xs
xsm
sm
md
lg

ป่าช้าวัดดอน จาก 'สุสาน' สู่ 'สวนสวย'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากเรื่องราวความน่ากลัวที่ถูกกล่าวขานมาเนิ่นนาน บัดนี้ ‘ป่าช้าวัดดอน’กลายเป็นเพียงตำนานที่ต้องเก็บไว้เล่าให้ลูกหลานฟังเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะมองไปบริเวณไหน จะเห็นเพียงความร่มรื่นของไม้ยืนต้นที่แผ่ขยายร่มเงาให้ผู้ไปเยือนได้พักพิง สนามหญ้าเขียวชะอุ่ม ลู่วิ่งและลานออกกำลังกายที่รองรับคนรักสุขภาพตั้งแต่เช้า จรดเย็น และฮวงซุ้ยเดิมที่แฝง อยู่กับลานกิจกรรมเป็นภาพแบคกราวน์ เพิ่มความเงียบสงบยิ่งขึ้น อาจขนานนามได้ว่า ‘สวนสวยในป่าช้า’ แห่งนี้ เป็นสุสานเพื่อออกกำลังกายแห่งเดียวในประเทศไทย

ย้อนอดีตป่าช้าวัดดอน

ในอดีต ‘ป่าช้าวัดดอน’ เคยเป็นสุสานขนาดใหญ่ มี พื้นที่มากกว่า 150 ไร่ เป็นที่ฝังศพนับหมื่น ป่าช้าแห่งนี้ อยู่ในความดูแลของ 3 องค์กร ได้แก่ สมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานที่ตั้งของสวนสวยในป่าช้าแห่งนี้ มูลนิธิปอเต็กตึ้ง และสมาคมไหหลำด่านเกเต้

อาณาบริเวณของป่าช้าแห่งนี้ ครอบคลุมตั้งแต่ซอย เจริญกรุง 57 เชื่อมต่อไปจนถึงเซ็นต์หลุยส์ ซอย 3 อยู่ในพื้นที่แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาธร กทม. โดยสุสานใน ส่วนของสมาคมแต้จิ๋วฯ มีพื้นที่ประมาณ 87 ไร่ ตั้งอยู่ บริเวณด้านหลังของสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย และมีรั้วรอบขอบชิด

ที่ผ่านมาป่าช้าวัดดอนมีศพที่ฝังในลักษณะฮวงซุ้ย ถึง 7,961 ศพ ศพที่บรรจุเฉพาะอัฐิอีก 1,800 กว่าศพ และศพที่ไม่มีญาติบรรจุรวมกันไว้อีกมากกว่าหมื่นศพ เมื่อก่อนบริเวณนี้ ได้เปิดให้ประชาชนเข้าไปในสุสานได้ เฉพาะในเทศกาลเช็งเม้ง (เทศกาลไหว้บรรพบุรุของชาว จีน)เท่านั้น จึงทำให้พื้นที่ดูรกร้าง แถมยังมีสัตว์เลื้อยคลานอาศัยอยู่มากมาย ยิ่งเพิ่มความน่ากลัวเข้าไปอีก

และยิ่งนอกรั้วบริเวณสุสานแต้จิ๋ว เคยเป็นสถานที่ ชำรุดทรุดโทรม มีน้ำท่วมขัง และขาดการดูแล ถึงขนาด มีศพไร้ญาตินอนแช่น้ำอย่างน่าเอนจอนาถ อีกทั้งชาวบ้านยังนำเอาขยะ เศษหิน เศษปูน มาทิ้งทับถม เพิ่มความสกปรก วังเวง และน่ากลัวยิ่งขึ้น

ส่วนพื้นที่ของมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง มีบริเวณกว่า 30 ไร่ เป็นจุดที่น่ากลัวยิ่งกว่าบริเวณอื่นๆ เพราะเป็นที่สำหรับฝังศพไม่มีญาติ ศพที่ตายด้วยอุบัติเหตุ สามารถฝังได้กว่า 4,000 ศพ และถูกล้างป่าช้า เพื่อนำศพใหม่มา ฝังอยู่ตลอดเวลา ทำให้บริเวณนี้ถูกกล่าวขวัญในเรื่อง ความน่ากลัวมากที่สุด

ไม่เพียงแค่ความน่ากลัวจากเรื่องเล่าอาถรรพ์จาก ดวงวิญญาณในสุสานวัดดอนเท่านั้น แต่เพราะความ เงียบ น่ากลัว ที่นำไปสู่ความวิเวก ไร้ผู้คนสัญจร ทำให้บริเวณป่าช้าวัดดอน ขึ้นชื่อเรื่องการปล้นจี้อีกด้วย

ปรับโฉมป่าช้าเป็นสวนสาธารณะ

ความน่ากลัวถูกเปลี่ยนแปลงสู่ความร่มรื่น เมื่อสำนักงานเขตสาทร จัดยุทธศาสตร์ การทำเมืองน่าอยู่ (Healthy City) การพัฒนาป่าช้าวัดดอนให้เป็นป่าช้าน่าอยู่ จึงเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ ที่จะทำให้เขตสาทรเป็นเมืองน่าอยู่ และลบภาพความน่ากลัวในอดีตไปเสียสิ้น

จรูญ มีธนาถาวร ผู้อำนวยการเขตสาธร กล่าวถึง ที่มาของการเปลี่ยนป่าช้าให้เป็นสวนสาธารณะว่า “ทางเขตสาธรมีโครงการสวนสวยในป่าช้า ซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2539 โดยทางผู้อำนวยการเขต สาธรในขณะนั้น ได้ไปบุกเบิกนำต้นไม้ไปปลูกในป่าช้า วัดดอน บริเวณที่ในกรรมสิทธิ์ของสมาคมแต้จิ๋ว และทางเขตฯ ก็เข้าไปร่วมพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นแหล่งออกกำลังกายแห่งใหม่ในเขตสาธร โดยได้รับการอนุญาตจากทางสมาคมฯ ทำลู่วิ่ง ทำลานกีฬาประเภทA ของกรุงเทพมหานคร จนกระทั่งปัจจุบันมีชมรมมากมายในสวยสวยแห่งนี้ ตั้งแต่เด็กๆ ไปจนถึง ผู้ใหญ่อายุ 80 ปี และมีผู้มาออกกำลังกายและพักผ่อน ราว1,000 คนต่อวัน”

นอกจากการเกิดโครงการสวนสวยในป่าช้าแล้ว บริเวณใกล้เคียง ได้มีการตัดถนนสายเหนือ-ใต้ ใต้ทาง ด่วนขั้นที่ 1 ส่วน B และระบบทางด่วนในบริเวณนี้ เป็นทางขึ้นลง เชื่อมต่อกับถนนสาธร ถนนจันทน์ ทำให้ พื้นที่รกๆ และน่ากลัว ถูกปรับปรับปรุงให้สวยงามยิ่งขึ้นตามไปด้วย

ลักษณะของป่าช้าวัดดอนในปัจจุบัน เป็นสุสานปิด ไม่มีการนำศพมาฝังหรือเผาเพิ่ม ชาวจีนที่เคยนำศพ มาฝังบริเวณนี้ ก็นำศพไปฝังที่จังหวัดสระบุรี หรือชลบุรีแทน ในบริเวณป่าช้าของมูลนิธิปอเต็กตึ้งก็ไม่มีการนำศพมาฝังหรือมาเผา ทิ้งไว้เพียงที่ร้างว่างเปล่า รอการพัฒนาเท่านั้น แม้แต่ที่วัดดอนเองก็ยังไม่มีการเผาศพอีกต่อไป และที่ผ่านมา ทางเขตก็ได้ดำเนิน การล้างป่าช้าไปแล้วถึง 2 ครั้ง ทำให้ความน่ากลัวในบริเวณนี้หมดไปโดยสิ้นเชิง

สำหรับสวนสวยในป่าช้าแต้จิ๋ว 100 กว่าไร่ ถูกจัดสรรปันส่วนให้เป็นสถานที่ออกกำลังกาย สถานที่ พักผ่อน และยังคงเป็นที่ตั้งของฮวงซุ้ยเดิมของคนจีน มีมุมของบ้านหนังสือของกรุงเทพฯ ส่วนของลานกีฬา คนเมือง ส่วนของลานนาบุญอันเป็นสวนสงบ เปิดให้ผู้คนมานั่งพักผ่อน อ่านหนังสือ บริเวณของสวนสนุก เพื่อให้เด็กๆ มาเล่นชิงช้า ม้าโยก ภายใต้บรรยากาศอันร่มรื่น ปกคลุมด้วยต้นไม้เขียวชอุ่ม

เตรียมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

ผู้อำนวยการเขตฯ กล่าวว่า “ทุกอย่างในสุสานแห่งนี้ เกิดจากความร่วมมือของทางภาครัฐและเอกชน ทางเขตฯ จะดูแลความเรียบร้อย ความสะอาด ซ่อมถนน ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในบริเวณสวน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มาออกำลังกาย ในขณะที่ประชาชน ก็ ร่วมกันบริจาคสิ่งของจำเป็น เช่น เสาไฟฟ้า ก็ได้จากการร่วมมือของชาวบ้าน คนนั้นมาบริจาคหนึ่งต้น คนนี้บริจาคอีกหนึ่งต้น และที่สำคัญทางสมาคมแต้จิ๋วก็อนุญาตให้ทางเขตฯ เข้าไปพัฒนา ซึ่งในส่วนของลานกีฬาก็ได้บรรดาชมรมต่างๆ ร่วมกันรักษาความสะอาด บริจาคค่าน้ำ ค่าไฟ เพื่อบำรุงสวนสวยในป่าช้า”

ส่วนผู้ที่เข้ามาออกกำลังกายในสวนสวยแห่งนี้ ทางผู้อำนวยการเขตฯ ยืนยันว่า ไม่มีในลักษณะมั่วสุม หรือ เป็นแหล่งของยาเสพติด “คนที่เข้ามาค่อนข้างมีฐานะ และดูแลกันเอง เราห้ามไม่ให้วัยรุ่นมาเตะฟุตบอล และก่อความวุ่นวาย เนื่องจากยังมีบริเวณฮวงซุ้ยเดิมตั้งอยู่ อาจก่อให้เกิดความเสียหาย” ผู้อำนวยการเขตฯ กล่าว

เนื่องจากในเขตสาธร ยังไม่มีสวนสาธารณะเปิดให้ บริการแก่ประชาชน ที่มีอยู่ก็เป็นเพียงบรรดาฟิตเนสของ เอกชนเท่านั้น สวนสาธารณะในสุสานแห่งนี้ จึงเปรียบเสมือนปอดของคนกรุงอีกแห่งหนึ่ง ที่เปิดบริการให้คนทั่วกรุงเทพฯ มาพักผ่อนและออกกำลังกายฟรี!!!

สำหรับอนาคต ทางเขตสาธร หมายมั่นปั้นมือว่า จะพัฒนาสุสานแห่งนี้ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของประเทศ เช่นเดียวกับสุสานทหารสัมพันธมิตร ที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งแทนที่ประชาชนจะมาออกกำลังกายอย่างเดียว ก็สามารถมาท่องเที่ยวและสร้างรายได้ ให้ชุมชนได้อีกหนึ่งทาง

หลากกิจกรรมในสุสาน

เมื่อตำนานความน่ากลัวถูกทำให้จางหาย บริเวณป่าช้าแต้จิ๋ว จึงกลายเป็นสวนสาธารณะ ที่ชาวสาธรได้ใช้ เป็นสถานที่ออกกำลังกาย และยังได้ตั้งชมรมต่างๆ กว่า 30 ชมรม เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน อาทิ ชมรมเพาะกาย ชมรมแบดมินตัน ชมรมหมากรุก ชมรมเทควันโด้ ชมรมแอโรบิก โดยมีสมาคมนักวิ่งแต้จิ๋วเป็นชมรมหลัก

สำหรับจุดเด่นของสวนสาธารณะแห่งนี้ เพียงขับรถ ผ่านประตูเข้าไป ก็จะเจอฮวงซุ้ยนับร้อย ตั้งเรียงราย รอต้อนรับผู้มาเยือน แต่เมื่อผ่านเข้าไปได้ไม่ไกลนัก เป็นบริเวณของลานคนเมือง ชมรมนักวิ่ง ของสมาคม แต้จิ๋ว ซึ่งมีนักกล้ามทั้งหลาย ออกกำลังกาย ฟิตกล้าม กันอย่างแข็งขัน

“เฮียยักษ์” เทรนเนอร์ของ ชมรมเพาะกาย ผู้บุกเบิกสุสาน แห่งนี้ ให้กลายเป็นยิมสำหรับนักเพาะกายคนแรกๆ กล่าวว่า “ผมมาเล่นที่นี่เกือบ 10 ปี แล้ว ตอนแรกที่นี่ก็น่ากลัว เพราะพื้นที่ดูรกร้าง มีสุสานที่ถูกพงหญ้าปกคลุม เมื่อพวกเราช่วยกัน
พัฒนา มีไฟ มีน้ำ ก็ดีขึ้น ตอนนี้ชินแล้ว และความรู้สึกก็กลาย เป็นความสงบ คนที่มาเล่นใหม่ๆอาจจะกลัวๆกันบ้าง แต่เดี๋ยวนี้ ตี 5 ผู้คนก็มาวิ่งกันแล้ว ตอนกลางคืนก็มีแสงไฟ ดูไม่น่ากลัวเลย”

โดยปกติแล้วในส่วนของเพาะกายนี้ จะได้รับความนิยมเป็นพิเศษ เนื่องจากเปิดให้บริการฟรี แถมยังมีเทรนเนอร์ คอยแนะนำอย่างใกล้ชิด ผู้ที่เข้า มาเล่นก็มีความเป็นกันเอง จนเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน

นอกจากลานเพาะกายตรงนี้แล้ว ยังมีลานโล่ง ซึ่งเป็นส่วนของสนามแบดมินตัน ที่เปิดโอกาสให้ชมรมแบดมินตัน ทั้งเด็กเล็กและผู้ใหญ่ มาตีแบดกลางแจ้ง กันอย่างสนุกสนาน และแม้จะมีลมพัดโชย แต่ทางชมรมก็ไม่ได้คิดจะสร้างอาคารขึ้นมา เนื่องจากเป็นการทำลายบรรยากาศและทิวทัศน์ ในสุสานแห่งนี้

สำหรับกิจกรรมของชมรมแบดมินตันนั้น จะเริ่มตั้งแต่เช้า โดยให้เหล่าสมาชิกเข้ามาวิ่งรอบสวน จากนั้นก็ตีแบดกันตอน 8 โมงเช้า ทานข้าวเช้าร่วมกัน และมีการสังสรรค์์ถึงขนาดตั้งวงกันร้องเพลงคาราโอเกะติดกับฮวงซุ้ยที่ตั้งเรียงรายกันเลยทีเดียว กิจกรรมของชมรมแบดมินตันมีไปจนถึงเที่ยงวัน และต่างก็แยกย้ายกันกลับบ้าน

ชาญศักดิ์ โสภณทวีทรัพย์ หนึ่งในสมาชิกชมรมแบดมินตันเล่าถึงความเป็นมาของชมรมว่า เราตั้งชมรม กันมา 3-4 ปีแล้ว เพราะเมื่อก่อนป่าช้าแห่งนี้มีแต่ลู่วิ่ง และยังดูเวิ้งว้าง จนมีคนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงได้รวมกลุ่ม กัน และรู้จักกัน จนต่างคิดว่าที่นี่เป็นบ้านหลังหนึ่ง “ผมไม่รู้สึกกลัว เพราะผมไม่ได้มาทำอะไรไม่ดี และไม่ได้ ลบหลู่ แต่เมื่อสมัยเป็นเด็กๆ ยอมรับว่ากลัว เมื่อผู้ใหญ่ พูดถึงป่าช้าวัดดอน แต่ตอนนี้เด็กๆ น่าจะกลัวคนมาก กว่านะ” ชาญศักดิ์บรรยายความรู้สึก

สำหรับความคิดเห็นของเหล่าผู้รักสุขภาพ ที่เลือกมาออกกำลังกายในบรรยากาศสุสานนั้น มีเพียงว่า ที่นี่ใกล้บ้าน และบริการฟรี อีกทั้งความแตกต่างที่ชัดเจนคือ ได้ความเยือกเย็น สงบ มีต้นไม้ใหญ่ที่ให้ความร่มรื่น และการได้รู้จักกันแบบครอบครัว ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แม้แต่การทำความสะอาด ที่ทางสมาชิกของแต่ละชมรม จะเป็นผู้มีส่วนร่วมในการดูแล ความเรียบร้อยและรักษาความสะอาดกันเอง เพื่อรวบรวมให้ทางเขตฯ มาเก็บไปทิ้ง

นอกจากกิจกรรมของประชาชนแล้ว ทางสำนักงานเขตสาธร ยังเลือกไปจัดกิจกรรมประจำปีที่สุสานแห่งนี้ทุกๆ ปี โดยได้มีการจัดโต๊ะจีนสังสรรค์ ซึ่งส่วนใหญ่ ต่างก็ไม่ได้คิดถึงความวังเวง หรือความน่ากลัว ของฮวงซุ้ยที่ตั้งเรียงรายอยู่ เปรียบเสมือนว่า คนเป็นและคนตายสามารถใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันได้

ป่าช้าวัดดอนวันนี้ จึงมิได้เนืองแน่นเฉพาะร่างของผู้ที่ไร้วิญญาณเท่านั้น แต่กลับเต็มไปด้วยผู้คนที่เดินเข้าออกในยามที่ยังมีลมหายใจ เคลื่อนไหวทำกิจกรรม นานาชนิด เพื่อใช้ชีวิตขณะมีลมหายใจให้คุ้มค่าคุ้มประโยชน์มากที่สุด

(จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 77 เม.ย. 50 โดย จรินทร์ คำชัย)
กำลังโหลดความคิดเห็น