ฟ้าใสสีคราม ทิวเขาสูงตระหง่าน วิถีวัฒนธรรมและความสงบแห่งดินแดนหลังคาโลก เรียกให้ผู้คนเดิน ทางไปแสวงหาแก่นแท้แห่งพุทธะที่เจริญงอกงามในทิเบตมานานกว่า 1,200 ปี
พุทธศาสนาในทิเบตเป็นการผสมผสานระหว่างนิกายมหายานจากอินเดียและจีน รวมทั้งนิกายตันตระของอินเดีย จนเกิดเป็นนิกายวัชรยานขึ้น ชาวทิเบตมีการสวดภาวนาและปฏิบัติธรรมเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต การจาริกแสวงบุญไปยังอารามศักดิ์สิทธิ์เป็นความปรารถนาสูงสุด และแม้ว่าการที่ทิเบตตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีน จะมีส่วนทำให้วัดนับพันแห่งในอดีตต้องลดจำนวนลง แต่พลังแห่งศรัทธาของชาวพุทธก็ยังคงเข้มแข็งประดุจขุนเขา
ห่างจากนครลาซาไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 38 กม. บนฝั่งแม่น้ำยาร์ลุงหรือที่รู้จักในนาม แม่น้ำพรหมบุตร เป็นที่ตั้งของอารามซัมเย่ (Samye Monastery) วัดแห่งแรกของศาสนาพุทธนิกายวัชรยานในทิเบต
ในรัชสมัยของพระเจ้าตรีซง เตเซน กษัตริย์องค์ที่ 5 (ค.ศ. 742-798) มีการสังคายนาพุทธศาสนาที่นครลาซา พระเจ้าตรีซง เตเซน ทรงนิมนต์พระศานติรักษิต และคุรุปัทมสมภพ จากอินเดียเข้ามาเพื่อเผยแผ่พระธรรม และได้ทรงจัดนักปราชญ์ชาวทิเบตเข้าร่วมในการแปลพระธรรมเป็นภาษาทิเบตด้วย
คุรุปัทมสมภพเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวทิเบตอย่างมาก เป็น ‘กูรูริมโปเช’ (ครูผู้ประเสริฐ) ท่านเป็นผู้เลือกสถานที่สร้างอารามซัมเย่ มีการอุปสมบทพระภิกษุชาวทิเบตขึ้นเป็นครั้งแรก อารามซัมเย่สร้างตามความเชื่อทางอินเดีย คือ มีวิหารหลักเปรียบดังเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางของจักรวาล มีอาราม 4 ทิศ เปรียบเสมือนทวีปทั้งสี่ และมีอารามด้านนอกอีกแปดทิศ เป็นสัญลักษณ์ของประทีปในจักรวาล มีสถูปทางทิศเหนือและใต้ แทนพระอาทิตย์และพระจันทร์
ตัววิหารกลางมีสามส่วน ส่วนล่างสุดเป็นสถาปัตยกรรมแบบทิเบต ส่วนกลางเป็นแบบจีน และส่วนบนเป็นแบบอินเดีย วิหารนี้จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า วิหารสามลีลา มีเจดีย์ 4 องค์ สีแดง สีเขียว สีดำ และสีขาว ประดิษฐานอยู่ด้านซ้าย ขวา หน้า และหลัง ของวิหารใหญ่ มีความหมายว่า อารามแห่งนี้ได้รับการปกปักรักษาโดยกษัตริย์สี่พระองค์บนสรวงสวรรค์
การก่อสร้างใช้เวลากว่าสิบสองปี (มีบันทึกว่าเริ่ม ค.ศ.762) ผ่านการบูรณะซ่อมแซมในหลายๆรัชสมัย จนปัจจุบันอารามซัมเย่มีเนื้อที่กว่า 4,900 ตารางเมตร เป็นที่ประดิษฐานพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์กวนอิม แต่ชาวทิเบตไม่ได้ขนานพระนามของพระองค์ว่า พระอวโลกิเตศวร ซึ่งแปลว่าพระผู้เป็นใหญ่ใน โลกตามคัมภีร์ในภาษาสันสกฤต แต่เรียกพระองค์ว่า ‘เชนเรซี’ (พระผู้ทอดพระเนตรสรรพสัตว์ไปทั่วทุกทิศด้วยความกรุณา) กล่าวกันว่าผู้คนเดินทางมาซัมเย่เพื่อชมความงดงามโดดเด่นของพระพุทธรูปองค์นี้ นอกจากนี้ในอารามยังมีรูปสลักหินอ่อน ที่เป็นพุทธศิลป์ในสมัยราชวงศ์ถัง นับเป็นศิลปะการแกะสลักหินอันสูงค่าที่ยังหลงเหลืออยู่ในซัมเย่ มีภาพเขียนบนผืนผ้าอันงดงามด้วยสีสันและเรื่องราวทางพุทธศาสนามากมาย และยังมีระฆังทองสัมฤทธิ์ที่เขียนลวดลายด้วยบทสวดเก่าแก่ ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า เป็นระฆังใบแรกที่หลอมขึ้นในทิเบต เพื่อรำลึกถึงชายาองค์หนึ่งของพระเจ้าตรีซง เตเซน ที่ทรงนำสตรีชั้นสูงสามสิบคนสละทางโลกมาปฏิบัติธรรม และต่อมาได้กลายเป็นนักบวชหญิงกลุ่มแรกของทิเบต
ในช่วงหลัง รัฐบาลจีนทุ่มงบประมาณมหาศาลสำหรับอารามซัมเย่ ซึ่งกลายเป็นศาสนสถานอันสำคัญที่สุดในดินแดนทิเบตตอนใต้ ที่ผู้แสวงบุญและนักท่องเที่ยวปรารถนามาเยือน
ปัจจุบันสามารถเดินทางไปซัมเย่ด้วยรถบัสจากนครลาซา และข้ามแม่น้ำด้วยเรือโดยสารขนาดใหญ่ แต่ก็ยังมีผู้ศรัทธาเข้มแข็งมุ่งมั่นจาริกแสวงบุญด้วยการเดินเท้า จากบ้านเกิดสู่จุดหมายปลายทางที่วัดซัมเย่ โดยมินำพาว่าการเดินนั้นจะกินเวลา นานเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือบางคนอาจจะทั้งชีวิต
ในแต่ละวันจะมีพระสงฆ์และผู้แสวงบุญเข้ามาร่วมกันสวดมนต์และอ่านคัมภีร์ในโบสถ์กลุ่มแล้วกลุ่มเล่า เสียงสวดคลอ ด้วยเสียงระฆัง กลอง และเครื่องเป่าแบบทิเบตจะก้องกังวานอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางแสงมลังเมลืองของตะเกียงที่จุดด้วยน้ำมันจามรี
เป็นท่วงทำนองแห่งศรัทธาและกลิ่นน้ำมันกรุ่นกำจายในบรรยากาศแห่งสันติ ที่จะติดตรึงในความทรงจำของผู้มาเยือนอารามแห่งนี้อย่างมิรู้ลืม
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 83 ต.ค.50 โดย นันท์ธนัตถ์)