มีคนเคยกล่าวไว้ว่า โลกมนุษย์นั้นแสนกว้างใหญ่ เพราะมีเรื่องราวมากมายในโลกที่เราไม่เคยพบเคยเห็น แต่ปัจจุบันเมื่อการสื่อสารเจริญก้าวหน้า ทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต ฯลฯ ก็ทำให้ผู้คนในโลกได้เรียนรู้สิ่งต่างๆที่อยู่ไกลออกไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้คนอีกมากมายที่ขาดโอกาสในการเรียนรู้ แต่นั่นมิได้หมายถึงการขาดโอกาสในการเป็นคนดี เป็นคนมีจิตสำนึก ที่ดีต่อแผ่นดินถิ่นอาศัย
มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ได้สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น นั่นคือเรื่อง ‘Mongolian ping pong’ หรือชื่อภาษาไทยว่า‘โลกของผมใหญ่กว่าลูกปิงปองนิดนึง’ ดูผิวเผิน หนังเรื่องนี้ก็เหมือนหนังเด็กเรื่องหนึ่งของจีน ที่มีทั้งเรื่องราวของการใช้ชีวิต ดราม่าผสมตลก ที่นอกจากจะเรียกรอย ยิ้มและความบันเทิงแล้ว ยังได้สอดแทรกเรื่องราว แง่คิดอันทรงคุณค่าแฝงไว้มากมาย สมกับรางวัลหนังคุณภาพจาก เทศกาลหนังโตเกียว ฟิล์มเม็กซ์ ซึ่งหนังเรื่องนี้เคยเข้าฉายในประเทศไทยเมื่อปี 2549 แต่จำกัดโรงฉายเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น จึงอาจจะมีแต่คนชอบดูหนังอย่างจริงจังที่มีโอกาสได้ ชม แต่ ณ เวลานี้ หนังเรื่องนี้มีขายแล้วตามร้านขายซีดีทั่วไป
‘โลกของผมใหญ่กว่าลูกปิงปองนิดนึง’ เป็นเรื่องราวของ เด็กชายคนหนึ่งชื่อ“บิลิเก” เป็นเด็กชาวมองโกล วัยแค่ 9 ขวบ ที่ใช้ชีวิตทั้งวันอยู่กับการเล่นบ้าง ขี่ม้าบ้างตามประสาเด็กที่อยู่ห่างไกลจากความเจริญ แต่ว่าชีวิตธรรมดาๆก็เริ่มไม่ธรรมดาขึ้น เมื่อวันหนึ่งบิลิเก ได้พบเจอกับลูกปิงปองสีขาว ที่ลอยมากลางแม่น้ำในหมู่บ้านที่แสนจะเวิ้งว้าง โดยบิลิเกเชื่อว่าลูกปิงปองสีขาวที่เห็นนั้นคือไข่มุกเรืองแสงที่เทพเจ้าส่งมาให้เขา และยิ่งเชื่อมั่นหนักเข้าไปอีกเมื่อยายของบิลิเกย้ำชัดว่า มันคือของขวัญจากเทพเจ้าที่ประทานมาให้บิลิเก
ตั้งแต่นั้นมา บิลิเกและลูกปิงปองสีขาว หรือไข่มุกเรืองแสงในความเข้าใจของเขา ก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้น และเขาก็เที่ยวเสาะหาว่ามันคือสิ่งใดกันแน่ จนกระทั่งวันหนึ่งมีทีมงานเต้นระบำจากในเมืองเข้ามาในหมู่บ้าน และสิ่งที่หิ้วติดมาแลกกับลูกแกะของบ้านบิลิเกก็คือโทรทัศน์ ซึ่งเป็นเครื่องแรกของหมู่บ้านนั้น และโทรทัศน์เครื่องนั้นเองที่ทำให้บิลิเกรู้ว่าลูกปิงปองสีขาวไม่ใช่ไข่มุกเรืองแสงอีกต่อไป แต่มันคือลูกปิงปอง ที่รายการทีวีทางโทรทัศน์ทิ้งท้ายไว้แต่เพียงว่ามันคือกีฬาประจำชาติของจีนนั่นเอง แต่บิลิเกกับเพื่อนๆกลับทึกทักว่ามันคือสมบัติชาติ ที่ตนและเพื่อนๆไม่อยากเก็บมันไว้กับตัว เพราะกลัวจะทำให้ชาติต้องเดือดร้อน
และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้บิลิเก เด็กน้อยที่ไม่อยากทำให้ชาติเดือดร้อน ต้องรีบเอาลูกปิงปองไปคืนที่ปักกิ่ง โดยเขา ตั้งใจจะขี่ม้าไปให้ถึง เขาเดินทางไปกับเพื่อนอีก 2 คน โดยที่ไม่รู้ว่าหนทางที่จะไปปักกิ่งนั้นมันแสนไกลเพียงไร แต่สุดท้ายก็ไปไม่ถึง เพราะเดินทางผิดเส้นทาง เพื่อนคนหนึ่งของบิลิเกเปลี่ยนใจกลับไปพาตำรวจมาช่วยบิลิเกกลับบ้าน
แล้วหนังก็มาจบลงที่ว่า วันหนึ่งพี่สาวของบิลิเกต้องไปเป็นนางรำในเมือง โดยที่บิลิเกเองก็ต้องเข้าไปเรียนหนังสือในเมืองเช่นกัน แล้วในโรงเรียนนั้นเองก็ทำให้เบลิเกรู้ว่าลูกปิงปองคืออะไร...
ภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามบอกเล่าถึงความรักชาติในอีกรูปแบบหนึ่ง ผ่านตัวละครที่เป็นเด็กวัย 9 ขวบที่ไม่รู้ว่าลูกปิงปองสีขาวที่ลอยมาคือลูกปิงปอง เนื่องจากอยู่ในสังคม
ห่างไกล ไม่รู้แม้แต่ว่ากีฬาประจำชาติคืออะไร จึงคิดว่าลูกปิงปองคือสมบัติของชาติ
ความน่ารัก ความซื่อ หรือความไม่รู้ของเด็กบ้านนอกคน หนึ่งที่ไม่ร่ำไม่รวย พอมีพอกินในสังคมชาวมองโกลที่อยู่ห่างไกลจากปักกิ่งที่มีความเจริญมากมาย แต่ความไม่รู้ของเด็กคนหนึ่ง แล้วแสดงออกถึงความจริงใจอย่างชัดเจน กังวลกับปัญหาบ้านเมืองที่จะตามมาว่าถ้าหากตนครอบครองสมบัติชาติไว้ เกรงว่าชาติจะต้องลำบาก จึงได้พยายาม หาทางที่จะนำไปคืนนั้น เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม (ไม่เหมือนผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้บริหารชาติบ้านเมืองเราหลายคนที่ฉลาดในการ พยายามจะกอบโกยสมบัติของชาติมาเป็นของตัวเอง)
แม้ว่าการคิดถึงชาติ และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลักในครั้งนี้ จะเกิดจากความไม่รู้ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าเยาวชนที่เป็นคนรุ่นใหม่ของชาติ เยาวชนที่จะนำพาประเทศชาติเดินหน้าต่อไปในอนาคตนั้น ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของส่วนรวม และมีความห่วงชาติบ้านเมือง ซึ่งเยาวชนแบบนี้บ้านเรากำลังต้องการมาก และยิ่งต้องเร่งปลูก ฝังให้ความสำนึกต่อส่วนรวมเกิดขึ้นให้มากที่สุด เพราะเรื่อง ของความไม่รู้สามารถหาความรู้เพิ่มเติมได้ แต่เรื่องจิตสำนึกในการรักชาติ รักส่วนรวมนั้นเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า และจำเป็นที่จะต้องได้รับการปลูกฝังอย่างจริงจังตั้งแต่วัยเยาว์
แม้ว่าในเรื่องบิลิเกจะเป็นเด็กที่ด้อยโอกาสในเรื่องของการศึกษา หรืออาจจะโลกแคบไปบ้างเพราะอยู่ห่างไกลแหล่งความรู้ แต่จริงๆแล้วเขาเพียง ‘ขาดความรู้’ แต่ไม่ ‘ขาดคุณธรรม’ ก็ถือว่าน่ายกย่องอย่างยิ่ง และในตอนท้ายเรื่องที่บิลิเกมีโอกาสได้เข้าไปศึกษาหาความรู้ในเมือง เพื่อเพิ่มปัญญาหรือหาแสงสว่างให้ตัวเอง ดังเช่นพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า ‘นัตถิ ปัญญาสมา อาภา-แสงสว่างเสมอด้วยปัญญา ไม่มี’
ส่วนใครที่ชอบทับถมตัวเองว่าโง่เขลา เบาปัญญา ไม่ฉลาด หรือฉลาดน้อย แท้ที่จริงแล้วการดับความโง่ หรือความไม่รู้เหล่านั้นเราดับได้ด้วย ‘ปัญญา’ แต่ใครที่ฉลาดมาก ไหวพริบดีมาก แต่ขาดการคิดถึงส่วนรวม วันๆนั่งนึกถึงแต่เรื่องผลประโยชน์ของตัวเอง ก็ควรระงับด้วย ‘ศีล’ แต่หากเราคิดถึงตัวเองแต่พอดี ช่วยส่วนรวมแต่พองาม อย่าให้เกินตัวหรือเพื่อเอาหน้า สังคมจะน่าอยู่ไม่น้อยทีเดียว
และถ้าหากวันนี้ได้ทำเพื่อตัวเองแล้ว ก็ลองเหลียวมองรอบข้างบ้างว่า เราจะช่วยเหลืออะไรแก่ใครได้บ้างในสังคมนี้...
(จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 80 ก.ค. 50 โดย ศุพัศจี)