เมื่อวันที่ 3 - 5 สิงหาคม 2550 ที่ผ่านมา วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ต.ศาลายา จ. นครปฐม ได้จัดการประชุมวิชาการนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ เรื่อง ‘พุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์’ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุม เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม
การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญที่จะนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และความรู้ในพุทธศาสนามาผสมผสานเข้าด้วยกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่มนุษยชาติ โดยมีผู้ร่วมประชุมทั้งหมด 256 คน เป็นพระสงฆ์ 119 รูป และฆราวาส ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจากประเทศต่างๆ 79 คน โดยวิทยากรมีทั้งพระสงฆ์ แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการด้านศาสนา และนักจิตบำบัด
ดร.พินิจ รัตนกุล ผู้อำนวยการวิทยาลัยศาสนศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสว่า การประชุมครั้งนี้เป็นสิ่งที่เหมาะสม และเป็นความพยายามที่จะให้ผู้คนเห็น ว่าวิทยาศาตร์กับพุทธศาสนาไปด้วยกันได้โดยทรงยกตัวอย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงใช้ความรู้จากธรรมะและวิทยาศาสตร์ไปช่วยเหลือประชาชนในโครงการต่างๆ เช่นโครงการการเกษตร ชลประทาน และการรักษาสิ่งแวดล้อม ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะมีประโยชน์อย่างยิ่งถ้าหากได้นำความรู้นำนั้นไปใช้ด้วยความกรุณาเมตตากับคนที่มีความทุกข์ วิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนามีจุดร่วมกัน ไม่ได้เป็นศัตรูกัน แต่เป็นพลังของพลังที่จะช่วยเสริมซึ่งกันและกันได้ เป็นความจำเป็นที่วิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนาจะต้องทำงาน ด้วยกัน เพื่อจะทำให้โลกมีสภาวะดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เวลานี้ วิทยาศาสตร์กับศาสนาพุทธมีความสัมพันธ์กันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความรู้เกี่ยวกับจิต เกี่ยวกับธรรมชาติของจิต เพราะทั้งวิทยาศาสตร์กับศาสนาพุทธต่างก็พยายามจะค้นหา เกี่ยวกับธรรมชาติของจิตมาเป็นเวลายาวนาน เพื่อต้องการ จะช่วยมนุษย์ให้มีสุขภาพจิตที่ดีและมีความสุขที่แท้จริง
ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในสมัยใหม่ ซึ่งชีวิตในสมัยใหม่เป็นชีวิตที่ไม่สงบ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและจริยธรรมเป็นไปอย่างรวดเร็ว ในการมีชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบัน
ที่วุ่นวายนี้ มนุษย์จำเป็นต้องหาวิถีทางที่จะทำให้จิตสงบและมีความสุขเกิดขึ้นมาในตนเองเพื่อจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในโลกที่ว้าวุ่นโดยจิตใจไม่ว้าวุ่นตามไปด้วย ในเรื่องนี้จะเห็นได้ว่าวิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนาต่างก็มีวิธีการไม่เหมือนกันที่จะทำให้เรามีความสุขในโลกที่วุ่นวายนี้ได้
การเจริญสติเป็นวิธีที่จะช่วยทำให้จิตใจของเราสงบได้ ขณะเดียวกันก็เป็นวิธีที่จะสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นในใจของเราได้ โดยเฉพาะเรื่องพรหมวิหาร 4 เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นสิ่งที่เราจำเป็นจะต้องมีสำหรับการอยู่ในโลกนี้
สำหรับความรู้ต่างๆที่ได้จากการประชุมตลอด 3 วันนั้น ผู้อำนวยการวิทยาลัยศาสนศึกษา ได้สรุปให้เห็นภาพไว้ดังนี้
• พุทธกับวิทย์ เป็นมิตรที่เกื้อกูล
ประโยชน์มากมายของความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีต่อชีวิต เป็นเรื่องที่ยอมรับกันทั่วไปทุกหนทุกแห่ง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยให้ชีวิตในสังคมปัจจุบันสะดวกสบายและปลอดภัยมากขึ้น สิ่งอำนวยความ สะดวกต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ไฟฟ้า พัดลม วิทยุ ทีวี ล้วนแต่เป็นผลจากการคิดค้นทางวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น วิธีการ ใหม่ๆ ในการบำบัดรักษาโรคและยาใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพ ในการรักษามากขึ้น ก็เกิดจากการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มาประยุกต์ใช้
เช่นเดียวกันพุทธศาสนาไม่ได้ต่อต้านความเจริญก้าวหน้า ของวิทยาศาสตร์และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวัน ตราบใดที่ทั้งสองสิ่งนี้สามารถช่วยลดความทุกข์ของมนุษย์ลงได้ แต่ในขณะเดียวกันพุทธศาสนาก็มองเห็นอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากการที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มอำนาจให้แก่มนุษย์ ทำให้มนุษย์สามารถทำสิ่งต่างๆตามความ ต้องการได้มากมายกว่าที่เคยมีมาแต่ก่อน ดังนั้นพุทธศาสนา จึงเตือนให้เราใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างรอบคอบด้วยสติและปัญญาตลอดเวลา การใช้อำนาจ ตามความอยากที่เกิดจากกิเลสตัณหามีแต่จะนำความทุกข์ มาสู่มนุษย์มากขึ้น สติทำให้รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ พร้อมทั้งรู้ทันกิเลสที่กำลังรบกวนจิตใจ ปัญญาเป็นแสงสว่างให้มองเห็นหรือให้รู้วิธีที่ถูกต้องในการใช้ความรู้ดังกล่าวให้เกิด ประโยชน์แก่ผู้อื่น
พุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์เป็นเสมือนมิตรที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน มากกว่าที่จะเป็นศัตรูที่ขัดแย้งกันและมุ่งทำลายกัน เพราะทั้งสองต่างก็มุ่งที่จะแสวงหาความจริงมาช่วยลดความทุกข์ของมนุษย์ให้น้อยลงและช่วยให้มนุษย์มีความสุขมากขึ้น ในการแสวงหาความจริงดังกล่าว พุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์มีวิธีการแตกต่างกันไปตามธรรมชาติของความจริงที่ต้องการแสวงหา การที่จะรู้ว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่และคำสอนในพุทธศาสนาสอดคล้องหรือสนับสนุนกันมากน้อยเพียงใดนั้น เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียดและต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน เพราะทั้งวิทยาศาสตร์และพุทธศาสนาต่างก็มีวิธีการและภาษาเฉพาะของตนเองสำหรับอธิบายธรรมชาติของความจริงที่ค้นพบ การที่จะผ่านวิธีการนี้และเจาะทะลุภาษาไปได้จนมองเห็นตัวความจริงที่ซ่อนเร้นอยู่ เราจะต้องมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์มากพอควร พร้อมกับเข้าใจคำสอนในพุทธ-ศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าเป็นความรู้ที่กว้างและลึกยิ่งกว่ามหาสมุทรที่กว้างและลึกที่สุดได้ถูกต้อง
• สองศาสตร์ต่างมุ่งความจริงด้วยการพิสูจน์ทราบ
ในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนา เราไม่ควรมุ่งศึกษาความสัมพันธ์ดังกล่าวเพื่อชี้ให้เห็นว่าระหว่างวิทยาศาสตร์และพุทธศาสนา ใครยิ่งใหญ่ กว่ากัน หรือใครถูกใครผิด การยึดถือว่าพระพุทธเจ้าทรงเก่งกว่านักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายก็ดี หรือศาสนาพุทธดีกว่า/สูงส่งกว่าศาสนาอื่นก็ดี เป็นการสร้างมานะที่เป็น ‘อหังการ’ ชูตนให้ยิ่งใหญ่ขึ้นมาในตัวชาวพุทธ อหังการนี้เป็นสังโยชน์ 9 ที่กีดขวางไม่ให้เข้าถึงความจริงได้ ความยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ที่การที่พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพเหนือ นักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย แต่อยู่กับการที่พระองค์ ทรงค้นพบรากเหง้าของความทุกข์และวิธีดับทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง เราจึงควรศึกษาวิทยาศาสตร์เพื่อนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาผสมผสานกับความรู้ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ และนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่มนุษย์โดยเฉพาะในเรื่องวิธีการพ้นทุกข์และมีความสุข นอกจากนั้นชาวพุทธควร ศึกษาวิทยาศาสตร์เพื่อนำความรู้และภาษาวิทยาศาสตร์มาใช้อธิบายพระธรรมคำสอนให้ผู้ที่นิยมชมชอบวิทยาศาสตร์และศาสนิกชนศาสนาต่างๆเข้าใจ และนำไปใช้ประโยชน์ การอธิบายพระธรรมด้วยภาษาและวิธีของพุทธศาสนาแต่อย่างเดียวจะทำให้พระธรรมมีคุณค่าและความสำคัญน้อยลงหรือไม่มีเลยในสายตาของคนต่างศาสนา
จุดแข็งของวิทยาศาสตร์อยู่ที่วิธีการพิสูจน์ความจริงด้วยการนำความรู้ที่ค้นพบมาตรวจสอบและทดลอง การพิสูจน์ทดลองในวิทยาศาสตร์มีลักษณะเป็นรูปธรรมที่ทุกคนมองเห็นและทำได้ ที่จริงแล้วการพิสูจน์ทดลองด้วยตัวเองหรือที่เรียกว่าประสบการณ์ เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเน้นเสมอในระหว่างที่ทรงเผยแพร่พระธรรมแก่คนทั่วไป พระองค์ทรงแนะนำไม่ให้ผู้ใดยอมรับพระธรรม คำสอนโดยปราศจากการวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วนด้วย เหตุผลและการทดสอบด้วยประสบการณ์ทั้งของตนและของผู้อื่นก่อน เมื่อเห็นชัดเจนว่าคำสอนของพระองค์เป็นความจริงและเป็นประโยชน์แก่ตนแน่นอนแล้ว จึงค่อยยอมรับพระรัตนตรัยเป็นสรณะ การที่พระพุทธองค์ทรงให้ความสำคัญแก่ประสบการณ์มากเพราะประสบการณ์มีลักษณะเป็นรูปธรรมมากกว่าเหตุผลหรือความคิด เนื่องจากมีผลที่คนอื่นมองเห็นและทดสอบได้ ในขณะที่ความคิดเป็นเพียงนามธรรมแต่อย่างเดียว มองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้ ใจของผู้มีความคิดนั้นเท่านั้นที่รับรู้
อย่างไรก็ตาม การพิสูจน์ความจริงของคำสอนด้วย ประสบการณ์ของคนคนเดียวย่อมไม่พอเพียง ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรง เน้นให้นำประสบการณ์ของผู้อื่นมาใช้ในการทดสอบความจริงดังกล่าวด้วย ด้วยเหตุนี้พระอริยสงฆ์จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของพระรัตนตรัย เพราะเป็นเสมือน ผู้พิสูจน์ความจริง ของการตรัสรู้ของ พระพุทธเจ้า และความจริงของพระธรรมคำสอนการตรวจสอบด้วย การพิสูจน์ทดลองมีความสำคัญมาก สำหรับพุทธศาสนา ที่ค้นหาความจริงด้วยวิธีที่เรียกว่า ‘อัตตวิสัย’ ใช้ประสบการณ์ส่วนตัวและใช้ปรีชาฌานของแต่ละคนเป็นพื้นฐาน ตราบใด ที่ชาวพุทธไม่กล่าวอ้างว่า พระธรรมคำสอนที่ตนยึดถือและปฏิบัติตามเป็นความจริงหรือให้ผลจริง ตราบนั้นการพิสูจน์ทดลองก็ไม่เป็นเรื่องสำคัญ แต่เมื่อใดที่ชาวพุทธกล่าว อ้างเช่นนั้นและต้องการให้คนอื่นเห็นด้วยกับตน การพิสูจน์ ทดลองด้วยวิธี ‘ปรวิสัย’ ที่นักวิทยาศาสตร์นิยมใช้กันอยู่ก็เป็นสิ่งจำเป็น ความจริงไม่ได้มีอยู่เพื่อผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ แต่เป็นสิ่งที่เปิดกว้างสำหรับคนทุกคน ถ้าหากเรามองเห็นหรือเข้าถึงความจริงได้ ในหลักการแล้วคนอื่นก็สามารถมองเห็นและเข้าถึงความจริงได้เช่นกัน ส่วนจะด้วย วิธีไหนและเมื่อไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
• การสอนธรรมะจะเป็นประโยชน์มากขึ้นหากนำวิธีการทางวิทย์มาประยุกต์ใช้
ความสำคัญของการพิสูจน์ทดลองพระธรรมนี้เป็นสิ่งที่ชาวพุทธทั่วไปมักมองข้าม แต่เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันต้องการและเรียกร้อง การสอนธรรมที่เป็นอยู่ในเวลานี้ มีทั้งการสอนด้วยการบรรยาย/อธิบายและด้วยการฝึกปฏิบัติ การสอนด้วยวิธีทั้งสองเป็นประโยชน์โดยไม่ต้องสงสัย แต่การสอนธรรมจะเป็นประโยชน์มากขึ้น ถ้าหากเรานำวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ควบคู่ไปด้วย เพื่อจะได้ช่วยให้ผู้ฟัง ผู้ปฏิบัติและคนอื่นได้มองเห็นความจริงของ พระธรรมได้เด่นชัดขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ คือการสอนเรื่องประโยชน์ของเมตตาภาวนา การพูดอธิบายประโยชน์นานาประการของการเจริญเมตตาภาวนาตามที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกนั้น ย่อมไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ในยุคสมัยของวิทยาศาสตร์ยอมรับและเห็นคุณค่าและความสำคัญของเมตตาภาวนาได้ เพราะประโยชน์ต่างๆนั้นเป็นเพียงคำพูด ไม่มีการพิสูจน์ทดลองให้เห็นความจริงแต่อย่างใด
การให้ทดลองเจริญเมตตาภาวนาเพื่อให้ผู้ปฏิบัติเห็นผล ที่เกิดขึ้นต่อจิตใจตัวเอง (เช่นทำให้หายโกรธ) นั้นเป็นวิธีที่เหมาะสมกว่าการพูดบรรยายสรรพคุณของเมตตาภาวนา เพราะเป็นการพิสูจน์ทดลองให้เห็นความจริงของเรื่องที่พูด แต่วิธีนี้ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี เพราะผลดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น มีลักษณะเป็นนามธรรมและใจของผู้ปฏิบัติคนเดียวเท่านั้นที่รับรู้ ไม่มีผู้ใดสามารถรับรู้ด้วย จึงไม่ใช่วิธีการพิสูจน์ความจริงที่ใช้กันในวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้นการอ้างประสบการณ์ส่วนตัวอย่างเดียวเพื่อพิสูจน์ผลดีของเมตตาภาวนานั้น ไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้คนอื่นเชื่อตามได้ เพราะประสบการณ์ส่วนตัวอาจเกิดขึ้นจากการหลงผิด หรือการหลอกลวงตัวเองได้ เช่นเดียวกับที่เรารู้สึกว่ามีคนเดินตามหลังมา แต่เมื่อหันไปดูกลับไม่พบอะไรเลย การได้รับรู้เกี่ยวกับผลดีของการปฏิบัติเมตตาภาวนาจากการฟังคำบรรยายหรือจากการอ่านมาก่อน อาจมีผลให้เรา คิดไปเองได้ว่า เมื่อเราเจริญเมตตาภาวนา เราได้รับผลดีของการปฏิบัติจริงตามที่ได้ยินได้อ่านมา ทั้งๆที่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น โดยเหตุที่สิ่งที่เกิดขึ้นในประสบการณ์ส่วนตัวอาจสวนทางกับความจริงได้ ดังนั้นการนำประสบการณ์ส่วนตัวมาตรวจสอบด้วยการพิสูจน์ทดลองจึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับชาวพุทธที่ต้องการเข้าถึงความจริง
• รูปแบบวิธีการทางวิทย์ ช่วยพิสูจน์ผลการ ปฏิบัติธรรมให้เห็นได้ชัดเจนขึ้น
การนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้พิสูจน์ผลของการปฏิบัติเมตตาภาวนา อาจเป็นในรูปของการสร้างวิธีวัดสภาวะจิตใจของผู้เจริญเมตตาภาวนาที่แสดงออกมาทางการคิด การพูด และการกระทำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การใช้วิธีนี้จะทำให้เราสามารถแปรประสบการณ์ส่วนตัวที่คนคนเดียวเท่านั้นเป็นผู้รับรู้ มาให้คนอื่นรับรู้และตรวจสอบได้ วิธีวัดนี้อาจรวมถึงการตรวจสอบอย่างอื่นเข้าไว้ด้วยเช่น การตรวจวัดความดันเลือด การตรวจดูสภาพของ สมอง คลื่นสมอง คลื่นหัวใจ อัตราการเต้นของหัวใจ ความตีบแคบของเส้นเลือดหัวใจ การผ่อนคลายของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท และการเจาะเลือดดูการเพิ่มหรือลดลงของที-เซลล์ (เซลล์ภูมิต้านทานทำหน้าที่ทำลายสิ่งแปลกปลอมต่างๆในร่างกาย) การทดสอบด้วยการวัดผลกระทบของการเมตตาภาวนาต่อจิตใจและร่างกายตามที่กล่าวมา จะทำให้คนมองเห็นผลของเมตตาภาวนาที่มีต่อร่างกายและจิตใจได้ง่ายและชัดเจนขึ้น เพราะเป็นการแปรผล ดังกล่าวออกมาเป็นรูปธรรมที่มองเห็นและทดสอบได้
ส่วนประโยชน์ทางด้านศาสนาของเมตตาภาวนานั้นเป็น สิ่งที่มองเห็นได้ยาก เพราะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงจิตใจของคนแต่ละคน คือเปลี่ยนจากจิตใจของปุถุชนที่มีกิเลสหนาปัญญาหยาบมาเป็นจิตใจของอารยบุคคลที่ใสสว่าง สะอาด สงบ และเป็นอิสระ แม้แต่ในเรื่องที่ดูเหมือนจะทดสอบไม่ได้เช่นนี้ การพิสูจน์ทดสอบด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำอยู่นั่นเอง เช่น โดยการทดสอบ พฤติกรรมต่างๆที่แสดงออกมาให้ปรากฏว่ามีความสอดคล้องกับลักษณะของอริยบุคคลระดับต่างๆที่กล่าวไว้ในคัมภีร์พุทธศาสนาหรือไม่ เช่นมีการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น ในตัวตนมากขนาดใดและมีการละสังโยชน์ใดได้บ้าง การทดสอบพฤติกรรมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะใจและร่างกายมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน ถึงแม้ว่าเราไม่สามารถรู้หรือ เห็นสภาวะของใจของผู้ใดได้โดยตรง แต่การกระทำหรือพฤติกรรมเป็นสิ่งบ่งชี้ตัวสำคัญที่ทำให้เราเห็นสภาพของจิตใจ ได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ดีงามเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด
จึงอาจสรุปได้ว่าในการเผยแพร่ธรรมในสมัยปัจจุบัน การอธิบายพระธรรมตามวิธีที่เคยทำกันมาแต่ก่อนนั้นไม่เพียงพอ การนำการพิสูจน์ทดลองทางวิทยาศาสตร์มา สนับสนุนความจริงของพระธรรม เป็นสิ่งที่จำเป็นในการทำ ให้คนเห็นคุณค่าและประโยชน์ของพระธรรมมากขึ้น ด้วยเหตุนี้การกล่าวถึงประโยชน์นานาประการของเมตตาภาวนา แต่อย่างเดียวจึงไม่มีน้ำหนักมาก ไม่ว่าจะอ้างอิงข้อความใน พระไตรปิฎกมาสนับสนุนหรือไม่ แม้แต่พระพุทธเจ้าเอง พระองค์ก็ทรงสอนไม่ให้ชาวพุทธเชื่อคำสอนของพระองค์ว่าเป็นความจริงโดยปราศจากการวิเคราะห์และพิสูจน์ทดลอง การพิสูจน์ทดลองด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์จะทำให้การ นำพระธรรมเข้าถึงชุมชนที่มีวัฒนธรรมความเชื่อแตกต่างจากชุมชนชาวพุทธได้มากขึ้น
• ลักษณะเด่นของพุทธศาสนา คือการมีจิตใจ เป็นนักวิทยาศาสตร์
การมีจิตใจเป็นนักวิทยาศาสตร์ไม่ยอมเชื่ออะไรง่ายๆ โดยปราศจากเหตุผลและการพิสูจน์ทดลอง เป็นลักษณะเด่นเฉพาะของพุทธศาสนาที่ชาวพุทธควรยึดถือและปฏิบัติตาม จะได้ไม่หลงผิดหันเหไปเชื่อและยึดถือสิ่งที่ทำให้ตนกลายเป็นคนมีมิจฉาทิฐิโดยไม่รู้ตัวและจะไม่ได้รับประโยชน์
จากการเป็นชาวพุทธไปด้วย ความหลงผิดจะมีผลให้ผู้นั้นห่างไกลจากความสงบสุขที่เป็นเป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนาไปทุกที
หรือเราต้องไม่ลืมว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ศรัทธาหรือความเชื่อที่ไม่สมเหตุสมผลและพิสูจน์ไม่ได้อาจนำไปสู่อวิชชาที่เป็นสังโยชน์ละเอียดข้อที่ 10 ได้ วิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์แห่งปัญญาเช่นเดียวกับพุทธศาสนา การศึกษา วิทยาศาสตร์จะช่วยเสริมจิตใจชาวพุทธให้แข็งแกร่งมีเหตุมีผลสมกับที่เป็นชาวพุทธ ทำให้ไม่เป็น คนตื่นตระหนกได้ง่ายเหมือนกระต่ายตื่นตูม และไม่ปล่อยตัวเองให้ไหลไปตามกระแสสังคมเช่นคนไร้ปัญญา การสร้างเสริมจิตใจให้มีสภาพเช่นนี้เป็นสิ่งสำคัญที่วิทยาศาสตร์ให้แก่ชาวพุทธ ส่วนประโยชน์อย่างอื่น เช่นการช่วยพิสูจน์ความจริงในคำสอนของพุทธศาสนานั้นมีความสำคัญรองมา
• วิธีผสานความรู้ของทั้งสองศาสตร์
ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายของการผสมผสานความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ากับความรู้ในพุทธศาสนาเป็นเรื่องทางการแพทย์ การนำวิธีการเจริญสติในพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้ร่วมกับวิธีการรักษาสมัยใหม่ กำลังเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นตามโรงพยาบาลและคลินิกต่างๆในประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะมีการพิสูจน์ทดลองทางวิทยาศาสตร์แล้วว่า การผสม ผสานความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่และการปฏิบัติดังกล่าว ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบเมื่อ 2,500 กว่าปีมาแล้ว เป็นประโยชน์ในการรักษาโรคต่างๆ เช่นโรคเครียด โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และแม้แต่โรคร้ายเช่น มะเร็ง การเจริญสติก็สามารถลดความรุนแรงของโรคลงได้
การนำวิธีการเจริญสติไปใช้ในจิตบำบัดก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า วิทยาศาสตร์และพุทธศาสนาเป็นมิตร ที่ช่วยเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เรื่องสุขภาพจิตก็เป็นตัวอย่างที่สนับสนุนความคิดนี้ การค้นพบทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับธรรมชาติของสมองและประสาทที่รวมกันอยู่ในสมองมีความ สำคัญในการศึกษาเรื่องสุขภาพจิตมาก สุขภาพจิตจะดีหรือ ตรงข้าม ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการทำงานของสมองและประสาท
ต่างๆ อีกส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับสภาวะของจิตใจ การนำความรู้ ทางกายภาพเกี่ยวกับการทำงานของสมองและประสาทที่มีตัวตนให้วัดได้มาผสมผสานกับคำสอนในศาสนาพุทธเรื่องจิตที่ไม่มีตัวตนให้มองเห็น จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเยียวยารักษาความผิดปกติทางจิตในรูปแบบต่างๆ และการสร้างสุขภาพจิตทั้งในด้านกายภาพและในด้านจิตใจ
อาจสรุปได้ว่าวิทยาศาสตร์และพุทธศาสนาต่างช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กันและกัน วิทยาศาสตร์ช่วยให้ชาวพุทธมองเห็นความสำคัญของการพิสูจน์ทดลอง ที่พุทธศาสนาให้ความสำคัญอยู่แล้วมากขึ้น ทำให้เป็นคนมี เหตุมีผล ไม่เชื่ออะไรโดยปราศจากการพิสูจน์ทดลองด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง นอกจากนั้นชาวพุทธยังอาจนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปใช้อธิบายพระธรรมให้คนต่างวัฒนธรรมและต่างศาสนาเข้าใจและยอมรับได้ง่ายขึ้น
ส่วนประโยชน์ที่วิทยาศาสตร์ได้รับจากการมีความสัมพันธ์กับพุทธศาสนามีอยู่มากเช่นกัน พุทธศาสนาช่วยกระตุกมโนธรรมของนักวิทยาศาสตร์ให้แสวงหาความรู้และใช้ความรู้ในทางที่ถูกต้อง ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่มนุษยชาติ นอกจากนั้นในขณะที่วิทยาศาสตร์กำลังขยายพรมแดนความรู้ออกไปเรื่อยๆ เพื่อตอบสนองความอยากรู้ อยากเห็นและความต้องการไม่สิ้นสุดของมนุษย์ พุทธศาสนา เป็นเสมือนแสงสว่างนำทางมาสู่พรมแดนความรู้ใหม่ที่ลี้ลับของจิตที่วิทยาศาสตร์ต้องการจะก้าวเข้ามา การเข้ามาสำรวจพรมแดนความรู้ที่ลี้ลับและน่าพิศวงเรื่องจิตนี้นับได้ว่าเป็นก้าวสำคัญของวิทยาศาสตร์ เพราะความรู้ที่จะได้มามีผล กระทบโดยตรงต่อความสุขความทุกข์ของมนุษย์มากกว่าความรู้ประเภทใด
หมายเหตุ : โปรดติดตามอ่านเรื่อง ‘วิจัยพบ สวดมนต์ สมาธิ วิปัสสนา รักษาโรคได้’ ในฉบับหน้า
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 82 ก.ย. 50 โดยกองบรรณาธิการ)