หากว่าปืนและบ่วงบาศเป็นสัญลักษณ์ของหนุ่มคาวบอยอเมริกันแล้ว สัญลักษณ์ของชายไทยใน อดีตก็ไม่แคล้วเจ้าไม้ที่ถูกเรียกขานกันว่า “ตะพด” ซึ่งคนไทยเรารู้จักและใช้งานมันมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว แต่ช่วงที่ นิยมเล่นจริงๆ นั้นอยู่ในสมัยของรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นยุคที่ไม้ประจำตัวลูกผู้ชาย ไทยอย่างไม้ตะพด ได้กลายเป็นการเล่น เพื่อ ‘แฟชั่น’ กันอย่างแพร่หลาย
สำหรับรูปร่างหน้าตาของไม้ตะพดนั้น หลายคนเข้าใจและสับสนระหว่าง ‘ไม้เท้า’ กับ ‘ไม้ตะพด’ ด้วยความที่หน้าตาและความยาวคล้ายคลึงกัน แต่ในความ เป็นจริงแล้วจุดประสงค์ของไม้เท้านั้นทางการแพทย์ถือเป็นอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ชนิดหนึ่งเพื่อช่วยในการเดินของผู้ป่วย ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจน เดินไม่สะดวก ซึ่งปกติจะมีขาเดียวสำหรับช่วยการทรงตัว ถ้าเป็น 3 - 4 ขามีไว้สำหรับคนที่การทรงตัวยังมีปัญหา เป็นต้น
ส่วน‘ไม้ตะพด’ นั้นน่าจะอยู่ในกลุ่ม ของ ‘ไม้ถือ’ มากกว่า เพราะประโยชน์ใช้สอยของไม้ตะพดนั้นจะเป็นไปใน รูปแบบของการถือติดมือเมื่อลงจากเรือน ของชายไทยสมัยโบราณ ส่วนข้อต่างระหว่างตะพดกับไม้เท้าที่เห็นชัดเจนก็คือ ความยาว ซึ่งไม้เท้าจะยาวกว่าไม้ตะพด เพราะจุดประสงค์ของไม้เท้านั้นมีไว้เพื่อ พยุงตัวรับน้ำหนักนั่นเอง
ใครที่เคยไปนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรี ก็จะคุ้นตากับไม้ตะพดที่เป็นของฝากอันขึ้นชื่อของสถานที่แห่งนี้ โดยนักท่องเที่ยวนิยมซื้อติดมือกลับมาให้ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงทางบ้านเสมอ และเชื่อกันว่าผู้ที่ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทจะต้องไปตีระฆังให้มีเสียงดังกังวาน เพื่อให้ได้ยินไปถึงสวรรค์ชั้นเบื้องบน ซึ่งก็จะใช้ไม้ตะพดนี้ตีระฆัง หรือหากเป็นผู้สูงอายุก็ได้ใช้ตะพดช่วยประคองกายขึ้น-ลงบันไดได้ด้วย
ที่มาของคำว่า ‘ตะพด’ นั้น ผู้นิยมตะพดหลายท่านอนุมานว่าน่าจะมาจากพันธุ์ของไม้ไผ่พันธุ์หนึ่งที่มีข้อสั้นแน่น เนื้อแข็ง และเป็นไม้ชนิดหนึ่งที่นิยมนำมา ทำเป็นไม้ตะพด ส่วนไม้อื่นๆนั้นที่นิยมนำมากลึงเป็นไม้ตะพดก็ได้แก่ ไม้รวก ไม้มะเกลือ ไม้ไผ่บางพันธุ์ (ตรงนี้มีภูมิปัญญาเก่าแก่ของไทยกล่าวไว้ว่า หากผู้ทำไม้ตะพดไปเห็นไม้ไผ่ใดมีลักษณะเหมาะแก่การนำมากลึงแล้ว จะเลี้ยงไผ่นั้นด้วยการรดน้ำซาวข้าว ไม้ก็จะออกมาสวยงามเป็นมัน) อาทิ ไม้ไผ่เปร็ง อันเป็นไม้ไผ่มีเนื้อแน่นตัน
แต่สำหรับไม้ตะพดของพระพุทธบาทสระบุรีนั้นจะมีเอกลักษณ์ในการทำคือ ทำจากแขนงไม้รวก ซึ่งชาวบ้านคัดเลือก ขนาดที่เท่าๆกัน มาตัดแต่งรากไม้ให้มีรูปทรงต่างๆ เป็นส่วนหัวของไม้ตะพด จากนั้นนำไม้รวกที่ตัดคัดแต่งแล้วนี้ไปตากแดดจนแห้ง แล้วนำเส้นลวดเลือกขนาดพอเหมาะพันรอบนำไปลนไฟ ส่วนที่มีลวดร้อนพันอยู่จะเกิดรอยไหม้ ส่วนที่ว่างเว้นอยู่จะมีสีเหลืองนวล เกิดเป็นลวดลายต่างๆ ล้วนสวยงามเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร
วิธีการทำตัวไม้ตะพดโดยทั่วไปนั้นเริ่มจากเลือกไม้ที่เหมาะแก่ใจ เนื้อแน่น แก่จัด เพราะจะให้น้ำหนักดี ถ่วงมือ ไม่เบาจนเกินไป สมัยโบราณจะใช้กรรมวิธี ทำมือทุกกระบวนการตั้งแต่ลนไฟอ่อนๆ จนลำไม้ตรงตามต้องการ แล้วใช้กาบมะพร้าวชุบทรายละเอียดเคล้ากับขี้เถ้าและน้ำ ขัดถูไม้ตะพดจนสะอาดหมดจด และผิวเกลี้ยงเรียบ แล้วล้างด้วยน้ำอีกครั้งเป็นอันเสร็จการขัดผิวไม้
ส่วนเด่นของตะพดนั้นนอกจากจะเป็นรูปทรงของตัวไม้ที่เกลากลึงได้สัดส่วนงดงามแล้ว ที่ช่างไม้ตะพดนิยมตกแต่งให้เกิดความหลากหลายตามแต่ความชอบและจินตนาการของแต่ละคนนั้นก็คือ ‘หัวตะพด’ โดยมีหลายหลากมาก
แบบ ทั้งแบบที่คลาสสิกที่นิยมตลอด กาลจนกลายมาเป็นแฟชั่นของนักสะสม เช่น หัวเงิน หัวทองเหลือง หรือที่แปลกๆ ก็อย่างหัวงาช้าง หัวกระดูกสัตว์ หัวแก้ว เป็นต้น
ทรงของหัวก็มีแตกต่างกันไป เช่นหัวตุ้มใหญ่ ตุ้มเล็ก หัวไม้เท้า หัวขอสับที่มีลักษณะคล้ายขอช้าง หัวลูกจันทน์ หัวรูปสัตว์ เช่นช้าง สิงโต เป็นต้น หรือหัวที่บรรดาทหารหรือตำรวจในยุคก่อนชอบถือเช่นหัวที่ทำมาจากกระสุนปืน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี ‘หัวเหรียญ’ ที่นิยมทำเหรียญเงิน ตะกั่ว หรือทองเหลือง ขึ้นมาแล้วประดับไว้ที่หัวไม้ตะพด โดยมากแล้วเหรียญที่นิยมมากในหมู่ ‘นักเลงหัวไม้’ เหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นเหรียญ
รัชกาลที่ 5
สำหรับคำว่า ‘นักเลงหัวไม้’ ในที่นี้นั้น มิใช่คำที่หมายความถึงผู้ที่ดำรง ตนเป็นคนเกกมะเหรกเกเร หากแต่คำว่า‘นักเลง’ ในสมัยก่อนนั้น มีความหมายไปในเชิงของ‘คนจริง’ หรือผู้ที่เอาจริงเอาจัง เช่น นักเลงพระ, นักเลงต้นไม้, นักเลงปืน เป็นต้น อาจจะเข้าทำนองคำว่า ‘เซียน’ ในยุคนี้ที่เอามาใช้แปลว่าผู้เชี่ยว ชาญในเรื่องนั้นๆ ดังนั้นคำว่า ‘นักเลงหัวไม้’ น่าจะพออนุมานได้ว่า เป็นคำที่หมายถึงลูกผู้ชายที่นิยมไม้จำพวกตะพด คมแฝก หรือติ้วก็เป็นได้ เนื่องจากการใช้ อาวุธตระกูลกระบองเหล่านี้ ผู้ตีจะใช้ด้านหัวไม้ตีก่อนเสมอ
ไม้ตะพดแบบลูกทุ่งจะมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 1 เมตร สำหรับประโยชน์ใช้สอยหลักก็คือเป็นอาวุธ นอกนั้นก็เอา ไว้กระทุ่มรกพงหญ้าเพื่อไล่งูหรือสัตว์มีพิษ ธรรมเนียมของชายไทยในสมัยก่อน นั้นเมื่อลงจากเรือน ต้องถือไม้ตะพดติด มือไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางไปเยือนต่างถิ่น เพราะเจ้าถิ่นจะถือว่า การมามือเปล่านั้นเป็นการลองดี อาจจะเจ็บตัวง่ายๆ
ถึงตรงนี้มีเกร็ดเล็กน้อยที่กล่าวถึงศักดิ์ศรีความเป็นลูกผู้ชายแท้ๆ ของนักเลงไม้ตะพดสมัยก่อนที่ว่า หากมีเรื่อง มีราวกันนั้น ถ้าไม่เจ็บแค้นหรือมีความ พยาบาทกันมาก่อนจะไม่ตีกันถึงตาย จุดที่ตีส่วนใหญ่จะเป็นตามข้อ แขน ขา ลำตัว หรือหลังเท้า แต่จะไม่ตีหัวให้หัวแตก เพราะไม่อยากให้ฝ่ายตรงข้ามมีบาดแผลที่หัว เพราะเมื่ออายุครบบวชต้องโกนผม แล้วหัวจะเป็นรอย ไม่สวย ถือเป็นน้ำใจ และมารยาทของนักเลงใน ยุคนั้นที่แตกต่างจากยุคนี้โดยสิ้นเชิงสำหรับผู้ที่ชำนาญไม้ตะพดที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในสมัยนั้นว่ากันว่าท่านควง ไม้ตะพดไปปราบโจรพวกเสือดังๆ ในสมัยนั้นด้วย ไม้ตะพดจึงเป็นอาวุธที่ต้องอาศัยใจของผู้ใช้ด้วย
ส่วนไม้ตะพดแบบผู้ดีหรือไม้ตะพดแฟชั่นที่บรรดาเจ้าขุนมูลนายหรือบุคคลระดับสูงในสมัยก่อนนิยมกันนั้นจะมีความยาวอยู่ที่ 92 ซม.คือจะสั้นกว่าไม้ตะพดแบบชาวบ้านอยู่สักหน่อย ประโยชน์ใช้สอยส่วนใหญ่ ไม่เชิงเป็นอาวุธเสียทีเดียวนอกจากจะเอาไว้ป้องกันตัว หากแต่เป็นการถือสวยๆ ถือไว้เป็นเสมือนเครื่องแต่งกายอย่างหนึ่ง ส่วนหัวตะพดก็จะเลี่ยมด้วยวัสดุมีค่า บอกถึงฐานะและบรรดาศักดิ์ของผู้ถือ นับตั้งแต่ทอง เงิน นาค งา งาฝังมุก หยก กระดูกสัตว์ ทองเหลือง แก้ว เป็นต้น
หากท่านใดเป็นนักอ่านจะพบ ‘ไม้เท้า - ไม้ตะพด’ ในวรรณกรรมทรงคุณค่าอย่าง ‘สี่แผ่นดิน’ ที่ ‘พลอย’ ได้กล่าวถึง ‘ของเล่น’ ของ ‘คุณเปรม’ ซึ่งเป็นไม้อย่างดี ประดับหัวด้วยวัสดุอันมีค่าที่คุณเปรมทะนุถนอมนักหนา และต้องมีกรรมวิธีการเก็บที่ต้องจ้างช่างมาทำสังกะสีให้เป็นกล่อง ก่อนจะเทน้ำมันรักษาไม้ลงไปจนท่วม และแช่ไม้กล่องน้ำมันนั้น นานๆ ถึงจะเอามาเชยชมสักทีหนึ่ง
ซึ่งวรรณกรรมเรื่องนี้ของ‘อาจารย์หม่อม’ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในตอนนี้ แม้จะไม่ยาวนักที่กล่าวถึง ไม้เท้า - ไม้ตะพด แต่ก็แสดงภาพการเล่นไม้เหล่านี้ของคนชั้นสูงในยุคนั้นได้อย่างชัดเจนทีเดียว แต่เป็น ที่น่าเสียดายว่า‘ตะพด’ ได้เกิดอุบัติเหตุพลัดตกหล่นจากขบวนรถไฟแห่งยุคสมัย ทำให้ในปัจจุบันนี้เราๆ ท่านๆ หาไม้ตะพดดูได้ยากเต็มที หากถึงอย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคนกลุ่มเล็กๆ ที่ยังเห็นถึงคุณค่าของวิชาโบราณแขนงนี้ และพยายามจะถ่ายทอดให้เด็กรุ่นใหม่เห็นคุณค่าและสืบสานเอกลักษณ์ความเป็นลูกผู้ชายไทยเอาไว้
ทีนี้ลองมาดูด้านการสืบสานในเชิงการสะสมที่ทำให้บรรดาร้านขายของเก่า หรือแม้กระทั่งของใหม่ ได้พยายามหาสินค้าเพื่อมาจำหน่ายตอบสนองความต้องการของลูกค้านักสะสมเหล่านี้ ผู้ประกอบการกิจการขายส่งอย่าง ‘มาชิตา ภัทรพิรุณ’ แห่งร้าน PM Product เปิดเผยว่า เป็นกิจการของตระกูลที่ทำมาตั้งแต่รุ่นพ่อคือ ‘คุณพิศาล’ ที่ยึดอาชีพทำไม้ตะพดมาตั้งแต่หนุ่มๆ ปัจจุบันก็ยังทำอยู่ โดยแทบทุกขั้นตอนจะเป็นการทำด้วยมือ เว้นแต่ขั้นตอนที่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรเท่านั้น ซึ่งเป็นโอกาสที่นักสะสมหน้าใหม่ๆ สามารถซื้อหาในราคาย่อมเยาไปสะสมกันได้ สำหรับกรรมวิธีการทำนั้น จะทำทีละ 10 - 20 อัน ใช้เวลาประมาณ 7 วันถึงจะเสร็จ ส่วนหัวตะพดที่ถือว่าเป็นหัวที่ทำเมื่อไหร่ก็ขายได้ตลอดก็คือทรงเรียบๆ อย่างหัวทองเหลืองกลม เป็นต้น
อ่านถึงตรงนี้ บางคนอาจจะนึกอยากสะสมเจ้าไม้ตะพดนี้ขึ้นมาบ้าง แต่จนใจไม่รู้จะไปซื้อหาที่ไหน โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่ดูจะหาของเก่าแบบนี้ยาก ก็มีสองแหล่งใหญ่ๆ ด้วยกันคือที่ตลาดจตุจักร ซึ่งมีทั้งตะพดใหม่และตะพดโบราณ โดยสนนราคาของตะพดใหม่นั้นอยู่ที่เรือนร้อยบาทไปจนถึงหลักพัน ที่นักสะสมหน้าใหม่พอจะซื้อหาได้ ส่วนตะพดเก่านั้นต้องอาศัยคนดูเป็นสักหน่อย ขอแนะให้สักนิดว่าถ้าเป็นตะพดเก่า หากไม้เดิมเป็นสีเข้ม เมื่อเวลาผ่านไปเนื้อไม้จะสีซีดลงกว่าเดิม
ส่วนอีกแห่งคือที่ห้างสรรพสินค้าริเวอร์ซิตี้ ตรงท่าน้ำสี่พระยา อันเป็นศูนย์รวมของวัตถุโบราณนานาชนิด รวมทั้งตะพดโบราณด้วย ซึ่งในที่นี้ราคาค่อนข้างสูง ตั้งแต่เรือนพันจนถึงเรือนหมื่นเลยทีเดียว ‘พี่สา’ แห่งร้าน Ubons Master Piece บนห้างสรรพสินค้าริเวอร์ซิตี้ให้ข้อมูลว่า ผู้ที่มาถามหาไม้ตะพดส่วนใหญ่จะเป็น ชายวัยกลางคนค่อนไปทางอาวุโส คือไม่ต่ำกว่า 40 ปี โดยมากจะเป็นการสะสมมากกว่าจะเอาไปใช้จริง ส่วนตะพดเก่าที่นำมาขายนี้เป็นการเดินทางเสาะหาของเจ้าของร้านที่คลุกคลีในแวดวงของเก่ากว่า 30 ปี ส่วนใหญ่ เป็นตะพดไทย ตะพดพม่า และตะพดล้านนาเชียงใหม่
“ส่วนใหญ่ไม่เจาะจงหรอกค่ะว่าจะเอาแบบไหน แต่จะมาเดินดูเรื่อยๆ คือถูกตาโดนใจก็ซื้อเลย เป็นความสุขทางใจของนักสะสมน่ะค่ะ” พี่สากล่าวทิ้งท้าย
ไม้ตะพด ศิลปะป้องกันตัว
อาจารย์ชีวิน อัจฉริยฉาย แห่งโรงเรียนศิลปะศาสตร์ การป้องกันตัว ไทยหัตถยุทธ หรือไทฟูโด อคาเดมี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปป้องกันตัวหลายแขนง ซึ่งเปิดสอนศิลปะการป้องกันตัวด้วยไม้ตะพดอยู่ที่หาดใหญ่ จ.สงขลา ระบุว่า ในความเป็นจริงแล้วไม้ตะพดก็คือดาบ ดีๆ นี่เอง
“ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่สังคมเรามีความเจริญขึ้นในด้านสังคม มีการเปลี่ยนจากมณฑลเป็นจังหวัด ก็ได้มีกฎข้อบังคับห้ามพกดาบที่ก่อนหน้านี้เป็นอาวุธคู่มือชายไทยทุกคน โดยอนุญาตให้เฉพาะเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ที่มีความจำเป็นต้องถือเท่านั้น ดังนั้นผู้มีวิชาดาบที่ไม่ใช่ เจ้าหน้าที่เหล่านี้ก็จำต้องเลิกถือดาบไปไหนมาไหน จึงหันมาถือตะพดกันแทน โดยเมื่อถือเข้าพระนครก็บอกว่าเป็น ไม้เท้า แต่เมื่อมีเรื่องมีราวทะเลาะวิวาทแล้ว ตะพดก็กลาย เป็นอาวุธถนัดมือไม่แพ้ดาบเหมือนกัน” อ.ชีวินกล่าว
อาจารย์แห่งไทฟูโดยังกล่าวต่อไปอีกว่า ตะพดเองก็มีรูปแบบท่าโจมตีเหมือนเพลงดาบหรือเพลงมวยเช่นกันอาทิ ‘ท่าห้ามทัพ’ อันเป็นท่าพื้นฐานเพื่อใช้ในการหยุด คนที่กำลังวิ่งมาทำร้ายด้วยการตวาดและชี้ปลายไม้ตะพด ไปยังหน้าของคู่ต่อสู้ หรือ ‘ท่าม้าดีด กะโหลก’ ที่เป็นอีกท่าหนึ่งในการหยุดคู่ต่อสู้ได้ชะงักนักด้วยการตวัดไม้ขึ้นมากระแทกที่หว่างขาของคู่ต่อสู้ที่กำลังวิ่งปรี่เข้ามาหมายจะทำร้าย ส่วน ‘ท่าเชยคาง’ นั้น เป็นท่าจู่โจมแบบพร้อมตี คือคว่ำไม้เอาส่วนหัวที่มีน้ำหนักกว่าและแข็งกว่าลงจดพื้น และตวัดย้อนส่วนหัวเข้าที่ปลายคางของคู่ต่อสู้ ซึ่งท่านี้จะจบด้วย ‘ท่าปล่อยตก’ คือเมื่อตวัดเชยคางให้หัวไม้เท้า ลอยอยู่เหนือคู่ต่อสู้แล้ว
ท่าต่อไปที่เกี่ยวเนื่องติดพันก็คือท่าปล่อยตก ด้วยการ ออกแรงกดหัวไม้ให้ทิ้งตัวลงมาตามแรงโน้มถ่วง เมื่อแรง ตกบวกกับแรงกดของข้อมือและน้ำหนักถ่วงของหัวตะพด ท่านี้จึงอาจจะเรียกเลือดจากหัวคู่ต่อสู้เลยก็เป็นได้ และสำหรับหลักง่ายๆ ของลูกศิษย์วิชาตะพด ซึ่งโดยมากจะเป็นวัยรุ่นต้นๆ อย่างเด็กชั้นม.1 ไปจนถึงม.6 ที่อ.ชีวินแนะนำบ่อยๆ และถือเป็นหัวใจหลักในการศึกษาวิชาตะพดนี้ก็คือ ‘ข้อแข็ง - แรงกล้า - ตาไว - ใจนักเลง’
(จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 78 พ.ค.50 โดย ปาณี ชีวาภาคย์)