xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมรวมงานพุทธศาสนา 'ศน.-พศ.'แก้ปัญหาความไม่เป็นเอกภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากการปฏิรูประบบราชการในปี พ.ศ. 2545 ทำให้หน่วยงานของรัฐที่ดูแลงานด้านศาสนาของประเทศคือกรมศาสนา ซึ่งสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ต้องย้ายไป สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ที่ตั้งขึ้นใหม่ ในขณะเดียวกันก็ได้มีการแยกงานที่เกี่ยวกับกิจการ พระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ ออกมาตั้งเป็นหน่วยงานใหม่ระดับกรม คือ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นหน่วยงานอิสระขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
แต่ด้วยเหตุผลลึกๆทางการเมืองในขณะนั้น ที่ไม่ต้องการให้ ‘กรมการศาสนา’ กลายเป็น ‘กรมการศาสนาอื่นๆ’ จึงได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของกรมการศาสนา(ศน.)ให้รับผิดชอบงานพระพุทธศาสนาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเผยแผ่และกิจกรรมสำหรับประชาชนทั่วไปและงาน ศาสนาอื่นๆ ส่วนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)รับผิดชอบงานพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับกิจการคณะสงฆ์
การแบ่งหน่วยงานและอำนาจหน้าที่ดังที่กล่าวมานั้น ได้ก่อให้เกิดปัญหามากมาย อันเนื่องมาจากความสันสนเกี่ยวกับความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน การซ้ำซ้อนของงานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา การประสานงานระหว่างหน่วยงานทั้งสองซึ่งอยู่คนละสังกัด ที่ส่งผลในทางปฏิบัติมากมาย รวมทั้งพระสงฆ์และประชาชนที่มาติดต่อก็เกิดความสับสนว่าจะต้องติดต่อหน่วยงานใดกันแน่
แม้ว่าต่อมาจะได้มีการแบ่งแยกหน้าที่ให้ชัดเจนขึ้น โดยกรมการศาสนารับผิดชอบภารกิจ ของรัฐในการอุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทำหน้าที่สนองงานคณะสงฆ์เป็นหลัก ส่วนงานด้านเผยแผ่หลักธรรมและงานศึกษาสงเคราะห์ให้เป็นภารกิจร่วมกันของทั้งสองหน่วยงาน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่างๆดังกล่าวก็มิได้หมดสิ้นไป ทำให้การขับเคลื่อนงานพระพุทธศาสนาไม่สอดคล้องอย่างเป็นเอกภาพ แต่เป็นไปในสภาพต่างคนต่างคิดต่างคนต่างทำ
ด้วยปัญหาต่างๆที่สะสมมาเกือบ 5 ปีนั้น ทำให้ล่าสุด รศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ทำหนังสือที่ นร 0411 (ลต.2)/3995ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2550 ถึงนายชัยอนันต์ สมุทวณิช ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (อ.ก.พ.ร.)เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนและปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการที่รับผิดชอบกิจการด้านพระพุทธศาสนาให้มีความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการ ทั้งนี้เพราะการปฏิรูประบบราชการเมื่อปี 45 ทำให้การบริหารกิจการพระพุทธศาสนา ถูกกำหนดให้เป็นภารกิจของสองหน่วยงานระดับกรม คือกรมการศาสนา สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้ไม่สามารถกำกับและขับเคลื่อนงานด้านพระพุทธศาสนาได้อย่างมีเอกภาพและประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในระยะยาว
ในหนังสือดังกล่าว รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งด้วยว่าได้รับฟังความเห็น และข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) และพระเถรานุเถระที่บริหารกิจการคณะสงฆ์แล้ว เห็นควรรวมงานด้านพระพุทธศาสนาไว้ที่เดียวกัน เพื่อขจัดความซ้ำซ้อน และความสับสนดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
ขณะที่นางจุฬารัตน์ บุณยากร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เปิดเผยว่า จริงๆแล้วเป็นเรื่องที่ควรปรับปรุงมานานแล้วตั้งแต่มีการแยกภารกิจออกมาเป็นสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เมื่อปี 45 เพราะเมื่อขับเคลื่อนงานไปได้ 1 ปีก็เริ่มทราบปัญหาแล้ว ว่ามันซ้ำซ้อนกันอย่างไร แต่ก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม
ส่วนการยุบรวมนั้น ขณะนี้ก็ยังไม่ชัดเจน แต่ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะต้องดูภารกิจของงานที่ซ้ำซ้อนกัน และนำงานที่ซ้ำซ้อนกัน เช่น งานใดที่เป็นของพุทธศาสนาแท้ๆ ก็ควรที่จะต้องมาอยู่ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ซึ่งในเรื่องนี้ รศ.ธีรภัทธ์ เสรีรังสรรค์รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลงาน พศ.ได้มีหนังสือแจ้งมาที่ พศ.ว่าให้ขับเคลื่อนในเรื่องนี้ ประกอบกับเมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา รองนายกฯได้มามอบนโยบาย ให้พศ. โดยหนึ่งในนโยบายนั้นก็คือการปรับปรุงแบ่งส่วนราชการของพศ.ให้สอดรับกับภารกิจที่เพิ่มขึ้นมากมาย
“เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ พศ.ก็ต้องขับเคลื่อนนโยบายของรัฐมนตรีสู่การปฏิบัติ ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีการระดมสมองตั้งคณะกรรมการภายในของสำนักพุทธ เพื่อพิจารณาเรื่องการแบ่งส่วนราชการตามภารกิจ และคงต้องสอดรับกับหนังสือสั่งการของท่านรัฐมนตรีธีรภัทร์ที่ให้พิจารณาว่างานใดที่จะมารวมกันได้ และงานที่ซ้ำซ้อนกัน ซึ่งเรื่องนี้ต้องเร่งดำเนินการ และคงใช้เวลาไม่นาน” ผอ.พศ.กล่าว
ทางด้านคุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งดูแลกรมการศาสนา ให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้มีการหารือกันมาก่อน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมาหารือกับกระทรวงวัฒนธรรม ถึงการปรับโครงสร้าง ว่าจะดำเนินการร่วมกันอย่างไร และควรจะดำเนินการไปในทิศทางใด เพราะจะต้องทำการศึกษาข้อดีข้อเสีย ว่าส่งผลกระทบในเรื่องใดบ้าง เนื่องจากการทำงานของกรมศาสนาต้องประสานงานให้ครบทั้ง 5 ศาสนา ได้แก่ พุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์-ฮินดู และซิกข์ ถ้าแยกศาสนาพุทธออกจากกรมศาสนาแล้ว จะทำให้เกิดปัญหาการประสานงานระหว่างกันหรือไม่
“ควรมีการตั้งคณะทำงานศึกษาในเรื่องดังกล่าว และต้องมีคณะทำงานจากกระทรวงวัฒนธรรมเข้าไปมีส่วนร่วมคิดร่วมทำด้วย” คุณหญิงไขศรี กล่าว
ส่วนนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยในยามที่บ้านเมืองต้องการความสมานฉันท์ เพราะหากดึงงานไป ก็จะเห็นถึงการแบ่งแยกในศาสนา ต่างๆ และการรวมหน่วยงานใดก็ตาม ต้องมีการศึกษาข้อดีข้อเสีย มีการหารือกัน และขณะนี้กรมการศาสนาก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร และมีผลงานที่ดี งานที่ออกมาก็ชัดเจนตามที่ระบุในภารกิจ
สำหรับนายปรีชา กันธิยะ อธิบดีกรมการศาสนา มองว่าจริงๆแล้วตนไม่เห็นด้วยที่งานศาสนาแยกกันอยู่ เพราะทำให้การทำงานบางครั้งเกิดการติดขัด แต่การจะดึงงานบางส่วนออก ไปรวมกันอย่างเด็ดขาดเลยนั้น ตนไม่เห็นด้วย เพราะหากกรมการศาสนาดูแลเฉพาะศาสนา อื่นๆก็อาจจะทำให้เกิดการแตกแยกระหว่างศาสนา เพราะการสั่งการของสององค์กรคือกรมการศาสนากับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินั้นต่างกัน จะเกิดปัญหาตามมาว่าทำไมศาสนานั้นได้ ศาสนานี้ไม่ได้ และการมีผู้บังคับบัญชาคนละคนกัน ก็ทำให้มีนโยบายที่แตกต่างกัน
“การรวมกันนั้นอาจจะเอาทั้งกรมการศาสนาไปรวมกับสำนักพุทธแล้วตั้งเป็นทบวงก็ได้ หรือจะเอาสำนักพุทธมารวมกับกระทรวงวัฒนธรรม อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีเดียวกันก็ดี”
อธิบดีกรมการศาสนาเปิดเผยด้วยว่า ก่อนหน้านี้ ศน.กับ พศ. มีความเห็นร่วมกันว่า การ บริหารประเทศโดยเอาเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง สุดท้ายแล้วเกิดปัญหาขึ้นมา คือความล่มสลายทางคุณธรรมจริยธรรม เพราะฉะนั้นต่อไปการพัฒนาประเทศต้องเอาศาสนาเป็นตัวตั้ง เมื่อเอาศาสนาเป็นตัวตั้ง ก็ต้องมามององค์กรศาสนาที่จะเป็นผู้ขับเคลื่อนนั้นว่ามันอ่อนล้า เพราะถูกจับแยก และผู้คนก็น้อย งบประมาณก็น้อย เพราะฉะนั้นทั้งสององค์กรน่าจะผนึกกำลังร่วมกัน
........
คงต้องติดตามกันต่อไปว่า การรวมงานพระพุทธศาสนาของสององค์กรในครั้งนี้ จะสำเร็จ ตามวัตถุประสงค์หรือไม่ และจะออกมาในรูปลักษณ์ใด แต่ที่สำคัญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ควรจะร่วมกันระดมความคิด ศึกษาผลดีผลเสียกันอย่างรอบคอบที่สุด เพื่อให้เกิดผลกระทบในการปฏิบัติงานน้อยที่สุด และเกิดผลดีกับพระพุทธศาสนามากที่สุด
เพราะปัญหาที่เกิดจากการไม่ศึกษาให้ถ่องแท้ในการแบ่งแยกกรมการศาสนาในครั้งก่อนนั้น ได้ส่งผลให้เป็นที่ประจักษ์แล้ว


(จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 80 ก.ค. 50 โดยปริวรรต)

กำลังโหลดความคิดเห็น