต่อมา

ในปี พ.ศ.2476 ได้ร่วมคณะพระภิกษุใจสิงห์ธุดงค์ไปเผยแผ่ธรรมะที่ประเทศพม่ากับพระโลกนาถ ภิกษุชาวอิตาลี พ.ศ.2480 ท่านได้ ไปจำพรรษา ที่สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมกับพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) และพระราชญาณกวี (บุญชวน เขมาภิรัต) อดีตเจ้าคณะจังหวัดชุมพร เป็นสามสหายธรรม ร่วมงาน เผยแผ่พระพุทธศาสนามาตั้งแต่บัดนั้น

พ.ศ.2481 ได้เข้ามาศึกษาภาษาบาลีที่สำนักเรียนวัดสามพระยา กรุงเทพฯ จนจบเปรียญธรรม 4 ประโยค แต่เนื่องจากเกิดสงครามโลก ครั้งที่ 2 ทำให้ต้องหยุดการศึกษาไว้เพียงเท่านั้น จากนั้น พ.ศ.2488 ท่านได้ไปประกาศพระพุทธศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492-2502 ท่านได้ไปจำพรรษาที่วัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่ ได้แสดงธรรมทุกวันพระและวันอาทิตย์ รวมทั้งออกเทศน์ตามหมู่บ้านต่างๆโดย รถยนต์ติดเครื่องขยายเสียง และเขียนเรื่องลงหนังสือพิมพ์ชาวเหนือ จนมีชื่อเสียงในนามภิกขุปัญญานันทะ พ.ศ.2497 ได้เดินทางไปเผยแพร่ ธรรมะยังทวีปยุโรป และร่วมประชุมกับขบวน การศีลธรรมโลกที่สวิตเซอร์แลนด์

ปี พ.ศ.2503 ได้รับอาราธนาให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี จนถึงวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2550 รวม 47 ปี

พระพรหมมังคลาจารย์ ได้มรณภาพ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2550 ณ โรงพยาบาลศิริราช สิริรวมอายุได้ 96 ปี พรรษา 77

• งานด้านการบริหารและการปกครองคณะสงฆ์

พ.ศ.2503 เป็นเจ้าอาวาสวัดชลประทานรัง-สฤษฏ์, พ.ศ.2506 เป็นพระอุปัชฌาย์และเป็นหัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ 9, พ.ศ.2517 เป็นรองเจ้าคณะภาค 18, พ.ศ.2535 รักษาการเจ้าอาวาสวัดพุทธธรรม รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา, พ.ศ.2540 เป็นเจ้าคณะภาค 18, พ.ศ.2542 เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 18

• งานด้านการศึกษา

เป็นเจ้าสำนักศาสนาศึกษา แผนกธรรมและบาลีวัดชลประทานรังสฤษฏ์ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เป็นผู้อำนวยการจัดการการอบรมพระธรรมทายาทของวัดชลประทานรังสฤษฏ์ เป็นผู้อำนวยการจัดการอบรมพระนวกะที่บวชในวัดชลประทาน-รังสฤษฏ์

• งานด้านการเผยแผ่

ท่านได้แสดงธรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ต่างๆทั้งในและต่างประเทศ อาทิ อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เยอรมัน สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ ลาว พม่า ฯลฯ รวมทั้งได้ถวาย พระธรรมเทศนาแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ถวายพระธรรมเทศนาแด่พระบาทสมเด็จพระ-เจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในพระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ถวายพระธรรมเทศนาแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ ณ วัดชลประทานรังสฤษฏ์

นอกจากนี้ยังมีหนังสือธรรมะที่พิมพ์เผยแพร่เป็นจำนวนมาก เช่น คำสอนในพระพุทธศาสนา, ทางสายกลาง, ความอยู่รอดของพุทธ-ศาสนา, รักลูกให้ถูกทาง, ธรรมะแก้ทุกข์ ฯลฯ

• งานด้านสาธารณประโยชน์

เป็นประธานหาทุนสร้างตึกผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุ “ตึก 80 ปี ปัญญานันทะ” ให้โรงพยาบาลชลประทานรังสฤษฏ์, สร้างศูนย์ฝึกและปฏิบัติงานมูลนิธิแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ที่ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา, บริจาคเงินสร้าง อุโบสถวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) จ.เชียงใหม่, บริจาคเงินสร้างโรงอาหารแก่โรงเรียนประภัสสรรังสิต อ.เมือง จ.พัทลุง, บริจาคเงินซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลวชิระ จ.ภูเก็ต, เป็นประธานสร้างวัดปัญญานันทาราม จ.ปทุมธานี, เป็นประธานสร้างอาคารเรียน ให้โรงเรียนชลประทานสงเคราะห์ จ.นนทบุรี, เป็นประธานสร้างวัดพุทธปัญญา จ.นนทบุรี เป็นประธานสร้างอาคารที่รับรองอาคันตุกะสงฆ์ “92 ปี ปัญญานันทะ” และอุโบสถกลางน้ำ ให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งบริจาคเงินเป็นทุน อาหารกลางวันเด็กนักเรียนในโรงเรียนท้องถิ่นที่ขาดแคลนต่างๆ หลายจังหวัด

• สมณศักดิ์ที่ได้รับ

พ.ศ.2499 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ ‘พระปัญญานันทมุนี’ พ.ศ.2514 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นราช ที่ ‘พระราชนันทมุนี’ พ.ศ.2530 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ ‘พระเทพวิสุทธิเมธี’ พ.ศ.2537 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ ‘พระธรรมโกศาจารย์’ และพ.ศ.2547 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ หรือรองสมเด็จพระราชาคณะ ที่ ‘พระพรหมมังคลาจารย์’

• เกียรติคุณที่ได้รับ

พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาครุศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง การศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศิลปศาสตรดุษฎี บัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศาสนาและปรัชญา จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศิลปศาสตรดุษฎี บัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมศึกษา จากมหาวิทยาลัยทักษิณ ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย และศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

นอกจากนี้ ท่านยังได้รับรางวัลจากสถาบันต่างๆ อาทิ รางวัล ‘สังข์เงิน’ ในฐานะพระภิกษุผู้เผยแผ่ธรรมะยอดเยี่ยม ประจำปี 2520 จาก สมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย รางวัล ‘นักพูดดีเด่น’ ประจำปี 2520 จากสมาคม ฝึกการพูดแห่งประเทศไทย ได้รับการยกย่องและคัดเลือกให้เป็น ‘บุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา’ เมื่อ พ.ศ.2525 โดยได้รับรางวัล 2 ประเภทคือประเภทบุคคล และประเภทสื่อสารมวลชน (รายการส่งเสริมธรรมะทางสถานีวิทยุโทรทัศน์) รางวัลเหรียญ ทอง Tobacco or Health Media 1955 จากองค์การอนามัยโลก เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก พ.ศ.2538 รางวัล ‘มหิดลวรานุสรณ์’ ในฐานะ
ผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อประชาชน สังคม และประเทศชาติ ควรแก่การยกย่องและถือเป็นแบบฉบับ จากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ รางวัล ‘ศาสตรเมธี’ สาขาสังคมศาสตร์ ด้านศาสนา และปรัชญา จากมูลนิธิศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล รางวัลเชิดชูเกียรติ ‘บุคคลต้นแบบคนดีศรีแผ่นดิน’ จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รางวัล ‘ผู้มี คุณูปการต่อการศึกษาของชาติ’ ประจำปี 2550 จากกระทรวงศึกษาธิการ และรางวัล ‘ผู้สูงอายุ แห่งชาติ’ ประจำปี 2550 จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

• หลักใจของท่านปัญญานันทภิกขุ

1.ร่างกายชีวิตเป็นของพระรัตนตรัย ข้าพเจ้าเป็นทาสพระรัตนตรัยโดยสมบูรณ์ 2.ความมุ่งหมายของข้าพเจ้าอยู่ที่ประกาศคำสอนที่แท้ของพุทธศาสนา 3.ข้าพเจ้าจึงต้องเป็นคนกล้าพูดความจริงทุกกาลเทศะ 4.ข้าพเจ้าจักต้องสู้ทุกวิถีทาง เพื่อทำลายสิ่งเหลวไหล ในพระพุทธศาสนา นำความเข้าใจถูกมาให้แก่ ชาวพุทธ 5.ข้าพเจ้าไม่ต้องการอะไรเป็นส่วนตัว นอกจากปัจจัยสี่พอเลี้ยงอัตภาพเท่านั้น ผลประโยชน์อันใดที่เกิดจากงานของข้าพเจ้า สิ่งนั้นเป็นของงานที่เป็นส่วนรวมต่อไป 6.ข้าพเจ้าถือว่าคนประพฤติชอบตามหลักธรรมเป็นผู้ร่วมงานของข้าพเจ้า นอกจากนี้ไม่ใช่

ลางน้ำ ปณิธานของหลวงพ่อปัญญา

ท่านปัญญานันทภิกขุเห็นว่ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ยังขาดสถานที่ขนาดใหญ่สำหรับการประกอบสังฆกรรม ของพระภิกษุสงฆ์จำนวนนับพันรูปทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่มาศึกษาและจำพรรษาที่มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ ท่านจึงรับจะหาปัจจัยมาสร้างอุโบสถกลางน้ำ เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติกิจของสงฆ์และเป็นที่เจริญกัมมัฏฐานด้วย

อุโบสถทรงไทยกลางน้ำหลังนี้ ออกแบบโดย รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี เป็นอุโบสถทรงไทย ประยุกต์ 2 ชั้นอยู่กลางสระน้ำใหญ่ พื้นที่ชั้นบนรองรับพระสงฆ์ได้ 400 รูป และมีลานล้อมรอบ อุโบสถ ส่วนชั้นล่างเป็นฐานอุโบสถ ครอบคลุมพื้นที่ลานจากส่วนบน จึงมีขนาดกว้างขวางและอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำ รองรับพระสงฆ์ได้ 4,000 รูป ใช้งบประมาณราว 160 ล้านบาท โดยได้วางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2548 การก่อสร้างได้คืบหน้าไปแล้วกว่า 60%

หลวงพ่อเคยตั้งปณิธานว่า ถ้าอุโบสถหลังนี้ยังไม่เสร็จ จะยังไม่มรณภาพ

“บอกหมอว่า ให้ช่วยรักษาร่างกายของอาตมาให้อยู่อีกสัก 5 ปี เสร็จแล้วตายวันไหนก็ได้ ...ต้องทำให้เสร็จภายใน 2 ปี ตราบใดที่ยังมีลมหายใจเข้า-ออก ต้องทำให้สำเร็จ ไม่สำเร็จไม่เลิก”

“เกิดมาชาติหนึ่ง ตายก็ไม่เสียใจแล้ว เพราะได้สร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ตลอดกาลนาน”

และ “จะมาเทศน์ที่โบสถ์นี้ทุกวันพระ จนกว่าจะตาย”

แต่แล้วหลวงพ่อก็ได้จากไป โดยไม่มีโอกาสได้เห็นความสมบูรณ์งดงามของโบสถ์กลางน้ำแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต่างยืนยันที่จะสานต่อเจตนารมณ์ของหลวงพ่อให้บรรลุ เป้าหมายตามที่ท่านประสงค์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน พ.ศ.2551

ขอเชิญพุทธศาสนิกชนทุกท่านร่วมบริจาคสร้างพระอุโบสถกลางน้ำ เพื่อร่วมสืบทอดเจตนารมณ์ครั้งสุดท้ายของหลวงพ่อ ดังนี้

โอนเงินเข้าบัญชี พระพรหมมังคลาจารย์ บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกสิกรไทย สาขาปากเกร็ด เลขที่ 142-2-15767-9 หรือติดต่อติดต่อบริจาคได้ที่ วัดชลประทานรังสฤษฏ์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โทร.0-2583-8845, 08-1831-2367, 08-1830-1923

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 84 พ.ย. 50 โดย กองบรรณาธิการ)



กำลังโหลดความคิดเห็น