เป็นเวลา 6 ปีแล้วที่ช่างภาพ ‘วรพจน์ หลักดี’ หันมาทุ่มเทเวลาให้กับงานถ่ายภาพ ชนิดยอมหันหลังให้กับธุรกิจค้าขาย อาหารของครอบครัวและอาชีพประจำที่เคยทำ
เขาเป็นอีกผู้หนึ่งที่ยอมรับว่า หลงใหลในเสน่ห์ของประเทศ บ้านเกิด จนอยากจะมีเวลาท่องเที่ยวไปให้ทั่ว ขณะเดียวกันก็ต้อง มีรายได้เพื่อเป็นทุนสำหรับการเดินทางและใช้จ่ายเพื่อสิ่งจำเป็นในชีวิตด้วย
ดังนั้นเขาจึงคัดสรรภาพถ่ายสวยๆที่ตัวเองลั่นชัตเตอร์บันทึกภาพเก็บไว้จากหลายที่หลายทาง จำหน่ายให้แก่ผู้ที่พึงพอใจซื้อหาไปครอบครอง
ซึ่งปัจจุบันวรพจน์มีแหล่งจำหน่ายผลงานของตัวเองอยู่ที่สวนลุม ไนท์ บาร์ซา ลพบุรี ซอย 5 ทว่าจนปัจจุบันเขาก็ยังไม่หยุดท่องเที่ยวไปในโลกกว้าง และบันทึกเรื่องราวของสถานที่ บุคคลที่ผ่านพบและประทับใจเก็บไว้ในภาพถ่าย
โดยเฉพาะภาพอิริยาบถของวัยซนที่ต้องนุ่งห่มจีวร อย่างสามเณรน้อยตามวัดต่างๆทั่วประเทศ น้อยครั้งนักที่วรพจน์จะไม่มี ภาพถ่ายเหล่านั้นติดไม้ติดมือกลับมา และในอนาคตอันใกล้นี้ เขาก็มีความฝันว่าจะต้องทำหนังสือรวบรวมภาพถ่ายสามเณรน้อยที่ตัวเองถ่ายขึ้นมาสักเล่มหนึ่งให้จงได้
“ผมชอบถ่ายภาพสามเณรที่หน้าตาน่ารัก ตาโตๆ ยิ้มหวานๆ บางทีอาจจะมีฟันเหยินออกมา 2 ซี่ (หัวเราะ) ภาพที่สามเณรยิ้ม ความบริสุทธิ์ของใบหน้า ศีรษะที่ถูกโกนผมออกจนหมด และต้อง นุ่งห่มจีวรสีเหลือง ผมได้เห็นทีไรผมรู้สึกมีความสุข ซึ่งโดยส่วนตัวผมเองเป็นคนที่ชอบถ่ายภาพเด็กๆอยู่แล้วด้วย”
ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ใดที่เท้าของวรพจน์เหยียบย่ำไปถึง อันดับแรกเขาจะต้องมองหาก่อนว่ามีวัดใดตั้งอยู่ในอาณาบริเวณนั้นบ้าง หรือไม่ก็ต้องวางแผนการเดินทางไว้ล่วงหน้า สอบถามจากเพื่อนฝูง ที่พอรู้จัก
“เพราะผมอยากจะหาข้อมูลก่อนว่า แต่ละวัดมีสามเณรอยู่เยอะแค่ไหน หรือถ้าเคยนั่งรถผ่านก็จะจดจำไว้ มีโอกาสเดินทางผ่านไปเยือนเมื่อไหร่ สมองก็จะสั่งการทันทีว่าจะต้องไปถ่ายภาพที่วัดนั้นให้ได้”
วรพจน์บอกว่า ภาพสามเณรน้อยที่เขาสนใจบันทึกภาพ ตลอดจนกิจต่างๆของสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นขณะนั่งสมาธิ เรียนหนังสือ กวาดลานวัด ฯลฯ คือเสน่ห์อย่างหนึ่งของประเทศไทย เพราะบ่อยครั้งที่มีลูกค้าชาวต่างชาติ สนใจไถ่ถามถึงที่มาของภาพ ว่าถ่ายจากสถานที่ใด ก่อนที่จะซื้อหาไป
ห้วงเวลาที่ชีวิตได้สัมผัสในด้านดีของพระพุทธศาสนา ขณะเดียวกันวรพจน์ก็พร้อมเปิดใจรับฟังด้านไม่ดีที่เป็นข่าวตามสื่อต่างๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่า หัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา นั่นคือหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็ยังเปรียบ ประดุจเช่นสิ่งสูงค่าที่ไม่มีสิ่งใดทำลายหรือสร้างมลทินให้ได้
“ผมจะแยกแยะนะครับ บางทีมีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับพระสงฆ์ จะต้องแยกแยะว่า สงฆ์ก็ประเด็นหนึ่ง ศาสนาก็ประเด็นหนึ่ง และโดยส่วนตัวเวลาผมถ่ายภาพ ผมจะไม่ถ่ายเพื่อนำเสนอในแง่ลบ อย่างเช่นเศียรพระที่ถูกตัด เพราะผมชอบที่จะถ่ายภาพในแง่บวก นำเสนอแต่ภาพในด้านดีของเมืองไทย”
ไม่เพียงแต่ภาพที่ต้องนำเสนอในด้านดี การปฎิบัติตนในฐานะผู้ไปเยือนไม่ว่าแห่งหนไหน วรพจน์ก็ยึดหลักปฎิบัติตนให้ดี เคารพสถานที่ ด้วยเช่นกัน
“ทุกวัดที่ผมได้ย่างเท้าเข้าไป หากวัดไหนมีโบสถ์ ผมจะต้อง เข้าไปกราบพระประธานก่อนเป็นอันดับแรก เพราะว่าวัดถือเป็น สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือไม่ก็ต้องเข้าไปพูดคุยขออนุญาตเจ้าอาวาส ก่อน ไม่ใช่พอไปถึง ก็เอาแต่กดชัดเตอร์ถ่ายภาพอย่างเดียว แล้วก็ชิ่งออกมา และถึงผมจะเป็นชาวพุทธที่ไม่ได้เคร่งอะไรมาก แต่ทุกครั้งที่มีโอกาสไปวัดก็ต้องทำบุญ”
ซึ่งการทำบุญอย่างหนึ่งในแบบของวรพจน์ก็คือการสร้างความสุขเล็กๆน้อยๆ ให้กับบรรดาสามเณรน้อยที่เขาชอบเลือกเป็นแบบ
“บางทีก็ซื้อขนมไปถวาย มีครั้งหนึ่งเจอรถขายไอศรีมจอดอยู่ ในวัด และวันนั้นก็ได้เจอสามเณรเกือบร้อยรูป ผมเหมาไอศครีม หมดเลย ถวายสามเณร ด้วยความที่เราเป็นช่างภาพ เห็นภาพที่สามเณรยืนต่อแถวรอรับไอศครีม ดูน่ารัก ซุกซน และดูมีความสุข เราก็อดที่จะถ่ายเก็บไว้ไม่ได้เช่นกัน”
แบบนี้น่าจะเรียกได้ว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว นกตัวแรก คือ ความสุขที่เกิดจากการทำบุญ และนกตัวที่สองก็คือ ภาพถ่าย สวยๆของวรพจน์นั่นเอง
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 82 ก.ย. 50 โดยฮักก้า)