xs
xsm
sm
md
lg

ตำนาน นโม (๒๐)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

• สมฺมาสมฺพุทฺโธ

สมฺมาสมฺพุทฺธะ แปลว่า ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ คือรู้อริยสัจ ๔ โดยไม่เคยได้เรียนรู้จากผู้อื่น จึงทรงเป็นผู้เริ่มประกาศสัจธรรมแก่ผู้อื่น เป็นผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนา และจึงได้พระนามอย่างหนึ่งว่า ‘ธรรมสามี’ คือเป็นเจ้าของธรรม

สัมมาสัมพุทธะ เป็นพระนามหนึ่งของพระพุทธเจ้า ที่ได้บัญญัติโดยคุณนิมิตตั้งแต่ทรงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

บท นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ใช้ศัพท์เป็น สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

บทสรรเสริญพระพุทธคุณที่ว่า อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถาเทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควา ใช้ศัพท์เป็น สมฺมาสมฺพุทฺโธ

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ทรงอธิบายความแห่งสัมมาสัมพุทโธ ในพระธรรมเทศนาเรื่อง ‘พระพุทธคุณบทว่าสัมมาสัมพุทโธ’ ดังนี้

“....จะแสดงพระพุทธคุณบทที่ ๒ สัมมาสัมพุทโธ นำสติปัฏฐาน เพื่อให้สำเร็จเป็นพุทธานุสสติ ระลึกถึง คุณของพระพุทธเจ้า พระพุทธคุณบทนี้เป็นพระพุทธคุณบทใหญ่คู่กับบทว่า อรหํ หรือ อะระหัง และมักจะเรียกควบกันอยู่เสมอว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

อรหันตะ ก็มาจาก อะระหัง คำว่า อะระหัง นี้ก็มีความเป็นอย่างเดียวกันกับ อะระหันตะ หรืออรหันต์ แต่ว่าในทางพูดเรียกสำหรับพระพุทธเจ้าก็ใช้ว่า อะระหัง ถ้าเป็นพระสาวกใช้ว่า อะระหันตะ หรือ อรหันต์ เพื่อให้ต่างกัน

แม้ในบทสวดภาษาบาลีแห่งพระพุทธคุณทั้ง ๒ นี้ เราทั้งหลายก็สวดว่า อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ แต่ว่าในเวลาพูดเป็นภาษาไทย ก็ไม่พูดกันว่า พระอะระหังสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่มักพูดกันว่า พระอะระหันตะสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะใช้พูดกันอย่างนี้ รู้สึกว่าเต็มปากเต็มคำ และถนัด จึงนิยมพูดในภาษาไทยกันว่า พระอะระหันตะสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ว่าภาษาบาลีของ ท่านนั้น อะระหัง สำหรับพระพุทธเจ้า อะระหันตะหรือ อรหันต์ สำหรับพระสาวก แต่อรรถะคือเนื้อความก็เป็นอย่างเดียวกัน จึงควรที่จะเข้าใจความหมายของพระพุทธคุณบทนี้ ซึ่งประกอบด้วยคำว่า สัมมา, สัง และ พุทธะ

สัมมา
แปลว่า โดยชอบ สัง แปลว่า สามัง คือเอง พุทธะ ก็ตรัสรู้ รวมกันเป็น สัมมาสัมพุทธะ แปลว่า ผู้ตรัสรู้โดยชอบและเอง หรือแปลว่าผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ก็ได้

คำว่า สัมมา แปลว่า โดยชอบ นี้มีความหมายถึงว่า ความตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นความตรัสรู้โดยชอบคือถูกต้อง และมีความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นความตรัสรู้โดยชอบที่มีพยาน หรือผู้รับรองในความตรัสรู้นั้น ว่าเป็นความตรัสรู้โดยชอบหรือ ถูกต้อง

ความหมายประการแรกว่าโดยชอบหรือถูกต้อง ก็ หมายถึงว่า ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้นเป็นความ ถูกต้อง ที่อาจยกเอา สัมมัตตะ คือความเป็นสิ่งถูกต้อง หรือความเป็นสิ่งชอบ ซึ่งได้ตรัสแสดงไว้ ๑๐ ประการ คือมรรคมีองค์ ๘ อันได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ ทั้ง ๒ นี้รวมเข้าเป็นปัญญาหรือปัญญาสิกขา, สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ ๓ นี้ รวมเข้าเป็นศีล หรือสีลสิกขา, สัมมาวายามะ เพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ ๓ นี้รวมเข้าเป็นสมาธิ หรือจิตตสิกขา, นี้เป็น ๘ กับอีก ๒ คือ สัมมาญาณะ ความหยั่งรู้ชอบ สัมมาวิมุติ ความพ้นชอบ

สัมมาญาณะ ความหยั่งรู้ชอบนั้น ก็อาจยกญาณ ๓ ขึ้นแสดงได้ คือ ๑.ญาณความหยั่งรู้ที่ระลึกขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในกาลก่อน คือระลึกชาติได้ ๒.ญาณที่หยั่งรู้ความจุติคือความเคลื่อน อุปบัติคือความเข้าถึงภพชาตินั้นๆของสัตว์ทั้งหลาย และ ๓.ญาณคือความหยั่งรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดาน

สัมมาวิมุติ ความหลุดพ้นชอบ ก็คือความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวงสิ้นเชิง

รวมเป็น สัมมัตตะ คือความเป็นสิ่งชอบหรือถูกต้อง พระพุทธเจ้าตรัสรู้โดยชอบ ก็โดยเป็นสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบเป็นต้น เหล่านี้

ส่วนอีกความหมายหนึ่งที่กล่าวว่า ความตรัสรู้ชอบของพระองค์นั้นมีพยาน หรือผู้รับรอง ก็ได้แก่หมู่แห่งสาวก คือผู้ฟัง ซึ่งเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า ก็เป็นพยานในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นผู้รับรองในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ว่าพระองค์ได้ตรัสรู้โดยชอบจริงคือถูกต้อง ความตรัสรู้ ของพระองค์มิใช่เป็นของเทียมหรือไม่จริง แต่เป็นความตรัสรู้จริงคือถูกต้องจริง ชอบหรือถูกต้องนั้นก็คือชอบหรือถูกต้องต่อความจริงทุกประการ ที่เรียกว่า บริสุทธิ์คือหมดจดจากความผิดพลาด ไม่มีความผิดพลาดแม้แต่น้อย

สัจจะที่พระองค์ได้ตรัสรู้นั้น บริสุทธิ์คือหมดจด ถูกต้องทั้งหมด บริบูรณ์คือเต็มที่ทั้งหมด ไม่มีบกพร่อง หรือจะเรียกว่าไม่มีขาดไม่มีเกิน บริสุทธิ์บริบูรณ์เต็มที่ ดั่งนี้คือความเป็นสิ่งที่ชอบ ซึ่งหมู่แห่งสาวกผู้ฟังคือศิษย์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้ตรัสรู้ตามพระองค์ ก็ได้รับรองได้เป็นพยาน ดังที่ได้ปรากฏในความรู้ของหมู่แห่งสาวกของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้ตรัสรู้ตามพระองค์ว่า อโห พุทโธ โอหนอพระพุทธเจ้า อโห ธัมโม โอหนอพระธรรม อโห สังโฆ โอหนอพระสงฆ์ คือพระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าจริงๆ พระธรรมก็เป็นพระธรรมจริงๆ พระสงฆ์ก็เป็นพระสงฆ์จริงๆ

เพราะฉะนั้น คำว่า สัมมาสัมพุทโธ ที่แปลว่า ผู้ตรัสรู้โดยชอบและเอง จึงมีความหมายถึงพระพุทธเจ้า ซึ่งได้ประกาศพระพุทธศาสนา มีหมู่แห่งสาวกได้ตรัสรู้ตาม ได้ตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นในโลก และได้เรียกพระพุทธเจ้าซึ่งได้ตรัสรู้เอง แต่มิได้ทรงแสดงธรรมะสั่งสอน ตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นในโลก ว่าพระปัจเจกพุทธะ คือพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้จำเพาะพระองค์เอง ส่วนพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองแล้วยังสอนผู้อื่นให้ตรัสรู้ตาม ตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นในโลก ก็เรียก ว่าสัมมาสัมพุทธะ

ดังที่ได้มีแสดงพระพุทธะไว้ ๓ คือ พระสัมมาสัมพุทธะ พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ซึ่งได้สั่งสอน ผู้อื่นให้ตรัสรู้ตาม พระปัจเจกพุทธะ พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้จำเพาะพระองค์ผู้เดียว และพระสาวกะพุทธะ หรือพระอนุพุทธะ คือพระพุทธะ คือพระผู้ตรัสรู้ตาม ได้แก่หมู่แห่งพระสาวกซึ่งได้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า ก็เป็นพุทธะจำพวกที่ ๓ อันเรียกว่าพระอนุพุทธะ เพราะ ฉะนั้น จึงเห็นว่าคำว่า สัมมานี้มีความหมายถึงว่าได้มีผู้อื่นรับรองเป็นพยาน ก็โดยที่พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้โดยชอบเอง ได้ทรงสั่งสอนให้ผู้อื่นตรัสรู้ตามได้ ก็คือ พระสงฆ์สาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า พระสงฆ์สาวก นี่เองก็เป็นพยานรับรองความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ได้เห็นพระพุทธเจ้า ดังที่มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้แปล ความว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ดังนี้

คำว่า สัง แปลว่า สามะ คือ ‘เอง’ ก็มีความหมายว่า ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้นผุดขึ้นเองแก่พระองค์ ดังที่ได้มีแสดงไว้ในปฐมเทศนาที่ตรัสไว้เองว่า จักขุคือ ดวงตา ญาณคือความหยั่งรู้ ปัญญาคือความรู้ทั่วถึง วิชชาคือความรู้แจ่มแจ้ง อาโลกะคือความสว่าง บังเกิดผุดขึ้นในธรรมะทั้งหลายที่มิได้เคยทรงสดับฟังมาก่อน พระพุทธภาษิตที่ตรัสแสดงไว้นี้ แสดงว่าความตรัสรู้ของ พระองค์นั้นผุดขึ้นเอง พระองค์จึงเป็นผู้ตรัสรู้เอง

และในปฐมเทศนานั้นเองก็ได้ตรัสแสดงถึงความตรัสรู้ของพระองค์ ว่าพระองค์ได้ตรัสรู้อะไร ซึ่งมีความ โดยย่อว่า จักขุคือดวงตาอันหมายถึงดวงตาใจ ญาณังคือความหยั่งรู้ ปัญญาคือความรู้ทั่วถึง วิชชาคือความ รู้แจ่มแจ้ง อาโลกะคือความสว่าง ได้บังเกิดผุดขึ้นในธรรมะทั้งหลาย ก็คือในสัจจะคือความจริงทั้งหลายที่พระองค์มิได้เคยทรงสดับมาก่อนว่า นี้ทุกข์ ทุกข์นี้พึง กำหนดรู้ ทุกข์นี้ทรงกำหนดรู้แล้ว นี้ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกขสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์นี้พึงละเสีย ทุกขสมุทัยคือเหตุเกิดทุกข์นี้ทรงละได้แล้ว นี้ทุกขนิโรธความดับทุกข์ ทุกขนิโรธความดับทุกข์นี้ ควรกระทำให้แจ้ง ทุกขนิโรธคือความดับทุกข์นี้ทรงกระทำให้แจ้งแล้ว นี้มรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นี้พึงทำให้มีให้เป็นขึ้น มรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นี้ ได้ทรงทำให้มีให้เป็นขึ้นแล้ว ดังนี้

เพราะฉะนั้น ในปฐมเทศนานี้เอง เป็นเทศนาที่ได้ตรัสแสดงถึงความตรัสรู้ของพระองค์ และก็ได้ตรัสแสดงชี้แจงไว้อย่างชัดเจน ว่าจักขุคือดวงตาอันหมายถึงดวงตาใจ ที่บังเกิดผุดขึ้นในธรรมทั้งหลายที่มิได้เคย ทรงสดับมาก่อนนั้น ก็คือใน อริยสัจจ์ ทั้ง ๔ อันได้แก่ทุกข์ ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ และทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา หรือมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ และก็ได้ตรัสแสดงไว้เองว่า ความตรัสรู้ของพระองค์

ที่ตรัสใช้คำว่า จักขุ ดวงตาเห็นธรรม ญาณคือความ หยั่งรู้ ปัญญาคือความรู้ทั่วถึง วิชชาคือความรู้แจ่มแจ้ง และอาโลกะคือความสว่าง ก็รวมเข้าในคำว่า ญาณ คือความหยั่งรู้

ญาณ คือความหยั่งรู้ คือความตรัสรู้ของพระองค์ นี้ ตามที่ตรัสแสดงไว้นั้นจึงมีวนรอบ ๓ และมีอาการ ๑๒ ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ โดยที่เป็นความตรัสรู้ที่เป็นไป คือวนไปในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นั้น ๓ รอบ โดยเป็น สัจจญาณ ความหยั่งรู้ในสัจจะ คือความจริง รอบหนึ่ง ว่านี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาข้อปฏิบัติให้ถึงความ ดับทุกข์ ความตรัสรู้ที่วนไปในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ โดยสัจจะคือความจริงว่านี้เป็นอย่างนี้ นั้นเรียกว่า สัจจญาณ เป็นรอบที่ ๑

รอบที่ ๒ ก็คือญาณคือความหยั่งรู้ที่วนไปหรือเป็น ไปในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ โดยเป็นกิจจญาณ คือความหยั่งรู้ในกิจคือหน้าที่ซึ่งพึงปฏิบัติ ว่าทุกข์พึงกำหนดรู้ ทุกขสมุทัยพึงละเสีย ทุกขนิโรธพึงกระทำให้แจ้ง มรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์พึงอบรมทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นเป็นกิจคือหน้าที่ซึ่งพึงปฏิบัติในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ดั่งนี้ เป็นรอบที่ ๒

ญาณคือความหยั่งรู้ที่วนไปเป็นไปในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ รอบที่ ๓ ก็โดยเป็น กตญาณ คือเป็นความหยั่งรู้ว่า กิจซึ่งพึงปฏิบัติในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นั้น ได้ทรงกระทำแล้ว ได้ทรงปฏิบัติเสร็จแล้ว ว่าทุกข์นั้นได้ทรงกำหนดรู้แล้ว ทุกขสมุทัยทรงละได้แล้ว ทุกขนิโรธทรงกระทำให้แจ้ง แล้ว มรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ทรงปฏิบัติทำให้มีให้เป็นขึ้นเสร็จแล้ว ดังนี้ เป็นอันว่าได้ทำกิจเสร็จในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ เป็นรอบที่ ๓

เพราะฉะนั้น พระญาณคือความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า จึงได้ตรัสแสดงว่าวนไป ๓ รอบ หรือมี ๓ รอบใน อริยสัจจ์ทั้ง ๔ และ ๓ คูณ ๔ ก็เป็น ๑๒ จึงตรัสว่ามี อาการ ๑๒ ดั่งนี้ ฉะนั้น ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าจึงเป็นความตรัสรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ซึ่งเวียนไป ๓ รอบ และมีอาการ ๑๒

แต่ว่าไม่ใช่หมายความว่าความหยั่งรู้นั้นบังเกิดขึ้น ในขณะต่างกัน จึงมีญาณคือความหยั่งรู้บังเกิดขึ้นหลายขณะ และต่างๆกัน แต่หมายความว่าญาณคือความหยั่งรู้นั้นเป็นอันเดียวเป็นขณะเดียว แต่ว่าเป็นความรู้ที่เวียนไปในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ สามรอบ และมีอาการ ๑๒ ดังกล่าวนั้น ในข้อนี้อาจจะเทียบง่ายๆเหมือนอย่างการดูนาฬิกา จะรู้เวลาก็ต้องมองเห็นหน้าปัทม์ของนาฬิกา เห็นตัวเลขที่บอกชั่วโมงบอกนาที เห็นเข็มสั้นเข็มยาวที่บอกชั่วโมงบอกนาที ต้องเห็นพร้อมกันในขณะเดียวกัน คือเห็นหน้าปัทม์ทั้งหมดในขณะเดียวกัน จึงจะรู้เวลาได้ เพราะฉะนั้น การเห็นของลูกตาซึ่งหน้า ปัทม์ของนาฬิกาทั้งหมดนั้น ซึ่งเห็นคราวเดียวกัน แต่ว่าสิ่งที่เห็นนั้นมีหลายอย่างรวมกันอยู่ ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก็จะพึงเทียบได้ดั่งนั้น

ในความตรัสรู้ของพระองค์นั้น ทรงรู้ทรงเห็นคราวเดียว แต่ได้รวมทั้งหมดซึ่งอริยสัจจ์ทั้ง ๔ โดยมีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ รวมกันเป็นคราวเดียว เพราะฉะนั้น จึงเป็นความตรัสรู้เองโดยชอบ เหมือนอย่างการที่มอง ดูหน้าปัดนาฬิกา มองเห็นหมดในหน้าปัทม์นั้นคราวเดียว ตัวเลขทั้งหมด เข็มสั้นเข็มยาวทั้งหมด จึงจะบอก เวลาได้ถูกต้อง

เพราะฉะนั้น ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร ได้ตรัสรู้อะไร ตรัสรู้อย่างไร ได้ทรงแสดงไว้โดยแจ่มแจ้งในปฐมเทศนาของพระองค์

เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงเป็นสัมมาสัมพุทโธ ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ และเมื่อได้มีพระมหากรุณาเสด็จไปทรงแสดงธรรมะสั่งสอน ได้มีหมู่แห่งสาวกได้ตรัสรู้ตามพระองค์ พระองค์ก็ได้ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทโธเต็มที่ ในความรู้ความรับรองของผู้อื่น ซึ่งได้ตรัสรู้ตาม พระองค์ และได้ความรู้ความรับรองพระองค์ว่า ได้ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะแท้จริง

เพราะฉะนั้นพระพุทธคุณบทนี้จึงมีความที่สำคัญ ซึ่งเมื่อได้ตั้งใจศึกษากำหนดให้มีความรู้ความเข้าใจแล้ว จะได้รู้จักพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง...”

(โปรดติดตามตอนต่อไปในฉบับหน้า)

(จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 81 ส.ค. 50 โดย พระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)
กำลังโหลดความคิดเห็น