xs
xsm
sm
md
lg

เสด็จพ่อ ร.5

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นเวลาเกือบ 30 ปีแล้วที่ ‘สำเริง เอนกลาภ’ ไม่เคยห่างหายไปจากการเขียนภาพ ‘พระบรมสาทิสลักษณ์ ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5’ หรือ ‘เสด็จพ่อ ร.5’ ที่หมู่ผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระองค์ท่าน นิยมเรียกขานพระนามกัน

นับแต่ครั้งที่ได้ลงมือเขียนภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ภาพแรกขึ้น โดยการคัดลอกจากภาพพิมพ์ชิ้นหนึ่งซึ่งติด อยู่ภายในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร ย่านบางลำพู จนกระทั่งปัจจุบันเขายังคงมุ่งมั่นเขียนภาพชิ้นใหม่ๆขึ้น อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น ยังมีบุคคลสำคัญอีกมากมายที่เขาประทับใจและเป็นเหตุให้ต้องจารึกบันทึกไว้ในภาพเขียน

“ภาพนั้นเป็นภาพที่พระองค์ท่านยังมีพระชนมายุไม่มากเท่าใดนัก ทรงหันพระพักตร์ไปทางด้านซ้ายมือ ของผู้ชม ทรงพระภูษาสีขาว และแบกกราวน์ของภาพ เป็นสีเขียว”

สำเริงรำลึกความหลังถึงภาพแรกที่เขียนขึ้น เป็นภาพ ขนาดเท่าพระองค์จริง ซึ่งมีนักธุรกิจรายหนึ่งขอซื้อไป เพราะได้ไปพบเห็นภาพเขียนภาพนั้นในร้านทำกรอบรูป ที่สำเริงมักนำภาพเขียนของเขาไปใส่กรอบ

ต่อมาเขาได้เขียนภาพชิ้นที่สองติด ไว้ที่อาคารตึกกลางของโรงเรียนเพาะช่าง สถาบันการศึกษาด้านศิลปะที่สำเริงจบ การศึกษามาและเข้ารับราชการในปัจจุบัน อันเป็นสถาบันที่รัชกาลที่ 5 เคยมีพระราชดำริให้สร้างขึ้น ด้วยทรงเกรงว่าศิลปะไทยจะถูกศิลปะของชาติตะวันตก กลืนไป ทว่าทรงเสด็จสวรรคตไปก่อนที่จะได้ทอดพระเนตร จนในที่สุดสถาบันดังกล่าว ได้ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

“จากนั้นก็มีบรรดาผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาในพระองค์ท่าน มาว่าจ้างให้ผมเขียนมากขึ้น เรื่อยๆ ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ก็เลยมีพระอิริยาบถที่หลากหลายขึ้น”

ผลงานของสำเริงจึงกระจายไปติดอยู่ในหลายสถานที่ ทั้งหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน บ้านพักอาศัยของผู้ที่ว่าจ้างให้เขาเขียน และผู้ที่ซื้อภาพเขียนชิ้นที่เขาเขียนเก็บ ไว้นานแล้วไปครอบครอง

ครั้งหนึ่งสภาสงคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้นำผลงาน ของสำเริงที่เขียนขึ้นในหลายวาระ จำนวน 12 ภาพ ไปจัดพิมพ์เป็นโปสการ์ดเพื่อหารายได้ช่วยการกุศล สร้างความภาคภูมิใจให้แก่เขาอยู่ไม่น้อย เพราะถือเป็นโอกาสดีที่ผลงานได้ถูกเผยแพร่อีกทาง

สำเริงบอกว่าเวลาที่ลงมือเขียนภาพ ชื่นชอบในความเป็นเอกลักษณ์ของพระ-มัสสุ(หนวด)บนพระพักตร์เป็นที่สุด แต่ความยากของการเขียนภาพบางภาพก็คือ หาก ต้นฉบับที่ใช้เป็นแบบเพื่อเขียน รายละเอียดมีน้อย หรือจางหายไป ก็จะทำให้การถ่ายทอดฝีมือมีความยากลำบาก

“บางทีต้นฉบับมันเบลอ มีการก็อปปี้กันมาหลายชั้นแล้ว แสงเงาก็จะเหลือน้อย หมายถึงว่า มีแค่น้ำหนักเข้ม กับน้ำหนักสว่าง เวลาเขียนเราหาน้ำหนักกลางของภาพไม่ได้ ทำให้ต้องทำงานเหนื่อยขึ้น เพราะเวลาที่เราจะเขียน ขยายเป็นภาพพระพักตร์เท่าองค์จริงแล้วจะไม่มีรายละเอียดให้ต้องเขียน”

ในฐานะศิลปิน สำเริงยอมรับว่าผลงานศิลปะของเขา เป็นที่รู้จักมากขึ้นก็เนื่องมาจากการเขียนภาพพระบรม-สาทิสลักษณ์ของพระองค์ท่าน ดังนั้นในทุกๆครั้งก่อนที่เขาจะลงมือเขียนภาพแต่ละภาพ ไม่เพียงเขาจะพยายามทุ่มเทจิตใจเขียนอย่างสุดฝีมือ เขายังจะต้องจุดธูปเทียนบูชา อธิษฐานขอพรจาก เสด็จพ่อ ร.5 เพื่อให้ตัวเองเขียนภาพได้สำเร็จลุล่วงตามที่ได้ตั้งใจไว้ด้วย

ขณะเดียวกันเขาก็เป็นอีกบุคคลที่มีความเชื่อไม่ แตกต่างไปจากใครหลายคนที่เชื่อว่าการที่ได้กราบไหว้และสักการะ เสด็จพ่อ ร.5 มีผลช่วยให้ชีวิตแคล้วคลาดไปจากอันตรายได้ เหมือนเช่นครั้งหนึ่งที่เขาล้มป่วย อาการขั้นหนัก ไอจนเป็นเลือด และต้องนอนรักษาตัวที่ โรงพยาบาล

“ที่ผมเล่าว่าเคยไปเขียนภาพในพระอุโบสถ ของวัดบวรฯนั้น จริงแล้วๆตอนแรกผมเขียนภาพไม่เสร็จ เขียนไปได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ก็ป่วยหนัก อาเจียนจนเป็นเลือด ต้องกลับไปอยู่ที่จังหวัดอ่างทองบ้านเกิด และอาการก็หนักจนกระทั่งทางโรงพยาบาลอ่างทองได้ส่งผมมาที่โรงพยาบาล เปาโลเมมโมเรียนที่สะพานควาย จนแล้วจนรอดทางโรงพยาบาลก็ยังวิเคราะห์ไม่ถูกว่าผมป่วยด้วยโรคอะไร

ช่วงเวลานั้นผมนึกอยู่เรื่องเดียวว่า ผมเพิ่งเรียนจบ ผมยังไม่ได้ทำอะไรมากเท่าไหร่เลยในชีวิต ผมไม่น่าจะถึงคราวต้องตายเลย ที่สำคัญผมยังเขียนภาพแรกของพระองค์ท่านค้างอยู่ ผมจึงอธิษฐานขอให้ผมหายจากการป่วยครั้งนั้น ซึ่งต่อมาอาการ ป่วยของผมก็ดีขึ้น และสิ่งแรกที่ผมทำหลังจากหายป่วยคือ ซื้อดอกไม้ธูปเทียนไปกราบพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ท่าน ในอุโบสถวัดบวรฯ”

แม้พระพุทธศาสนาจะไม่สอนให้คนเชื่อแบบงมงาย แต่สำหรับศิลปินผู้นี้ เมื่อรำลึกถึง ‘เสด็จพ่อ ร.5’ คำว่า “พระบารมีคุ้มครอง” ย่อมฉายชัดกว่าคำว่า “งมงาย” หลายพันเท่า

พระบารมีอันเกิดจากพระราชกรณียกิจนานัปการ ไม่ว่าจะเพื่อความอยู่เย็นเป็น สุขของราษฎร หรือเพื่อให้ประเทศชาติมีความทัดเทียมนานาอารยประเทศ ซึ่งคนไทย ทุกคนต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

หากความฝันไม่หยุดชะงักไปเพราะเหตุอื่นเสียก่อน สำเริงได้ฝันเอาไว้ว่าอยากจะสร้างผลงานชิ้นสำคัญขึ้นสักชิ้น นอกจากต้องการแสดงฝีมือทางด้านศิลปะของตัวเองให้เต็มที่อีกวาระ ยังถือเป็นการสร้างสิ่งสักการบูชาพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านด้วย

“ที่คิดไว้...ผมอยากทำเป็นภาพชุดองค์ประกอบ แทนที่จะเป็นภาพพอร์เทรตครึ่งตัวหรือเต็มตัว เหมือนเช่นที่เคยเขียน แต่จะเป็นการเล่าพระราชประวัติของพระองค์ท่านผ่านงานจิตรกรรม อาจจะออกมาในรูปแบบของหนังสือภาพหรือภาพเขียนขนาดใหญ่ ติดตั้งตามสถานที่สำคัญๆบางแห่งหรือพิพิธภัณฑ์ ผมอยากจะมีโอกาสใช้จิตนาการของผมสร้างภาพตามพระราชประวัติของพระองค์ท่านสักครั้ง”

ไม่เพียงแต่เนื้อหาในภาพเขียนที่นำเสนอ ยังมีอีกหลายสิ่งที่แวดล้อมตัวเขาอยู่ทุกวันนี้ ที่ล้วนแต่สะท้อนว่าศิลปินผู้นี้มีความประทับใจในยุคสมัยของ ‘เสด็จพ่อ ร.5’ เป็นยิ่งนัก ซึ่งเขาได้บอกเล่าให้ฟังด้วยความสุขว่า

“ส่วนตัวผมเป็นคนที่ชอบของวัตถุโบราณ โดยเฉพาะในยุค 150 - 200 ปีซึ่งจะตรงกับรัชสมัยของพระองค์ท่าน ทั้งสไตล์การปลูกบ้านของผมก็ สร้างในรูปแบบของสมัยนั้น เครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ ล้วนแต่มีกลิ่นอายเป็นยุคนั้นหมดเลย ถือเป็นความประทับใจในยุคสมัย”

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 83 ต.ค. 50 โดยฮักก้า)









กำลังโหลดความคิดเห็น