xs
xsm
sm
md
lg

ยืนๆ นั่งๆ ระวัง! ปวดหลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เคยสงสัยกันรึเปล่าคะว่า... ทำไมพอสูงวัยขึ้น แล้วโรคภัยมักมาเยือนได้ง่ายกว่าช่วงวัยอื่นๆ คงเพราะร่างกายคนเราเมื่อถูกใช้งานมากว่าครึ่งค่อนชีวิต ภาวะเสื่อมสภาพของอวัยวะต่างๆ ย่อมตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นเองค่ะ ไม่ว่าจะขยับเขยื้อนในอิริยาบถใด ก็พร้อมจะเจ็บป่วยกันได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะ ‘ปวดหลัง’ ภัยเงียบยอดนิยม(ไม่อยู่ในความต้องการ) ของผู้สูงวัยทั้งหลาย ที่คอยรุกรานความสุขทางกายอยู่ไม่เว้นวัน
เมื่อเกิดอาการเช่นนี้ ก็คงต้องสำรวจตัวเองกันหน่อยนะคะว่ามีท่าทางในกิจวัตรประจำวันใดๆ บ้าง ที่มักเป็นสาเหตุทำให้เราอยู่ในท่วงท่าที่ไม่ถูกต้อง อย่า! ประมาทเลยเชียวค่ะ เพราะอากัปกิริยาต่างๆ นี้ ถือเป็นต้นเหตุทำให้เอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณหลังต้องออกแรงยืด-หดมากเกินไป จนทำ ให้เกิดอาการปวดหลังขึ้นได้ค่ะ
ส่วนผู้สูงอายุท่านใดที่ยังข้องใจว่า... ทำไม? ในช่วงหนุ่ม-สาวกว่านี้ถึงไม่มีอาการปวดเกิดขึ้นทั้งๆ ที่ก็อยู่ในท่าทางเดียวกัน ขออธิบายว่า... กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและหมอนรองที่คอยยึดกระดูกสันหลังแต่ละข้อให้ติดกันและสามารถยืดหยุ่นได้เพื่อช่วยลดแรงกระแทกนั้น หากจะเปรียบไปก็คงเหมือนหนังสติ๊กค่ะ เหตุที่ไม่มีอาการปวดหลังมาก่อน เพราะกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นในขณะนั้นยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์จึงทนได้ โดยแรกๆ นั้นก็ยัง
ยืดและหดได้ดี แต่พอเริ่มสูงวัย เอ็น-กล้ามเนื้อเริ่มเสื่อมสภาพลง จะเปรียบไปก็คงไม่ต่างอะไรกับหนังสติ๊กที่ใช้งานไปนานๆ เมื่อยืดแล้วก็อาจจะไม่หด หรือหดแล้วก็อาจจะไม่ยืด จึงทำให้มีอาการ เจ็บปวดขึ้นได้ อาทิ อาการหลังค่อม ที่เกิดจากการ ค่อมหลังนานๆ แล้วไม่สามารถเหยียดคืนได้ ดังจะพบอยู่ทั่วไปค่ะ
สำหรับอาการปวดหลัง สามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ ขึ้นอยู่กับสภาพที่เกิดขึ้นว่ามากหรือน้อยเพียงใดค่ะ มีทั้งอาการปวดน้อยและเรื้อรัง เป็นอาการปวดเมื่อยทั่วๆ ไป ทำให้อยากบิดตัวอยู่เรื่อยๆ และเปลี่ยนท่าอยู่เสมอ แต่พอปวดมากเข้า จนอาจทนไม่ไหว ก็ต้องหายากิน อาการปวดจึงจะหายไปได้ หรือในบางรายก็มีอาการปวดมากและเฉียบพลัน เมื่อปวดหลังแล้ว หลังจะแข็ง กระดุกกระดิกไม่ได้เลย ต้องนอนนิ่งๆ แม้แต่พลิกตัวก็จะทำให้ปวดมากขึ้นได้ หรือในบางรายเกิดอาการรุนแรง อาจถึงขั้นหมอนรองกระดูกสันหลังแตกไป กดประสาท ทำให้ปวดร้าวมาที่ขาข้างใดข้างหนึ่งหรือสองข้างก็เป็นได้
ถึงตอนนี้ เมื่อเราพอรู้แล้วว่าสาเหตุของการปวดหลังเกิดจากอะไรบ้าง วิธีป้องกัน ก็ไม่ยากเกิน ไปค่ะ ดีกว่าปล่อยให้มีอาการมากๆ แล้วจึงค่อยไปรักษา เริ่มต้นจากการปรับท่าเดิน-นั่ง-นอน ในอิริยาบถต่างๆให้ถูกต้องเสมอ โดยเฉพาะการนั่งและเดินต้องหลังตรงไว้ก่อน ถือว่าปลอดภัยที่สุด อาทิ ขณะนั่ง หลังไม่ควรห่างพนักพิง ควรปรับให้พนักเก้าอี้ให้ทำมุมกับพื้นเก้าอี้ประมาณ 120 องศาและควรใช้หมอนหนุนให้แผ่นหลังแอ่นเล็กน้อย ขณะทำงานไม่ควรก้มหลังเมื่อต้องยกของขึ้น จากพื้น หรือถ้าจำเป็นต้องเข็นสิ่งของควรยืนด้านหลังสิ่งของเพื่อเข็นไปข้างหน้า ควรพักเท้าข้างหนึ่ง หากต้องยืนนานๆ และไม่ควรเขย่งเท้าขณะหยิบหรือยกของจากที่สูง
ขณะขับรถ ควรขยับที่นั่งมาข้างหน้าและเอนพนักเก้าอี้ขึ้นมาเล็กน้อย ขณะนอนราบควรนอนราบเอาหมอนหนุนเข่าเพื่อลดความดันภายในหมอนรองกระดูก เลี่ยงการหนุนหมอนที่สูงเกินไปและไม่ ควรนอนบิดตัว ที่สำคัญเมื่อต้องล้มตัวลงนอน ควรเริ่มจากท่านั่งบนขอบเตียงก่อน จากนั้นจึงค่อยๆ นอนตะแคงแล้วจึงนอนหงาย
สำหรับการนอนอีกหนึ่งท่วงท่าที่ผู้สูงอายุทุกท่าน ควรระวังเป็นพิเศษนั้น ต้องเริ่มจากการตรวจดูที่นอนเสียก่อนค่ะ อย่า!ให้นุ่มหรือแข็งจนเกินไป เพราะที่นอนที่นุ่มเกินไป เวลานอนหงายหลังจะโก่งค่ะ ทำให้เวลาตื่นขึ้นมาแทนที่จะสบายตัวกลับปวดหลังแทนได้ ส่วนที่นอนที่แข็งเกินไปก็จะทำให้เจ็บบริเวณกระดูกที่นูนออกมา เพราะการถูกกดทับนานๆ
ข้อแนะนำง่ายๆ เกี่ยวกับการนอนและที่นอนที่ เลือกใช้ เพื่อป้องกันการปวดหลัง ควรหมั่นสังเกต
ดูร่างกายของเราในเวลานอนบนที่นอนว่า อยู่ในท่าที่ปกติดีหรือไม่ ถ้าไม่ดีขอให้รีบปรับที่นอนเสียให้ถูกต้อง เพียงเท่านี้ก็จะช่วยยืดอายุการใช้งานกระดูกสันหลังของเราได้แล้วค่ะ
ขั้นตอนการรักษา ที่เห็นว่าสำคัญที่สุดนั่นคือ ความเอาใจใส่ของตัวเราเองค่ะ เหตุที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ก็เพราะถ้าไม่เริ่มเอาใจใส่ในสุขภาพ ของตัวเองแล้วต่อให้มีหมอวิเศษหรือยาดีเพียงใด ก็คงจะไม่หายขาดจากอาการเจ็บป่วยไปได้แน่นอน ซึ่งหากเป็นอาการปวดหลังเพียงเล็กน้อย ในระยะแรกๆ ให้เริ่มต้นรักษาอาการผิดปกติด้วยการ จัดท่าทางการยืน-นั่ง-นอน ให้ถูกต้องเสียก่อน
จากนั้นถ้าอาการปวดรุนแรงจนถึงขั้นปวดจนทน ไม่ได้ ในเบื้องต้นให้กินยาพาราเซตามอลช่วยลดปวด ไปก่อน และควรนวดประคบบริเวณหลังที่ปวดด้วย ความร้อนควบคู่กันไป โดยใช้กระเป๋าน้ำร้อนหรือใช้ สมุนไพรจากภูมิปัญญาชาวบ้านอังไฟให้ร้อน แล้วประคบวันละ 1-2 ครั้ง ครั้งละ 10-20 นาที ติดต่อกันประมาณ 5-6 วันอาการจึงจะดีขึ้น หรือถ้าผู้สูงอายุบางท่านยังรู้สึกปวดจนหลังแข็ง หรือปวดร้าวและชาไปตามขา ก็ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วนค่ะ
หวังว่า...อาการปวดหลังจะบรรเทาได้ ไม่กลับมาเยือนคุณผู้อ่านไปอีกนาน เพราะทุกคนรู้จักป้องกันตัวเองกันแล้วตั้งแต่วันนี้ค่ะ

(หมายเหตุ : ข้อมูลจาก ส่วนอนามัยผู้สูงอายุ สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข)

(จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 75 ก.พ. 50 โดยอันดาภา)
กำลังโหลดความคิดเห็น