ผ่านการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หลายคน คงกำลังตั้งตารอความเปลี่ยนแปลง
เวลาที่บ้านเมืองลุกเป็นไฟ อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ทีไรมีแต่เรื่องสะเทือนอารมณ์ สร้างความหวาดระแวง ขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน หลายคนคงเคยฝันถึงชุมชนที่อบอุ่น แสนดี ไม่มีโจรผู้ร้าย ไม่มีคดีทำลายขวัญ ไม่มีคอรัปชั่น มีแต่ความเอื้ออาทร แบ่งปัน สุขสงบและสันติ
สังคมในอุดมคตินั้นอยู่ที่ไหน เราจะสร้างขึ้นได้หรือไม่
เอ็ดเวิร์ด วอล์คเกอร์ และกลุ่มผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปด้วยอาชญากรรม ต่างหมดหวังที่จะใช้ชีวิตในสังคมที่อุดมไปด้วยความรุนแรงและเลวร้าย ไร้ความรู้สึกมั่นคงใน ชีวิต ทุกคนพร้อมใจกันเก็บผนึกอดีตอันเจ็บปวดไว้ในกล่อง หลบหนีจากความโลภ ความหลง ความเห็นแก่ตัวใน ‘เมืองใหญ่อันโสมม’ และร่วมกันกำหนดอนาคตใหม่ให้ลูกหลาน ด้วยการสร้างชุมชนในฝันให้เป็นจริง
หมู่บ้านเล็กๆ แสนงามและแสนสงบในศตวรรษที่ 19 จึงเติบโตขึ้นในป่าแห่งหนึ่งของรัฐเพนซิลวาเนีย
ชุมชนพึ่งตนเอง ผู้คนรักใคร่สนิทสนม ปลูกพืชผัก เลี้ยงสัตว์ ผู้ใหญ่สอนหนังสือให้เด็กๆ การรับประทานอาหารร่วมกันอย่างอบอุ่น งานเลี้ยงฉลองกลางทุ่งหญ้าที่มีดอกไม้ บานสะพรั่ง เหล่านี้คือฉากชีวิตอันสงบงามในหนังเรื่อง The Village
แต่ความสงบสุขกลับดำเนินไปภายใต้กฎเกณฑ์ที่ถูกเล่า ต่อๆ กันมาเหมือนเป็นตำนาน นอกเขตหมู่บ้านมีอะไรบางอย่างที่ชาวบ้านรู้จักในชื่อ ‘สิ่งที่ไม่ควรเอ่ยถึง’ มันจะเก็บตัวอย่างสงบในป่าตราบเท่าที่ชาวบ้านจะอยู่อย่างสงบในที่ในทางของตน แต่เมื่อใดก็ตามที่มีคนคิดฝืนกฎ เมื่อนั้นหมู่บ้านจะได้รับการเตือนภัย
คืนไหนที่เสียงระฆังดังก้อง ชาวบ้านจะลนลานปิดประตูหน้าต่าง อุ้มลูกจูงหลานลงไปหลบภัยในห้องใต้ดิน แล้ว ‘สิ่งที่ไม่ควรเอ่ยถึง’ ก็จะออกมาทิ้งสัญลักษณ์เป็นร่องรอยสีแดงไว้บนประตูบ้าน เพื่อตอกย้ำให้ ‘ความเชื่อ’ ทำหน้าที่ของมันอย่างเคร่งครัดต่อไป
ทุกคนจึงถูกครอบงำด้วยความกลัว ไม่กล้าเข้าป่า ไม่กล้า ออกจากหมู่บ้าน ธงสีเหลืองถูกปักไว้เพื่อปกป้องสิ่งชั่วร้าย ในขณะที่สีแดงคือสีแห่งความหายนะ
แต่แล้ว ลูเชียส ฮันท์ ลูกชายผู้เงียบขรึมของอลิซ ก็ยื่นคำขออนุญาตออกเดินทางไปสู่โลกภายนอก เพื่อหาหนทางช่วยไม่ให้คนในหมู่บ้านเจ็บป่วยตายโดยไม่มีทางรักษา เขามั่นใจว่าจะปลอดภัย เพราะเชื่อว่า ‘สิ่งที่ไม่ควรเอ่ยถึง’ จะเป็น อันตรายต่อผู้ที่ทำสิ่งชั่วร้ายเท่านั้น
เหตุผลของลูเชียสอยู่เหนือการคาดคิดของกลุ่มผู้อาวุโส แน่นอนเขาไม่ได้รับอนุญาต อลิซพยายามเปลี่ยนความตั้งใจของลูกชาย ด้วยตำนานและกฎเกณฑ์ดั้งเดิม แต่ลึกๆ แล้วทุกคนเริ่มกังวลว่าจะรักษากฎไว้ได้อย่างไร
เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องการหลบหนีคือเมืองใหญ่ ไม่ใช่อะไรที่อยู่ในป่า
แต่แล้ว เมื่อลูเชียสถูกทำร้ายอย่างสาหัส ด้วยอาชญากรรมที่ไม่เคยเกิดขึ้นในชุมชนอันสุขสงบ กลุ่มผู้อาวุโสก็เริ่ม ตระหนักถึงปัญหาการดำรงอยู่ของสังคมในอุดมคติ หรือแท้จริงแล้ว สิ่งชั่วร้ายไม่ได้อยู่ในเมือง หรือในป่า แต่ทว่าแอบแฝงอยู่ในใจคน
เมื่อไอวี่ วอล์คเกอร์ อาสาออกจากหมู่บ้านไปเอายาจากในเมืองมารักษาลูเชียส พวกเขาจึงต้องเลือกระหว่างการรักษากฎเกณฑ์และความเชื่อ กับการรักษาชีวิตของผู้บริสุทธิ์
The Village เป็นผลงานเรื่องที่สี่ของ เอ็ม ไนท์ ชยามาลาน ผู้กำกับเชื้อสายอินเดียที่ไปเติบโตในอเมริกา ผลงาน ก่อนหน้านั้นคือ The Sixth Sense, Signs และ Unbreakable หนังทุกเรื่องของเอ็ม ไนท์ มักสอดแทรกสาระแห่งชีวิต หรือสัญลักษณ์ความเชื่อทางศาสนาให้คนดูขบคิด
นอกจากสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในเนื้อหนังให้ตีความได้หลายๆ มิติแล้ว ความโดดเด่นของ The Village อยู่ที่พลังของนักแสดงแต่ละคน รวมทั้งภาพและการจัดแสงที่สวยงาม ให้ความรู้สึกนิ่งสงบแต่แฝงความลึกลับ อีกทั้งดนตรีประกอบยังได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยมอีกด้วย
แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องจำไว้เสมอเวลาหยิบหนังต่างประเทศมา ดู คืออย่าสนใจชื่อเรื่องในภาษาไทย(ให้มากนัก) เพราะอาจ เข้าใจไปคนละทิศทางกับสารที่ผู้สร้างต้องการจะบอก
เรื่องนี้ก็เช่นกัน นอกจากชื่อไทยจะทำให้เข้าใจว่าเป็นหนังประเภทเขย่าขวัญสั่นประสาทแล้ว ร้านเช่าหนังแผ่นบาง แห่งยังวาง The Village ปะปนกับหนังผีเสียอีกด้วย จึงเป็น ที่เสียอารมณ์ของคอหนังสยองขวัญตัวจริง ที่พอหยิบมาดูแล้วก็จะบ่นพึมไปว่ามันสยองตรงไหนกัน ส่วนคนที่ไม่นิยมหนังเขย่าขวัญ การมองข้าม The Village เพราะชื่อ ‘หมู่บ้านสาปสยอง’ ก็อาจจะพลาดสาระลึกๆ ที่ซ่อนไว้ในหมู่บ้านแห่งนี้ไปอย่างน่าเสียดาย
ถ้าไม่คิดว่ากำลังดูหนังสยองขวัญ ไม่ต้องตั้งตาดูว่าผีจะโผล่ออกมาตอนไหน หรือหนังจะหักมุมอย่างไร เพียงแค่ คิดว่ากำลังดูความเป็นไปของผู้คนในชุมชนหนึ่ง อย่างใจเย็นและมีสมาธิ จะสนุกกับสัญลักษณ์หรือสาระเล็กๆ น้อยๆ ที่ซ่อนอยู่ตรงนั้นนิด ตรงนี้หน่อย
“เงินทองเป็นสิ่งชั่วร้าย” เอ็ดเวิร์ดบอกไอวี่ วอล์คเกอร์ ลูกสาวตาบอดของเขา “เงินสามารถเปลี่ยนจิตใจมนุษย์ให้กลายเป็นสีดำมืด”
ความบกพร่องทางสติปัญญาของชายหนุ่มอย่างโนอาร์ เพอร์ซี่ ทำให้เขาไม่สนใจ (หรือไม่ก็ไม่เข้าใจ) กฏเกณฑ์ใดๆ เขาเก็บลูกไม้สีแดงในป่าต้องห้าม เขาหัวเราะในขณะที่คนอื่น หวาดผวา ดูแล้วอดคิดเล่นๆไม่ได้ว่า คนที่ไม่ยึดติดอยู่ในกรอบมีความสุขอย่างนี้เอง
แต่โนอาร์ก็เป็นตัวละครที่ทำให้เราตระหนักว่า ความริษยา เป็นเมล็ดพันธุ์หนึ่งของความชั่วร้าย ที่พร้อมจะงอกงามในจิตใจที่ไร้การควบคุม
ความมุ่งมั่นและกล้าหาญของหญิงสาวตาบอดอย่างไอวี่ วอล์คเกอร์ ก็เหมือนจะบอกเราว่า สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยตา ถ้าเราปิดตา และเปิดใจให้สว่าง บางทีอาจมองเห็น ทางข้างหน้าได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
หนังเรื่องนี้มีฉากรักน้อยมาก แต่เอ็ม ไนท์ก็ทำให้ความน้อยนิดนั้นทรงพลังมหาศาล มือที่คว้าจับมือของอีกฝ่ายเพื่อช่วยเหลือได้ทันเวลาเสมอ ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความรักความห่วงใย ความเชื่อมั่นในกันและกันของไอวี่กับลูเชียส ทำให้เราเชื่อในพลังที่พาเธอเดินออกจากหมู่บ้าน ผ่านป่าต้องห้าม ข้ามกำแพงแห่งความกลัว ออกไปสู่สังคมปัจจุบัน
ในศตวรรษที่ 21 เพื่อช่วยคนรักให้รอดชีวิต
นักจิตวิทยาชาวอเมริกันชื่อลอว์เรนซ์ โคห์เบิร์ก (Lawrence Kohlberg) สรุปว่า ศีลธรรมของมนุษย์นั้นมีการพัฒนาเป็นขั้นตอน ถึงที่สุดแล้ว ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีจะต้องซึมซับอย่างถาวรในจิตใจ ไม่ต้องใช้กฎเกณฑ์บังคับหรือ ข่มขู่ เราเลือกทำสิ่งที่ดี เพราะชีวิตและจิตใจดำรงอยู่ในศีลธรรม
หนังเรื่องนี้อาจทำให้หลายคนต้องชั่งน้ำหนักระหว่างกฎ เกณฑ์ที่แข็งกร้าว กับจริยธรรมที่เข็มแข็ง อะไรจะป้องกันความชั่วร้ายได้มากกว่ากัน
ช่วงท้ายของหนัง เอ็ดเวิร์ด วอล์คเกอร์ ตัดสินใจเปิดหีบ สีดำที่พวกเขาเก็บความลับไว้ค่อนชีวิต หยิบอดีตขึ้นมาทบทวนเพื่อการก้าวต่อไปในอนาคต
“เราต้องไม่วิ่งหนีความเจ็บปวด ความเจ็บปวดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต”
มิใช่ความเขลา ขลาด และหวาดกลัวหรอก ที่จะหยุดความรุนแรงหรือเลวร้ายในใจคน ความรัก ความหวัง และความกล้าหาญที่จะทำในสิ่งดีงามต่างหาก ที่ช่วยให้สังคมสงบสุข
น่าจะเป็นอีกหนึ่งสาระสำคัญที่เอ็ม ไนท์ ชยามาลาน ต้องการจะบอกผ่านหนังเรื่อง The Village
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 83 ต.ค. 50 โดย เรืองพิลาศ)