xs
xsm
sm
md
lg

อสีติมหาสาวก ตอนที่ ๓๒ กลุ่มพระชาวแคว้นโกศล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

งานสำคัญ

เป็นที่ทราบกันดีว่า พระอสีติมหาสาวกนั้นมีหน้าที่สำคัญในการช่วยพระพุทธเจ้าเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามกำลังความสามารถของแต่ละท่าน พระอสีติมหาสาวก ๑๖ รูปนี้ก็เช่นกัน แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานหมด ทุกรูป แต่ก็สันนิษฐานว่าทุกรูปได้พยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว

บรรดาพระอสีติมหาสาวก ๑๖ รูปนั้น พระอสีติมหาสาวกที่มีการบันทึกเรื่องราวการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ของท่านไว้มี ๕ รูป คือ พระปิลินทวัจฉะ พระสาคตะ พระกุมารกัสสปะ พระนันทกะ และพระสุภูติ

พระปิลินทวัจฉะ สอนธรรมแก่พวกเทวดาเป็นประจำหลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว เทวดาเหล่านั้นมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งมีความคุ้นเคยกับท่านมาตั้งแต่ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ด้วยกันในชาติหนึ่งในอดีต มี เรื่องเล่าว่า ในชาตินั้นท่านเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ ทรงธรรมสอนพสกนิกรให้มั่นคงอยู่ในศีล ๕ ครั้นตาย แล้ว พสกนิกรเหล่านั้นได้ไปบังเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ เมื่อท่านมาเกิดในชาตินี้ได้ออกบวชและบรรลุอรหัตผล เทวดาเหล่านั้นจำได้จึงมาหาด้วยความ คุ้นเคยและเลื่อมใสพร้อมทั้งได้ฟังธรรมจากท่านด้วย

พระสาคตะ แสดงปาฏิหาริย์ตามพระดำรัสของพระพุทธเจ้า มีเรื่องเล่าว่า คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ท่านทำหน้าที่ถวายการอุปัฏฐาก มีชาวเมืองแคว้นอังคะจำนวนมากมาที่ภูเขาคิชฌกูฏนั้น เพื่อขอเฝ้าพระพุทธเจ้า ท่านได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ด้วยการดำดินลงไปแล้วโผล่ขึ้นเบื้องพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าชาวเมืองแคว้นอังคะที่ยังไม่เลื่อมใสศรัทธาเริ่มน้อมใจศรัทธาในพระพุทธศาสนาแล้ว เพื่อเป็นการเพิ่มพูนศรัทธาของพวกเขาพระองค์จึงทรงรับสั่งให้ท่านแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ต่อไปอีกด้วยการเดิน ยืน นั่ง นอนในอากาศ ท่านแสดง ตามที่พระพุทธเจ้าทรงรับสั่งอย่างครบถ้วน และจบลงด้วยการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ที่ท่านชำนาญ คือ การทำให้เกิดควันไฟออกจากกายของท่าน

ชาวเมืองแคว้นอังคะเห็นแล้วต่างรู้สึกว่าพระสาวกยังมีความสามารถถึงเพียงนี้ แล้วพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาเล่าจักมีความสามารถเพียงไหน พระพุทธเจ้าทรง ตรวจดูวาระจิตของคนเหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา ครั้นทรง เห็นว่ามีจิตอ่อนโยนแล้วจึงทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ จนพวกเขาเข้าใจได้บรรลุโสดาปัตติผล

พระกุมารกัสสปะ แสดงธรรมโปรดพระเจ้าปายาสิ เจ้าผู้ครองนครเสตัพยะ จนคลายความเห็นผิดและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เดิมทีเดียวพระเจ้าปายาสิทรงเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นว่าโลกหน้าไม่มี เทวดาและสัตว์นรกไม่มี ผลกรรมดีกรรมชั่วไม่มี พระองค์ได้นำเรื่องนี้ไปสนทนากับพระกุมารกัสสปะ พระกุมารกัสสปะกล่าวอธิบายด้วยข้ออุปมาที่ลึกซึ้งจนทำให้พระองค์เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้ง ยอมละความเห็นผิด ประกาศตนนับถือพระรัตนตรัยและทำบุญต่างๆ อาทิ ถวายทานแก่พระในพระพุทธศาสนาและนักบวชนอกพระพุทธศาสนา รวมทั้งทรงสงเคราะห์คนยากจนด้วย

พระนันทกะ แสดงธรรมสอนภิกษุณี ๕๐๐ รูป จนได้บรรลุอรหัตผล ณ วัดราชการาม เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล มีเรื่องเล่าว่า คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ วัดเชตวัน พระนางมหาปชาบดีโคตมี ซึ่งออกบวชเป็นภิกษุณีแล้วได้พาภิกษุณี ๕๐๐ รูปเข้าเฝ้า เพื่อทูลขอให้ ทรงแสดงธรรมให้ฟัง พระพุทธเจ้าทรงเห็นเป็นโอกาสอันสมควร จึงทรงมอบให้พระสาวกรับภาระผลัดเปลี่ยน หมุนเวียนแสดงธรรมให้ภิกษุณีเหล่านั้นฟัง พระสาวกที่ได้รับมอบภาระนั้นมีพระนันทกะรวมอยู่ด้วย พระสาวกรูปอื่นๆ ต่างทำหน้าที่ด้วยดีเมื่อถึงวาระของตน แต่พระนันทกะกลับหลบหลีกไม่ยอมไปแสดงธรรม เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะท่านระลึกชาติได้ว่า ภิกษุณีเหล่านั้นชาติหนึ่งในอดีตเคยเป็นบาทบริจาริกาของท่าน จึงเกรงว่าเมื่อไปแสดงธรรมจะถูกพระสาวกรูปอื่นที่ระลึกชาติได้ตำหนิว่า ท่านยังมีความผูกพันอยู่กับภิกษุณีเหล่านั้น ด้วยเหตุดังว่ามานี้ท่านจึงหลบหลีกให้พระสาวกรูปอื่นไปแสดงธรรมแทนท่าน

ต่อมาพระพุทธเจ้าทรงทราบจึงทรงรับสั่งให้ท่านไป แสดงธรรมด้วยตนเองเมื่อถึงวาระ ทั้งนี้เพราะทรงทราบ ดีว่าภิกษุณีเหล่านั้นหวังจะได้ฟังธรรมจากพระนันทกะเป็นสำคัญ เนื่องจากมีความผูกพันมาแต่อดีตชาติดังกล่าวแล้ว ท่านไม่อาจขัดขืนพระดำรัสของพระพุทธเจ้าได้ วันรุ่งขึ้นจึงไปแสดงธรรมตามวาระที่มาถึง

ธรรมที่ท่านแสดงนั้นว่าด้วยเรื่องอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ และเวทนา ที่เกิดจากอายตนะภายในกับอายตนะภายนอกกระทบกัน พระนันทกะชี้ให้เห็นว่า สิ่งทั้งปวงนั้นต่างไม่เที่ยง มีความ ผันแปรและไม่มีตัวตนอันแท้จริงที่จะให้ยึดถือได้ จากนั้นจึงจบลงด้วยการแสดงโพชฌงค์ ๗ ให้ฟัง

วันแรก ภิกษุณีเหล่านั้นฟังแล้วยังไม่ได้บรรลุมรรคผลขั้นใดเลย ต่อมาวันที่ ๒ พระนันทกะแสดงธรรมเรื่องเดียวกันนี้ให้ฟังซ้ำอีก จึงได้บรรลุอรหัตผล เนื่องจากทำจิตให้สงบคลายความรักความผูกพันที่มีมาแต่อดีตชาติลงได้

พระสุภูติ แม้ว่าจะไม่ปรากฏเรื่องราวหลักธรรมที่ท่านสอน แต่ปฏิปทาของท่านที่ทำให้ผู้พบเห็นเกิดความ เลื่อมใสนั้น นับว่าเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทางหนึ่ง มีเรื่องเล่าว่า หลัวจากบรรลุอรหัตผลแล้วท่านได้จาริกไปตามเมืองต่างๆ ทั้งในแคว้นโกศลและนอกแคว้นโกศล คราวหนึ่งจาริกไปถึงแคว้นมคธเข้าไปในเมืองราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบข่าวว่าท่านมีปกติอยู่ด้วยอรณวิหารธรรม คือ เข้าฌานอยู่เป็นประจำ แม้เวลาบิณฑบาตก่อนจะรับบิณฑบาตที่บ้านใดก็จะเข้าฌานแผ่เมตตาให้แก่เจ้าของบ้านนั้นก่อน และบัดนี้ทรง ทราบว่าท่านเดินทางมาถึงแคว้นมคธแล้ว จึงเสด็จไปหาแล้วตรัสนิมนต์ให้ท่านอยู่จำพรรษาในแคว้นมคธ

พระสุภูติรับนิมนต์ แต่เนื่องจากพระเจ้าพิมพิสาร ทรงลืมรับสั่งให้จัดเสนาสนะให้ท่าน ท่านจึงอยู่ในที่กลางแจ้ง การที่ท่านอยู่ในที่กลางแจ้งนั้นมีผลทำให้ฝนไม่ตก ชาวเมืองที่เป็นชาวนาชาวไร่ต่างเดือดร้อนเพราะปลูกพืชผักไม่ได้ จึงไปเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร หลังจากทรงใคร่ครวญถึงสาเหตุแล้ว พระเจ้าพิมพิสารก็แน่พระทัยว่าฝนไม่ตกเพราะพระสุภูติอยู่ในที่กลางแจ้ง ทรงใคร่ครวญต่อไปถึงสาเหตุที่พระสุภูติต้องอยู่ในที่กลางแจ้งก็ทรงพบว่า เป็นเพราะพระองค์ไม่ได้จัดเสนาสนะถวายท่าน

ครั้นทรงทราบแน่ชัดอย่างนี้แล้ว พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงรับสั่งให้สร้างกุฏิใบไม้ถวาย และทันทีที่ท่านเข้า ไปภายในกุฏินั้นปรากฏว่าฝนตก ชาวเมืองพากันดีใจ ความเดือดร้อนที่เนื่องจากฝนแล้งก็ยุติลง

คราวสังคายนาครั้งที่ ๑ อันถือว่าเป็นงานสำคัญที่ช่วยกันรักษาพระธรรมวินัยให้คงอยู่และยั่งยืนสืบมา พระอสีติมหาสาวกชาวแคว้นโกศลก็มีส่วนร่วมด้วย ที่ปรากฏชื่อมี ๔ รูป คือ พระวังคีสะ พระกุมารกัสสปะ พระมหาโกฏฐิตะ และพระอุปวาณะ

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 80 ก.ค. 50 โดย ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ )
กำลังโหลดความคิดเห็น