xs
xsm
sm
md
lg

เครื่องหมายของคนดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เดือนเมษายนนี้ มีวันสำคัญที่ควรกล่าวถึงอยู่ ๒ วัน คือวันที่ ๖ เมษายน เป็นวันมหาจักรี ซึ่งเป็นวันรำลึกถึง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช องค์พระปฐมบรมราชจักรีวงศ์ และองค์พระปฐมบรมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์มีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการปกครองประเทศอยู่ ๓ ประการ คือ

“ตั้งใจอุปถัมภ์ภกยอยกพระพุทธศาสนา
ป้องกันขอบขัณฑเสมารักษาประชาชนแลมนตรี”


ในพระราชปณิธานทั้ง ๓ ประการนี้ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงบำเพ็ญให้เป็นไปได้ครบสมบูรณ์ทุกประการ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดแก่ปวงชนชาวไทย ที่ต้องรำลึกและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าวแล้ว ด้วยความภักดีเป็นอย่างยิ่ง

ส่วนวันสำคัญอีกวันหนึ่งก็คือ วันที่ ๑๓ เมษายน อันเป็นวันสงกรานต์ เป็นประเพณีการขึ้นปีใหม่ของไทย ที่มีการสืบทอดมายาวนานแต่โบราณกาล เป็นโอกาสที่คนไทยได้มีการ บำเพ็ญบุญกุศลในพระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นเทศกาลแห่งความรื่นเริงด้วยการเล่นสาดน้ำและการละเล่นอื่นๆ รวมทั้งมีการรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ อันเป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ มีบิดา มารดา เป็นต้น

พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุพการี คือ บุคคลผู้กระทำอุปการะก่อน และกตัญญูกตเวที บุคคลผู้รู้อุปการะที่ผู้อื่นทำแก่ตนแล้วทำตอบแทน เป็นบุคคลหาได้ยากยิ่ง เพราะคนเราถูกความโลภ ความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัว ครอบงำ จึงมีใจคับแคบ ไม่ทำอุปการะแก่คนอื่น ไม่กระทำตอบแทนต่อคนที่มีอุปการะแก่ตน

ความจริงแล้ว พ่อแม่นั้นเป็นผู้ให้กำเนิดบุตร เฝ้าเลี้ยงดูทะนุถนอมมิให้ได้รับทุกข์และความเดือดร้อน อาหารที่พ่อแม่เลี้ยงดูลูกน้อยนั้น ถ้าว่าตามธรรมะแล้วจะมี ๔ ประการ คือ ๑.กพฬิงการาหาร อาหาร คือ คำข้าว รวมไปถึงน้ำนม และอาหารขบเคี้ยวอื่นๆ อันจะทำให้ร่างกายของเด็กเจริญเติบโตตามควรแก่วัย ๒.ผัสสาหาร อาหาร คือ ผัสสะ คือ ความถูกต้อง เกี่ยวข้องสัมผัส จะเห็นได้ว่าเวลาที่แม่ให้นมลูก แม่ก็มองลูก นัยน์ตาที่ไร้เดียงสาของลูกกับสายตาของแม่ที่มีความรักความปรานีก็ประสานกัน ทำให้เกิดความรักความอบอุ่น ได้ยินเสียงแม่พูดปลอบประโลมใจ กอดจูบลูกน้อย ถ่ายความรักจากใจไปสู่ลูก แม้แต่เพลง กล่อมนอน ก็เป็นผัสสาหารที่ลูกอยากได้ และก็หลับไปพร้อมความสุข ๓.มโนสัญเจตนาหาร อาหาร คือ มโนสัญเจตนา ที่หมายถึงการกระทำของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ถ้าพ่อแม่ทำดีต่อลูก ลูกก็จะเติบโตเป็นคนดี เรียกได้ว่าเติบโตทั้งทางร่างกายและจิตใจ ๔.วิญญาณาหาร อาหาร คือ ความรู้ (ในที่นี้จะไม่กล่าวถึง วิญญาณปฏิสนธิ) คือ การจะสอนให้ได้เรียนรู้การเดิน การนั่ง การพูดจา การกิน สอนให้ลูกเป็นคนดี ให้ได้เล่าเรียนศิลปวิทยาการ เมื่อเติบโตครอง เรือนได้แล้ว ก็จะให้แต่งงาน และแบ่งทรัพย์สมบัติให้ครอบครอง

เมื่อพ่อแม่ทำอุปการะดังกล่าวมานี้แล้ว สมควรที่ลูกจะพึงกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ อย่าให้ใครมาดูถูกว่าเป็นคนอกตัญญู ไม่รู้จักบุญคุณของพ่อแม่ และภาพที่พ่อแม่ถูกทอดทิ้งให้ อยู่ตามลำพังก็จะไม่มีให้เห็นแน่นอน คนที่มีความกตัญญูจึงได้รับการยกย่องนับถือว่าเป็นคนดี เป็นคนควรคบหาสมาคมด้วย ดังพุทธภาษิตว่า “ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี”

ส่วนคนอกตัญญูนั้น เป็นคนที่น่ารังเกียจ ไม่มีใครปรารถนาจะคบหาสมาคมด้วย เพราะพ่อแม่ตัวเองยังทอดทิ้งได้ คนอกตัญญูจึงเป็นคนชั่วที่ควรประณาม พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ถึงจะให้แผ่นดินทั้งหมดแก่คนอกตัญญู ก็ไม่อาจจะทำให้เขายินดี มีความรู้สึกถึงบุญคุณได้”

คนกตัญญูกตเวที นอกจากจะได้มีความเจริญรุ่งเรืองในทางโลกแล้ว ยังสามารถปฏิบัติตนให้บรรลุคุณธรรมชั้นสูงมีมรรคผลนิพพาน เป็นต้น ผิดกับคนอกตัญญูที่จะหาความเจริญ ใดๆ ไม่ได้เลย

บุคคลผู้เป็นตัวอย่างของความกตัญญูกตเวที ในพระพุทธศาสนานั้นมีจำนวนมาก แต่ในที่นี้จะขอยกมากล่าวสักหนึ่งท่าน คือ พระสารีบุตร ในสมัยที่ยังเป็นอุปติสสปริพาชก ได้ฟังธรรมในสำนักของท่านพระอัสสชิเถระ ต่อมาได้บวชในพระพุทธศาสนา และเป็นพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้า ท่านเป็นคนกตัญญูมาก เมื่อทราบว่าพระอัสสชิเถระอยู่ในทิศใด เวลานอนท่านจะหันศีรษะไปทางทิศนั้น เป็นการแสดงความเคารพ

มีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อ ราธะ มีร่างกายซูบผอม ประสงค์จะบวชในพระพุทธศาสนา แต่ไม่มีใครให้การอุปสมบทแก่พราหมณ์นี้ พระพุทธเจ้าทราบความประสงค์ของพราหมณ์แล้ว ถามภิกษุทั้งหลายว่า ใครนึกถึงอุปการคุณของพราหมณ์นี้ได้บ้าง พระสารีบุตรทูลว่าระลึกได้ว่าพราหมณ์นี้เคยถวายข้าวทัพพีหนึ่ง จึงทรงอนุญาตให้พระสารีบุตรให้การอุปสมบทแก่ราธะพราหมณ์ เป็นการแสดงความกตัญญู

ในเวลาที่โยมมารดาของพระสารีบุตรป่วยหนักใกล้มรณกาล พระสารีบุตรไปแสดงธรรมโปรดมารดาผู้เป็นมิจฉาทิฐิให้กลายเป็นสัมมาทิฐิ มีจิตเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงนับว่าท่านเป็นผู้มีความกตัญญูต่อบุพการี ที่น่ายกย่องเป็นอย่างยิ่ง

อีกอย่างหนึ่ง ในพระไตรปิฎก มีความตอนหนึ่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็บุตรใดแล ยังมารดา ผู้ไม่มีศรัทธา ให้ตั้งมั่นอยู่ในศีล ยังมารดาบิดาผู้ทุศีล ให้ตั้งมั่นอยู่ในศีล ยังมารดาบิดาผู้ตระหนี่ให้ตั้งมั่นอยู่ในจาคสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้มีปัญญาทราม ให้ดำรงมั่นอยู่ในปัญญา ภิกษุทั้งหลายด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล กิจนั้น จึงชื่อว่าเป็นอันบุตรทำแล้ว ทำตอบแทน แล้ว และทำยิ่งแล้วแก่มารดาบิดา”

เพราะฉะนั้น บุตรผู้กตัญญูด้วยการเลี้ยงบำรุงพ่อแม่ด้วยเครื่องบำรุงทั้งหลายตลอดเวลา ร้อยปีก็ยังไม่ชื่อว่าตอบแทนคุณได้หมดสิ้น แต่ถ้าได้กระทำตามคำกล่าวข้างต้นนี้แล้ว จึงจะถือเป็นการตอบแทนที่แท้จริง

(จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 77 เม.ย. 50 โดย ธมฺมจรถ)
กำลังโหลดความคิดเห็น