หลังประสบเหตุการณ์อุบัติเหตุทางรถยนต์ จนส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถก้าวย่างไปข้างหน้าได้ในจังหวะเช่นเดิม
ในวัย 40 ปีต้นๆ ศิลปินท่านหนึ่ง เรียนรู้ที่จะใช้สติประคองตนเพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อและเพื่อจาริกไปในงาน ศิลปะที่เขารัก
รศ.พัดยศ พุทธเจริญ สะท้อนเนื้อหาของสติผ่านผลงานศิลปะภาพพิมพ์ชุด ก้าวย่างอย่างมีสติ (Sa-Tep by Sa-Ti) อันเป็นผลงานที่ไม่เพียงเป็นการต่อยอดความคิดจากผลงานชุดเก่าๆในอดีต ซึ่งเพียรพยายามสะท้อนหลักพุทธปรัชญาผ่านงานศิลปะ แต่ยังถือเป็นผลงานศิลปะบำบัดจิต ภายหลังที่ชีวิตผ่านพบกับภาวะที่ยากทำใจยอมรับ
เขาผู้เคยร้องไห้ฟูมฟาย เพราะยอมรับสภาพตัวเองไม่ได้ และเกือบจะคิดฆ่าตัวตายระหว่างที่นอนพักรักษาตัวอยู่บนเตียงคนไข้ แต่ ณ วันนี้พร้อมที่จะหัวเราะร่าได้ทุกเมื่อ ทั้งกับเรื่องราวขันๆที่เกิดขึ้นสดๆร้อนๆตรงหน้า และกับเรื่องราวเศร้าๆ ในห้วงเวลาอันวิกฤติขาดสติที่ถูกนำกลับมาเล่าใหม่
อย่างไรก็ตามแม้จิตใจจะได้รับการเยียวยา จนสามารถทำความเข้าใจกับโชคชะตาที่ฟ้าประทานให้ เพราะแท้จริงนั้นมนุษย์เกิดมาเพื่อใช้กรรม แต่แขนขาและเท้าซ้ายที่ยังอ่อนแรง ได้เตือนให้เขาพึงระลึกอยู่เสมอว่า ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะใด ชีวิตนี้ขาดสติไม่ได้แม้แต่เพียงเสี้ยววินาที เพราะจิตของคนเรานั้นพร้อมจะกลอกกลิ้ง โยกโคลงได้โดยง่าย หากจิตรวน อาจส่งผลให้ร่างกายต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ได้เสมอ
“เวลานี้การจะก้าวไปข้างหน้า ทุกอย่างมันต้องมีสติอยู่เสมอ พื้นเป็นยังไง มีอะไรแวดล้อมหรือเปล่า จะก้าวเท้าไหนก่อน ก้าวสั้น หรือก้าวยาว ต้องคำนึงถึงหลายอย่าง”
รูปสัญลักษณ์เช่นรอยพระพุทธบาท อันเป็นนัยหมายถึงการเจริญรอยตามพุทธธรรม จึงถูกนำมาใช้ในงานศิลปะบางชิ้นของเขาที่สื่อถึงการก้าวเดินที่ต้องอาศัย ‘สติ’ คอยควบคุมทุกขณะ และในบางภาพ เปรียบเสมือนการเดินจงกรมของคนผู้รู้เท่าทันปัจจุบันขณะ วนรอบดอกบัวที่โผล่พ้นน้ำในทางพระพุทธศาสนา
“มองจากรูป เท้าขวาที่ก้าวไปข้างหน้านั้น เหลื่อมจากเท้าซ้ายนิดหนึ่ง ผมต้องการสื่อว่าเท้าซ้ายของผม อ่อนแรง ซึ่งการจะก้าวไปข้างหน้าได้ นอกจากจะต้องมีไม้เท้า และมีเท้าขวาเป็นตัวนำหลัก เพื่อการพยุงตัวเรายังต้องมีที่พึ่งทางจิตนั่นก็คือสติ พาเราก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยเช่นกัน”
การทำงานศิลปะในปัจจุบันของ รศ.พัดยศ เป็นการทำงานที่ต้องอาศัยทั้งการบริหารจัดการทางชีวิต และการบริหารจัดการทางจิตควบคู่กันไป เป็นดั่งการหลอมรวมกายและจิตให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อการก้าวย่าง ไปข้างหน้าอย่างมั่นคงโดยอาศัยสติ
“เพราะนอกจากเราจะต้องทำใจยอมรับกับสภาพร่างกายเปลี่ยนไปภายหลังจากเกิดอุบัติเหตุ การทำ อะไรหลายๆอย่าง รวมถึงการทำงานศิลปะ เราก็ต้องอาศัยคนช่วยในหลายๆเรื่อง ต้องอาศัยทีมงาน กว่าจะออกมาเป็นชิ้นงานศิลปะแต่ละชิ้น”
จากชีวิตที่เคยเดินเหินคล่องแคล่ว สามารถทำอะไรหลายๆอย่างด้วยตัวเองและพึ่งพาคนรอบข้างน้อยมาก เปลี่ยนมาเป็นชีวิตที่ต้องเดินช้าลง และต้องพึ่งพา ผู้อื่นมากขึ้น หากมองในแง่บวก กลับเป็นการสูญเสียที่ทำให้ มองเห็นคุณค่าของมิตรภาพชัดเจนขึ้น ที่สำคัญ รศ.พัดยศ ได้เรียนรู้ว่า ชีวิตที่มีสติช่วยพยุง เป็นชีวิตที่ความทุกข์ยากจะถูกบั่นทอนด้วยสติช่วยพิจารณาในที่มาของเหตุและผลเหล่านั้นได้
“บางคนอาจจะมองว่าศาสนาเป็นอะไรที่แบบคร่ำครึ และเชย แต่ผมเชื่อว่าถ้าเราศึกษาจริงๆ นอกจากเราจะได้ความรู้ มันยังสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันของเราได้อย่าง ไม่เลวทีเดียว”
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 84 พ.ย 50 โดยฮักก้า)