xs
xsm
sm
md
lg

ไตรลักษณ์ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สามัญลักษณะและสังขตลักษณะ

ลักษณะทั้งสามนี้เป็นลักษณะที่ทั่วไปแก่สังขารทั้งปวง เพราะฉะนั้น จึงเรียกอีกคำหนึ่งว่าสามัญลักษณะ ลักษณะที่เป็นสามัญคือทั่วไปแก่สังขารทั้งปวง คำว่าสังขารนั้นได้ แก่สิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหลาย คือว่าทุกๆสิ่ง ทุกๆอย่างที่เป็น สิ่งผสมปรุงแต่งขึ้นมา และย่อมมีลักษณะทั่วไปอีกอย่างหนึ่ง อันเรียกว่า สังขตลักษณะ คือ ลักษณะที่ทั่วไปแห่งสังขตะ คือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งปวง ดังที่มีแสดงไว้ว่า อุปปาโท ปัญญายติ ความเกิดขึ้นปรากฏ วโย ปัญญายติ ความเสื่อมสิ้นไปปรากฏ ฐิตสฺส อญฺญถตฺตํ ปัญญายติ เมื่อยังตั้งอยู่ ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นปรากฏ ดั่งนี้

ตามที่ยกพระบาลีมาแสดงไว้นี้ ก็ได้คำเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งว่า สังขตะ คำว่าสังขตะนี้หมายถึงสิ่งผสมปรุงแต่ง จึงมีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า สังขาร เรียกว่าสังขตะก็ได้ เรียกว่าสังขารก็ได้ ก็หมายถึงสิ่งผสมปรุงแต่ง เช่นเดียวกัน บรรดาสังขตะหรือสังขารทั้งหลายย่อมมีลักษณะที่ปรากฏคือ เกิด เสื่อม กับเมื่อตั้งอยู่ก็แปรปรวน เปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างเช่น ร่างกายนี้ก็เป็นสังขาร หรือเป็นสังขตะอย่างหนึ่ง คือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งเพราะประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้งหลาย ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นรูปขันธ์ กองรูปอันนี้ และก็ประกอบด้วยนามขันธ์ กองนามคือ เวทนา ความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ ไม่สุข สัญญา ความจำได้หมายรู้ สังขาร ความคิดปรุงหรือความปรุงคิด วิญญาณ ความรู้สึกเห็นหรือความรู้สึกได้ยินทางอายตนะทั้งหลาย เหล่านี้ก็เป็นเวทนาขันธ์ กองเวทนา สัญญาขันธ์ กองสัญญา สังขารขันธ์ กองสังขาร วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ ในที่นี้ก็พึงเข้าใจว่ามีคำว่าสังขารซ้ำเข้ามาอีกคือสังขารขันธ์ แต่ว่าสังขารขันธ์ในที่นี้หมาย ถึงความปรุงแต่งทางใจ คือความปรุงคิดหรือความคิดปรุง เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ เท่านั้น ดั่งนี้เป็นสังขารขันธ์ ทั้งหมดนี้ก็เป็นสังขารหรือเป็นสังขตะซึ่งมีความเกิดขึ้นปรากฏเป็นเบื้องต้น คือมีความเกิดขึ้นปรากฏเป็นชาติ คือความเกิด มีวัย คือมีความเสื่อมสิ้นไปปรากฏ ดังที่ปรากฏเป็นปฐมวัย เป็นมัชฌิมวัย เป็นปัจฉิมวัย จนถึงแตกสลายเป็นมรณะคือ ความตาย ก็นับเข้าใน วโย ปัญญายติ มีวัย คือความเสื่อมสิ้นไปปรากฏ และเมื่อยังตั้งอยู่ก็มีความแปรปรวนเปลี่ยน แปลงเป็นอย่างอื่นปรากฏ ดั่งเช่นขันธ์ห้านี้มีความแปรปรวน เปลี่ยนแปลงเป็นลำดับตั้งแต่ชาติคือความเกิดจนถึงมรณะคือความตาย ปรากฏเป็นชราคือความแก่ชำรุดทรุดโทรม ดั่งนี้ก็เข้าในข้อว่า เมื่อยังตั้งอยู่ความแปรปรวน เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไปปรากฏ แม้ว่าจะจัดเป็นวัยๆ ดังกล่าวมาข้างต้น ในระหว่างวัยหนึ่งๆก็มีความแปรปรวน เปลี่ยนแปลงไปปรากฏไม่มีหยุดเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ ดั่งนี้เป็นสังขตลักษณะ คือลักษณะที่ทั่วไปแก่สังขารทั้งปวง ก็เป็นสามัญลักษณะด้วยเหมือนกัน

อนิจจลักษณะ

คราวนี้เมื่อมีลักษณะปรากฏดังนี้ จึงสามารถที่จะกำหนดพิจารณา นิยามลงไปได้ กำหนดลงไปได้ว่าไม่เที่ยง ว่าเป็นทุกข์ ว่าเป็นอนัตตา นิยามลงไปได้ว่าไม่เที่ยงอย่างไร ก็คือว่าเพราะเหตุที่มีความเกิดขึ้นปรากฏ มีวัยคือความเสื่อมสิ้นไปปรากฏ และเมื่อยังตั้งอยู่ มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไปปรากฏ จึงนิยามกำหนดลงไปได้ว่าไม่เที่ยง คือไม่ตั้งอยู่ไม่ดำรงอยู่ในที่เดียว หากตั้งอยู่ดำรงอยู่ในที่เดียวจึงจะเรียกว่าเที่ยง แต่เพราะไม่ตั้งอยู่ดำรงอยู่ในที่เดียว ต้องเกิดต้องเสื่อมต้องดับต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป จึงนิยามกำหนดลงไปได้ว่าไม่เที่ยง ไม่เที่ยงอย่างนั้น ไม่เที่ยงอย่างนี้ พิจารณาได้กำหนดได้ เพราะว่าความเกิดความเสื่อมสิ้นไป และความแปรปรวน เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นนั้นมิได้หลบซ่อนหรือซ่อนเร้น แต่ว่าปรากฏก็คือว่าเปิดเผยอย่างหยาบก็มองเห็นได้ด้วยตา อย่างละเอียดก็พิจารณารู้ได้ด้วยใจ เป็นสิ่งที่ปรากฏไม่ใช่ว่าไม่ปรากฏ เป็นสิ่งปรากฏอยู่บอกตัวเองอยู่ เพราะฉะนั้นจึงนิยามได้กำหนดได้ลงไปว่าไม่เที่ยง ดั่งนี้แหละคืออนิจจตา ความไม่เที่ยงที่กำหนดได้นิยามได้โดยอนิจจลักษณะ ลักษณะที่ไม่เที่ยง ก็คือ ลักษณะที่เกิด ที่เสื่อมสิ้น ที่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปนี้เองปรากฏอยู่

ทุกขลักษณะ

คราวนี้สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์คือไม่เป็นสุข ไม่ตั้งอยู่คงที่ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป อันเรียกว่าเป็น วิปริณามธรรม เป็นสิ่งที่มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป เป็นธรรมดา ก็คือว่าลักษณะที่มีความเกิดปรากฏ มีวัยคือ ความเสื่อมสิ้นปรากฏ และเมื่อตั้งอยู่มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปปรากฏนั้นเอง เป็นตัวไม่เที่ยง และสิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ จึงเป็นตัวทุกข์ด้วย คือเป็นสิ่งที่ไม่ เป็นสุข ไม่ตั้งอยู่คงที่ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

อันคำว่าสุขนั้นแปลว่าทนได้ง่าย แต่คำว่าทุกข์นั้นแปล ว่าทนได้ยาก สิ่งใดที่ทนได้ง่ายเพราะมีความสบายไม่เดือดร้อน นั่นก็เป็นสุข แต่สิ่งใดที่ทนได้ยากไม่สบาย สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ และที่ทนไม่ได้หรือว่าทนได้ยาก โดยความนั้นก็ คือว่าทนอยู่ไม่ได้ คือต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ดั่งนี้ ก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงนิยามลงไป กำหนดได้ว่าเป็นทุกข์ เพราะทนอยู่ได้ยาก คือทนอยู่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยน แปลงไปอยู่ทุกขณะ

อนัตตลักษณะ

เมื่อสิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นก็เป็นอนัตตา เพราะเหตุว่าบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้ จะบังคับให้เกิดแต่ไม่ให้เสื่อมสิ้นก็บังคับไม่ได้ จะบังคับให้ตั้งอยู่โดยไม่แปรปรวน เปลี่ยนแปลงไปก็ไม่ได้ บังคับให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้ จึงนิยามลงไปได้ว่า อนัตตามิใช่อัตตาตัวตน เพราะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้ ถ้าเป็นอัตตาตัวตนคือเป็นตัวเราของเราจริงแล้วก็บังคับให้เป็นไปตามปรารถนาได้ แต่นี่บังคับไม่ได้ สังขารทั้งหลายเมื่อเกิดขึ้นก็ต้องเสื่อมสิ้น เมื่อตั้งอยู่ก็ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา จะไปบังคับฝืนธรรมดาดั่งนี้มิได้ จึงนิยามลงไปว่าอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน

เพราะฉะนั้น จึงสามารถนิยามได้โดยลักษณะที่เป็นสังขตลักษณะดังกล่าวเป็นที่ตั้ง คือความเกิดปรากฏ ความเสื่อมสิ้นปรากฏ เมื่อตั้งอยู่ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงปรากฏ จึงนิยามลงไปโดยลักษณะที่ปรากฏนี้แหละว่าไม่เที่ยง ว่าเป็นทุกข์ ว่าเป็นอนัตตา ดังนี้

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร ยกขันธ์ห้าขึ้นเป็นที่ตั้งเป็นวิปัสสนาภูมิ ชี้ให้เห็นอนัตตาขึ้นก่อน แล้วก็ชี้ให้เห็นอนิจจะ ให้เห็นทุกขะ และให้เห็นอนัตตาชัดเจนขึ้นมา ถึงพระสูตรที่สามคือ อาทิตตปริยายสูตร พระพุทธเจ้าได้ทรงยกเอาสิ่งทั้งปวง คืออายตนะภายในภายนอกเป็นต้นมาชี้ว่าเป็นของร้อน ก็มุ่งแสดงทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์ หรือไตรลักษณ์ในข้อทุกขลักษณะให้ เห็นชัดเจนขึ้นเป็นที่ตั้ง แล้วก็น้อมนำให้เห็นอนิจจลักษณะ อนัตตลักษณะไปด้วยกัน

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 83 ต.ค.50 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น