xs
xsm
sm
md
lg

เปิดปูม ‘ลอยกระทง’ ตามวิถีแห่งวัฒนธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ใกล้ถึงวันเพ็ญ เดือน ๑๒ หรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ อันเป็นวันลอยกระทงแล้ว ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

ประเพณีลอยกระทงมีคติความเชื่อที่มาต่างกัน โดยในทางพุทธศาสนาเชื่อว่าการลอยกระทงเป็นการทำพิธีเพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้าในวันเสด็จจากเทวโลกสู่โลกมนุษย์ ภายหลังจากทรงเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ บ้างก็เชื่อว่าเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุไว้ในพระจุฬามณี พระเจดีย์บนสวรรค์ บ้างก็ว่าเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท
ที่ทรงประทับไว้ ณ หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานทีในประเทศอินเดีย รวมถึงลอยกระทงเพื่อขอบคุณพระแม่คงคา ที่ให้ได้อาศัยน้ำกินน้ำใช้ และขออภัยพระแม่คงคาที่ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่างๆลงในน้ำ

การลอยกระทงในบ้านเรานั้น มีชื่อเรียกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ เรียกว่า ประเพณียี่เป็ง ซึ่งมีการลอยกระทงทั้งในแม่น้ำและจุดประทีปโคมลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าด้วย ส่วนที่สุโขทัย เรียกว่า ประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ ที่ตาก เรียกว่า ประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวง โดยใช้กะลามะพร้าวเป็นกระทง และที่พระนครศรีอยุธยา เรียกว่า ลอยกระทงตามประทีป ซึ่งเป็น การจำลอง ‘พระราชพิธีชักโคม ลอยพระประทีป’ ตามที่ปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุ

• ทำไมกระทงจึงต้องเป็นรูปดอกบัว

ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ กล่าวไว้ว่าในวันเพ็ญเดือนสิบสองจะมีพระราชพิธีจองเปรียง ซึ่งเป็นนักขัตฤกษ์ชักโคมลอยโคม นางนพมาศได้ประดิษฐ์โคมลอยเป็นรูปดอกกระมุทบานกลีบ รับกับแสงจันทร์ใหญ่ ประมาณเท่ากงระแทะ(กงล้อเกวียน) และเสียบแซมเทียนธูป แลประทีปน้ำมันเปรียงเจือด้วยไขข้อพระโค เมื่อพระร่วงเจ้า ทอดพระเนตร ก็ตรัสชมว่างามประหลาดกว่าที่เคยมี แล้วตรัสถามว่านางคิดเช่นไรหรือ นางก็กราบบังคมทูลว่า “ข้าพระองค์สำคัญใจคิดเห็นว่า เป็นนักขัตตฤกษ์วันเพ็ญเดือนสิบสอง ปราศจากเมฆมลทิน อันว่าดวงดอกชาติโกสุมภ์ประทุมมาลย์มีแต่จะเบ่งบานกลีบรับแสงพระอาทิตย์ ถ้าชาติ อุบลเหล่าใดบานผกาเกษรรับแสงพระจันทร์แล้วก็ได้ชื่อว่า ดอกกระมุท ข้าพระองค์จึ่งทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุท ซึ่งบังเกิดมีอยู่ยังนัมมทานที อันเป็นที่บวรพุทธบาทประดิษฐานกับแกะรูปมยุราพนานกวิหคหงษ์ประดับ แลมีประทีปเปรียงเจือด้วยไขข้อพะโคถวายในการทรงพระราชอุทิศครั้งนี้ด้วยจะให้ถูกต้องสมกับนัตขัตตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน สิบสองพระราชพิธีจองเปรียงโดยพุทธศาสน์ไสยศาสตร์”

พระร่วงเจ้าจึงมีพระราชดำรัสว่า แต่นี้สืบไปเบื้องหน้าโดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตตฤกษ์ วันเพ็ญเดือนสิบสองพระราชพิธีจองเปรียงแล้ว ก็ให้กระทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุท อุทิศสักการะบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน

• นางนพมาศมีตัวตน?


จากตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ทำให้คนไทยเชื่อว่าประเพณีลอยกระทงถือกำเนิดมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย แต่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ทรงเชื่อว่าหนังสือดังกล่าวเป็นพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๓ ดังความตอนหนึ่งที่ทรงมีลายพระหัตถ์ถึงพระยาอนุมานราชธน อธิบายเหตุผลข้อพิรุธต่าง และสรุปว่า

“...ประเพณีลอยกระทงจึงหามีในรัฐสุโขทัยไม่ เนื่องจากพิธีลอยกระทงมีพัฒนาการมาจากการบูชาแม่น้ำของรัฐในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ซึ่งมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำ นอกจากพิธีลอยกระทงแล้วยังมีอีกมาก และกลายเป็นประเพณีที่สำคัญมากๆ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา..”

• ลอยกระทงไม่ได้มาจากอินเดีย

พระยาอนุมานราชธน
หรือเสฐียรโกเศศ ปราชญ์เอกของไทย ได้รวบรวมและสอบถามถึงการลอยกระทงในที่ต่างๆแล้วจึงสันนิษฐานว่า การลอยกระทงจะเป็นคติของชน ชาติที่ประกอบกสิกรรม ซึ่งย่อมอาศัยน้ำเป็นสำคัญ เมื่อพืชพรรณธัญชาติงอกงามดี และเป็นเวลาน้ำเจิ่งก็ทำกระทงลอย ไปตามกระแสน้ำไหล เพื่อขอบคุณแม่คงคาหรือเทพเจ้าที่ประทานน้ำมาให้อุดมสมบูรณ์ เหตุนี้จึงได้ลอยกระทงในฤดูกาลน้ำมาก เสร็จแล้วก็เล่นรื่นเริงกันด้วยความยินดี เท่ากับสมโภชการงานที่กระทำว่าได้ลุล่วงรอดมาจนเห็นผลแล้ว ต่อมาเมื่อมนุษย์มีความเจริญแล้ว ความวิตกทุกข์ร้อนเรื่อง เพาะปลูกว่าจะไม่ได้ผลก็น้อยลงไป แต่ก็ยังทำการเซ่นสรวง ตามที่เคยทำมาจนเป็นประเพณี เพียงแต่ต่างก็แก้ให้เข้ากับคติลัทธิทางศาสนาที่ตนนับถือ เช่น มีการทำบุญสุนทานเพิ่มขึ้น เป็นต้น

ที่ชาวอินเดียในมัธยมประเทศอธิบายว่าการลอยกระทง เป็นเรื่องบูชาเทวดาที่ตนนับถือไม่จำกัดองค์แน่นอนลงไป ก็เป็นเรื่องที่แก้รูปให้เข้ากับคติศาสนา ที่แท้ก็เป็นเรื่องเซ่นบูชาผีสางเทวดามาแต่ดั้งเดิม ซึ่งเข้าใจว่าเป็นผู้ให้ความอุดมสมบูรณ์แก่ตนและครอบครัว ที่บอกว่าเป็นพิธีทำเป็นประเพณีสืบมาแต่โบราณนมนานไกล จนไม่ทราบได้ว่ามีขึ้นเมื่อไร ก็แสดงว่าการลอยกระทงเป็นของเก่า จนไม่รู้ต้นเหตุเสียแล้ว

• แต่อินเดียมีการจุดประทีป

พระยาอนุมานราชธน บอกไว้ว่า การจุดประทีปนี้ทางอินเดียก็มี เรียกว่าพิธีปวลีหรือทีวลี ซึ่งเขาให้ต้นเหตุมีอยู่มากเรื่อง ในหนังสือ Hindu Fasts and Feasts ของ A.C. Muderji กล่าวไว้ในตอนเทศกาลทีวลีหรือทีปมาลิกา ว่ามีเรื่องเป็นต้นเหตุจุดประทีปไว้หลายเรื่อง แต่ว่าเหตุที่แท้จริงอาจเกี่ยวกับการบูชาผีปู่ ย่า ตา ยาย เป็นจำพวกทำพิธีศราทธ์อุทิศผลส่งไปให้ดังนี้ เรื่องก็มาเข้าเค้ากับลอยกระทงในลางลักษณะ

ส่วนในหนังสือสังกัปพิธีกรรม โดย ผศ.สุเมธ เมธาวิทยากุล ได้กล่าวถึงประเพณีลอยกระทงในอินเดียว่าเป็นประเพณีของพราหมณ์ โดยเฉพาะที่เป็นฮินดู เรียกว่า “ทีปวลี” เป็นเทศกาลแห่งแสงสีที่ยิ่งใหญ่งานหนึ่ง โดยพิธีจะมีขึ้น ในวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นการบูชาพระพรหม พระนารายณ์ พระอิศวรและเทพเจ้าอื่นๆ โดยจะมีการจุดประทีปในถ้วยดินเผาในเวลาค่ำคืน บางแห่งก็มีการลอยประทีปในน้ำเพื่อบูชาพระแม่คงคา รวมทั้งมีการจุดพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟนานาชนิด

• รัชกาลที่ ๕ ทรงเล่าถึงเรื่องลอยกระทง

ใน ‘พระราชพิธี ๑๒ เดือน’ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้กล่าวถึงพระราชพิธีจองเปรียง ทรงระบุว่าพระราชพิธีในเดือน ๑๒ ซึ่งมีมาในกฎมณเทียรบาลว่า พิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคม นั้น “...มีความแปลกออกไปนิดเดียวแต่ที่ว่าการพิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคม และเติม “ลงน้ำ” เข้าอีกคำหนึ่ง ...การก็ตรง กันกับลอยกระทง ลางทีจะสมมติว่าลอยโคม...” และทรงกล่าวต่อไปว่า “..การที่ยกโคมขึ้นนั้นตามคำโบราณกล่าวว่า ยกขึ้นเพื่อบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม การซึ่งว่าบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสามนี้เป็นต้นตำราแท้ในเวลาถือไสยศาสตร์ แต่ครั้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงนับถือพระพุทธศาสนาก็กล่าวว่าบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณีในดาวดึงสพิภพ และบูชาพระพุทธบาทซึ่งปรากฏอยู่ ณ หาดทรายเรียกว่า นะมะทานที เป็นที่ฝูงนาคทั้งปวงสักการบูชาอยู่...” และทรงระบุต่อไปว่าในเดือนสิบสอง นี้มีการลอยพระประทีปด้วย โดยทรงอธิบายว่า “...การลอย พระประทีปลอยกระทงนี้ เป็นนักขัตฤกษ์ที่รื่นเริงทั่วไปของชนทั้งปวงทั่วไป ไม่เฉพาะแต่การหลวง แต่จะนับว่าเป็นพระราชพิธีอย่างใดก็ไม่ได้ ด้วยไม่ได้มีพิธีสงฆ์พิธีพราหมณ์อันใดเกี่ยวเนื่องในการลอยพระประทีปนั้น เว้นไว้แต่จะเข้าใจว่าตรงกับคำที่ว่าลอยโคมลงน้ำเช่นที่กล่าว มาแล้ว แต่ควรนับได้ว่าเป็นราชประเพณีซึ่งมีมาในแผ่นดินสยามแต่โบราณ..”

ส่วนเทียนที่จุดในพระราชพิธีจองเปรียงนั้น ทรงกล่าว ไว้ว่า “...แต่ถึงว่าโคมชัยที่อ้างว่าบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธบาทดังนี้แล้ว ก็ยังเป็นพิธีของพราหมณ์พวกเดียวคือตั้งแต่เริ่มพระราชพิธี พราหมณ์ก็เข้าพิธีที่โรงพิธีในพระบรมมหาราชวัง และเวลาเช้าถวายน้ำพระมหาสังข์ตลอดจนวันลดโคม เทียนซึ่งจุดในโคมนั้นก็ทาเปรียง คือไขข้อพระโค ซึ่งพราหมณ์นำมาถวายทรงทา การที่บูชากันด้วยน้ำมันไขข้อพระโคนี้ก็เป็นลัทธิพราหมณ์ แท้ เป็นธรรมเนียมสืบมาจนแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า การพระราชพิธีทั้งปวงควรจะให้เนื่องด้วยพระพุทธศาสนาทุกๆ พระราชพิธี...”

นอกจากนั้นในพระราชพิธี ๑๒ เดือน ยังทรงกล่าวถึง กระทงหลวง ที่มีมาแต่เดิมนั้น คือเรือรูปสัตว์ต่างๆในสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทงหลวงสำรับใหญ่ที่ทำถวายนั้นต่อเป็นถังบ้าง ทำเป็นแพหยวกบ้าง กว้างแปดศอกบ้าง เก้าศอกบ้าง กระทงสูงตลอดยอดสิบศอกสิบเอ็ดศอก ทำประกวดประขันกัน นับว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ขนาดใหญ่ที่ลอยน้ำได้ และในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีการใช้เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือชัยแทนกระทงใหญ่ ตั้งเทียนขนาดใหญ่และยาวตาม กระทงเรือ ส่วนในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการใช้เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์แทนเรือชัย และยังมีกระทงขนาดใหญ่ที่ตกแต่ง อย่างอลังการอีกด้วย แต่ก็ไม่โปรดให้จัดทำทุกปี

• ทำไมต้องใส่เงินลงในกระทง

พระยาอนุมานราชธน ได้ให้คำตอบในเรื่องนี้ไว้ว่า “...ลอยกระทงของเราในหมู่ราษฎรที่มีเงินปลีกใส่ไปด้วย ก็เห็นจะเป็นเรื่องเซ่นผีสางเทวดา เดิมเห็นจะใช้เบี้ยอย่างที่เรียกว่า เบี้ยบน เหลือเป็นเค้าอยู่ ก่อนนั้นขึ้นไปเห็นจะมีอาหารและข้าวของใส่ลงไปในกระทงด้วย อย่างที่ภาคพายัพและภาคอีสานยังทำกัน หากของเราเป็นกระทงขนาดเล็ก ไม่ใช่เป็นกระทงขนาดใหญ่ จึงได้เปลี่ยนเป็นใส่เงินปลีกแทน ส่วนกระทงใหญ่มีแต่ของหลวง แต่ก็ไม่ปรากฏว่าใส่อะไร และก็ เลิกไปนานแล้ว ชาวบ้านอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งส่วนมากเป็นพวกลาวพวน มีอาหารคาวหวานและผลไม้ต่างๆ ทำรวมกันทั้งหมู่บ้าน บรรจุลงในแพหยวกแล้วปล่อย ไปในวันเพ็ญเดือน ๑๒ นอกนี้ในแพยังมีธูปเทียนและสตางค์ แล้วแต่จะใส่ไป นี่เห็นจะเพิ่มเติมทีหลัง...”

• ลอยกระทงจากยุคโบราณสู่ยุคไซเบอร์

จากกระทงสมัยโบราณที่ทำด้วยวัสดุธรรมชาติ เช่น หยวกกล้วย ใบตอง ก็เริ่มหันมาสู่การใช้โฟมและกระดาษมากขึ้น แต่โฟมย่อยสลายตามธรรมชาติได้ยาก จึงเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม หน่วยงานต่างๆ จึงออกมาช่วยกันรณรงค์ ให้ใช้วัสดุธรรมชาติทำกระทงแทนโฟม ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีผู้คิดค้นวัสดุต่างๆที่ย่อยสลายง่ายมาทำกระทงในปัจจุบัน เช่น กระทงที่ทำมาจากเทียนหอม กระทงที่ทำจากแป้งมันสำปะหลัง กระทงที่ทำจากขนมปัง เป็นต้น โดยเฉพาะกระทงที่ทำจากขนมปังนั้นกล่าวกันว่านอกจากใช้บูชาแล้ว ยังเป็นทานสำหรับสัตว์น้ำได้อีกด้วย

และเมื่อโลกก้าวสู่ยุคไซเบอร์ที่คอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทอย่างมากในสังคม ก็ได้มีการนำการลอยกระทงมาสู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ เรียกกันว่าลอยกระทงออนไลน์ โดยจัดทำทุกอย่างเหมือนกับการไปลอยยังสถานที่จริง นับตั้งแต่ การเลือกประดิษฐ์กระทงที่ต้องการ แล้วเริ่มจุดธูปเทียน(มีควันลอยเหมือนจริง) เขียนคำอธิษฐาน รวมถึงการเลือกสถานที่ที่ต้องการลอย เช่น แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดพระแก้ว หรือที่สุโขทัย อยุธยา เป็นต้น เพียงแค่คลิ๊กเมาท์ไม่กี่ครั้ง กระทงก็จะเริ่มลอยไปยังสถานที่ที่ต้องการภายในเวลา ไม่ถึงนาที

• วิธีลอยกระทงตามจารีตพุทธ

ศาสตราจารย์(เกียรติคุณ) ดร.อภิณัฏฐ์ กิติพันธุ์
จากชมรมชีวานุภาพ ได้บอกถึงวิธีลอยกระทงตามจารีตแห่งพุทธว่า “วันนี้เป็นวันน้ำสมบูรณ์ที่สุด พระจันทร์สวยที่สุด ในฝั่งไทย ควรตั้งใจบูชาพระพุทธเจ้าอย่างเต็มที่ เพราะบางทีน้ำทุกสายขยายไปทับวัด ในน้ำอาจจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระพุทธรูป พระธาตุ พระบาท พระเจดีย์อยู่ ขณะที่ลอยต้องทำกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์สะอาด อย่างน้อยถือศีล ๕ ตั้งใจให้อิ่มเต็มในกุศลเหมือนน้ำที่เต็มฝั่ง คนโบราณใช้วันนี้เป็นวันที่เรียกว่าส่งท้ายขอขมา แต่ไม่ได้ขอขมาแต่เพียงพระแม่คงคา แต่ขอขมาในนัยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันเราได้เคยล่วงเกินมา ขอให้น้ำนี้ได้ช่วย นำขอขมาทั้งหมด เพราะกระทงล่องไปผ่านวัดริมน้ำทั้งหมด แปลว่าเราไหว้ทุกวัดแล้วนะ เพราะฉะนั้นวันนี้เป็นวันที่รื่นเริงในธรรมเบิกบานในบุญ ไม่ได้หมายความว่าเราจะเอาอกุศลมาเติมกับตัวเอง”

• อธิษฐานอย่างไรดี

ดร.อภิณัฏฐ์ ได้บอกถึงวิธีอธิษฐานโดยย่อดังนี้ “ตั้งนโม ๓ จบเสร็จแล้วบอกว่าพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา พุทธบูชามหาเตชวันโต ข้าพเจ้าขอบูชาคุณพระพุทธ ด้วยเครื่องสักการะนี้ ในการบูชานี้ขอให้ข้าพเจ้าอุดมด้วยเดชเดชะ ธรรมบูชามหาปัญโญ ข้าพเจ้าขอบูชาพระธรรมเจ้าด้วยเครื่อง สักการะนี้ ด้วยการบูชาครั้งนี้ขอให้ข้าพเจ้าอุดมด้วยปัญญาอันยิ่งใหญ่ สังฆบูชามหาเตชวโห ด้วยการบูชาพระสังฆเจ้าด้วยเครื่องบูชานี้ ขอให้ข้าพเจ้าจงอุดมด้วยโภคสมบัติ แล้วบอกว่าข้าพเจ้าชื่อเรียงเสียงอะไร อยู่บ้านที่ไหน ได้อาศัยอยู่ บนพื้นแผ่นดินพระแม่ธรณี อันจะกลับไปสู่แผ่นพระแม่ธรณี เช่นเดิม หล่อเลี้ยงชีวิตให้ชุ่มชื่นด้วยพระแม่คงคา ด้วยคุณ น้ำคุณนทีมีความอบอุ่น เพราะอาหารอันทำให้เกิดความอบอุ่นแห่งไฟในร่างกายเคลื่อนไหวได้ด้วยธาตุลม ขอเอาทั้งหมดมาประชุมกันเพื่อเป็นเครื่องบูชาในวันนี้ อาศัยเอาท่าน้ำสายน้ำนี้เป็นเครื่องบูชาความบริบูรณ์ของพระพุทธเจ้า มีวิชาและจารณะเป็นต้น วันนี้ข้าพเจ้าบูชาแล้วซึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในโอกาสวันเพ็ญเดือน ๑๒ ขออวิชชาทั้งปวง กิเลสทั้งหลายของข้าพเจ้าจงบรรเทาหายหมดไป ขอปัญญาข้าพเจ้ารุ่งเรืองผ่องใสดุจพระจันทร์ในวันเพ็ญเดือน ๑๒ นี้เถิด แล้วก็ตั้งใจวางลงไปด้วยความเคารพนบนอบบูชา พอลอยไปเสร็จแล้ว ก็บอกว่าข้าพเจ้าขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวงในสายน้ำนทีนี้ และที่ใดๆก็ตามที่ข้าพเจ้าได้เคยข้ามได้เคยเหยียบได้เคยใช้ ล่วงล้ำก้ำเกิน จะเป็นด้วยกายวาจาใจก็ดี ทั้งนี้เพราะว่าข้าพเจ้ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่มีปัญญาลึกซึ้ง ข้าพเจ้าขอขมาในสิ่งนี้ด้วย แล้วกลับบ้านไปไหว้พระสวดมนต์นั่งสมาธิจิตใจผ่องใส จะทำแบบนี้ก็ได้ หรืออาจจะมีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้หรือมีจารีตที่เคยกระทำมา ก็ไม่ว่ากัน”

ลอยกระทงของนานาชาติ

พม่า ลอยเพื่อบูชาพระอุปคุตที่อยู่กลางสะดือทะเล แต่ก็ไม่มีการบรรจุอาหารหรือสิ่งของลงไปในกระทง มีต้นเหตุเรื่องลอยกระทงของชาวบ้านเรื่องหนึ่งว่า พระเจ้าธรรมาโศกราชจะทรงสร้างพระเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ แต่ถูกพระยามารคุกคามทำลายพระเจดีย์ เหล่านั้น พระเจ้าธรรมาโศกราชจึงทรงขอร้องพระอุปโคต พระยานาค ให้ช่วยจับพระยามารด้วย พระอุปคุตจึงจัดการปราบพระยามาร เป็นผลสำเร็จ แต่นั้นมาราษฎรจึงทำพิธีลอยกระทงเพื่อขอบคุณพระยานาคสืบมาทุกปี

กัมพูชา มีการลอยสองครั้ง คือ ลอยกระทงของหลวงกลางเดือน ๑๑ ส่วนราษฎรก็ทำกระทงเล็กและบรรจุอาหารไปด้วย แต่ไม่มีเสื้อผ้าหรือของอื่น ส่วนกลางเดือน ๑๒ จะมีกระทงของหลวงเป็นกระทงใหญ่ ราษฎรจะไม่ได้ทำ และกระทงนี้จะมีอาหารบรรจุ ลงไปด้วย โดยมีคติว่าเพื่อส่งส่วนบุญไปให้เปรต

อินเดีย เป็นเรื่องที่มีมาแต่ดึกดำบรรพ์จนไม่ทราบสาเหตุ จึงเป็นเพียงการปฏิบัติสืบกันมาเป็นประเพณี เป็นเรื่องบูชาพระเป็นเจ้าหรือเทวดาที่ตนนับถือเท่านั้น สิ่งของที่บรรจุในกระทงจึงมีแต่ประทีปและดอกไม้บูชามากกว่าอย่างอื่น การลอยไม่มีการกำหนด เป็นฤดูกาลแต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้นหากอยู่ในที่ดอนก็จะนำกระทงไปวางบนดินเฉยๆก็มี

ลาว เป็นการบูชาแม่น้ำด้วยการลอยประทีปและไหลเรือไฟ โดยเชื่อว่าเป็นการบูชาคุณแห่งแม่น้ำโขงที่เลี้ยงดูมา และเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าซึ่งเสด็จกลับมาจากการเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

จีน ประเทศจีนทางตอนเหนือในหน้าน้ำ น้ำท่วมเสมอ บางปีไหลแรงมากจนทำให้มีคนจมน้ำตายนับจำนวนเป็นแสนๆ ประเทศจีนจึงมักมีการลอยกระทงในช่วงเดือนเจ็ด(ตามปฏิทินจีน) เพราะเชื่อกันว่าเป็นเดือนแห่งวิญญาณ มีการจุดประทีปโคมไฟลอยน้ำ เพื่อเป็นไฟนำทางแก่วิญญาณเร่ร่อน เพื่อมุ่งไปสู่การเดินทางของจิตวิญญาณไปยังปรโลก ในกระทงจะจุดโคมและมีอาหารบรรจุเพื่อเป็นทานแก่ดวงวิญญาณ

นอกจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม เกาหลี หรือญี่ปุ่น ก็มีพิธีกรรมในการขอขมาและลอยทุกข์ลงในน้ำเช่นกัน โดยสันนิษฐานกันว่าต้นแบบของความเชื่อนี้มาจากศาสนาพุทธแบบมหายานที่แพร่หลายไปจากจีน

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 84 พ.ย. 50 โดย มุทิตา)
กำลังโหลดความคิดเห็น