พระรับได้ ‘มาร์ค’ หวิว ส่วนจะสร้าง-ไม่สร้าง อยู่ที่ทีมงาน
นั่นคือประเด็นพาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 22 สิงหาคม 2550 เป็นความคืบหน้าล่าสุดของภาพยนตร์เรื่อง ‘พระไตรปิฎก’ (ขณะปิดต้นฉบับเรื่องนี้)
ซ้ำยังเป็นความคืบหน้าที่ไม่ค่อยชัดเจนด้วยว่า ตกลงแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้จะเอาอย่างไรกันแน่ สร้างหรือไม่สร้าง สร้างแล้วใครจะรับบทแสดงเป็น ‘พระพุทธเจ้า’ สร้างเสร็จแล้วสังคมจะรับได้หรือไม่ และอื่นๆอีกมาก
• กังขางบ 1,200 ล้าน คุ้มหรือไม่?
ปัญหาของ ‘พระไตรปิฎก’ ฉบับภาพยนตร์เอาเฉพาะที่ปรากฏในเวลานี้มีอยู่หลายเรื่อง ตั้งแต่ปัญหาเรื่องงบประมาณที่ใช้ในการสร้างหนังที่สูงถึง 1,219,578,439.31 บาท(แบ่งเป็นเงินที่ทีมผู้สร้างขอให้ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติสนับสนุน โดยได้ขอสนับสนุน
งบประมาณจากรัฐบาลจำนวน 774,529,777 บาท และทางผู้จัดสร้างจะไปขอรับบริจาคเองอีกประมาณ 500 ล้านบาท)
เฉพาะเรื่องนี้ก็สร้างความกังขายิ่งนัก เพราะเมื่อหลายคนได้รับทราบเกี่ยวกับจำนวนเม็ดเงินในการสร้างภาพยนตร์อันมโหฬารถึงกว่าพันล้านบาทก็เริ่มมีคำถามตามมาว่าจะนำเงินจำนวนนี้ไปใช้ทำอะไรกันบ้าง ซึ่งทางผู้สร้างก็ออกมาตอบข้อสงสัยว่าเงินจำนวนนี้ไม่ได้ถูกนำมาสร้างภาพยนตร์ทั้งหมด เงินที่ได้จากภาครัฐนั้นเป็นเงินเฉพาะค่าเผยแพร่ผลิตแผ่นวีซีดี และดีวีดี จำนวน 250 ตอน เพื่อส่งไปเผยแพร่ตามวัดต่างๆทั่วประเทศที่มีอยู่ 32,000 แห่ง เพื่อประกอบการเรียนการ สอนของพระสงฆ์ ซึ่งคำตอบที่ได้นี้ขัดแย้งกับเอกสาร ข้อมูลเบื้องต้นโครงการจัดสร้างพระไตรปิฎก ฉบับ ‘ภาพยนตร์’ ซึ่งมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร.) ระบุว่าเงินอุดหนุนจากรัฐบาลจะถูกนำมาใช้ เพื่อเป็นค่าบริหารโครงการ ค่าเตรียมการ ค่าจ้างคณะผู้ถ่ายทำ ค่าจ้างนักแสดง ค่าสร้างฉาก ค่าเครื่องแต่งกาย เป็นต้น
เรื่องนี้ ‘สนั่นพงษ์ สุขดี’ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไตรรัตน มีเดีย ในฐานะประธานโครงการจัดสร้าง ‘พระไตรปิฎก’ ฉบับภาพยนตร์ ออกมาตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับการจัดสร้างภาพยนตร์ด้วยงบประมาณอันมหาศาลว่า ขอยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้องและสามารถตรวจสอบได้ โดยแรกเริ่มนั้นคิดจัดทำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวจำหน่าย และจะลงทุนราว 500 ล้านบาท แต่เมื่อนำเสนอมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยก็ได้รับคำแนะนำว่า น่าจะจัดทำเพื่อถวายเป็น พระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องใน วโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ดังนั้น วัตถุประสงค์ของการจัดสร้างจึงเปลี่ยนแปลงไป
แม้จะมีการชี้แจงแล้วว่างบประมาณที่ทางรัฐเสนอ จ่ายให้ 700 กว่าล้านบาทนั้นเป็นแค่เฉพาะการปั๊มแผ่น ดีวีดีเพื่อการแจกจ่าย โดยที่ทางผู้สร้างยืนยันว่าไม่เกี่ยว กับงบ 500 ล้านบาทในการถ่ายทำ แต่เรื่องจริงคงจะไม่ใช่เช่นนั้นเสียแล้ว เพราะดูเหมือนว่างบประมาณ ของรัฐจะเป็นตัวหลักในการทำงานครั้งนี้อยู่พอสมควร ทีเดียว
• ภาครัฐปฏิเสธ ‘ยังไม่ได้อนุมัติงบฯ’ การรับบริจาคก็ยังมีปัญหา
ทั้งนี้ ประธานฝ่ายสงฆ์ในการสร้างหนังพระพุทธเจ้าฉบับพระไตรปิฎก ‘พระเทพวิสุทธิกวี’ รองอธิการบดี ฝ่ายวิชาการและวางแผน มมร. กล่าวว่า “ที่จริงคนบริจาคตรงนี้มันก็เยอะนะ แต่ว่ามันมีเงื่อนไขที่เรารับไม่ได้ เพราะว่ามันเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย เราเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ ไม่ว่าจะเรื่องการตลาด หรืออะไรก็แล้วแต่มันเกี่ยวข้องกันไปหมด รับมาล้านหนึ่งก็ต้องล้านหนึ่ง ไม่ใช่ 7 แสน ถ้าไม่งั้นมหาวิทยาลัยจะเดือดร้อน ถ้าเขาขอ 10% สมมติบริจาคมา 300 ล้าน หายไป 30 ล้านเราก็ปาราชิกกันแน่นอน เรื่องงบอาตมาดูแล ด้วย ไม่ถึงกับดูแลโดยตรงหรอก แต่อย่างไรเสียมหามกุฎฯก็ต้องรับทราบตรงนี้”
ส่วนเรื่องเงินสนับสนุนจากภาครัฐนั้น ทางคุณหญิง ทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาบอกอย่างชัดเจนเมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ ผ่านมาว่า ทางรัฐบาลยังไม่ได้อนุมัติโครงการจัดสร้าง ภาพยนตร์ดังกล่าว เพียงแต่ในสมัยที่ตนกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.)นั้น ทาง พศ.ได้มีบันทึกมาถึงเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2550 ว่า มหาเถรสมาคม (มส.) ได้มีมติรับเป็นที่ปรึกษาให้กับโครงการจัดทำพระไตรปิฎกฉบับภาพยนตร์ ซึ่งเป็นไปตามที่ มมร. เสนอมา
สอดคล้องกับที่ นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่ผ่านการตัดสินใจของตนและคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ แม้เรื่องนี้จะเคยนำเสนอเข้ามาในรัฐบาลชุดที่แล้วในสมัยที่ นายอนุรักษ์ จุรีมาศ อดีตรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในยุคนั้น กับมหาเถรสมาคม เป็นผู้นำเสนอ
“เคยมีการเสนอมายังผมแล้ว แต่ยังไม่ให้ผ่านไปแม้จะมีงบประมาณในการจัดสร้าง 1,200 ล้านก็ตาม รู้สึกว่ายังมีหลายประเด็นที่จะต้องเคลียร์ว่าคุ้มค่าหรือ ไม่กับการจัดสร้าง ทั้งบุคคลหรือกลุ่มที่ทำจะเป็นอย่าง ไร เพราะตอนที่เรียกมาคุยครั้งหนึ่งได้เสนอให้ปรับปรุงมาใหม่ ตั้งแต่ตอนนั้นก็ยังไม่มีการส่งเรื่องกลับมา
งบประมาณปี 2551 ไม่มีการนำเสนอเรื่องนี้เข้ามา แม้จะมีการเปิดกล้องในเดือนตุลาคม 2550 นั้น ถ้าไม่ ได้งบประมาณ ผู้ดำเนินการก็จะทำเองทั้งหมด ทุกวันนี้กลุ่มบุคคลนี้ก็สำรองจ่ายเงินไปก่อน เพราะตามระเบียบราชการแล้ว เรื่องแบบนี้จะต้องมีการประมูล และทำรายละเอียดหลายอย่าง”
• ทีมผู้สร้างยืนยันสร้างต่อ พร้อมหา เงินทำเอง
เมื่อติดขัดทั้งเงินของรัฐ และติดขัดจากเงินที่บริจาค ผ่านทางมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย แต่ทางทีม ผู้สร้างเองก็ยืนยันว่าจะต้องดำเนินการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ต่อไปอย่างแน่นอน พร้อมกันนี้ได้เปิดบัญชี เพื่อรับบริจาคชื่อ ‘โครงการจัดสร้างพระไตรปิฎกฉบับภาพยนตร์’ ไว้แล้วเช่นกัน
“โครงการนี้จะไม่ล้มเด็ดขาด หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลก็จะทำโดยใช้เงินบริจาคจากประชาชน และหาสปอนเซอร์ ที่ผ่านมาควักเนื้อในการ เตรียมการไป 4-5 ล้านบาทแล้ว” นายสนั่นพงษ์ กล่าว
จากนี้ไปก็ต้องคอยจับตามองว่าทีมผู้สร้าง พระไตรปิฎก ฉบับภาพยนตร์ จะได้รับเงินสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆเพียงพอให้สามารถถ่ายทำจนเสร็จสมบูรณ์หรือไม่ เพราะจนถึงขณะนี้เวลาก็ล่วงเลยจาก เป้าหมายการดำเนินการไปมากแล้ว ซึ่งในสูจิบัตรการประชุมคณะกรรมการจัดสร้างพระไตรปิฎก ฉบับ ภาพยนตร์ ของมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2549 ได้ระบุถึงเป้าหมายการดำเนินการว่า
1.จะสามารถแจกแผ่นบันทึกภาพพระไตรปิฎก ฉบับ “ภาพยนตร์” ครั้งแรกประมาณเดือนมีนาคม 2550
2.จะสามารถประเมินผลครั้งแรกการเรียนรู้เกี่ยวกับพระไตรปิฎกเชิงเผยแพร่ได้ประมาณเดือนกรกฎาคม 2550
3.ภายในปี 2550 จะสามารถผลิตภาพยนตร์ได้ประมาณ 50 ตอนเป็นอย่างต่ำ
4.สามารถนำภาพยนตร์แสดงในตลาดนานาชาติได้ประมาณเดือนเมษายน 2550 ณ ประเทศฝรั่งเศส
ทว่า จนถึงวันนี้ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมีปัญหาติด ขัดอยู่มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหาผู้มารับบทแสดงเป็น ‘พระพุทธเจ้า’ ซึ่งเพียงแค่เปิดตัวผู้แสดง ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
• เปิดตัวผู้รับบทเป็น ‘พระพุทธเจ้า’ กระแสต้านมากกว่าตอบรับ
หลังจากเปิดตัวนักแสดงหลักไม่ทันไรก็มีกระแสไม่เห็นด้วยกับการนำ ‘สงกรานต์ ทัพมณี’ หรือ ‘มาร์ค’ วัย 22 ปีมารับบทแสดงเป็นพระพุทธเจ้า เนื่องจากใน อดีตเจ้าตัวเคยถ่ายแบบแนววาบหวิวมาก่อน เรื่องนี้ทีมงานผู้สร้างพระไตรปิฎก ซึ่งได้แก่ สนั่นพงษ์ สุขดี ในฐานะผู้อำนวยการสร้าง พยุงเวทย์ พยกุล หัวหน้าคณะผู้กำกับ และ สุรพล กรสวัสดิ์ ผู้กำกับศิลปกรรม อธิบายว่า หลังจากเป็นข่าวออกมาทางทีมงานได้หันมา พิจารณาเรื่องนี้ ส่วนใหญ่ต่างมีความเห็นว่าไม่ใช่ความผิดที่ร้ายแรง และคงเป็นเรื่องยากที่จะหาใครที่เหมาะสมมาแทนโดยที่ไม่มีประวิติอะไรมาก่อน ส่วนกระแสของการวิจารณ์ว่าเหมาะหรือไม่เหมาะนั้น คงเป็นเรื่องของแต่ละคน เพราะที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีใครเคยเห็นหรือรู้มาก่อนว่าใบหน้าของพระพุทธเจ้าเป็นเช่นไร ทุกอย่างล้วนแล้วแต่เกิดจากการตีความทั้งนั้น
“ก็มีคนเสนอมาเยอะเหมือนกัน มีบางคนเสนอให้ เอาพระพุทธรูปไปตั้ง ผมก็บอกว่าเมื่อเราทำพระไตรปิฎกก็ต้องทำตามบทพระไตรปิฎก ในเมื่อพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ก็ต้องเป็นมนุษย์ เวลามาแสดงผมก็บอกว่าให้แสดงออกมาเป็นมนุษย์ แต่จะให้เห็นหน้าหรือไม่เห็นหน้ามันเป็นอีกประเด็นหนึ่ง
เวลาเราจะคัดเลือกกำหนดสเปคนักแสดง เราก็ต้องไปดูตำราหรือดูภาพวาดอะไรต่างๆ ว่าหน้าตาเป็น อย่างไร ทีนี้พอมีมาร์คมา เราให้แต่งตัวดูก็คิดว่าใช้ได้ เพราะเราหาลักษณะคนที่เป็นลูกครึ่ง ประเด็นก็คือคนรุ่นใหม่มักจะบริโภคสิ่งที่เป็นสากล สากลทั้งรูปร่าง หน้าตา และมาตรฐานต่างๆ เพราะฉะนั้นเมื่อการบริโภคที่เป็นมาตรฐานสากลนั้น อันดับแรกต้องได้มาตรฐานที่มีอิมเมจที่ตรงนี้ เพราะคนแก่ๆรุ่นผมคงไม่ต้องมาเผยแพร่แล้ว มันต้องไปเผยแพร่คนรุ่นใหม่”
ขณะที่พระเทพวิสุทธิกวี ประธานฝ่ายสงฆ์ในการสร้างหนัง ให้ความเห็นกับเรื่องนี้ว่า ทางคณะสงฆ์เห็น ภาพถ่ายที่ว่าแล้ว และอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ แต่ทั้งนี้ต้องดูกระแสสังคมด้วยว่าจะเป็นอย่างไร
“ความจริงใครก็ได้ที่จะมารับบทนี้ แต่ความจริงเขา เลือกกันมาแล้วว่าเหมาะ ดูนิ่ง รูปร่างสูงใหญ่ แถมมีความคล้าย เงื่อนไขเขามีความสำคัญเพราะว่าถ้าเลือก คนเก่งๆมา ค่าตัวสูง เราก็ไม่มีเงินจะไปจ่าย อันนี้เขา ไม่ใช่เป็นดาราดัง ไม่ใช่ซูเปอร์สตาร์ เขาจะแสดงได้ขนาดไหนก็ต้องลองดู คนอื่นเหตุปัจจัยของเขาไม่พร้อมบ้าง อะไรบ้าง เงื่อนไขไม่ลงกัน ความสมัครใจ หลายๆอย่างอีก บวกลบแล้วมันต้องคำนึงหลายอย่าง
พระไตรปิฎก 2,500 กว่าปีแล้วคนยังไม่รู้ ไม่อยากอ่าน เราจะทำให้มันง่ายขึ้น เราจะเอาอะไรสอนเด็ก ยิ่งถ้าไม่ให้เห็นองค์พระพุทธเจ้ามันก็เป็นความลับอยู่ ดี เป็นสิ่งที่ทำให้คนงุนงงสงสัย เราต้องทำให้ใกล้เคียง ความเป็นจริงที่สุด เราจำลองเรื่อง 2,000 กว่าปีมาแล้ว เราต้องอธิบาย ต้องทำความเข้าใจ ทำให้คล้ายของจริงที่สุด”
วันนี้วันที่กระแสสังคมยังปฏิเสธในตัวหนุ่มมาร์ค ต่อการรับบทที่สำคัญยิ่ง และยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะหาใครที่เหมาะสมมาแสดงเป็นพระพุทธเจ้า หรือจะเปลี่ยนมาเป็นแอนิเมชั่นแทน ซึ่งในประเด็นหลังนั้นทางทีมผู้สร้างบอกว่า เรื่องนี้คงเป็นไปได้ยาก เพราะวงการสร้างการ์ตูนของไทยนั้นต้องถือว่ายังไปไม่ถึงไหน
“เราก็พอจะรู้กัน ถ้าจะทำหนังแอนิเมชั่น ในส่วนที่เป็นประวัติของพระพุทธเจ้านะครับ ผมว่าของไทยนี่อีกร้อยปีถึงจะทำได้ในระดับที่จะเผยแพร่หนังเรื่องนี้” ผู้กำกับศิลปกรรมของหนังเรื่องนี้กล่าว
แม้ว่าเรื่องเม็ดเงินในการผลิตภาพยนตร์จะยังหาไม่ได้ เช่นเดียวกับการสรรหาผู้ที่จะมารับบท ‘มหาบุรุษ’ ยังไม่ลงตัว แต่ทางทีมงานผู้สร้างก็ยืนยันว่าหากเรื่องของนักแสดงหนุ่มผ่าน ก็จะเปิดกล้องในวันที่ 23 ตุลาคมนี้อย่างแน่นอน
• สื่อใหม่ - สื่อเก่า ผนึกกำลังให้คนเข้าถึงธรรม
หากมองในภาพกว้าง ‘พระไตรปิฎก ฉบับภาพยนตร์ ถือเป็นการประยุกต์เอาสื่อใหม่ (New Media) เข้ามาเป็นตัวเชื่อมพระธรรมคำสั่งสอน หรือพุทธประวัติ เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนทุกยุคทุกวัยได้ง่ายขึ้น เพราะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีชาวพุทธมากมายสร้างเว็บไซต์ให้ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาได้อย่างน่าสนใจ หรือแม้แต่สื่อประเภทเอ็มพี 3 ที่สามารถให้ผู้สนใจธรรมเข้าไปดาวน์โหลดคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์มาฟังได้ทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการ ซึ่งจากการปฏิวัติสื่อ และเครื่องมือ ต่างๆเหล่านี้ ทำให้ชีวิตของผู้คนที่สนใจในธรรมะสามารถ รับรู้ในพระธรรมคำสั่งสอนได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังส่งผลให้แนวทางการเผยแผ่ธรรมะต้องปฏิรูปตนเอง ขึ้นมาด้วย เพื่อให้ตอบสนองและสอดคล้องกับวิถีชีวิต ของคนรุ่นใหม่ ที่เริ่มมี Perception หรือการรับรู้แบบ ใหม่ว่า ธรรมะไม่ใช่เรื่องเชย โบราณ หรือเป็นเรื่องเฉพาะพระกับคนแก่เท่านั้น ดังจะเห็นได้ว่า ทุกวันนี้ผู้ คนที่สนใจธรรมะเริ่มมีมากขึ้น และอายุน้อยลงกว่าเดิม
จากการที่การเรียนรู้ของคนไทยส่วนมากจะเป็นแบบ Passive learner คือไม่ค่อยกระตือรือร้นในการ เรียนรู้มากนัก ดังนั้น สื่อที่รับได้ง่ายสำหรับคนไทยจึงเป็นสื่อประเภทดูหนัง ฟังเพลง ที่ให้ทั้งความรู้และความสนุกสนานไปในตัว หรือที่เรียกว่า edutainment ซึ่งการสร้างพระไตรปิฎกฉบับภาพยนตร์ หรือแม้แต่การ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องประวัติพระพุทธเจ้า ล้วนเป็นกุศโลบาย และเจตนาที่ดีในการสร้างสื่อที่เหมาะสมกับคนไทย อันจะส่งให้ธรรมะสามารถเข้ามาหาผู้คนได้ ง่ายขึ้น
“แต่ก่อนช่องทางในการเข้าไปมันไม่เปิดกว้างและไม่เสรี ไม่ได้มีทางเลือกมากถึงขนาดนี้ แต่ตอนนี้ถือ ว่าเป็นยุคที่เรามีทางเลือกมาก หน้าที่ของเราคือต้องเอา ธรรมะเข้าไปสอดแทรกอยู่ในวิถีชีวิตของคน ถ้าเราสามารถทำได้ในแต่ละจุดแต่ละที่โดยที่เขาไม่ต้อง แปลกแยกตัวเองออกมา มันจึงเอื้อให้เขาสามารถเข้าถึงธรรมะได้มากกว่าสมัยก่อน” ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไดเร็ค มีเดีย กรุ๊ป (ประเทศไทย)จำกัด ให้แง่คิด
ดนัยให้ความเห็นต่อไปว่า แม้ว่าสื่อประเภทภาพยนตร์จะสามารถเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆได้ก็จริง แต่จะเรียกว่าเป็นนิว มีเดีย ก็คงไม่ถูกต้องนัก เพราะสื่อประเภทนี้เข้ามาในสังคมบ้านเราก็ประมาณร้อยปีเข้าไป แล้ว เพียงแต่สื่อภาพยนตร์มีการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาตัวเองให้เข้ากับยุคสมัยตลอดเวลา
ท่ามกลางการประสานพลังของสื่อทั้งเก่าและใหม่ในการเผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ แม้จะเป็นการสื่อในเรื่องราวเดียวกัน แต่การสื่อด้วยประเภทช่องทางที่ต่างกันจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต่างกันไปด้วย เช่น เดิมถ้าเป็นหนังสือพระไตรปิฎกอาจมีคนกลุ่มหนึ่งที่มีจำนวนไม่มากนักเข้ามาศึกษา แต่ถ้า เปลี่ยนมาเป็นภาพยนตร์พระไตรปิฎกก็จะได้คนอีกกลุ่มเข้ามา แต่สิ่งที่ควรระวังในเรื่องการสร้างเป็นภาพยนตร์ก็คือ สื่อภาพยนตร์จะกระทบสัมผัสทั้งตา และเสียงมากที่สุด ดังนั้น บุคลิกของนักแสดง คำพูดที่สื่อ ออกมา ระดับของเสียง จะส่งผลต่อการรับรู้ทั้งสิ้น ดังนั้น การจะบอกว่าบุคลิกของผู้แสดงไม่มีผลต่อการ รับรู้ หรือการสร้างรากฐานทางพุทธศาสนาที่ดี และมั่น คงอาจจะไม่ใช่ ..เนื่องจากทุกอย่างเป็นองค์ประกอบ โดยรวม ซึ่งสุดท้ายก็ต้องมาวัดว่าผู้ชมเข้าใจ และประทับใจอะไรจากการได้ดูภาพยนตร์ในแต่ละตอนนั้น และที่สำคัญเขาเกิดปัญญาขึ้นมาบ้างหรือไม่
• จุดเริ่มต้นเข้าสู่ยุคแห่งปัญญา
ปรากฏการณ์ที่หลายฝ่ายต่างผลิตสื่อธรรมป้อนสังคมให้รับรู้หลักธรรมของพระพุทธศาสนาให้ถูกต้อง พร้อมนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้คนทั่วไปได้เข้าใจถึงคุณงามความดี และคำสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อทุกคนจะได้สำนึกดี และเป็นคนดีในอนาคต ทั้งใน รูปแบบภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องประวัติพระพุทธเจ้า (The Life of Buddha) ของอาจารย์วัลลภา พิมพ์ทอง ที่กำลังใกล้จะออกฉายตามโรงภาพยนตร์ หรือพระไตรปิฎกฉบับภาพยนตร์ของบริษัท ไตรรัตน มีเดีย ที่กำลังจะเปิดกล้องในอีกไม่นาน หรือแม้แต่สื่ออื่นๆที่ปรากฏให้เห็นอย่างมากมายให้คนทุกชั้นทุกวัย เข้าถึงได้อย่างสะดวกทั้งในรูปแบบเสียเงิน และไม่เสียเงิน
สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นนี้เป็นการปูทางให้สังคมบ้านเราก้าวเดินไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ยุคแห่งปัญญา (Wisdom Age) เป็นยุคที่ผู้คนไม่ใช่เพียงแค่เรียนรู้ (Knowledge Age) หรือสะสมองค์ความรู้เพียงอย่างเดียวดังเช่นปัจจุบัน แต่กำลังจะก้าวไปสู่ยุคที่ผู้คนสามารถคิด วิเคราะห์เหตุและผล ตรงต่อสถานการณ์ความเป็นจริง กับความจำเป็นของตนเองเฉพาะหน้าได้
อย่างไรก็ดี สังคมแห่งปัญญาที่กล่าวถึงขณะนี้ยังเป็นเพียงแค่ภาพอันเลือนลางเท่านั้น เพราะสังคมดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อคนในสังคมมีปัญญาที่จะเข้าใจแก่นธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าตามความเป็นจริง และสามารถน้อมนำพระธรรมคำสั่งสอนไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับตนเองได้จริง เพราะหากเรายังเป็นคนพุทธเพียงแค่คำพูดแต่ไม่น้อมนำมาปฏิบัติ ก็จะเป็นได้เพียงแค่ ‘พุทธเทียม’ ที่ทานไม่ทำ ศีลไม่รักษา ภาวนาไม่เจริญ แม้ว่าสื่อต่างๆจะโหมผลิตออกมาเท่าไร ก็ไม่สามารถจะดึงสังคมให้ดีขึ้นไปกว่านี้ได้ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าขณะที่เมืองไทยได้รับการยกย่องให้เป็นศูนย์กลางแห่งศาสนาพุทธ แต่คนไทยกลับไม่ค่อยให้ ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าไรนัก
“จริงๆแล้วการจะก้าวเข้าสู่สังคมแห่งปัญญานั้น ลำพังการใช้สื่อเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงความนึกคิดได้ เพราะสื่อเป็นเพียงแค่ตัวเชื่อมระหว่างคนกับหลักธรรมคำสั่งสอนเท่านั้น แม้จะลงทุนสร้างภาพยนตร์ออกมามากมายด้วยงบ 5,000-10,000 ล้านบาท แต่คนในสังคมยังเหมือนเดิม แสดงว่าความพยายามต่างๆเหล่านี้ไม่สามารถเปลี่ยน แปลงพฤติกรรม และทัศนคติของคนในสังคมจากพุทธเทียมกลายเป็นพุทธแท้ได้ เพราะถ้าทำได้ และขยายคนกลุ่มนี้ออกไปสู่สังคมให้มากๆ กลุ่มคนนี้เอง จะเป็นกำลังของพระพุทธศาสนาในอนาคต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไดเร็ค มีเดีย กรุ๊ป กล่าว
แอนิเมชั่นไทย พัฒนากว่าที่คิด
“ถ้าจะทำหนังแอนิเมชั่นในส่วนที่เป็นประวัติพระพุทธเจ้า ผมว่าของไทยนี่อีกร้อยปีถึงจะทำได้นะครับ ในระดับที่จะเผยแพร่หนังเรื่องนี้” เป็นคำตอบของ ‘สุรพล กรสวัสดิ์’ ผู้กำกับศิลปกรรม เมื่อถูกถามถึงการใช้แอนิเมชั่นเพื่อเป็นทางออกของภาพยนตร์เรื่องพระไตรปิฎก
จริงๆแล้วการทำแอนิเมชั่น ทั้งรูปแบบการ์ตูนลายเส้น และคอมพิวเตอร์กราฟฟิค (Computer Graphic : CG) ในบ้านเรานั้นมีพัฒนาการและมาตรฐานขึ้นมากจนเทียบชั้นระดับสากล ยกตัวอย่าง ‘การ์ตูนเรื่องก้านกล้วย’ ไม่ใช่ประสบความสำเร็จในบ้านเราเท่านั้น แต่ยังประสบความสำเร็จในต่างประเทศ เมื่อไปร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์ปูซาน ร่วมงานฮิโรชิมาฟิล์ม เฟสติวัล ได้รับเสียงชื่นชมจากผู้ร่วมงานเป็นอย่างดี จนกระทั่งแอนิเมชั่นไทยเรื่องนี้ขึ้นเวทีในงานประกวดภาพยนตร์แอนิเมชั่น Animadrid 2006 ที่ประเทศสเปน คณะกรรมการในงานลงมติมอบรางวัล Best Feature Film ให้กับทีมงานจากประเทศไทยทีมนี้
หรือการ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องประวัติพระพุทธเจ้า (The Life of Buddha) ที่สร้างโดยบริษัท มีเดีย สแตนดาร์ด จำกัด ด้วยวงเงินประมาณ 100 ล้านบาท ผลิตการ์ตูนด้วยความละเอียดถึง 24 ภาพต่อวินาที เป็นมาตรฐานของผู้ผลิตการ์ตูนชั้นนำระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น วอล์ท ดีสนีย์, วอร์เนอร์, พิกซ่า ฯลฯ และกำลังจะฉายตามโรงภาพยนตร์ช่วงเดือนธันวาคมที่กำลังจะถึงนี้
ยังไม่นับรวมถึงการ์ตูนแอนิเมชั่นที่ปรากฏตามจอโทรทัศน์อีกมากมายหลายเรื่อง
หรือหากเป็นแอนิเมชั่นที่เป็นคอมพิวเตอร์ กราฟฟิค ก็มีภาพยนตร์ไทยจำนวนไม่น้อยที่นิยมใช้กัน ไม่ว่าจะเป็น คนหิ้วหัว ของพิง ลำพระเพลิง, เหล็กไหล ของสหมงคลฟิล์ม, ผีเสื้อสมุทร ที่มีจุดเด่นตรงการใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิค 80-90%, ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ของ ‘ท่านมุ้ย’ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ที่นำคอมพิวเตอร์กราฟฟิคมาใช้ ในช่วงตัดต่อให้ภาพดูยิ่งใหญ่อลังการ
ยังไม่นับรวมถึงการนำคอมพิวเตอร์กราฟฟิค มาใช้ในงานละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์โฆษณาหลายต่อหลาย เรื่อง
บางทีหากทีมงานสร้างเปลี่ยนแนวคิดที่จะผลิตภาพยนตร์แบบที่เคยทำมาในอดีต หันมาใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ อาจไม่ต้องใช้เงินในการผลิตภาพยนตร์เรื่อง ‘พระไตรปิฎก’ สูงถึง 1,200 ล้านบาท เพื่อใช้ไปกับการว่าจ้างนักแสดง ประกอบ เช่น ชาวบ้าน ทหาร พราหมณ์ พระภิกษุ นักบวช ข้าราชการต่างๆ จำนวนถึง 3,062 คน หรือใช้ไปกับการ หาสัตว์ที่จะนำมาใช้ประกอบฉาก ซึ่งมีช้าง 100 เชือก ม้า 300 ตัว วัว 300 ตัว กระบือ 300 ตัว แพะ 500 ตัว หมู 100 ตัว ไก่บ้าน 300 ตัว ไปจนถึงลิง 100 ตัว เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องซื้อหาหรือเช่ามาทั้งสิ้น
การนำคอมพิวเตอร์กราฟฟิคมาใช้ จะสามารถลดการจ้างดาราประกอบ และซื้อหรือเช่าสัตว์ต่างๆ รวมไปถึงสิ่งของ ที่ใช้ประกอบฉากที่มีอยู่อย่างมากมายหลายเท่าตัว เช่น ในฉากการต่อสู้ของภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ท่านมุ้ยใช้ม้าจริงเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น อีกหลายร้อยตัวที่เห็นเป็นม้าเทียมที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยใช้เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์กราฟฟิค
บางทีการปรับแนวคิดในการนำเสนอใหม่อาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจของทีมผู้สร้างในสถานการณ์เช่นนี้
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 82 ก.ย. 50 โดยก่อเกียรติ)