xs
xsm
sm
md
lg

บันทึกไว้ในหัวใจ The Village Album หัวใจที่เต็มไปด้วยความสุขในความพอเพียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลายคนก็คงคุ้นหู และคุ้นเคยกับคำว่า ‘พอเพียง’ อยู่ไม่น้อยตามพระราชดำรัสของในหลวงของเรา หากแต่ความเป็นจริง เราได้ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง มากน้อยแค่ไหน มีเพียงเราเท่านั้นที่ทราบดี ภายใต้สังคมทุนนิยม สังคมแห่งเทคโนโลยี มือถือ ออนไลน์ ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกใบนี้ก็ยังคงต้องการความก้าวหน้าที่ไม่หยุดยั้ง จนบางครั้งแอบหลงลืมธรรมชาติ และความพอดีในการใช้ชีวิตไปไม่น้อย

คล้ายๆ กับหนังญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งที่ออกฉายเมื่อปลายปี พ.ศ.2549 ในบ้านเรา ซึ่งเอ่ยชื่อไปแล้ว น้อยคนนักที่จะรู้จัก หรือคุ้นเคยกับหนังเรื่องนี้ เพราะเท่าที่จำได้ หนังเรื่องนี้เข้าฉายแค่ 2 โรงเท่านั้น สาเหตุที่เป็นอย่างนั้นก็คือหนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังตลาดทั่วๆไป แต่เป็นหนังที่ลึกซึ้งกินใจ มีชื่อในภาษาไทยว่า ‘บันทึกไว้ในหัวใจ’ หรือ The village album ภาพยนตร์ชั้นเยี่ยมจากญี่ปุ่น เจ้าของรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากการประกวดที่เวทีภาพยนตร์นานาชาติที่เซี่ยงไฮ้ และแม้แต่เวทีภาพยนต์นานาชาติในบ้านเรา หนังเรื่องนี้ก็เคยสร้างความซาบซึ้งตรึงใจ มาแล้ว เป็นงานกำกับของ ‘มิตสุฮโระ มิฮาระ’ ผู้กำกับวัย 43 ปี ที่เลือกดำเนินเรื่องแบบเรียบง่าย แต่ได้ข้อคิดมหาศาล

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของหมู่บ้านฮานาตานิ ที่ชาวบ้านอาศัยอยู่กันมาหลายชั่วอายุคน แต่หมู่บ้านนี้กำลังจะกลายเป็นเพียงความทรงจำที่ดีเท่านั้น เมื่อทางการญี่ปุ่นจะทำฝายกั้นเขื่อน ชาวบ้านจึงจำต้องออกไปจากหมู่บ้าน ชาวบ้านก็เลยตกลงกันว่าอยากให้ ‘เคนอิจิ’ ซึ่งเป็นช่างภาพเก่าแก่ในหมู่บ้านถ่ายรูปชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านเพื่อจัดทำอัลบั้มไว้เป็นที่ระลึก ในช่วงเวลานั้นเอง ‘ทากาชิ’ ลูกชายของเคนอิจิ ซึ่งไม่ได้ถูกกับพ่อนัก เพราะพ่ออยากให้เขามีครอบครัวและทำงาน อยู่ในหมู่บ้าน แต่ทากาชิไม่อยากอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆแห่งนี้ ดังนั้น เขาจึงหนีพ่อไปกรุงโตเกียว เมืองหลวงใหญ่ ซึ่งเต็มไปด้วยแสงสีที่หนุ่มบ้านนอกอย่างทากาชิใฝ่ฝันจะได้ไปใช้ชีวิต เขาไปทำงานเป็น ผู้ช่วยช่างภาพ เพราะฝันอยากจะเป็นช่างภาพที่มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่แล้วก็ไม่ประสบความสำเร็จดังที่หวัง เขาจึงไม่อยากกลับบ้าน เพราะอับอายผู้คนในหมู่บ้าน แต่เขาก็จำเป็นต้องกลับมาบ้านชั่วคราวเพราะแม่เสียชีวิต ช่วงนี้เองพ่อจึงให้มาช่วยถ่ายรูปคนทั้งหมู่บ้าน เพื่อทำอัลบั้มรูปเป็นที่ระลึก ก่อนที่หมู่บ้านจะกลายเป็นแค่ ความทรงจำ

ทุกวันทากาชิต้องเดินตามพ่อถ่ายรูปชาวบ้านแต่ละครอบครัวเพราะพ่อเชื่อว่าการเดินเป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่งของคนญี่ปุ่น ที่เชื่อว่าเป็นการชำระร่างกายก่อนที่จะไปถึงสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ แม้ว่าทากาชิจะไม่เห็นด้วยกับการเดินและเคยแนะนำให้พ่อใช้รถ แต่ก็มีอันต้องถกเถียงกันตลอด

ความชราทำให้ร่างกายเคนอิจิโหมงานหนักไม่ค่อยไหว แต่เขาก็ยังฝืนทำต่อ ความใกล้ชิดของสองพ่อลูกในการทำงาน ทำให้ลูกชายอย่างทากาชิ เห็นการทำงานที่แตกต่างของพ่อขึ้นมาบ้าง ขณะที่ผู้เป็นพ่อคิดว่าการทำงานไม่ใช่แค่มุ่งความสำเร็จอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องใส่ใจในรายละเอียดต่างๆด้วย การเดินถ่ายภาพอาจทำให้ล่าช้าไป บ้าง แต่ก็ทำให้ได้เห็นธรรมชาติ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในหมู่บ้าน ดังนั้นเคนอิจิจึงสามารถถ่ายทอดภาพออกมาได้อย่างมีชีวิตชีวาไม่น้อยทีเดียว

วันหนึ่งเคนอิจิล้มป่วย ทากาชิต้องออกไปถ่ายรูปคนในหมู่บ้านเพียงลำพัง แต่รูป ที่เขานำกลับมาล้างนั้นใช้ไม่ได้ สุดท้ายเคนอิจิผู้เป็นพ่อก็เดินทางมาถ่ายซ้ำอีกครั้ง ทำให้ลูกชายได้รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วเทคนิคการถ่ายภาพของพ่อ คือการทำงานด้วยหัวใจ ที่ใส่ใจกับรายละเอียดทุกขั้นตอน ภาพที่ออกมาจึงสวยสดงดงาม และคุ้มค่ายิ่งนัก

สุดท้ายอัลบั้มภาพถ่ายเรื่องราวของหมู่บ้านก็เสร็จสิ้นลงอย่างงดงาม พร้อมๆกับการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของเคนอิจิ ซึ่งภาพสุดท้ายที่ทากาชิถ่ายให้พ่อคือภาพครอบครัวของตนนั่นเอง

หนังเรื่องนี้ดำเนินเรื่องแบบเรียบง่าย สอดแทรกความอบอุ่นและความ ‘พอเพียง’ ที่พ่อคนหนึ่งจะมีให้กับลูกๆได้ ขณะเดียวกันหนังยังสื่อให้เห็นความเป็นธรรมชาติของชีวิตที่ติดดิน แต่อิ่มสุข ของคนในหมู่บ้านฮานาตานิ ความเอื้ออาทร ความมีน้ำใจ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันของผู้คน รวมทั้งความงดงามทางธรรมชาติ และงดงามในความพอเพียงที่เมืองหลวงอย่างโตเกียวไม่เคยมี พร้อมกับชี้ให้เห็นว่าไม่จำเป็นเสมอไปว่า การเข้าไปอยู่ในเมืองใหญ่จะทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จ แต่การใส่ใจกับรายละเอียด
ในสิ่งที่ทำต่างหากที่ทำให้หน้าที่การงานลุล่วงไปได้

ดูหนังเรื่องนี้แล้วทำให้นึกถึงพ่อหลวงของปวงชนชาวไทย ที่ได้ทรงเสียสละตราก-ตรำพระวรกายทรงงานเพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์ อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย เป็นเวลากว่า 60 ปี มีพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในหลายครั้งหลายคราที่ได้ตรัสถึงเรื่องความพอเพียง ดังเช่นพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ความว่า

“...คำว่าพอเพียงมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง มีความหมายกว้างออกไปอีก ไม่ได้หมายถึงการมีพอสำหรับใช้เองเท่านั้น แต่มีความหมายว่าพอมีพอกิน...

...พอมีพอกินนี้ก็แปลว่าเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนพอมีพอกิน ก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี...

...สมัยก่อนนี้พอมีพอกิน มาสมัยนี้ชักจะไม่พอมีพอกิน จึงต้องมีนโยบายที่จะทำเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อที่จะให้ทุกคนมีพอเพียงได้ ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกิน มีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้ มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ อันนี้ก็ความหมายอีกอย่างของเศรษฐกิจ หรือระบบพอเพียง

...คนเราถ้าพอในความต้องการก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียด เบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอ ประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง...”


(จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 78 พ.ค. 50 โดย ศุพัศจี)





กำลังโหลดความคิดเห็น