แต่ครั้งโบราณกาล เสมามีความสำคัญต่อพุทธสถานอย่างยิ่ง การที่จะเรียกว่าวัดนั้นเป็นวัดได้ จะต้องมีหลักแบ่งเขตชัดเจนสำหรับการทำพิธีกรรมทางศาสนา และหลักที่ปักเพื่อแบ่งเขตที่ว่านี้ มีชื่อเรียกว่า “ใบเสมา”
เสมา หรือที่มีนักวิชาการบางท่านเรียกว่า “สีมา”ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ หมายถึง เขตกำหนดความพร้อมเพรียงของสงฆ์ หรือเขตชุมนุมของสงฆ์ หรือเขตที่สงฆ์ตกลงไว้สำหรับภิกษุทั้งหลายที่อยู่ภายในเขตนั้นจะต้องทำสังฆกรรมร่วมกัน
เสมา แบ่งเป็น ๒ ประเภทคือ ๑. พัทธสีมา แปลว่า แดนที่ผูก ได้แก่เขตที่พระสงฆ์กำหนดขึ้นเอง ๒. อพัทธสีมา แปลว่า แดนที่ไม่ได้ผูก ได้แก่เขตที่ทางราชการกำหนดไว้ หรือเขตที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นเครื่องกำหนด และสงฆ์ถือเอาตามเขตที่กำหนดนั้น ไม่ได้ ทำหรือผูกขึ้นใหม่
ความสำคัญของการมีเสมานี้ เนื่องจากพระพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดให้พระภิกษุต้องทำ อุโบสถ ปวารณา และสังฆกรรมร่วมกัน โดยเฉพาะการสวดปาฏิโมกข์ ซึ่งต้องสวดพร้อมกันเดือนละ ๒ ครั้ง จึงเกิดหลักแดนในการที่สงฆ์จะร่วมกันกระทำสังฆกรรม โดยมีหลักบ่งชี้คือใบเสมา
ใบเสมามีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานมาก ในประเทศไทยสามารถสืบย้อนไปไกลถึง ยุคสมัยแรกเริ่มของประวัติศาสตร์ นั่นคือ อารยธรรมทวารวดี
เป็นที่ทราบกันแล้วว่า อารยธรรมทวารวดีเป็นอารยธรรมเก่าแก่ มีเมืองสำคัญอยู่บริเวณ ภาคกลางของประเทศไทยในปัจจุบัน และเป็นอารยธรรมที่นับถือพระพุทธศาสนาไปพร้อมๆ กับศาสนาพราหมณ์ แต่ศาสนาพุทธรุ่งเรืองกว่ามาก ทั้งนี้เนื่องด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นจารึก หรือศิลปกรรมต่างๆ เป็นเครื่องยืนยันความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในอารยธรรมทวารวดีนี้ได้เป็นอย่างดี
บริเวณภาคอีสานของไทยในปัจจุบัน พบว่ามีร่องรอยของอารยธรรมทวารวดีที่เผยแพร่ มาจากภาคกลาง แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ กลุ่มใบเสมาที่บริเวณภาคอีสานนี้มีความโดดเด่นกว่าภาคอื่น ในขณะที่ภาคกลางมีความโดดเด่นในเรื่องของการสร้างพระธรรมจักร ขนาดใหญ่ ซึ่งใบเสมาที่ว่านี้ มีความแตกต่างจากรูปแบบของใบเสมาที่พบในปัจจุบันมาก นับว่าเป็นพัฒนาการของใบเสมาก็ว่าได้
ข้อสรุปเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องใบเสมาภาคอีสาน ซึ่ง รศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ เรียบเรียงไว้ ดังนี้
รูปแบบของใบเสมาทั่วไปจะเป็นลักษณะกลีบบัว มีขนาดสูงตั้งแต่ ๑ เมตรไปจนถึง ๒ เมตร รองลงมาได้แก่รูปเสาสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยม ซึ่งพบเป็นจำนวนน้อยมาก ส่วนคติใน การสร้างสันนิษฐานไว้ ๓ ประการ คือ
๑. ใช้ปักใบเดียวกลางลานในฐานะของเจดีย์องค์หนึ่ง เพราะโดยทั่วไปที่กลางใบเสมาจะมีรูปหรือสัญลักษณ์ของสถูปปรากฏอยู่ด้วยเสมอ
๒. ใช้ปักล้อมรอบสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อแสดงขอบเขตได้พบตัวอย่างเป็นจำนวนมากบนภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี อาจเป็นการแสดงขอบเขตที่สืบทอดมาจากวัฒนธรรมหินตั้ง ที่พบแล้วตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในภาคอีสาน เช่นที่เมืองเสมา จังหวัดนครราชสีมา
๓. ใช้ปักแปดทิศรอบฐานอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า อาจมีตำแหน่งละ ๑ ใบ ๒ ใบ หรือ ๓ ใบ น่าจะเป็นคติการแสดงขอบเขตสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนสถานลักษณะเดียวกับโบสถ์ในปัจจุบัน
ด้วยขนาดของเสมาที่มีขนาดใหญ่ จึงเกิดภาพเล่าเรื่องบนใบเสมาขึ้น ซึ่งเรื่องราวที่นิยม สร้างขึ้นนั้นมักเป็นภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติ ชาดก เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพบว่า มีการตกแต่งใบเสมาด้วยรูปสถูปหรือหม้อปูรณฆฏะ ตามที่ได้กล่าว ไว้แล้วว่า การปักใบเสมาแบบใบเดียวที่กลางลานนั้น อาจหมายถึงเครื่องหมายแทนสถูป โดยสังเกตจากรูปแบบของใบเสมาที่มีการสลักรูปสถูปหรือหม้อปูรณฆฏะไว้
หม้อปูรณฆฏะ เป็นเครื่องหมายของความอุดมสมบูรณ์ เป็นสัญลักษณ์ที่พบมาก่อนแล้ว ตั้งแต่ศิลปะอินเดียโบราณ และยังพบอีกในศิลปะลังกาสมัยอนุราธปุระ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๘-๑๐ ก็นิยมปักหินตั้งรูปปูรณฆฏะไว้บริเวณหน้าประตูทางเข้า
เนื่องจากปูรณฆฏะ เป็นเครื่องหมายของความอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นสัญลักษณ์ในการอวยพรผู้มาศาสนสถานให้มีความสุขไปด้วย และด้วยเหตุนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันการรับสืบ ทอดวัฒนธรรมศาสนา และศิลปกรรมมาจากอินเดีย และลังกาด้วยเช่นกัน
สำหรับภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ ส่วนมากเป็นตอนที่พระพุทธเจ้ากำลังแสดงธรรมโปรด เหล่าบุคคล และภาพสลักบนใบเสมาที่เชื่อว่ามีความงดงามและสำคัญอย่างที่สุดชิ้นหนึ่งนั้น คือภาพตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากกรุงกบิลพัสดุ์ พบที่เมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น เป็นฉากที่สำคัญคือพระนางพิมพาสยายผมรองรับพระบาทของพระพุทธเจ้า ซึ่งถือว่าเป็นท่าแสดงความเคารพอย่างสูงสุด การแสดงความเคารพในลักษณะเช่นนี้ โดยมากพบในศิลปะมอญและพม่า สะท้อนมุมมองการแผ่ขยายความนิยมของศิลปะในประเทศใกล้เคียงในเวลานั้น
การสลักภาพเล่าเรื่องชาดกนั้น พบว่ามีความนิยมอย่างมาก สันนิษฐานว่าน่าจะมีการสร้าง ครบทั้งสิบพระชาติ แต่ที่พบหลักฐานมากที่สุด เป็นพระชาติสุดท้ายก่อนจะเสวยพระชาติเป็นพระพุทธเจ้า นั่นคือ เวสสันดรชาดก ในตอน พระราชทานกัณหา-ชาลีให้กับชูชก หรือจะเป็นตอนที่พระอินทร์ปลอมตัวมาขอพระราชทานนางมัทรี ส่วนชาดกในเรื่องอื่นที่พบก็มี สุวรรณสาม วิฑูรบัณฑิต มหาชนก เป็นต้น
การสลักเรื่องราวเกี่ยวกับชาดกและพุทธประวัติไว้บนใบเสมานี้ คงจะมีคติการสร้างเดียว กันกับจิตรกรรมฝาผนัง คือมีความมุ่งหมายที่จะเป็นการให้ความรู้ โดยแฝงวัฒนธรรมการแต่งกาย รูปแบบเฉพาะของศิลปกรรมในภูมิภาค ทำให้กลุ่มใบเสมาที่ภาคอีสานมีความโดดเด่น มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ซึ่งในสมัยต่อมาด้วยขนาดของใบเสมาที่เล็กลง ประกอบกับความนิยมในการสลักภาพ เล่าเรื่องบนใบเสมาไม่ได้รับความนิยมแล้ว เราจึงไม่พบหลักฐานของใบเสมาในลักษณะ ดังกล่าวอีกเลย
เอกสารอ่านประกอบ
กรมศิลปากร. วิวัฒนาการพุทธสถานไทย. กรุงเทพฯ : กรม, ๒๕๓๓.
พระเทพโมลี. พัทธสีมา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แพร่การช่าง, ๒๕๑๓.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมพุทธศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๔๗.
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 84 พ.ย 50 โดยนฤมล สารากรบริรักษ์)