xs
xsm
sm
md
lg

เติมใจให้กัน:

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครั้งที่ 48
คุณสมบัติของ
ผู้มีความกตัญญูและผู้ว่าง่าย

วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันที่ธรรมสภาว่า พระสารีบุตรเถระ เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีระลึกถึงอุปการะของพราหมณ์ผู้เคยถวายอาหารแก่ตนแม้เพียงทัพพีเดียว เป็นอุปัชฌายะ ให้พราหมณ์ตกยากบวชแล้ว นับว่าได้ทำ กิจที่บุคคลอื่นทำได้ยาก ฝ่ายพระราธะ เล่า ก็เป็นผู้ว่าง่าย อดทนต่อโอวาทได้ ท่านผู้ควรแก่การสั่งสอนเหมือนกับผู้เป็นอาจารย์

ภราดา ธรรมดาบุคคลผู้มีความกตัญญูกตเวทีนั้น ย่อมระลึกถึงอยู่เสมอ ซึ่งอุปการะที่ผู้อื่นกระทำแล้วแก่ตน แม้เพียงเล็กน้อย คอยหาโอกาสตอบแทน ความดีที่คนอื่นทำแล้วแก่ตน ฝังจิตฝังใจ ของตนอยู่ตลอดเวลา ตรงกันข้ามกับคน ผู้ไม่มีความกตัญญูกตเวที ใครทำคุณให้ คุณนั้นปรากฏเพียงชั่วคราว เหมือนรอยขีดลงในน้ำ

คนมีความกตัญญูย่อมไม่ถือเอาข้อบกพร่องเล็กน้อยของผู้มีคุณมาลบล้างคุณงามความดีส่วนใหญ่
ทำนองเอาใบบัวปิดท้องฟ้า หากว่าใบบัวนั้นอาจปิดตาของตนไม่ให้เป็นท้องฟ้าได้ แต่ท้องฟ้าย่อมปรากฏแก่คนทั้วไปอยู่เสมอ คนกตัญญูกตเวที มีแต่ความเจริญไม่เสื่อม ส่วนคนอกตัญญูมีแต่ความเสื่อม ไม่เจริญ

พระศาสดาเสด็จมายังธรรมสภา ทรงทราบเรื่องที่ภิกษุทั้งหลายสนทนากันแล้วตรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย ไม่เพียงแต่ในบัดนี้เท่านั้นที่สารีบุตรเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที แม้ในชาติก่อนสมัยเป็นช้าง ซึ่งเป็นดิรัจฉาน สารีบุตรก็มีความกตัญญูกตเวทีเหมือนกัน

เมื่อตรัสดังนี้แล้ว ตรัสเล่าเรื่องช้างเชือกหนึ่งถูกตอไม้แหลมตำเท้า เดินไปไหนไม่ได้ พวกช่างไม้กลุ่มหนึ่งไปพบเข้าในป่า ช่วยกันถอนตอไม้แหลมนั้นออกจากเท้า นำยาสมุนไพรมาพอกให้ ช้างนั้นหายโรคแล้ว ระลึกถึงอุปการะของพวกช่างไม้ นำลูกช้างเชือกหนึ่งมาให้เป็นเครื่องตอบแทน ช้างผู้กตัญญูนั้นคือ พระสารีบุตร ในบัดนี้

พระศาสดาทรงปรารภพระสารีบุตร ตรัสเรื่องช้างดังนี้แล้ว ทรงปรารภพระราธะ ตรัสเรื่องเป็นผู้ว่าง่ายต่อไปว่า

ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุควรเป็นผู้ว่าง่ายเหมือนพระราธะ เมื่ออาจารย์ชี้โทษกล่าวสอนอยู่ก็ไม่ควรโกรธ พึงมองเห็นบุคคลผู้ตักเตือนสั่งสอนเสมือนผู้บอกขุมทรัพย์ให้ ดังนี้แล้วทรงย้ำว่า

ผู้ฉลาดควรเห็นว่า คนที่ชี้โทษตักเตือน ในเมื่อเห็นความผิดกล่าวปรามให้เว้นชั่วนั้น เป็นเสมือนผู้ชี้บอกขุมทรัพย์ให้ท่านเป็นผู้มีปัญญาเป็นบัณฑิต ใครคบเข้าก็มีแต่ทางดี ไม่มีทางเสียเลย

ดูก่อนท่านผู้เป็นโอรสแห่งธรรม ท่่านลองตรองดูเถิดว่า การตักเตือนสั่งสอนผู้อื่นนั้นเป็นเรื่องยากเพียงใด คนเตือนจะต้องคิดแล้วคิดอีกหลายครั้งหลายหนก่อนจะเตือนใครได้ เพราะเกรงเขาจะโกรธบ้าง เหตุผลในการเตือนมีเพียงพอหรือไม่บ้าง ถ้าเขาเถียงมีเรื่องขุ่นข้องหมองใจกันเกิดขึ้น ควรจะทำอย่างไรบ้าง เขาอาจด่าว่าใส่หน้าเอาว่า มัวเที่ยวเตือนคนอื่นอยู่ ข้อบกพร่องของตนก็มี ทำไมไม่ตักเตือนตน แก้ไขข้อบกพร่องของตนบ้าง เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น