เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ชนที่นับถือพระพุทธศาสนาว่า วันมาฆบูชา เป็นวันที่พระบรมศาสดาทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก วันมาฆบูชา คือ การบูชาใหญ่ในวันเพ็ญเดือน ๓ แต่เนื่องจากปี ๒๕๕๐ นี้มีอธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองหน ดังนั้นวันมาฆบูชาจึงเลื่อน ไปเป็นวันเพ็ญ เดือน ๔ ซึ่งตรงกับวันที่ ๓ มีนาคม
นับตั้งแต่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ได้เสด็จไปโปรดพระเบญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี หรือที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า สารนาถ ในวันขึ้นขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ทำให้พระอัญญาโกณฑัญญะตรัสรู้ธรรมตามพระองค์ อันเป็นการยืนยันหรือเป็นพยานในการตรัสรู้ของพระองค์ว่า ธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้น ผู้อื่นก็สามารถตรัสรู้ตามได้ และความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มิใช่เกิดขึ้นลอยๆ ตามคำกล่าวอ้างเอาเอง หากแต่มีพยานบุคคลผู้ตรัสรู้ธรรมเป็นเครื่องยืนยันได้ นอกจากนั้น พระเบญจวัคคีย์ ที่เหลือมีพระวัปปะเป็นต้น ก็ได้ตรัสรู้ธรรมในเวลาต่อมา และได้มีผู้ศรัทธาเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา และเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น ๖๑ รูป รวมถึงพระบรมศาสดาด้วย
ครั้นเมื่อออกพรรษาแล้วพระพุทธองค์มีพระประสงค์จะประดิษฐานพระพุทธศาสนาในมั่นคงในชมพูทวีป ซึ่งมิได้หมายถึงเฉพาะประเทศอินเดียในปัจจุบัน แต่หมายรวมถึงประเทศปากีสถาน ประเทศบังกลาเทศ เนปาล และอัฟกานิสถาน บางส่วนอีกด้วย จึงส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนาในแว่นแคว้นต่างๆ ส่วนพระองค์นั้นได้เสด็จไปประกาศพระพุทธศาสนา ณ เมืองราชคฤห์ อันเป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธรัฐ เพื่อให้พุทธศาสนาหยั่งรากลึกลงในแคว้นมคธ อันมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นกษัตริย์ปกครอง ด้วยเหตุผลว่า กรุงราชคฤห์ เนืองแน่นไปด้วยนักปราชญ์ เจ้าลัทธิคณาจารย์ จะเป็นการง่ายในการเทศนา โปรดบุคคล เหล่านั้นให้ตรัสรู้ธรรม และเมื่อพวกเขาตรัสรู้ธรรมแล้ว การเผยแผ่พระศาสนาก็จะง่ายขึ้น เพราะได้กลุ่มคนที่สำคัญมาเป็นกำลังในการประกาศพระศาสนานี้ประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่ง เมื่อครั้งที่พระองค์ออกผนวชใหม่ๆ ได้เสด็จมายังแคว้นมคธ และได้ทรงพบกับพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์ผู้ครองมคธรัฐ ที่เอ่ยพระวาจาเชื้อเชิญพระองค์ให้สละเพศสมณะแล้วจะแบ่งอาณาจักรมคธกึ่งหนึ่งให้ครอบครอง เพราะเห็นว่าพระสิทธัตถดาบสนั้น เป็นผู้ยังหนุ่มแน่น รูปงาม อัธยาศัยดี อีกทั้งยังเป็นพระสหายที่มีความสัมพันธ์สืบเนื่องมาจากบรรพชนของพระเจ้าพิมพิสารและกษัตริย์แห่งศากยวงศ์ มาโดยไม่ขาดสาย แต่พระสิทธัตถดาบสทรงปฏิเสธที่จะสละสมณเพศ และยืนยันหนักแน่นว่า ต้องการแสวงหาทางตรัสรู้ธรรมโดยประการเดียว พระเจ้าพิมพิสารจึงขอพรว่า “ถ้าพระสิทธัตถดาบส ตรัสรู้ธรรมแล้ว ขอให้เสด็จมาโปรดพระองค์ด้วยเถิด” พระสิทธัตถดาบส ทรงรับปฏิญญานั้นแด่พระเจ้าพิมพิสาร
ก็เมื่อพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จกรุงราชคฤห์นั้น พระองค์ได้เสด็จไปโปรดชฎิลสามพี่น้องคือ อุรุเวลกัสสปะ คยากัสสปะ และนทีกัสสปะ พร้อมบริวารอีก ๑,๐๐๐ ให้ได้ ตรัสรู้ธรรม และได้พำนักอยู่ ณ ป่าลัฏฐิวัน สวนตาลหนุ่ม (บางท่านแปลว่า สวนไผ่ที่ใช้ทำตะพด)
ครั้งพระเจ้าพิมพิสารได้เสด็จพร้อมบริวาร และมหาชนเป็นจำนวนมาก เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งแวดล้อมด้วยชฎิล ทั้งสามพร้อมศิษย์บริวาร และมหาชนเกิดความสงสัยว่า พระพุทธเจ้าและชฎิลสามพี่น้องใครคือผู้ใหญ่กว่ากัน แต่เมื่ออุรุเวสกัสสปะ ประกาศว่า พระพุทธเจ้าเป็นใหญ่เป็นพระอาจารย์ของพวกตน มหาชนก็ได้ตั้งอยู่ในความสงบพร้อมจะรับฟังพระธรรมเทศนา
จากนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม คือ อนุปุพพีกถา และอริยสัจ ๔ ทำให้พระเจ้าพิมพิสารและมหาชน ๑๑ ส่วนบรรลุเป็นพระอริยบุคคล มีพระโสดาบัน เป็นต้น และอีก ๑ ส่วน ตั้งอยู่ในไตรสรณาคมน์
เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว พระเจ้าพิมพิสารทรงปลื้มปีติในธรรม ได้กราบบังคมพระบรมศาสดาทูลให้ทราบถึงความปรารถนาของพระองค์ว่าได้สำเร็จครบถ้วนแล้ว คือ เมื่อครั้งยังเป็นมกุฎราชกุมาร ทรงตั้งความปรารถนาว่า ๑.ขอให้พระองค์ได้รับการอภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งมคธรัฐ ๒.ขอให้พระอรหันต์ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง เสด็จมายังแว่นแคว้นของพระองค์ ๓.ขอให้พระองค์ได้ประทับนั่งใกล้พระอรหันต์นั้น ๔.ขอให้พระอรหันต์นั้นแสดงธรรมแก่พระองค์ ๕.ขอให้พระองค์ทรงรู้ทั่วถึงธรรมนั้น และได้ทูลถวายพระราชอุทยานเวฬุวัน สวนไม้ไผ่อันสงบร่มรื่น เป็นสถานที่สงัดปลอดจากผู้คน เป็นสถานที่ควรแก่ผู้ปฏิบัติธรรม ให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาสืบไป จึงได้ชื่อว่า ‘เวฬุวันมหาวิหาร’แต่นั้นมา และนับเป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา
ณ เวฬุวันมหาวิหารแห่งนี้ ก็ได้มีการประชุมของพระสงฆ์ สาวกในพระพุทธศาสนาครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด ที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต คือการประชุมอันประกอบด้วยองค์ ๔ คือ ๑.พระสงฆ์สาวกที่เข้าประชุมนั้น ล้วนเป็นพระอรหันต์ ๒. พระสาวกเหล่านั้นล้วนเป็นเอหิภิกขุที่ได้รับการอุปสมบทจากพระศาสดาโดยตรง ๓.พระสาวกเหล่านั้นมาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายกันมาก่อน ๔.พระศาสดาประทานโอวาทปาฏิโมกข์ ในวันเพ็ญเดือน ๓ ก่อนพุทธศก ๔๕ ปี
โอวาทปาฏิโมกข์มีความว่า การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๑ การทำแต่ความดี ๑ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ขันติคือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพานเป็นบรมธรรม ผู้ทำร้ายผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้เบียดเบียนผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ
การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ประหัตประหาร ๑ ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ๑ ที่นั่งที่นอนอันสงัด ๑ ความเพียรในอธิจิต ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
แต่ที่เข้าใจกันทั่วไป และจำกันได้มาก ก็คือ การไม่ทำความชั่ว ทำแต่ความดี และทำจิตให้ผ่องใส
โอวาทปาฏิโมกข์ทั้งหมดนั้น เป็นการแสดงหลักการของพระพุทธศาสนาในการเผยแผ่พระศาสนา และการปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมสูงสุด จะเห็นได้ว่าพระพุทธศาสนานั้นมุ่งเน้นความสงบสุขเป็นสำคัญ สงบสุขภายนอก โดยการไม่ทำชั่ว ทำดี ไม่ทำร้ายกล่าวร้ายแก่คนอื่น เป็นต้น สงบสุขภายใน คือทำจิตให้ผ่องใส และบริสุทธิ์โดยสิ้นเชิง
ถ้าโอวาทปาฏิโมกข์ปรากฏขึ้นในใจของคนทั้งหลาย ความสงบสุขจะเกิดขึ้นทั่วไป โลกก็จะพลอยสงบสุขไปด้วย จึงควรจะช่วยกันเผยแผ่โอวาทปาฏิโมกข์ให้กว้างไกลออกไป อย่าให้วันมาฆบูชาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์เลย ขอให้เปิด ประตูของหัวใจให้โอวาทปาฏิโมกข์โดยย่อ ๓ ประการ คือ การไม่ทำความชั่ว ทำแต่ความดี และทำจิตให้ผ่องใส เข้าไปอยู่ภายในใจของทุกท่านทุกคนเทอญฯ
ราชคฤห์ในอดีต
ในสมัยพุทธกาล ราชคฤห์ (Rajgir) แปลว่า สถานที่ประทับของพระราชา เป็นชื่อเมืองหลวงของแคว้นมคธและแคว้นอังคะ ตั้งอยู่ในหุบเขา ซึ่งมีภูเขา ๕ ลูก เป็นกำแพงล้อมรอบได้แก่ อิสิคิรี, บัณฑวะ, คิชฌกูฏ, เวภาระ และเวปุละ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เบญจคีรีนคร (การทำปฐมสังคายนา ก็ได้ทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา บนเทือกเขาเวภาระ) ในบรรดาภูเขาทั้งหมดนี้ คิชฌกูฏเป็นภูเขาที่สูงที่สุด
สมัยนั้นราชคฤห์เป็นเมืองหลวงที่สำคัญและยิ่งใหญ่ เป็นศูนย์กลางการค้าของแคว้นต่างๆ จึงมีความเจริญรุ่งเรืองกว่าแคว้นอื่นๆเป็นอันมาก พระราชาผู้ปกครองแคว้นคือพระเจ้าพิมพิสาร ความที่ราชคฤห์เป็นเมืองใหญ่ จึงมีผู้คนมาอาศัยอยู่รวมกันเป็นจำนวน มาก รวมทั้งนักปราชญ์ราชบัณฑิตและคณาจารย์เจ้าลิทธิต่างๆ เช่น อาฬารดาบส และอุทกดาบส
นอกจากนี้อาณาจักรราชคฤห์ยังเป็นสถานที่เกิดของพระอรหันตสาวกหลายรูป อาทิ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ พระราธะ พระมหาปันถกะ พระจูฬปันถกะ เป็นต้น รวมทั้งเป็นที่เกิดของหมอชีวกโกมารภัจจ์ด้วย และที่เมืองราชคฤห์นี่เอง เป็นที่ตั้งของวัดเวฬุวนาราม ซึ่งเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาที่พระเจ้าพิมพิสารสร้างถวายพระพุทธเจ้า
ต่อมาสมัยของพระเจ้าอชาตศัตรู โอรสของพระเจ้าพิมพิสารได้ย้ายราชธานีจากเมือง ราชคฤห์ ไปอยู่ที่เมืองปาฏลีบุตร (ปัจจุบันคือ เมืองปัฏนา เมืองหลวงของรัฐพิหาร) ราชคฤห์จึงค่อยคลายความสำคัญลง
ในพระไตรปิฎกกล่าวว่า พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ ถึงสถานที่อันน่ารื่นรมย์ใน ธรรม ๑๐ แห่ง ในกรุงราชคฤห์ ที่ได้ทรงเคยประทับได้แก่ ๑.ภูเขาคิชฌกูฏ ๒.โคตมนิโครธ ๓.เหวที่ทิ้งโจร ๔.สัตตบรรณคูหาข้างเวภารบรรพต ๕.กาฬสิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ ๖.เงื้อมผาสัปปโสณฑิิก ๗.ตโปธาราม ๘.เวฬุวันกลันทกวิวาปสถาน (สวนไผ่อันเป็นสถานที่ให้เหยื่อแก่กระแต) ๙.ชีวกัมพวัน ๑๐.มัททกุจฉิมฤคทายวัน
ราชคฤห์ในปัจจุบัน
ปัจจุบัน ราชคฤห์เป็นตำบลหนึ่งของจังหวัดนาลันทา ในรัฐพิหาร และภูเขาทั้ง ๕ ลูกนั้น มี ๒ ลูกที่ยังคงชื่อเดิมไว้คือ ภูเขาเวภาระ และภูเขาเวปุละ ส่วนอีก ๓ ลูกได้ถูกเปลี่ยนชื่อไป คือ ภูเขา ‘อิสิคิลิ’ เปลี่ยนเป็น ‘โสนา’ ภูเขา ‘บัณฑวะ’ เป็น ‘อุทัย’ ส่วนภูเขา ‘คิชฌกูฏ’ กลายเป็นภูเขา ๓ ยอดที่มีชื่อว่า ‘รัตนคิรี’ ‘ฉัฏฐา’ และ ‘เศละ’ ด้วยเหตุนี้ ชาวอินเดียปัจจุบัน จึงเรียกเมืองราชคฤห์นี้ว่า “สัตตคิรีนคร” หมายถึง เมืองที่มีภูเขา ๗ ยอด ส่วนสถานที่สำคัญอื่นๆที่ยังคงอยู่และมีการเปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ได้แก่
• เวฬุวนาราม ปัจจุบันยังคงมีต้นไผ่อยู่มาก และยังเหลือซากมูลคันธกุฎีที่ประทับของพระพุทธเจ้า และสระใหญ่ที่พระพุทธองค์เคยเสด็จมาประทับนั่งแสดงธรรมแก่พระสงฆ์ รวมทั้งสถานที่ประชุมสงฆ์ครั้งสำคัญ ที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต
• ตโปทาราม สวนที่มีน้ำพุร้อน ปัจจุบันมีวัดฮินดูตั้งอยู่ และบริเวณรอบๆมีสถานที่อาบน้ำไว้บริการ
• ถ้ำสัตตบรรณคูหา ตั้งอยู่บนภูเขาเวภารบรรพต
• เงื้อมผาสัปปโสณฑิก ตั้งอยู่ ณ เชิงเขาเวภารบรรพต มีถ้ำ 2 ถ้ำตั้งอยู่ติดดิน ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ‘โสณภัณฑาคาร’
• ชีวกัมพวัน หมายถึง สวนมะม่วงของชีวก ที่หมอชีวกโกมารภัจจ์ถวายสวนมะม่วง เพื่อสร้างวัดถวายไว้ในพระพุทธศาสนา
• เหวที่ทิ้งโจร เป็นสถานที่ที่นางภัททาบุตรีราชคฤห์เศรษฐี ได้ผลักสามีผู้เป็นโจรทรยศที่คิดฆ่านาง ตกลงไปตาย ปัจจุบันสามารถขึ้นไปชมได้โดยบนยอดเขามี ‘สันติสถูป’ ที่พระสงฆ์ชาวญี่ปุ่นสร้างไว้
• มัททกุจฉิทายวัน เดิมเป็นสวนกวาง แต่พระเจ้าพิมพิสารทรงสร้างเป็นวัดถวายไว้ในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาพักที่วัดนี้ ตอนที่ถูกสะเก็ดหินจากหินก้อน ใหญ่ที่พระเทวทัตกลิ้งจากเขาคิชฌกูฏ ก่อนที่จะเสด็จไปรับการรักษาต่อที่วัดชีวกัมพวัน ปัจจุบันเหลือแต่ซากกองหินปรักหักพัง
นอกจากนี้ในเดือนตุลาคมของทุกปี จะมีการจัดงานเทศกาลระบำรำฟ้อนที่ราชคฤห์ ซึ่งจะมีการแสดงดนตรีและการเต้นรำย้อนยุคที่หลากหลาย
ปัจจุบัน ราชคฤห์ได้มี ‘วัดไทยสิริราชคฤห์’ ที่เพิ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๔๕ บนพื้นที่ ๙ ไร่ โดย ดร.พระมหาวิเชียร วชิรวํโส เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา
(จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 76 มี.ค. 50 โดย มหานาลันทา)