xs
xsm
sm
md
lg

คำมี ปงกันมูล แม่ครูจูหลิง แม่ผู้ ‘ให้อภัย’ ด้วยหัวใจอันยิ่งใหญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คำว่า ‘แม่’ นั้นเป็นคำที่ยิ่งใหญ่นัก แม่เป็นผู้หญิงคนเดียวในโลกที่พร้อมจะสละทุกอย่างเพื่อลูก ไม่ว่าจะเป็นเลือดเนื้อ อวัยวะ หรือแม้แต่ชีวิตจะเป็นอย่างไรเมื่อแม่คนหนึ่งตื่นขึ้นมาพบว่าลูกสาวคนเดียวที่เธอเฝ้าอดทนเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ ส่งเสียให้เล่าเรียนจนจบออกมาเป็นคุณครูที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณอันเสียสละ ต้องถูกรุมทำร้ายจนร่างกายบอบช้ำแสนสาหัส กลายเป็นเจ้าหญิงนิทราและสิ้นลมหายใจไปในที่สุด
แม่คนนี้ชื่อว่า ‘คำมี ปงกันมูล’ แม่ของ ‘คุณครูจูหลิง ปงกันมูล’ หรือ ‘ครูจุ้ย’ แห่งโรงเรียนบ้าน กูจิงลือปะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งอาสาไปสอนในพื้นที่เสี่ยงภัย เพียงเพราะหวังให้เด็กในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการศึกษา แม่คำมีไม่รู้มาก่อนเลยว่าความดีและความมีน้ำใจที่เธอพร่ำสอนลูกสาว จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอต้องสูญเสียลูกสาวสุดที่รักไปอย่างไม่มีวันกลับ
และแม้จะลูกสาวของเธอจะเสียชีวิตด้วยน้ำมือของคนกลุ่มหนึ่งที่กระทำการอย่างโหดเหี้ยม แต่ด้วยหัวใจอันยิ่งใหญ่ของผู้หญิงคนนี้ เธอกลับยินดีที่จะให้อภัยคนที่พรากชีวิตลูกสาวเธอไป เพียงเพราะหวังให้พวกเขาได้กลับตัวเป็นคนดี
“ขอให้ทุกคนมีความเข้มแข็งต่อสู้กับความปวดร้าวในใจให้ได้ สิ่งที่สำคัญที่ทำให้สบายใจขึ้นคือ ไม่ถือโทษโกรธคนที่ทำลงไป พยายามให้อภัยโดยหวังว่า ในอนาคตพวกเขาจะกลับใจและรักแผ่นดินไทยมากขึ้น” นี่คือคำพูดที่ออกจากปากของคุณแม่คำมี หลังจากลูกสาวถูกทำร้าย
‘คำมี ปงกันมูล’ ได้รับคัดเลือกจากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ให้เป็นแม่ดีเด่นประจำปี 2549 ประเภทแม่ผู้ทำประโยชน์ต่อสังคม แม้เมื่อวันที่ 12 สิงหาคมปีที่แล้ว ซึ่งเป็นวันที่เธอได้รับรางวัล เธอจะเสียใจที่ลูกสาวอยู่ในขั้นโคม่าและไม่อาจมาร่วมยินดีได้ แต่เธอก็ยังภาคภูมิใจในการทำหน้าที่ของแม่ด้วยดีตลอดมา

• รู้สึกอย่างไรบ้างคะที่ได้รับพระราชทานรางวัลแม่ดีเด่นแห่งชาติ
ตอนได้รับพระราชทานรางวัลดีใจมากค่ะ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง ตอนนั้นได้รับโล่ และพระบรมฉายาลักษณ์พระราชทานและเกียรติบัตรจากพระองค์โสมฯ (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ) รู้สึกปลาบปลื้มมากเลยค่ะรางวัลนี้เป็นรางวัลแม่ดีเด่นประเภท
แม่ผู้ทำประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ จากสภาสังคม สงเคราะห์แห่งประเทศไทย ก็ถือว่าเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล เขาคงมองว่าเราเลี้ยงลูกมาดี เลยให้รางวัลนี้มา

• แล้วคุณแม่มีวิธีการเลี้ยงดูลูกอย่างไรบ้างคะ
น้องจุ้ย(ครูจูหลิง)เขาเป็นลูกสาวคนเดียว เราก็พยายามเลี้ยง เขาให้ดีที่สุด ถึงเราจะไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่ก็สอนให้เขาเป็นคน รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ให้ช่วยเหลือคนอื่น รู้จักเสียสละ ช่วยเหลือสังคม น้องจุ้ยเขาอยากจะเป็นครูมาตั้งแต่เด็กๆแล้ว พ่อ(สูน คำมี)กับแม่ก็สนับสนุน คือลูกอยากเรียนอะไร อยากเป็นอะไรก็แล้วแต่เขา ขอแค่เป็นคนดีเราก็พอใจแล้ว
อีกเรื่องที่จะบอกเขาเสมอก็คือเรื่องการประหยัด รู้จักเก็บออม เพราะบ้านเราไม่ค่อยมีเงิน ก็จะบอกเขาว่าเงินทองมันหายากนะลูก ต้องอดทน ให้รู้จักเขียม ซึ่งน้องจุ้ยเขาก็เป็นเด็กว่าง่าย สอนอะไรก็ทำตามหมด เขาก็เริ่มเก็บออมมาตั้งแต่เด็กๆเลย ตอนน้องจุ้ยเด็กๆนี่แม่ให้เงินไปโรงเรียนวันละ 5 บาท 10 บาท เขาก็เก็บไว้ครึ่งหนึ่ง เก็บไว้หยอดกระปุกออมสิน วันไหนใช้ไม่หมด ก็กลับมาใส่กระปุกไว้ ส่วนใหญ่เขาก็เหลือเงินมาทุกวันนะ ถึง เวลาจำเป็นอย่างซื้อสีน้ำ ซื้อเครื่องเรียนอะไร เขาก็เอาเงินที่เก็บไปซื้อ เขาใส่ออมสินไว้เยอะ.. ทุกวันนี้กระปุกของเขาก็มีอยู่ 2 ใบ ใส่เงินไว้เต็มเลย

• คุณพ่อคุณแม่เองก็เป็นผู้ที่ชอบช่วยเหลือชุมชนเหมือนกัน คิดว่านี่เป็นแรงบันดาลใจให้คุณครูจูหลิงมุ่งมั่นทำงานและพร้อมจะเสียสละเพื่อสังคมด้วยหรือเปล่าคะ
ก็เป็นไปได้นะ ครอบครัวเราจะเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือใครให้ช่วยอะไร ถ้าเห็นว่าไม่ใช่เรื่องหนักหนาอะไรเราก็ทำหมด ส่วนใหญ่ก็เป็นงานอาสาสมัคร บางช่วงทำงานส่วนร่วมมากกว่าทำงานส่วนตัวอีกนะ (หัวเราะ) ก็ทำกันมาตั้งแต่น้องจุ้ยยังเด็กๆ ถึงวันนี้น้องจุ้ยไม่อยู่แล้วพ่อกับแม่ก็ยังทำอยู่ อย่างพ่อเขาเป็น อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุข) มาตั้งแต่หมู่บ้านเริ่มมี อสม. ครั้งแรกเลย ตอนนั้นก็ประมาณปี 2523 น้องจุ้ยอายุได้ขวบเดียว งานเขาเยอะมาก... ช่วยดูแลเรื่องสุขภาพของคนในหมู่บ้าน ให้ชาวบ้านมาตรวจร่างกาย แล้วก็ส่งข้อมูลต่างๆให้ทางสาธารณสุข นอกจากนั้นก็ทำงานช่วยเหลือผู้สูงอายุ แต่ตอนนี้พ่อเขาไม่ได้ทำงาน อสม.แล้ว ก็ไปสมัครเป็น อพม. (อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำหมู่บ้าน) เป็นงานด้านการพัฒนา ช่วยเหลือคนยากจน โดยเก็บข้อมูลว่าใครมีปัญหาเรื่องอะไรแล้ว ก็ประสานไปทางจังหวัดหรือทางสังคมสงเคราะห์ เขาก็ลงมาแก้ปัญหาให้ คือพ่อเขาไม่ชอบอยู่เฉย ทำโน่นทำนี่ตลอด
ส่วนตัวแม่เองเป็นประธานกลุ่มทอผ้าของหมู่บ้าน เป็นกลุ่มที่ช่วยกันพัฒนาการทอผ้าของชุมชน คนในหมู่บ้านก็มาช่วยกันคิดช่วยกันทำ บางทีก็ไปดูงานของที่อื่นแล้วเอากลับมาพัฒนาผ้าทอของเรา งานของเราก็ค่อนข้างมีชื่อเสียงนะ ทางอำเภอเขาก็ยอมรับ แม่ทำตรงนี้มาตั้งแต่ปี 2530 ก็เป็นประธานมาตลอด แม่เคยลาออกให้คนอื่นเขามาเป็นประธานบ้าง แต่คนอื่นเขาไม่เอา เขาว่าทำไม่ไหว ตอนน้องจุ้ยเสียเมื่อปีที่แล้วแม่ก็ขอลาออกอีก คือเสียลูกไปมันก็หมดกำลังใจนะ แต่ทางกลุ่มเขาก็ขอให้อยู่ช่วยกันไปก่อน ส่วนน้องจุ้ยเขามาเป็นครูก็เพราะอยากจะช่วยเหลือ เด็กๆ เขาชอบเด็กๆมากค่ะ อย่างเวลามีหลานมา เที่ยวบ้าน น้องจุ้ยก็จะสอนหนังสือบ้าง สอนวาดภาพบ้าง ตอนเป็นครูก็ชอบช่วยงานคนนั้นคนนี้ คือเขามีฝีมือด้านศิลปะ เพื่อนๆก็จะมาให้ช่วยเขียนแผ่นป้ายบ้างอะไรบ้าง ก่อนหน้านั้นก็ไปช่วยเขียน ภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัด

• กว่าจะส่งเสียน้องจุ้ยจนจบออกมาเป็นครูนี่ลำบากไหมคะ
โอย..ตอนนั้นลำบากมากค่ะ คือฐานะทางบ้านเราไม่ค่อยดีหรอก พ่อกับแม่ทำนา แล้วก็ทำไร่ข้าวโพด หักข้าวโพดขาย เรียกว่าทำไร่ทำนามาตลอดแหละ ความจริงแต่ก่อนที่บ้านมีรถนะ พ่อเขาเอาไว้รับจ้างรับส่งนักเรียน แต่พอน้องจุ้ยเรียนชั้นมัธยม ต้องเข้าไปเรียน ที่ตัวจังหวัด เราไม่มีเงินค่าเทอม ก็เลยต้องขายไป บางทีเสร็จจากไร่จากนาก็ไปหางานพิเศษทำ ช่วงที่จุ้ยเขาเรียนอาชีวะที่เชียงราย พ่อเขาก็ไปรับจ้างเป็น รปภ.(พนักงาน รักษาความปลอดภัย)ที่กรุงเทพฯ ส่วนแม่ก็ทอผ้าอยู่กับบ้านคนเดียว เหงาอยู่เหมือนกันแต่คิดว่าเราอดทนเพื่อลูก มีที่นาอยู่ 2-3 ที่ ก็ขายไป เอาเงินมาส่งลูกเรียน

• ตอนที่ลูกสาวต้องไปทำงานในพื้นที่ซึ่งมีเหตุ รุนแรง คุณแม่ทำใจอย่างไรคะ
ช่วงที่น้องจุ้ยอาสาจะไปเป็นครูสอนที่ภาคใต้แม่เป็น ห่วงมากนะ ไม่อยากให้ไปเลย แต่เขาก็ยืนยันจะไป เขาเลือกไปสอนที่นั่นเพราะสงสารเด็ก อยากไปช่วยเพราะหาครูไปสอนที่ภาคใต้นี่ยากมาก แรกๆเหตุการณ์ยังไม่ รุนแรงมาก ตอนนั้นน้องจุ้ยซื้อโทรศัพท์มือถือให้แม่ ก็เลยได้โทร.คุยกัน เขาก็บอกว่าไม่ต้องห่วง คนที่นั่นเขาไม่ทำอะไรหรอก (เสียงสั่นเครือ) ช่วงที่น้องจุ้ยไปสอนที่ใต้ก็ไม่ค่อยได้เจอกัน ส่วนใหญ่เจอกันปีละครั้ง เขาจะกลับมาแค่ช่วงปิดเทอมใหญ่ ปิดเทอมย่อยๆก็ไม่ได้มา เพราะมันไกลกันมาก ตอนนั้นปิดเทอมจุ้ยก็มานอนค้างกับแม่ 2 คืนเอง ส่วนมากแม่จะลงไปหา
ก่อนเกิดเหตุเดือนหนึ่งเขาก็เพิ่งส่งเงินมาให้แม่ เขากู้เงินสหกรณ์ครูมา บอกว่าให้แม่เอาไปใช้หนี้ ธกส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) นะ คือตอนนั้นที่บ้านเป็นหนี้ ธกส.อยู่ 40,000 บาท อีกส่วนหนึ่งเขาก็จะเอาไปซื้อคอมพิวเตอร์ไว้ใช้ที่โรงเรียน เขาบอกที่โรงเรียนไม่มีคอมพ์ฯ ตอนนี้หนี้ที่บ้านก็หมดแล้วล่ะ ได้เงินช่วยงานของน้องจุ้ยนี่แหละมาใช้เขา (แม่คำมีเล่าด้วยน้ำเสียงปนสะอื้นอย่างสะกดอารมณ์ไม่อยู่)

• ทราบว่าครูจูหลิงชอบวาดภาพ โดยเฉพาะภาพพุทธประวัติ เป็นเพราะที่บ้านมีความสนใจ เรื่องพุทธศาสนาหรือเปล่าคะ
คือน้องจุ้ยเขาชอบศิลปะ ชอบวาดภาพมาก ทุกวันนี้สี พู่กัน อะไรก็ยังอยู่ แม่เก็บไว้หมด จุ้ยเขาวาดรูปคน วาดดอกไม้ ต้นไม้ วาดไปเรื่อยไม่หยุด แต่ที่ชอบที่สุดเห็นจะเป็นภาพเกี่ยวกับพุทธศาสนา เห็นเขา วาดภาพพระพุทธเจ้า หลวงพ่อที่วัดแถวบ้าน เขาก็เคยวาด คือเอารูปถ่ายของท่านมาเป็นแบบวาดน่ะค่ะ เหมือนเปี๊ยบเลย จำได้ว่ามีอยู่วันหนึ่งจุ้ยเขามาเรียกแม่ ไปดูรูปที่เขาวาด ตอนนั้นแม่ทำงานอยู่ไม่ค่อยได้สนใจ อะไร น้องจุ้ยเข้ามาบอกว่า แม่...อันนี้เป็นภาพพระพุทธรูปปางถวายพระเนตรนะ แม่ก็ไม่รู้เรื่องด้วย เลยได้แต่ยิ้มเท่านั้น ก็บอกเขาว่าดีแล้วๆ ตอนหลังจุ้ย เขาก็ได้ไปวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดในจังหวัดสงขลา (ปี 2526 ครูจูหลิงได้ร่วมวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงเรื่องราวของสังเวชนียสถาน ในอุโบสถวัดคงคาวดี หรือวัดปากภูมี ตำบลรัตภูมิ อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา และวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงเรื่องราวพุทธประวัติบนผนังศาลาการเปรียญ และลวดลายบนเสาศาลาการเปรียญของวัดเดียวกัน)
แม่คิดว่าที่เขาชอบภาพพวกนี้อาจจะเป็นเพราะบ้านเราอยู่ใกล้วัด มีทั้งวัดปงน้อย วัดปงสนุก นั่งอยู่ที่บ้านนี่มองออกไปเห็นหลังคาวัดเลย แล้วพ่อกับแม่ ก็ไปทำบุญใส่บาตรตลอด ไปทุกวันพระ พาจุ้ยเขาไปด้วย พอเขาไปเรียนที่ต่างจังหวัดเขาก็ยังไปวัดอยู่นะ เขาไปของเขาเอง บางทีวันสงกรานต์ วันวิสาขบูชา เขาก็ไปวัดกับเพื่อนๆเขา

• แล้วศิลปะการทอผ้าของคุณแม่ล่ะคะ สืบทอดมาถึงครูจูหลิงด้วยหรือเปล่า
น้องจุ้ยเขาทอไม่เป็นหรอก แต่เขาชอบใส่ผ้าที่แม่ทอให้นะ (พูดด้วยความภูมิใจ) ตอนน้องจุ้ยยังอยู่แม่ ก็ทอผ้าให้เขาเอาไปตัดเป็นเสื้อบ้าง ทำผ้าปูโต๊ะบ้าง บางทีก็เอาไปทำผ้าม่าน ตอนไปสอนที่ภาคใต้น้องจุ้ย เขาก็เอาผ้าที่แม่ทอให้ไปด้วย แล้วก็มีเพื่อนของน้องจุ้ย ที่ไปอยู่อังกฤษเขาสนใจเอาผ้าทอของแม่ไปขายที่นั่น น้องจุ้ยเขาก็ส่งไปให้ ขายได้แค่ 2 ครั้งพอดีน้องจุ้ยมาเสียซะก่อน ทุกวันนี้แม่ก็ยังทออยู่นะ มันเหงานะ คิดถึงลูกสาวทีไรก็น้ำตาไหล คิดถึงตอนที่เราทอผ้าให้เขาใส่ (เสียงสั่นเครือ) บางทีพ่อเขาก็มาช่วยทอด้วย พ่อเขาก็ทอเป็นนะ ตอนนี้พ่อกับแม่ก็อยู่กัน 2 คนตายาย ก็เหงานะ คิดถึงลูก

• น่าภูมิใจกับคุณแม่นะคะ ที่มีลูกที่ดีอย่างครูจูหลิง
แม่ก็ภูมิใจนะที่แม่เลี้ยงลูกให้เป็นคนดีได้ ถึงแม่จะเสียใจที่น้องจุ้ยจากไป แต่ส่วนหนึ่งก็ภูมิใจที่เขากล้าหาญ มีน้ำใจช่วยสอนเด็กๆในภาคใต้ ภูมิใจที่เขา เสียสละ ถึงวันนี้ตัวน้องจุ้ยจะไม่อยู่แล้ว แต่เชื่อว่าชื่อครูจูหลิงยังอยู่ในใจของเด็กๆ ยังอยู่ในใจของคนไทย

• วันที่ 12 สิงหาคมนี้เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และก็เป็นวันแม่แห่งชาติ คุณแม่มีอะไรอยากจะฝากไหมคะ
วันนี้นอกจากจะเป็นวันที่ลูกๆจะแสดงความรักความกตัญญูต่อแม่ของตัวเองแล้ว ยังเป็นวันที่คนไทย จะแสดงความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นแม่ของแผ่นดิน เป็นแม่ที่คอยดูแลทุกข์สุขของชาวไทยทั้งประเทศ แม้แต่ครูตัวเล็กๆอย่างน้องจุ้ย พระองค์ท่านก็ทรงมีเมตตา ตอนที่น้องจุ้ยถูกทำร้ายและเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สมเด็จพระนางเจ้าฯได้ทรงรับไว้เป็น คนไข้ในพระราชินูปถัมภ์ ตลอด 8 เดือนที่นอนอยู่ใน โรงพยาบาลนั้นน้องจุ้ยได้รับการดูแลอย่างดีจนกระทั่งน้องจุ้ยเสีย (วันที่ 8 มกราคม 2550)
พอน้องจุ้ยเสีย พระองค์ท่านก็ได้พระราชทานน้ำหลวงอาบศพและพวงมาลาหน้าศพ รวมทั้งทรงรับงาน ศพของน้องจุ้ยซึ่งตั้งบำเพ็ญกุศลที่บ้าน (จ.เชียงราย) ไว้ในพระราชินูปถัมภ์ด้วย ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ พระเมตตาของพระองค์ท่านเป็นเหมือนน้ำทิพย์ชโลมใจให้แก่คนในตระกูลปงกันมูล คิดว่าคงไม่มีประชาชนชาติใดในโลกที่โชคดีเท่าคนไทยอีกแล้ว เราโชคดีที่เกิดมามีแม่ของแผ่นดินที่เปี่ยมไปด้วยน้ำพระทัยที่งดงาม พระองค์ทรงสู้ทนเหน็ดเหนื่อยตรากตรำเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพสกนิกร บางทีนั่งคิดถึงลูกสาวที่เสียชีวิตไป แม่ก็นั่งร้องไห้คนเดียว แต่พอนึกถึงพระเมตตาของพระองค์ท่านแล้วความเศร้าเสียใจมันก็ลดลงไปเยอะ มันอบอุ่นใจบอกไม่ถูกนะ
แล้วแม่ก็ขอฝากถึงคนที่เป็นแม่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยนะคะว่า ขอให้เข้มแข็งและอดทน สักวันหนึ่งทุกอย่างต้องดีขึ้น
.........
ชื่อ‘ครูจูหลิง’ มิเพียงแต่ยังอยู่ในใจของเด็กๆ ยังอยู่ในใจของคนไทย หากแต่ยังอยู่ในหัวใจอันอบอุ่นและปลอดภัยของแม่ ‘คำมี ปงกันมูล’ แม่ผู้ให้อภัย ด้วยหัวใจอันยิ่งใหญ่ ตลอดกาล

(จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 81 ส.ค. 50 โดย กองบรรณาธิการ)


กำลังโหลดความคิดเห็น