ความตาย เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนหนีไม่พ้น เพราะฉะนั้น การจัดงานศพจึงถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ลูกหลานจะต้องทำให้แก่ญาติผู้ใหญ่เป็นครั้งสุดท้าย เพื่อเป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณในวาระสุดท้ายของชีวิต
การจัดงานศพในบ้านเราที่ผ่านมามักจะนิยมจัดให้สมเกียรติ ตามฐานะของครอบครัวนั้นๆ และสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือการจัดดอกไม้หน้าศพ เพื่อให้ดูมีสีสันสดใส ลดความเศร้าโศก และความ น่ากลัว ซึ่งที่ผ่านมานิยมใช้ดอกไม้สดมาจัดไว้บริเวณหน้าศพ ยิ่งถ้าเป็นศพที่มีฐานะดี ก็จะใช้ดอกไม้จากต่างประเทศที่มีความสวยงามมีราคาแพง ครั้นเมื่อเสร็จงาน ดอกไม้เหล่านี้ก็แห้งเหี่ยว ต้องนำไปทิ้งหรือเผาเป็นเศษขยะ ซึ่งก็จะเป็นการกระตุ้นให้ภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงขึ้น
ด้วยความตระหนักถึงปัญหาขยะมูลฝอยและปัญหาโลกร้อน ที่เกิดจากการเผาศพ ในวาระสุดท้ายของ ‘อรัญญา ถาวรนันท์’ อายุ 43 ปี เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านม ตลอดระยะเวลาที่เธอมีชีวิต อยู่เธอต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากในการต่อสู้กับเจ้าโรคร้ายนี้เพื่อให้ตัวเองมีชีวิตอยู่ดูความเจริญเติบโตของลูกชายให้นานที่สุด จนทำให้เงินที่เธอสะสมไว้เกือบตลอดชีวิตหมดไปกับการรักษาตัวเอง
ดังนั้นเมื่อถึงวาระสุดท้ายของเธอ บรรยากาศภายในงานศพจึงได้จัดงานแบบเรียบง่าย และประหยัด แต่มีความแปลกและ โดดเด่นขึ้นมา เมื่อเจ้าภาพมีความตั้งใจเปลี่ยนดอกไม้ประดับหน้าศพที่นิยมทำกันมานั้น ให้มาเป็นการจัดสวนหน้าศพแทน โดยคอนเซ็ปต์ใน การจัดสวนคือ ‘บ้านใหม่ ชีวิตใหม่ ในโลกหน้า’ ผู้ที่ขันอาสามาเป็นคนออกแบบและจัด สวนในครั้งนี้คือ อ.พิศาล ตันสิน อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการเกษตร ม. เทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตปทุมธานี ซึ่งเคย สร้างความฮือฮามาแล้วด้วยการจัดส้วมในสวนเมื่องานประชุมส้วมโลกที่ผ่านมา เจ้าตัวเล่าว่าก่อนที่จะมาจัดสวนให้กับอรัญญา เคยได้ไปจัดสวนในงานศพมาแล้ว 2-3 ครั้ง โดยงานแรกเป็นงานศพของมารดาที่เป็นเพื่อนอาจารย์ด้วยกัน หลังจากนั้นก็ไปจัดที่จังหวัดชัยนาทตามคำร้องขอของเพื่อนว่าอยากให้ไปช่วยจัดงานศพให้ญาติของเขาเป็นครั้งสุดท้าย
อ.พิศาล ตันสิน เล่าว่า การจัดสวนในครั้งนี้ได้เกิดมาจากความต้องการ ของผู้เสียชีวิตเอง เพราะตลอดชีวิตของเธอที่ผ่านมาทำงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เนื่องจากอาชีพของเธอเป็นมัคคุเทศก์ ได้เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆมากมาย ผ่านเหตุการณ์ในชีวิตมาอย่างโชกโชนทั้งสุขและทุกข์ แต่เมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิตจึงอยากให้งานศพของตัวเองเป็นข้อคิดให้กับทุกคนได้ว่า ไม่ว่าชีวิตของคนเราจะสูงต่ำอยากดีมีจนสักเพียงใด สุดท้ายแล้ว ‘ชีวิตก็ต้อง กลับคืนสู่ธรรมชาติ’ ผู้เสียชีวิตต้องการที่จะให้การจัดสวน ในงานศพครั้งนี้เป็นวิทยาทาน และจุดประกายแนวคิดให้กับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อเป็นแนวทางว่าถ้าวันหนึ่งเมื่อเราเสียชีวิตลง เรามีโอกาสเลือกจัดงานศพของตัวเองในรูปแบบใด
เมื่อได้โจทย์มาแล้วภารกิจต่อไปของพิศาลคือ การตีโจทย์ตามที่เจ้าของงานต้องการ ซึ่งเขาจะต้องไปศึกษาประวัติความเป็นมาของผู้เสียชีวิตตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต โดยอาศัยการสอบถามจากคนใกล้ชิดของเธอ เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว จึงมาถึงขั้นตอนการสร้างสรรค์เพื่อให้สวนแห่งนี้ออกมาตรงใจกับผู้เสียชีวิต
พิศาลได้เล่าถึงแนวคิดในการจัดสวน ‘บ้านใหม่ ชีวิตใหม่ ในโลกหน้า’ ว่า ส่วนใหญ่เขาจะเลือกพืชผักที่นิยมปลูกทั่วๆไป ไม่ว่าจะเป็นพืชผักสวนครัว เช่น ตะไคร้ โหระพา กะเพรา พริก ซึ่งหาได้ง่าย โดยมีไม้ผลชนิดต่างๆเช่น มะม่วง มะยม กล้วย ซึ่งเป็นผลไม้ที่ปลูก พื้นบ้านทั่วๆไป เพื่อสื่อให้เห็นว่า ในภพหน้าชาติหน้าจะได้ไม่อดอยาก
นอกจากนี้ยังมีไม้ดอกหอมและไม้มงคล เช่นต้นโมก มะลิ ซึ่งเป็นไม้ดอกพื้นบ้านของไทยที่นิยมปลูกกันทั่วไปตามบ้านเรือน และเพื่อช่วยดับกลิ่นศพ ที่บางครั้งอาจมีกลิ่นโชยมาบ้าง โดยใช้ความหอมของกลิ่นดอกไม้มาช่วยได้ ส่วนไม้ดอกไม้ประดับสีสันสวยงาม อาทิ กุหลาบหนูดอกเล็กๆ กล้วยไม้ บานชื่น พังพวย เพื่อสร้างความสดใส สดชื่น ช่วยคลายความเศร้าโศก ลดความหวาดกลัว และที่สำคัญไม้ดอกไม้ประดับดังกล่าวนั้นเป็นดอกไม้ที่ผู้เสียชีวิตชื่นชอบ
“โอ่งน้ำ หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ เพื่อสื่อถึง ผู้เสียชีวิตว่า เมื่อไปเกิดในภพหน้าก็จะพบแต่ความอุดมสมบูรณ์ในชีวิต สุ่มไก่ หมายถึงความขยันขันแข็ง ความเจริญรุ่งเรือง และกระต่ายเป็นปีนักษัตรของผู้เสียชีวิต เป็นสัตว์ที่ผู้เสียชีวิตชอบมาก หินกรวด หมายถึงความเข้มแข็งอดทน” พิศาลอธิบาย
แม้ว่างานศพของอรัญญาจะเรียบง่ายตามความต้องการของเธอ แต่เมื่อได้เติมความคิดสร้างสรรค์ในการจัดสวนของอ.พิศาลเข้าไป จึงทำให้งานศพดูแปลกและมีความโดดเด่นขึ้นมา ทั้งเจ้าภาพและแขกที่มาร่วมงาน รวมถึงพระภิกษุที่มาประกอบพิธี ต่างก็ชื่นชมกับความแปลกใหม่ที่ได้พบเห็น ข้อดีของการจัดสวนให้ศพนั้นถือว่าเป็นการช่วยลดมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมได้ โดยอ.พิศาลให้เหตุผลว่า
“ทุกวันนี้เฉพาะประเทศไทยมีคนตายมากมาย ถ้ามีคนส่วนหนึ่งเห็นแนวคิดนี้แล้วนำ ไปทำก็จะทำให้วัดเต็มไปด้วยไม้ดอกไม้ประดับ พืชพรรณไม้หลากหลาย เพราะส่วนใหญ่ทางเจ้าภาพก็จะถวายพืชผักสวนครัว ไม้ดอกไม้ประดับ และไม้มงคลต่างๆให้แก่วัด เพื่อให้ทางวัดนำไปปลูกต่อ วัดจะได้มีความร่มเย็น ประชาชนเข้ามาในวัดก็จะมีแต่ความสดชื่น มีความสุขใจ เพราะสุดท้าย มนุษย์ต้องหันมาพึ่งธรรมชาติ และที่สำคัญจะได้ช่วยกันลดปริมาณขยะมูลฝอย และปัญหาโลกร้อน ที่เกิดจากการเผาขยะ”
อ.พิศาลบอกถึงปัญหาของการทำงานแบบนี้ว่าทุกงานที่รับทำนั้น ถือเป็นงานรีบด่วนทั้งสิ้น เพราะเรื่องความตายเป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้ว่าจะมาถึงตัวเมื่อไหร่ บางครั้งเขาต้องรับจัดสวนในกรณีที่ศพเสียชีวิตอย่างกะทันหัน โดยที่ไม่ได้มีการตระเตรียมไว้ล่วงหน้า ดังนั้นจึงทำให้การทำงานมีความยากลำบากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การทำงานของอ.พิศาลทุกครั้งสามารถผ่านพ้นอุปสรรคไปได้ด้วยดี เพราะเขาพยายามจะนำแนวคิดของการกลับคืนสู่ธรรมชาติมาใช้ในการจัดสวนให้มากที่สุด เพื่อให้คนที่อยู่บนโลกนี้ได้ตระหนักรู้ว่า ชีวิตคนเราไม่ว่าจะดิ้นรนสักเพียงใด สุดท้ายแล้วเราก็ต้อง กลับคืนสู่ธรรมชาติ
ส่วนค่าจ้างในการจัดสวนงานศพแต่ละครั้ง จะเริ่มที่ราคา 10,000 ไปจนถึง 30,000 บาท หรือมากกว่านั้นตามรายละเอียดของงาน โดยราคานี้อ.พิศาลบอกว่าได้รวมทั้งค่าแรง และไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักสวนครัวต่างๆ ที่ใช้จัดสวนด้วย
แนวคิดการจัดสวนให้ศพนอกจากจะทำให้วัดเต็มไปด้วยไม้ดอกไม้ประดับ พืชพันธุ์หลากหลายชนิดแล้ว ยังเป็นข้อคิดเตือนใจให้กับมนุษย์ในยุคที่มีคอมพิวเตอร์ตั้งอยู่แทบทุก หลังคาเรือนได้รู้ว่า คนเราทุกคนไม่ว่าจะดิ้นรนอยู่ในกระแสธารของความบ้าคลั่งในโลกทุนนิยมสักเพียงใด แต่สุดท้ายชีวิตมนุษย์ก็ต้องหันมาพึ่งธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 82 ก.ย. 50 โดยศศิวิมล แถวเพชร)