xs
xsm
sm
md
lg

ป่าภายใน ป่าภายนอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม อันเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระองค์ทรงมีพระราชเสาวนีย์เกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่า ที่ทำให้พื้นที่ของป่าถูกทำลายไปมากมายมหาศาล ทำให้เกิดภาวะแห้งแล้ง โดยทั่วไป และเมื่อมีฝนตกหนักก็จะทำให้ภูเขาแผ่นดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก ทำลายบ้านเรือน ทรัพย์สิน ตลอดจนชีวิตของผู้คนเป็นอันมาก และทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เป็นต้น พระองค์จึงทรงมีพระเสาวนีย์ให้คนไทยช่วยกันรักษาป่าไว้ อย่าให้ถูกทำลายไป เพราะถ้าป่าถูกทำลายไปแล้ว จะเกิดภาวะขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ จะเป็นอันตรายใหญ่หลวงแก่มนุษยชาติอย่างแน่นอน

พระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีความสอดคล้องกับคำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก เพราะในพระพุทธศาสนามีทั้งบทบัญญัติที่เป็นส่วนของพระวินัย ที่ให้ถือเอาโคนต้นไม้เป็นเสนาสนะที่พักพิงอาศัย อันเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต และใน ‘ภูตคามวรรค’ แห่งอาบัติปาจิตตีย์ ทรงบัญญัติไว้ในสิกขาบทที่ ๑ ว่า “ภิกษุพรากของเขียวซึ่งเกิดขึ้นอยู่กับที่ให้หลุดจากที่ ต้องอาบัติปาจิตตีย์”

ในส่วนของธรรมะที่กล่าวไว้ในพระสูตรต่างๆ จะเห็นได้ชัดเจนว่าการประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา คือ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร และการปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล้วนเกี่ยวข้องกับป่าทั้งสิ้น นอกจากนั้นพระอารามหรือวัดต่างๆ ในพระพุทธศาสนา ก็ล้วนมีชื่อเป็นป่าเป็นส่วนใหญ่ เช่น วัดเวฬุวันมหาวิหาร วัดเชตวนาราม เป็นต้น

การแสดงธรรมก็ดี การตอบปัญหาธรรมแก่เทวดาก็ดี ก็มีเรื่องป่าเข้ามาเกี่ยวข้อง ในหลายเรื่องหลายตอน ในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค ภาค ๑ ตอน ๑ กล่าวความว่า เทพบุตรองค์หนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี ในเวลากลางคืน ได้ทูลถามปัญหานี้ เพื่อถอนความสงสัยของตนว่า

“ธรรมชาติอันหนึ่งเป็นชัฏทั้งภายใน ชัฏทั้งภายนอก ประชาชนถูกชัฏ(นั้น) เกี่ยวสอดไว้แล้ว ข้าแต่พระโคดม เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอทูลถามพระองค์ ใครจะพึงสางชัฏนี้ได้”

พระพุทธองค์ตรัสว่า “ภิกษุผู้เป็นคนฉลาด มีความเพียร มีปัญญาบริหารตน ตั้งอยู่ในศีลแล้ว อบรมจิต และปัญญาอยู่นั้น พึงถางชัฏนี้ได้”


คำว่า ‘ชัฏ’ ก็คือ ‘ป่า’ นั่นเอง เป็นชื่อของตัณหา อันเกี่ยวสอดหรือรัดรึงตรึงไว้ซึ่งหมู่สัตว์ เหมือนต้นไม้ที่มีชัฏทั้งหลาย มี ไม้ไผ่ เป็นต้น เกี่ยวสอดไว้ ฉะนั้น

ในขุทฺทกนิกาย ชาตก เอกนิบาต เล่ม ๒๗ ข้อ ๑๔๖ และอรรถกถา ขุทฺทกนิกาย ชาตก เอกนิบาต เล่ม ๒๗ ข้อ ๑๔๖ กล่าวความไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออาศัยป่า คือ ราคะ โทสะ และโมหะ จึงถึงทุกข์นี้ การที่พวกเธอตัดป่านั้นเสีย พวกเธอจักเป็นผู้หมดทุกข์ได้ด้วยอาการอย่างนั้น”

แล้วทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า

ท่านทั้งหลายจงตัดกิเลสดุจป่า อย่าตัดต้นไม้ ภัยย่อมเกิดแต่กิเลสดุจป่า ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงตัดกิเลสดุจป่าเถิด และหมู่ไม้อันตั้งอยู่ในป่าแล้ว เป็นผู้ไม่มีกิเลสดุจป่าเถิด เพราะกิเลสดุจหมู่ไม้ตั้งอยู่ในป่า ถึงมีประมาณนิดหน่อยของนรชน ยังไม่ขาดในนารีทั้งหลายเพียงใด เขาเป็นเหมือนลูกโคที่ยังดื่มน้ำนม มีใจปฏิพัทธ์ในมารดาเพียงนั้น

พระพุทธภาษิตที่ยกมานี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนานั้นสอนให้คนตัดป่าภายใน คือ กิเลสที่อยู่ในใจ อันได้แก่ ราคะ โทสะ และโมหะ หรือโลภ โกรธ หลง ให้หมดไป แต่ไม่ประสงค์ให้ใครไปตัดต้นไม้ทำลายป่า อันเป็นป่าธรรมชาติภายนอก เพราะจะทำให้ธรรมธาติเสียสมดุล จนเกิดเภทภัยต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว

การที่มนุษย์รุกล้ำธรรมชาติอันเป็นป่าเข้าไปทุกทีนั้น มิได้มีเฉพาะในปัจจุบัน แต่ทำกันมาช้านานแล้ว แต่สมัยก่อนเครื่องมือในการตัดโค่นไม้ทำลายป่า ไม่มีอะไรมาก ไปกว่าขวานเล่มหนึ่ง จะตัดไม้ได้สักต้นต้องใช้เวลานานเป็นวัน แต่สมัยนี้มีเครื่องมือ ที่ทันสมัย มีเลื่อยยนต์ ตัดไม้ใหญ่ได้วันละหลายต้น มีรถยนต์ในการชักลากไม้ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าการแปรรูปไม้หรือการขนส่ง จึงทำให้คนที่ขาดความสำนึกว่า ป่าไม้เป็นสมบัติส่วนรวมของชนในชาติ ไม่ควรที่ใครจะเข้าไปยึดถือเป็นผลประโยชน์ส่วนตน หรือครอบครองเป็นของตน เป็นการละเมิดกฎหมายของบ้านเมือง แล้วยังละเมิดศีลธรรมอีกด้วย

แต่การที่คนเราตัดไม้ทำลายป่านั้น ก็เพราะกิเลสคือความโลภไม่มีขอบเขต อยากได้ไม่สิ้นสุด แม้จะร่ำรวยมหาศาลเพียงใด ก็ไม่มีวันเพียงพอ เพราะป่าภายในใจรกชัฏเติบโตขึ้น ป่าภายนอกจึงถูกโค่นล้มทำลายไปอย่างที่ได้เห็นๆกันอยู่ ถ้าป่าภายใน คือ โลภ โกรธ หลง ถูกทำลายไป ป่าภายนอกคือต้นไม้ก็จะเจริญเติบโตและคงอยู่คู่บ้านเมืองไปนานเท่านาน ภัยพิบัติทางธรรมชาติก็จะไม่เกิดขึ้น ก็อยากจะย้ำว่า

จงช่วยกันตัดป่าคือกิเลสเถิด แต่อย่าตัดต้นไม้เลย

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 82 ก.ย. 50 โดย ธมฺมจรถ)
กำลังโหลดความคิดเห็น