xs
xsm
sm
md
lg

นาคเบือน หางหงส์ที่แตกต่าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า เครื่องลำยองในสถาปัตยกรรมไทย ในส่วนของพระราชวัง และพุทธสถานนั้น มีความสำคัญและงดงามมาก กล่าวคือ ยังเป็นการแสดง ออกถึงรสนิยม และอิทธิพลเชิงช่างได้เป็นอย่างดี

ตัวลำยอง คือส่วนขององค์ประกอบสำคัญของเครื่องลำยอง เราพบว่าเครื่องลำยองที่สร้างนั้น เปรียบเหมือนการนำตัวนาคทั้งตัวเป็นองค์ประกอบ ใช้เป็นเครื่องปิดเครื่องมุงหลังคาด้านสกัด โดยพาดอยู่บนหลังแป ทำหน้าที่ เช่นเดียวกับปั้นลมในเรือนไทย และส่วนที่ทำให้ตัวลำยองมีชีวิตชีวานั้นคงหนีไม่พ้นส่วนที่เรียกว่า “หางหงส์”

หางหงส์เป็นส่วนที่ติดอยู่ที่ปลายเครื่องลำยอง บ้างทำเป็นรูปทรงคล้ายหงส์ แต่ที่พบส่วนมากมักทำเป็นรูปโครงของนาคสามเศียรซ้อนกัน หรืออาจจะเป็นหนึ่งเศียรก็มี

นอกจากนี้ ยังมีองค์ประกอบสำคัญของตัวลำยอง อยู่ชนิดหนึ่ง ที่ทำหน้าที่เช่นเดียวกับหางหงส์ เรา เรียกองค์ประกอบส่วนที่ว่านี้ว่า “นาคเบือน”

นาคเบือนคือองค์ประกอบสำคัญหนึ่งในเครื่องลำยองของพระราชวัง และสถาปัตยกรรมในพระพุทธศาสนา มีลักษณะเป็นแผ่นแบนเช่นเดียวกับหางหงส์ ทำเป็นเศียรนาคซ้อนติดกันเป็นแผง หันหน้า ออกทางด้านหน้าของมุข ซึ่งหางหงส์เดิมจะหันหน้าออกไปทางด้านข้าง การหันหน้าในลักษณะเช่นนี้ คืออาการที่เรียกว่า “เบือน” เป็นที่มาของชื่อที่เรียกกันว่า นาคเบือน

นาคเบือนเป็นหางหงส์ที่ดูมีชีวิตชีวากว่ารูปแบบของหางหงส์ทั่วไปที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันทั้งหมด นาคเบือนนี้จะทำเป็นรูปโครง ของเศียรนาค บ้างทำเป็นเศียรนาคที่ดูสมจริง ก็มี โดยจัดองค์ประกอบของเครื่องลำยองให้ ต่างออกไปจากเดิม ซึ่งเดิมจะจัดให้เศียรนาค หันหน้าไปทางด้านข้าง สำหรับนาคเบือนนี้กลับบิดรูปหน้าให้หันมาทางด้านหน้ามุข การแสดงออกในลักษณะเช่นนี้ดูแปลกตา และยังสะท้อนให้เห็นอีกว่า ช่างมีสุนทรียภาพใน การออกแบบที่จะสะท้อนว่า นาคนั้นมีชีวิต ซึ่งเราได้นำเสนอไปแล้วในเรื่องของนาคสะดุ้งที่ขนดนาคมีจังหวะคดโค้งคล้ายลำตัวของนาคกำลังเลี้อย

ตัวอย่างของนาคเบือนที่สำคัญได้แก่ นาคเบือนที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง นาคเบือนที่พระอุโบสถ พุทธรัตนสถาน สวนศิวาลัย ในพระบรมมหาราชวัง และนาคเบือนที่พระอุโบสถ วัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า ปัจจุบันเหลือแต่อุโบสถที่ได้รับการบูรณะแล้ว) ซึ่งตั้งอยู่ภายใน วิทยาลัยนาฏศิลป์ กทม.

นอกจากนี้ ยังพบนาคเบือนเป็นองค์ประกอบของซุ้มประตูทางเข้า ของวัดมหาพฤฒาราม กทม.ด้วย ซึ่งต่างจากนาคเบือนที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และที่พระอุโบสถบวรสถานสุทธาวาส กล่าวคือ ที่ซุ้มประตูนี้ สร้างนาคเบือนที่ดูสมจริง คือนอกจากจะมีรูปทรงอย่างนาคแล้ว ยังตกแต่งด้วยปูนปั้นให้ดูมีชีวิตขึ้นอีก

การที่พระราชวัง และพุทธสถานมีส่วนเกี่ยว ข้องกับนาคนี้ยังคงปรากฏเรื่อยมาจากอดีตถึง ปัจจุบัน โดยที่นาคนั้นยังคงได้รับความนิยม ไม่เสื่อมคลาย ทั้งนี้เกิดจากความเชื่อ
และความศรัทธาที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องในสถาบันกษัตริย์ และพุทธศาสนา เฉกเช่นนาคเบือน ที่ยังคงปรากฏในเครื่องลำยองของพระราชวัง และพุทธสถาน แม้ว่าจะไม่พบมากนัก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า นาคเบือนจะไม่เป็นที่รู้จักเลย ทั้งนี้ยังสร้างความน่าสนใจ และความ สำคัญของหางหงส์ให้มากกว่ารูปแบบทั่วไปอีกด้วย

เอกสารอ่านประกอบ
โชติ กัลยาณมิตร. พจนานุกรมสถาปัตยกรรมและศิลปะที่เกี่ยวเนื่อง. กรุงเทพฯ : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, ๒๕๑๘.
สมภพ ภิรมย์. ช่อฟ้า นาคเบือน ตุง. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๔๕.
สมใจ นิ่มเล็ก. เครื่องบนและงานประดับของสถาปัตยกรรมไทย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๓๙.
สันติ เล็กสุขุม. ลีลาไทย.กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๖.

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 83 ต.ค. 50 โดยนฤมล สารากรบริรักษ์)


กำลังโหลดความคิดเห็น