หลายคนอาจคุ้นเคยกับภาพลักษณ์ของ ‘วสุ แสงสิงแก้ว’ ข้าราชการฝ่ายการทูต กรมสารนิเทศ กระทรวงต่างประเทศ ในฐานะชายหนุ่มผู้คลั่งไคล้เอลวิส เพรสลี่ย์ นักร้องชื่อดังฝั่งตะวันตกเป็นชีวิตจิตใจ หรือหาก ย้อนไปกว่า 20 ปีก่อนวัยรุ่นไทยในสมัยคุณน้าคงไม่มีใคร ไม่รู้จักนักร้องนำหนุ่มรูปหล่อแห่งวงพลอย ในฉายา ‘จิ๊บ ร.ด.’ ขวัญใจสาวๆ ทั้งบ้านทั้งเมือง
ทว่าใครเลยจะล่วงรู้ว่าชายหนุ่มสังคมมาดสำอางคนนี้ ตั้งใจไว้ว่าจะขอปวารณาตัวทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ทันทีเมื่อสบโอกาส
เช่นนั้นในงานวันวิสาขบูชาโลกปี 2550 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26-29 พ.ค. 2550 โดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ถือ เป็นโอกาสอันดีสำหรับชายหนุ่มที่ไม่รีรอขออาสาไปช่วยงานตามกำลังความสามารถในฐานะผู้ดำเนินรายการภาคภาษาอังกฤษในทันที
วสุ บอกเล่าความดีที่ได้ทำประโยชน์เพื่อพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นความประทับใจไม่รู้ลืมสำหรับชายหนุ่มเช่นเขาว่า
“ในการประชุมวันวิสาขบูชาโลกโชคดีที่ได้มีโอกาสมา ช่วยงานเป็นผู้ดำเนินรายการภาคภาษาอังกฤษ นอกจากผม แล้วยังมีพิธีกรหญิงที่มาช่วยงานอีก 6 คนแต่ละคนมาช่วย กันด้วยใจ
ผมเคยปวารณาตัวเองกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) วัดสระเกศ ตั้งแต่สมัยที่บวชเรียนเป็นเวลา 4 เดือน เมื่อ 15 ปีก่อนว่าถ้าท่านอยากจะให้ผมช่วยอะไร ขอให้บอก ยินดีไปช่วยในทุกตำแหน่งหน้าที่ พอดีมีการจัดงาน วันวิสาขบูชาโลกซึ่งเป็นงานระดับประเทศ ประกอบกับสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นโต้โผใหญ่ จึงได้มอบหมายให้มาช่วยงานอย่างเป็นทางการด้วย
ช่วงนั้นตื่นตั้งแต่ตี 4 ทุกวันเพื่อที่จะต้องไปถึงสถานที่จัดซึ่งจัดที่พุทธมณฑลตอน 6 โมงเช้า แล้วจึงเริ่มงานประชุมสัมมนาตอนเจ็ดโมงครึ่งของทุกวัน ถึงแม้จะเหนื่อย แต่ก็มีความสุข และเป็นประสบการณ์ที่ไม่ได้มีบ่อยๆ ในชีวิตเรา”
เขาเล่าความปลื้มปีติใจต่อว่า เป็นความภูมิใจในชีวิตที่ได้สัมผัสบรรยากาศ และซึมซับความรู้สึกดีๆที่ได้เข้าไปอยู่ใกล้ชิดกับบรรดาผู้ทรงศีลระดับสังฆราชมาร่วมงานกว่า 40 ประเทศ เหมือนการประชุมสหประชาชาติทางธรรม ถึงแม้จะไม่ได้เข้าไปรู้จักเป็นการส่วนตัว หากแต่เต็มเปี่ยมไป ด้วยความเคารพนับถือจากใจ
แม้ว่าจะมีความแตกต่างจากเบื้องนอกของพระสงฆ์แต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นวัตรปฏิบัติบางประการ สีของจีวร รวมถึงการสวดมนต์ซึ่งแตกต่างกัน แต่ที่สุดแล้วก็หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะล้วนต่างมีจิตใจเป็นศากยวงศ์ คือเป็นลูกของพระพุทธเจ้าด้วยกันทั้งสิ้น
ความรู้สึกซาบซึ้งในการเป็นพุทธศาสนิกชนของเขาถูกปลูกฝังมาตั้งแต่วัยเด็ก หากย้อนถึงจุดเริ่มต้นของการดำรง ตนเป็นพุทธมามะกะที่ดี หนุ่มใหญ่วัย 40 ผู้นี้เล่าที่มาที่ไปว่า
“ผมโตมากับคุณยาย เพราะเกิดมาในครอบครัวใหญ่ บ้านคุณตาคุณยาย พ่อแม่ พี่ป้าน้าอา ปลูกในรั้วเดียวกัน ตอนเด็กๆ พ่อแม่ไปทำงานก็จะปล่อยลูกหลานไว้ให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงให้ แล้วความที่คุณยายเป็นคนชอบใช้ชีวิตสมถะ เลยไปวัดกันเป็นประจำ
และในช่วงเข้าพรรษาคุณยายจะไปปฏิบัติธรรมเป็นประจำ ส่วนใหญ่ท่านจะเลือกไปปฏิบัติธรรมตามวัดป่า เช่น วัดหินหมากเป้ง วัดป่าเลไลย์ ส่วนผมถึงไม่ได้ไปปฏิบัติธรรม ด้วยแต่ก็มีโอกาสติดรถไปรับ-ส่งคุณยายตลอด บางครั้งไปรับคุณยายก็อยู่วัดต่อ 1-2 วันก็มี”
ลูกชายบ้านแสงสิงแก้ว เล่าถึงความผูกพันกับพระพุทธศาสนาว่า อาจเป็นเพราะความที่เข้าวัดมาตั้งแต่เด็กคงเป็น สิ่งที่ซึมซับเรื่อยมา อีกทั้งในวัยเด็กจิตใจยังขาวสะอาดบริสุทธิ์ เมื่อได้รู้เห็นแต่สิ่งที่ดีๆ จึงเห็นดีในการดำเนินชีวิต โดยมีพระธรรมเป็นแกนนำ แม้ว่าเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ภาพภายนอกของตัวเองอาจจะดูเป็นหนุ่มสังคมที่ทำกิจกรรมมากมาย แต่ลึกๆในจิตใจยังรู้สึกถึงความสงบเวลาเมื่อนึกถึง คำสั่งสอนของพระพุทธองค์
“หัดนั่งสมาธิตั้งแต่เด็กมาก สมัยที่ยังซุกซนนั่งไม่ติดที่จนโตพอเริ่มนิ่งได้ เห็นคุณยายนั่งเลยนึกอยากนั่งตาม นั่งอยู่ริมแม่น้ำโขงซึ่งเป็นสถานที่สำหรับปฏิบัติธรรมสำหรับอุบาสิกา นั่งสมาธิก็ปฏิบัติตามที่พระสอนเพียงแค่ทำใจให้ว่างๆ ตามประสาเด็ก แต่ก็เป็นความรู้สึกเป็นสุข ที่ฝังใจมาจนโต ซึ่งเรื่องการนั่งสมาธิเป็นความชอบส่วนตัวที่ไม่เคยแสดงออกให้ใครเห็น เพียงรู้อยู่ในใจตัวเองเท่านั้น จนถึงวันนี้แม้ว่าจะมีเวลาว่างในชีวิตน้อยลง แต่ถ้ามีโอกาสก็จะเข้าวัดไปไหว้พระทำจิตใจให้สงบ ได้อยู่นิ่งๆในโบสถ์ก็มีความสุขแล้ว” ชายหนุ่มย้อนอดีตวัยเยาว์
เขาเล่าต่อว่า ดีใจที่เห็นคนเข้าวัดสมัยนี้ไม่ได้มีแต่คนสูงอายุเท่านั้น แต่มีทั้งเด็กเล็ก เด็กวัยรุ่นที่หันมาเข้าวัด และสนใจธรรมะมากขึ้น เด็กหลายคนพอได้ตามพ่อแม่มาวัดก็ติดใจอยากมาเอง ทำให้มองย้อนกลับไปเห็นภาพของตัวเองสมัยเป็นเด็กที่ตามคุณยายเข้าวัดเหมือนกัน
ยิ่งถ้าเป็นเยาวชนที่ยังไม่มีเรื่องมารบกวนจิตใจเขามาก เชื่อว่าการได้แบ่งปันวันว่างมาใช้ชีวิตในวัด หรือสถานที่ปฏิบัติธรรมที่ร่มรื่นทั้งกายและใจ นับเป็นเรื่องที่พึงกระทำ เช่นเดียวกับที่ตัวเขาเคยรู้สึกสบายเวลานั่งสมาธิริมแม่น้ำโขงเมื่อสมัยเป็นเด็ก เพราะการได้สัมผัสธรรมชาติก็เหมือนการได้ปฏิบัติธรรมไปในตัวด้วย อีกทั้งสิ่งเหล่านี้เป็นความ สุขที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ และมาจากตัวเราเอง
“ผมโชคดีที่ได้เติบโตมาในครอบครัวที่เห็นความสำคัญในการดำเนินชีวิตควบคู่ไปกับการยึดมั่นในพระพุทธศาสนา เพราะเมื่อเติบโตขึ้นมาชีวิตต้องพบเจอกับความยุ่งเหยิงมากมายแค่ไหน แต่ตัวเราจะรู้ว่าลึกลงไปใน จิตใจของเรามีดินแดนศักดิ์สิทธิ์อยู่ในใจของเราเสมอ แล้วก็ไม่ต้องไปขวนขวายหาจากที่ไหน เพียงแค่หลับตานิ่งๆเราก็จะได้พบเจอกับดินแดนนั้น” วสุเอ่ยถึงสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจ
สำหรับหลักในการดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุขในแบบของเขาเกิดจากการมีสติเป็นที่ตั้ง รู้สึกตัวอยู่เสมอว่ากำลังทำสิ่งใดอยู่ เป็นเสมือนการเจริญสติในชีวิตประจำวันที่ทุกคน ทำได้ ไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ที่สำคัญต้องไม่ทำให้ตัวเรา และผู้อื่นเดือดร้อนทั้งด้วย ความคิด และคำพูดของเรา และที่ไม่ควรลืม คือ ควรรู้จักการเป็นผู้ให้กับสังคมบ้างไม่ว่าให้มากน้อย หรือในรูปแบบ บริจาคหรือให้ทาน เป็นสิ่งที่ผู้มีโอกาสมากกว่าคนอื่นในสังคมควรจะกระทำตามวาระ
นับเป็นบุคคลซึ่งเป็นแบบอย่างสำหรับเยาวชนไทยที่อยากเริ่มต้นดำเนินชีวิตเรียบง่าย พร้อมทั้งนำหลักพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในชีวิตได้อย่างลงตัว
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 82 ก.ย. 50 โดย นันทยา)