หายใจเข้า ฉันตระหนักรู้ว่าฉันกำลังหายใจเข้า
หายใจออก ฉันยิ้ม ผ่อนคลายกายและใจของฉัน
บ่อยครั้งที่ชีวิตของเราว้าวุ่น และสับสน เหน็ดเหนื่อยกับการวิ่งไล่ตามและวิ่งหนีสิ่งต่างๆ ที่เป็นทั้งกิเลส ความอยาก ความทุกข์ และความกังวลนานัปการในการดำเนินชีวิต จนเราไม่มีเวลาดูแลสิ่งต่างๆ ไม่มีเวลาดูแลคนที่เรารัก ไม่มีเวลา แม้แต่ตระหนักถึงลมหายใจของตนเอง
ถ้อยคำง่ายๆ ข้างต้น คือบทหนึ่งในการเริ่มต้นวิถีแห่งการเจริญสติ ให้เกิดความ ตระหนักรู้ถึงลมหายใจเข้าออกของตนเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะนำไปสู่การมีสมาธิ ในทุกๆช่วงของการดำเนินชีวิต สร้างความสงบภายในใจ ลดกระแสความเร่งร้อนและรุนแรงของสังคมโลกปัจจุบัน ผู้กล่าวถ้อยคำสอนและนำการปฏิบัติอันเรียบง่ายนี้ เป็นพระภิกษุชาวเวียดนามที่ผู้คนรู้จักท่านในนาม ‘ติช นัท ฮันห์’
นอกจากองค์ทะไลลามะแล้ว ท่านติช นัท ฮันห์ เป็นภิกษุอีกรูปหนึ่ง ที่นิตยสาร ไทม์(Time Magazine)ยกย่องให้เป็น ‘Hero’ หรือผู้มีผลงานอันโดดเด่นและเป็น แรงบันดาลใจให้แก่คนทั้งโลก
พระไพศาล วิสาโล กล่าวถึงท่านติช นัท ฮันห์ ไว้ว่า
“คำสอนของท่านนำความสงบเย็นและหว่านความรักลงไปในจิตใจของผู้คนนับล้าน แต่น้อยคนจะตระหนักว่า ความสงบเย็นและความรักที่ออกมาจากหัวใจของท่านนั้น มิได้ก่อเกิดจากการนั่งภาวนาในป่าอันสงบสงัดเท่านั้น หากยังกลั่นออกมาจากความทุกข์ยากแสนสาหัสท่ามกลางเพลิงสงครามอันยาวนาน สงครามเวียดนามได้สังหารญาติมิตร ศิษย์ และเพื่อนร่วมชาติของท่านเป็นจำนวนมาก แต่กลับทำให้ท่านมั่นคงยิ่งขึ้นในเมตตากรุณา แม้กระทั่งกับผู้ปลิดชีวิตบุคคลที่ท่านรัก ท่ามกลางการตอบโต้ด้วยความอาฆาตพยาบาท ท่านเรียกร้องการให้อภัย ขณะเดียวกันก็อุทิศตนเพื่อนำสันติภาพกลับคืนมา ท่านเคยกล่าวถึงประเทศเวียดนามของท่านว่าเปรียบเสมือน ‘ดอกบัวกลางทะเลเพลิง’ ชีวิตของท่านจะว่าไปแล้วไม่ได้ผิดไปจากอุปมาดังกล่าวเลย”
• สังคมโลกดำรงอยู่ด้วยสันติภาพ
กว่า 30 ปีก่อน ขณะที่เวียดนามกำลังคุกรุ่นด้วยไฟสงคราม มีผู้ตั้งคำถามกับท่าน ติช นัท ฮันห์ ว่า ระหว่างพุทธศาสนากับสันติภาพ หากเลือกได้ ท่านจะเลือกอะไร
ท่านตอบว่า
“หากคุณต้องเลือกระหว่างพุทธศาสนากับสันติภาพ คุณต้องเลือกสันติภาพ เพราะหากคุณเลือกพุทธศาสนา แล้วละทิ้งสันติภาพ พุทธศาสนาย่อมรับไม่ได้ ยิ่งกว่านั้น พุทธศาสนามิใช่วัดหรือองค์กร พุทธศาสนาอยู่ในใจคุณ ถึงแม้คุณไม่มีวัดหรือพระสงฆ์ คุณก็ยังเป็นชาวพุทธในหัวใจและในชีวิตได้”
แนวคิดส่วนใหญ่ของชาวพุทธในเวียดนามขณะนั้นคือการทำทุกวิถีทางเพื่อต่อ ต้านคอมมิวนิสต์ แม้กระทั่งการสนับสนุนการทำสงครามระหว่างสหรัฐและรัฐบาลเวียดนามใต้ เพราะต่างเห็นว่า หากคอมมิวนิสต์เป็นฝ่ายชนะ ย่อมหมายถึงการสูญสิ้น พุทธศาสนา คำตอบของท่านติช นัท ฮันห์ จึงขัดแย้งกับความคิดของคนหมู่มาก
แม้จะได้รับการต่อต้านจากประชาชนและรัฐบาลในบ้านเกิดของท่านเอง แต่ติช นัท ฮันห์ ยังคงเชื่อมั่นว่า สงครามคือความเลวร้ายที่เป็นเหตุปัจจัยแห่งการทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่เพียงแต่การสูญเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์ หากยังผลักดันให้ผู้คนแสดง ด้านมืดที่สุดของจิตใจ หันมากระทำย่ำยีต่อกันอย่างไร้ความเมตตา ละทิ้งคุณธรรม จริยธรรมอย่างสิ้นเชิง นั่นหมายถึงความล่มสลายของมนุษยชาติในที่สุด
ท่านเชื่อว่าพุทธศาสนามีขึ้นเพื่อสันติสุขแห่งมวลมนุษย์ หากต้องเลือกระหว่างสันติภาพกับพุทธศาสนา ชาวพุทธสมควรเลือกสันติภาพ การสนับสนุนสงครามแม้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการคงอยู่ของศาสนา ย่อมมิใช่หนทางของพุทธศาสนาที่ปฏิเสธการ เบียดเบียนและเข่นฆ่าในทุกกรณี พุทธศาสนามิได้อยู่ที่พระ วัดวาอาราม หรือวัตถุมงคลใดๆ หากแต่สถิตอยู่ในจิตใจที่เป็นกุศล เปี่ยมด้วยเมตตา กรุณา โอบอ้อมอารี ต่อกัน ไม่ถูกครอบงำด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ความเกลียดชัง หรือความหวาดระแวง
ด้วยเหตุนี้ ติช นัท ฮันห์ จึงอุทิศชีวิตของท่านเพื่อนำสันติภาพกลับคืนสู่ชาวเวียดนามจนเป็นผลสำเร็จ การตั้งมั่นของท่านพิสูจน์ให้ชาวโลกได้ตระหนักว่า สันติภาพคือรากฐานแห่งการดำรงอยู่และการเจริญเติบโตของพุทธศาสนา
ในการปาฐกถาธรรมเนื่องในวันวิสาขบูชาโลกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือน พฤษภาคม 50 ที่ผ่านมา ท่านติช นัท ฮันห์ ยังคงกล่าวย้ำให้ทุกคนมีชีวิตอยู่ด้วยสติ ปัญญา เมตตา กรุณา อยู่กับปัจจุบันขณะ ฝึกฝนการฟังอย่างลึกซึ้ง รักษาศีล 5 บ่มเพาะหน่ออ่อนแห่งความรักความเมตตาในจิตใจ รื้อถอนรากเหง้าแห่งความรุนแรง คือ ความคิดความเห็นที่ผิดพลาด ด้วยการปฏิบัติเหล่านี้จึงจะสามารถแก้ปัญหาความรุนแรงในโลกได้
• พลังแห่งสติ พลังแห่งชีวิต
ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่ท่านต้องลี้ภัยเนื่องจากความไม่ไว้ใจของผู้นำคอมมิวนิสต์ฝ่ายเหนือและผู้นำฝ่ายใต้ ท่านได้ก่อตั้งชุมชนปฏิบัติธรรม ณ หมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส ทำให้ท่านได้รับฟังปัญหาของชาวตะวันตกจำนวนมากและได้ข้อสรุปว่า ประชาชนที่อยู่ดีกินดี อุดมด้วยวัตถุ เครื่องใช้ทันสมัยนานาชนิด กลับหาความสุขในชีวิตได้ยาก ครอบครัวไม่อบอุ่น ชีวิตคู่ประสบปัญหาหย่าร้าง
ท่านพบว่ามีผู้สนใจหันเข้ามาศึกษาวิธีการปฏิบัติธรรมและขอบวชกับท่านจำนวนมากขึ้นทุกที มีทั้งผู้ที่เปี่ยมด้วยวัยวุฒิ คุณวุฒิ รวมถึงคนหนุ่มสาวจากนานาชาติที่ เบื่อชีวิตในสังคม หันมาพึ่งร่มกาสาวพัสตร์ หวังขจัดปัญหาเรื่องความโดดเดี่ยวและชีวิตที่เศร้าเหงาในสังคมตะวันตก
คำตอบเรียบง่ายของท่านในการขจัดความทุกข์และสร้างความสุข คือการเจริญสติ
สติเป็นพลังแห่งความตระหนักรู้ และรู้สึกตัวทั่วพร้อมในปัจจุบันขณะ เป็นการเฝ้ามองอย่างลึกซึ้งในทุกขณะของชีวิตประจำวัน
การดำรงสติเป็นการดำรงชีวิตอยู่อย่างแท้จริง ดำรงอยู่กับปัจจุบันขณะ และกับทุกสิ่งที่รายล้อมเรา รวมทั้งกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เราสามารถโน้มนำกายและจิตให้ผสานอย่างสอดคล้อง ในทุกกิจกรรมที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร ล้างจาน ขับรถ หรืออาบน้ำยามเช้า
ชาวหมู่บ้านพลัมรวมทั้งผู้ปฏิบัติภาวนาตามแนวทางของติช นัท ฮันห์ ทั่วโลก ต่างเรียนรู้ที่จะทำกิจวัตรต่างๆ ด้วยลมหายใจแห่งสติ ด้วยการตระหนักรู้ ในทุกขณะ ฝึกสติทุกๆขณะ ตลอดทั้งวัน และไม่เพียงแต่ในห้องปฏิบัติเท่านั้น แต่ยังปฏิบัติในครัว ในห้องน้ำ ในห้องพัก และระหว่างทางเดินด้วย
การฝึกสติตามแนวทางของท่านติช นัท ฮันห์ ไม่จำเป็นต้องไปบังคับลมหายใจ เพียงแค่สัมผัสถึง ลมหายใจก็จะช้าลงและลึกขึ้น อย่างเป็นธรรมชาติ การตระหนัก
รู้ลมหายใจเข้าออกอย่างมีสติ เป็นกุญแจดอกสำคัญสู่การประสานกายและจิตให้เป็นหนึ่งเดียวและนำมาซึ่งพลังแห่งสติในทุกๆขณะของชีวิต
ผู้ที่ผ่านการฝึกสติล้วนพบว่า การฝึกสตินำมาซึ่งความเบิกบาน ผ่อนคลาย และมั่นคง เพียงแค่เราท่องจำว่า
หายใจเข้า ฉันรู้ว่าฉันหายใจเข้า
หายใจออก ฉันรู้ว่าฉันหายใจออก
ความลุ่มลึกแห่งถ้อยคำจากคำสอนของท่านติช นัท ฮันห์ เปรียบเสมือนยาขนาน วิเศษ ที่จะช่วยเยียวยาชีวิตอันยุ่งเหยิงในสังคมที่เต็มไปด้วยความทุกข์ ท่านยังบอกไว้ว่า มนุษย์มีเกราะกำบังที่จะสามารถปกป้องชีวิตจากการถูกความทุกข์ครอบงำได้ นั่นคือ หัวใจที่เปี่ยมไปด้วยสติและรอยยิ้มของมนุษย์เอง
• ศีล 5 สำหรับสังคมสมัยใหม่
พระไพศาล วิสาโล กล่าวว่า เสน่ห์แห่งคำสอนของท่านนัท ฮันห์ อยู่ที่การประยุกต์ธรรมให้สมสมัย โดยอิงอาศัยหลักไตรสิกขา กล่าวคือศีล สมาธิ ปัญญา แทนที่ศีล จะจำกัดอยู่แค่ศีล 5 ในขอบเขตแคบๆ อย่างที่เราคุ้นเคย ท่านได้ขยายศีล 5 ให้มีความหมายกว้างขึ้นเพื่อให้เหมาะกับสังคมสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อนแยบยลสูง จนผู้คนสามารถเบียดเบียนกันได้แม้จะไม่เห็นตัวกัน
ตัวอย่าง เช่น ศีลข้อที่ 1 อันได้แก่ปาณาติบาต ที่เราเข้าใจมาตลอดว่า คือการห้ามฆ่าสัตว์ ท่านได้ขยายความว่าหมายถึง “การตั้งจิตมั่นที่จะไม่ทำลายชีวิต ไม่ปล่อย ให้ผู้อื่นทำลายชีวิต รวมทั้งจะไม่ส่งเสริมการทำลายชีวิตใดๆ ในโลกนี้ โดยทั้งความ คิดและในทางการปฏิบัติ” ในแง่นี้การสนับสนุนนโยบาย ฆ่าตัดตอน ผู้ค้ายาเสพติด หรือการบริโภคที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมทารุณสัตว์ ตลอดจนการทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อมก็เท่ากับผิดศีลข้อที่ 1 ด้วย
ศีลข้อห้ามลักทรัพย์ ท่านยังรวมไปถึงการทุจริตคอร์รัปชั่น ความอยุติธรรมทาง สังคม ศีลข้อ 3 ห้ามประพฤติผิดในกามนั้น ท่านยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศของเด็ก อันเป็นปัญหาสังคมที่ก่อให้เกิดผลกระทบอันเป็นลูกโซ่ไม่มีสิ้นสุด ศีลข้อ 4 ก็มิได้หมายถึงการห้ามกล่าวเท็จแต่เพียงอย่างเดียว หากยังรวมไปถึงการตั้งสัตย์ปฏิญาณ ที่จะพูดแต่ความจริง และถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความหวัง เบิกบาน และไม่ควรกระพือข่าวที่ตนเองไม่รู้แน่ชัด ตลอดจนละเว้นวาจาที่จะก่อให้ เกิดความแตกแยก
ส่วนศีลข้อสุดท้าย มิได้หมายถึงข้อห้ามเพียงแค่ละเว้นสุราและเครื่องดื่มมึนเมาเท่านั้น หากยังขยายความไปถึงการบริโภคที่ไม่เหมาะสม ทั้งต่อร่างกายและจิตวิญญาณ ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นรายการโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือ ภาพยนตร์ และการสนทนา
วิถีชีวิตปัจจุบันนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ชีวิตและสังคมมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น การมองเห็นความผิดบาปหรือความเบียดเบียนที่มนุษย์สามารถกระทำต่อผู้อื่นนั้น เป็นไปได้ยากขึ้นตามลำดับ การที่ติช นัท ฮันห์ ได้ตีความศีล 5 ในพุทธ-ศาสนา ในลักษณาการที่คนร่วมสมัยเข้าใจได้ ย่อมมิใช่แค่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่รักษาศีลโดยลำพัง หากแต่ยังประโยชน์ให้แก่สังคมทั้งมวลอีกด้วย
• พุทธศาสนากับการเยียวยาการเมืองและธุรกิจ
ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในการประชุมชาวพุทธนานาชาติ ครั้งที่ 4 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ท่านติช นัท ฮันท์ ได้กล่าวปาฐกถา เรื่อง “พระพุทธศาสนากับธรรมาภิบาลและการพัฒนา” ความตอนหนึ่งท่านกล่าวถึงนักการเมืองและนักธุรกิจว่า
ชีวิตของนักการเมืองและนักธุรกิจ มีแต่ความเครียด ความทุกข์ ไม่มีเวลาที่จะใช้ชีวิตอย่างลึกซึ้งที่จะดูแลตนเองได้ และหลายครั้งที่เราใช้อำนาจในทางที่ผิด ใช้อำนาจ ในทางที่เสียหาย เราทุกคนมีอำนาจในตัวเอง ในฐานะที่เป็นครู เรามีอำนาจ ในฐานะที่เป็นคุณพ่อ เราก็มีอำนาจเหมือนกัน ถ้าเราใช้อำนาจในทางที่ผิด อำนาจนั้นก็ทำให้ คนอื่นมีความทุกข์ไปด้วย ทำให้ตนเองและคนรอบข้างมีความทุกข์ เนื่องจากการไม่รู้ วิธีการใช้อำนาจที่ถูกต้อง นอกจากนี้ เงินทอง ชื่อเสียง และอำนาจ ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เราตกอยู่ในห้วงทุกข์เช่นกัน
ทางออกในเรื่องนี้ คือ นักการเมือง นักธุรกิจ จะต้องฝึกเจริญธรรม เพื่อให้เกิดอำนาจทางจิตวิญญาณ 3 ประการ ได้แก่
หนึ่ง ใช้สติในการดำเนินชีวิต รู้จักละทิ้ง หรือตัดออก เพราะนักการเมืองหลายคนยังยึดติดกับความอยาก โดยเฉพาะเรื่องของกามารมณ์ บางครั้งทำให้เสียชื่อเสียง จนไม่สามารถอยู่บริหารงานทางการเมืองต่อไปได้
สอง ใช้ปัญญาเป็นฐานในการพัฒนาชีวิต ต้องรู้จักการเข้าถึงปัญญาด้วยการฟังอย่างลึกซึ้ง การมีปัญญาจะสามารถแปรเปลี่ยนความทุกข์ ความสิ้นหวังเป็นพลังสร้าง-สรรค์ได้
สาม เรียนรู้ที่จะใช้พลังแห่งความเมตตาและความรัก ต้องรู้จักการให้อภัย ยอม รับซึ่งกันและกัน เมื่อไม่มีความรักให้กันและกันจะนำมาซึ่งความโกรธ เกลียด และความทุกข์
การมีสติและฝึกปฏิบัติอยู่เสมอสามารถทำให้บ้าน ที่ทำงาน หรือพรรคการเมือง เปลี่ยนแปลงจากสถานที่บ่มเพาะความทุกข์ เป็นสถานที่แห่งความสุข และความกรุณา ได้
ท่านติช นัท ฮันห์ เห็นว่าพุทธศาสนามิอาจแยกจากชีวิตได้ การปฏิบัติธรรม มิได้ หมายถึงการปลีกตัวออกจากกิจวัตรประจำวัน หากควรผสานให้กลมกลืนกับทุกอิริยาบถ ไม่ว่าการกิน การดื่ม การทำงาน ล้วนเป็นโอกาสแห่งการเจริญสมาธิภาวนา ทั้งสิ้น พุทธศาสนาที่สัมพันธ์กับชีวิตและสังคมอย่างแนบแน่นดังกล่าว ท่านเรียกว่า “Engaged Buddhism” หรือ “พุทธศาสนาเพื่อสังคม” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
.........
เมื่อมองอย่างลึกซึ้ง การที่ผู้คนทั่วโลกยอมรับนับถือและลงมือปฏิบัติตามแนว คิดของท่านติช นัท ฮันห์ อาจเป็นเพราะความเรียบง่ายและเป็นธรรมชาติ อันเป็นวิถีทางของชีวิตแท้ๆ และสัจธรรมที่ว่า การก่อเกิดพลังอันยิ่งใหญ่ย่อมเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ ที่ธรรมดาสามัญ เช่น ลมหายใจ การเดิน และการเจริญสติ ที่นำไปสู่การ เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งสันติในใจ ไหลรินไปสู่ครอบครัว และงอกงามสู่สังคมโลก
ดังที่ท่านกล่าวไว้ในปาฐกถาธรรมเรื่อง “สู่สันติสมานฉันท์ : ความสุขอันเป็นหนึ่ง เดียวในครอบครัวและสังคม” ปาฐกถาธรรมครั้งแรกในเมืองไทยของท่าน เนื่องใน งานวันวิสาขบูชาโลก ปี 50 ว่า
“หากเธอไม่สามารถที่จะสันติกับตัวเองได้แล้ว เธอก็ไม่สามารถสันติกับผู้อื่นได้ เช่นกัน”
เส้นทางชีวิต ติช นัท ฮันห์
ติช นัท ฮันห์ เกิดใน พ.ศ.2469 ที่เมืองกวงสี ในตอนกลางของเวียดนาม ชื่อเดิมคือ เหงียน ซวน เบ๋า (Nguyen Xuan Bao) เมื่ออายุ 16 ปี ได้บรรพชา เป็นสามเณรที่วัดตื่อฮิ้ว ท่านได้รับมอบคู่มือเล่มเล็กๆ ตอนแรกของคู่มือคือ ‘การนำสารัตถะแห่งพระวินัยมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน’ เนื้อหากล่าวถึงอากัปกิริยาของพระฝึกหัด จะต้องเกิดพร้อมไปกับสัมมาสติ หรือการกำหนดรู้ในปัจจุบัน วัดเซนแห่งนี้ถือเป็นรากฐานสำคัญต่อชีวิตนักบวชของท่าน
พ.ศ.2492 ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่ออายุ 23 ปี ได้รับฉายาว่า ‘ติช นัท ฮันห์’ คำว่า ‘ติช’ ภาษาเวียดนามใช้เรียก พระ หมายถึง ‘เป็นผู้สืบทอดพุทธศาสนา’ ส่วน ‘นัท ฮันห์’ เป็นนามทางธรรม มีความหมายว่า ‘การกระทำเพียงหนึ่ง’ สานุศิษย์เรียกท่านว่า ‘ไถ่’ เป็นภาษาเวียดนามหมายถึง ‘ท่านอาจารย์’
หลังจากอุปสมบท ติช นัท ฮันห์ได้เดินทางไปไซง่อนเพื่อฟื้นฟูพุทธศาสนา ใน พ.ศ.2505 ท่านเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเนื่องจากได้รับการเสนอทุนการศึกษา ศาสนาเปรียบเทียบจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ปีถัดมาท่านได้รับทุนจาก มหา-วิทยาลัยโคลัมเบีย แต่ท่านตัดสินใจกลับเวียดนามเพื่อทำงานด้านความร่วมมือระหว่างพุทธศาสนานิกายมหายานและหินยาน และตั้งโรงเรียนยุวชนรับใช้สังคม ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานในระดับรากหญ้า เพื่อช่วยเหลือบูรณะหมู่บ้านที่ถูกทำลาย จากสงคราม จัดตั้งโรงเรียน สถานีอนามัย สหกรณ์การเกษตร เพื่อช่วยเหลือผู้ไร้ที่พึ่ง ท่านทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเพื่อก่อตั้งมหาวิทยาลัยด้านพุทธศาสนา สำนักพิมพ์ และนิตยสารด้านสันติภาพของนักกิจกรรมที่มีบทบาทสำคัญในประเทศเวียดนาม
การปลุกจิตสำนึกในการต่อสู้เพื่อสันติภาพและหยุดการสนับสนุนสงคราม ทำให้ท่านถูกต่อต้านจากรัฐบาล จนต้องลี้ภัยอย่างเป็นทางการไปพำนักใน ฝรั่งเศส และยังคงทำงานเพื่อสันติภาพและผู้ลี้ภัยอย่างต่อเนื่อง
พ.ศ.2525 ท่านได้ก่อตั้งหมู่บ้านพลัม (Plum Village) ขึ้นทางตะวันตกเฉียง ใต้ของฝรั่งเศส เพื่อเป็นแหล่งพักพิงของผู้ลี้ภัยก่อนเข้าสู่สังคมใหม่ ต่อมาได้กลาย เป็นชุมชนเพื่อการปฏิบัติสมาธิภาวนาของสมาชิกนักบวชจากทั่วโลก เป็นชุมชนแบบอย่างการปฏิบัติธรรมแห่งพุทธบริษัทสี่ ที่เน้นการเจริญสติในชีวิตประจำวันอย่างตระหนักรู้ในแต่ละลมหายใจเข้าออก และกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะ
พ.ศ.2548 สถานการณ์ทางการเมืองของเวียดนามเข้าสู่ภาวะปกติ ติช นัท ฮันห์ ได้เดินทางกลับบ้านเกิดของท่านอย่างเป็นทางการ หลังการจากไปเป็นเวลา ถึง 39 ปี และได้รับการต้อนรับจากประชาชนชาวเวียดนามอย่างอบอุ่น และพ.ศ.2550 ท่านก็ได้กลับไปเยือนเวียดนามเป็นครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 20 ก.พ.-9 พ.ค.
ติช นัท ฮันห์ได้เขียนหนังสือมากมายที่ผู้คนจำนวนมากใช้ศึกษาและพัฒนาชีวิต เช่น เธอคือศานติ : ลำนำแห่งลมหายใจและรอยยิ้ม (แปลโดย สันติสุข โสภณสิริ), เมตตาภาวนา : คำสอนว่าด้วยรัก (แปลโดย ธารา รินศานต์), คือเมฆสีขาว ทางก้าวเก่าแก่ : วรรณกรรมพุทธประวัติในทัศนะใหม่ เล่ม 1-2 (แปลโดย รสนา โตสิตระกูล และสันติสุข โสภณสิริ), เดิน : วิถีแห่งสติ (แปลโดย รสนา โตสิตระกูล), ปัจจุบันเป็นเวลาประเสริฐสุด (แปลโดย ส.ศิวรักษ์) เป็นต้น
ปัจจุบันท่านพำนักอยู่ที่หมู่บ้านพลัม และยังคงเดินทางบรรยายธรรมและนำการภาวนาเพื่อสร้างสันติในประเทศต่างๆ ชุมชนปฏิบัติธรรมแห่งหมู่บ้านพลัม มีทั้งสิ้น 12 แห่ง อยู่ในประเทศฝรั่งเศส อเมริกา เยอรมัน และเวียดนาม มีกลุ่ม ปฏิบัติธรรมตามแนวทางของท่านติช นัท ฮันห์ กระจายอยู่หลายประเทศทั่วโลก เกือบหนึ่งพันกลุ่ม
พุทธศาสนาในเวียดนาม
พุทธศาสนาในเวียดนามมีประวัติยาวนานกว่า 2,000 ปี พระพุทธศาสนา เข้ามาเผยแผ่ในประเทศเวียดนาม เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 7 ซึ่งขณะนั้น เวียดนามตกอยู่ในอำนาจของจีน โดยสันนิษฐานว่าท่านเมียวโป (Meou-Po) ได้เดินทางจากประเทศจีนเข้ามาเผยแผ่
ในยุคแรกๆ พระพุทธศาสนายังไม่เจริญรุ่งเรืองนัก กระทั่งเวียดนามกอบกู้เอกราชจากจีนได้สำเร็จ พระพุทธศาสนาจึงได้รับการฟื้นฟูอย่างจริงจัง และเจริญ รุ่งเรืองมาโดยลำดับ มีการจัดตั้งองค์การปกครองคณะสงฆ์ขึ้น กษัตริย์หลายพระองค์ของเวียดนามทรงเอาใจใส่และทำนุบำรุงพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก
ต่อมาในช่วง พ.ศ.1957-1974 เวียดนามได้ตกเป็นเมืองขึ้นของจีนอีก ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมลง และแม้ว่าจะได้เอกราชอีกครั้งในปี พ.ศ.1974 แต่สถานการณ์ของพุทธศาสนาก็ยังไม่ดีขึ้น
พ.ศ.2076 เวียดนามได้แตกแยกเป็น 2 อาณาจักร คือฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ ที่ทำสงครามกันตลอดเวลา 270 ปี ในช่วงนี้แต่ละอาณาจักรก็ได้มีการสร้างและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามมากมาย เพื่อสร้างศรัทธาแก่ผู้คน
พ.ศ.2426 เวียดนามได้ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส พุทธศาสนาจึงเริ่มเสื่อม โทรมลงอีกครั้ง มีการห้ามสร้างวัด จำกัดจำนวนพระสงฆ์ และตัดสิทธิของชาว พุทธมากมาย แต่ชาวพุทธก็พยายามต่อสู้เพื่อเอกราช กระทั่งศาสนาพุทธซึ่งดูเหมือนว่าจะสูญสิ้นแล้ว ก็กลับฟื้นขึ้นอีกครั้ง โดยในปี พ.ศ.2474 ได้มีการจัดตั้งสมาคมพุทธศาสนาขึ้นที่เมืองไซ่ง่อน เมืองเว้ และฮานอย เพื่อมุ่งเน้นด้านการ ศึกษา และสังคมสงเคราะห์ รวมทั้งได้มีการจัดพิมพ์วารสารของพระพุทธศาสนา และแปลคัมภีร์ต่างๆ ทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาท แต่การฟื้นฟูก็หยุดชะงักลง อีกครั้ง เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ.2482
ในปี พ.ศ.2492 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ก็เริ่มฟื้นฟูพุทธศาสนาต่อไป มีการตั้งกิจการบริหารคณะสงฆ์ขึ้นใหม่ รวมทั้งพุทธสมาคมสำหรับฆราวาสขึ้นด้วย
ในช่วงที่ฝรั่งเศสปกครองเวียดนามนั้น ได้แบ่งประเทศเวียตนาม เป็น 2 เขตคือเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ โดยเวียดนามเหนือปกครองในระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ส่วนเวียดนามใต้ปกครองในระบอบสาธารณรัฐ ซึ่งส่ง ผลให้เกิดวิกฤตการณ์กับพุทธศาสนามากมาย โดยเฉพาะในเวียดนามใต้ ที่ปกครองโดยรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีโง ดินห์เดียม ซึ่งนับถือคริสต์ และได้กดขี่ข่มเหงชาวพุทธ รวมทั้งกระทำย่ำยีต่อพุทธศาสนามากมาย กระทั่งพระสงฆ์กับชาวพุทธทนไม่ไหวได้รวมตัวกันต่อต้าน จนถึงขั้นพระติช กวางดึ๊ก เผาตัวเองจนมรณภาพ เพื่อเป็นการประท้วง จนเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก ในปี พ.ศ.2506
ต่อมาใน พ.ศ.2519 ได้มีการรวมเวียดนามทั้ง 2 เขตเข้าเป็นประเทศเดียว กันอีกครั้ง โดยใช้ชื่อว่า ‘สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม’ ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศเวียดนาม
ปี พ.ศ.2542 เป็นต้นมา พระติช ตริ ถู ได้รวบรวมชาวพุทธทุกนิกายและองค์กรต่างๆทั่วประเทศ จัดตั้ง ‘ชุมชนชาวพุทธแห่งเวียดนาม’ เพื่อร่วมฟื้นฟู พุทธศาสนาขึ้นอีกครั้งภายหลังการรวมชาติ ภายใต้คำขวัญว่า “ธรรมะ-ชาติ-สังคมนิยม” และร่วมกันเผยแผ่พุทธศาสนาเพื่อนำความสงบและสันติมาสู่โลก รวมทั้งได้จัดตั้งองค์กรระดับชาติ 5 องค์กร และได้มีการแปลและพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นภาษาเวียดนามด้วย
ทุกวันนี้ ภิกษุ ภิกษุณี สามเณร แม่ชี และสาวกพุทธบริษัททั้งหลาย อยู่ภาย ใต้การนำของชุมชนชาวพุทธแห่งเวียดนาม ที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการปฏิรูปและการเปลี่ยนแปลงของประเทศไปสู่สิ่งใหม่ๆ
ปัจจุบัน เวียดนามมีประชากรราว 82 ล้านคน ในจำนวนนี้ราว 92 เปอร์เซนต์นับถือพุทธศาสนา และผลจากการสำรวจของฝ่ายกิจการศาสนาของภาครัฐเวียดนาม ใน พ.ศ.2549 พบว่า
ใน พ.ศ.2548 เวียดนามมีภิกษุ ภิกษุณี และสามเณร 37,775 รูป แบ่งเป็น มหายาน 26,046 รูป เถรวาท 9,370 รูป นักพรต 2,359 รูป วัด มีศาสนสถานและสำนักแม่ชี 16,972 แห่ง ศูนย์ให้ความรู้ทางพุทธศาสนา 40 แห่ง แบ่งเป็น สถาบันพุทธศาสนา 3 แห่ง มีสามเณรศึกษารวม 1,141 รูป วิทยาลัยพุทธศาสนา 6 แห่ง มีสามเณรศึกษารวม 1,000 รูป ศูนย์อบรมพุทธศาสนาระดับกลาง 31 แห่ง มีสามเณรศึกษารวม 3,726 รูป มีนักศึกษาที่จบปริญญาตรีและปริญญาเอก ทางพุทธศาสนาในต่างประเทศ จำนวน 200 คน มีองค์กรการกุศล 1,076 องค์กร
และประเทศเวียดนามได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลกในปี พ.ศ.2551
(จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 80 ก.ค. 50 โดย นันท์ธนัตถ์ จิตประภัสสร)