เรื่องราวแม่ผัว(ซึ่งส่วนใหญ่คือแม่พระเอก) ลูกสะใภ้ (ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ นางเอก) ด่ากันมันสะใจ ตามแบบฉบับละครไทยที่เรียกกันว่า ‘น้ำเน่า’ แต่เรตติ้งดีระเบิดแทบทุกเรื่องที่ยุคไหนสมัยไหนก็ได้รับความนิยมแบบนี้ไม่มีเสื่อมคลาย ล่าสุดละครดังช่อง 3 ที่ออกอากาศทุกวันจันทร์-อังคาร หลังข่าวภาคค่ำ 20.30น. เรื่อง ‘บัวปริ่มน้ำ’ บทประพันธ์ของ ‘อาริตา’ ลีลาก๋ากั่นของลูกสะใภ้ ที่นำแสดงโดย ‘เข็ม’ รุจิรา ช่วยเกื้อ ตีบทแตกกระจุยลุยแม่ผัว นางเอกที่ไม่ได้มีภาพสดใสซื่อ บริสุทธิ์ เหมือนนาง เอกดาวพระศุกร์ มาเจอนักแสดงแม่ผัวสุดแสบ ‘นก’ จริยา แอนโฟเน่ ที่กีดกันลูกชาย ไม่ให้คบหากับนางเอก ซึ่งแสดงโดยพระเอก
ดาวรุ่งช่อง 3 ‘ปอ’ ทฤษฎี สหวงษ์ หนุ่มหน้า ละอ่อนที่ไปตกหลุมรักนางเอกนักขายมืออาชีพหน้าตาดี เซ็กซี่เข้าอย่างจัง โดย เรื่องนี้แม่ผัวลูกสะใภ้ห้ำหั่นกันตั้งแต่ต้นเรื่อง จนถึงเกือบท้ายเรื่องทีเดียว
ความเข้มข้นของละครเรื่องนี้ไม่ได้มีแค่คำพูดจาประชดประชันหรือตบกันสนั่นจอ แต่กลับแฝงแง่คิดต่างๆนานาไว้มากมาย ถ้าใครดูกันตั้งแต่ตอนแรกก็จะเห็นว่าสาเหตุแท้จริงที่แม่ผัวกับลูกสะใภ้โกรธ เกลียด อาฆาต กันนั้น สาเหตุมาจากการไม่รู้ความจริง การไม่เปิดใจยอมรับสิ่งผิดพลาดในอดีตที่นางเอกอย่าง ‘ผกาลิน’ พบเจอมา ซึ่งตัวเธอเองก็ไม่เคยรับรู้ว่าชายที่ตนมีความสัมพันธ์ด้วยนั้นมีลูกมีเมียอยู่แล้ว กะจะมาเริ่มต้นรักที่ดีกับพระเอกทั้งที แม่ผัวก็ดันไปเห็นภาพที่นอนซบชายอีกคนที่กำลังจะตาย โดยหารู้ไม่ว่าการโอบกอดของ หญิงชายบางครั้งก็หาใช่ด้วยพิศวาสในเชิงชู้สาวไม่ ตั้งแต่นั้นมาแม่ผัว ซึ่งในเรื่องชื่อ ‘เครือมาศ’ ก็ตั้งแง่เกลียดนางเอกมาตลอด อ้างว่าทำตัวสำส่อน มั่วผู้ชาย จึงขัดขวางความรักของ ‘ผกาลิน’ และ ‘คธา’ ทุกวิถีทาง
ทุกซีน ทุกฉาก ทั้งแม่ผัวลูกสะใภ้เอา ชนะกันด้วยความโกรธ ความเกลียด และใช้อารมณ์สุดๆ เรียกว่าคนดูติดกันงอมแงม ถูกใจทั้งแม่ผัวที่นั่งดูอยู่ทางบ้าน ตื่นตัวทั้งลูกสะใภ้ที่สรรหาวิธีมาตอบโต้แบบมันหยดติ๋งกันเลยทีเดียว แต่ใช่ว่าแม่ผัวจะจิกหัวด่า ได้ฝ่ายเดียวเท่านั้น ลูกสะใภ้ก็ขยันหาเรื่อง เจ้าคิดเจ้าแค้น เอาคืนแม่ผัวสารพัดวิธีไม่แพ้กัน น้ำมันกับไฟอย่างไรอย่างนั้น ยอมโดนตบตีทำร้ายเพื่อให้ลูกชายเข้าใจแม่ตัวเองผิด ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้การแก้แค้นสำเร็จ (นางเอกหรือนางร้ายก็แยกแยะไม่ถูกเหมือนกัน) เรียกว่าจำลองชีวิตแม่ผัวลูกสะใภ้ได้ครบรสทีเดียว รัก แค้น อาฆาต ตบตี สาดน้ำกรด สาปแช่ง มีหมดทุกรูปแบบ จนไม่รู้ว่าในชีวิตจริงถ้ามีคนแบบนี้จะเอาเวลาที่ไหนไปมีความสุข เพราะหวาดระแวงกันเองตลอดเวลา แม่ผัวลูกสะใภ้แตกสามัคคีกันตั้งแต่ก่อนเข้ามาอยู่ในบ้าน ต่างฝ่ายต่างต้องการเอาชนะโดยใช้อารมณ์กันแทบทั้งสิ้น
แม่ผัวถึงขั้นจ้างลูกสะใภ้ด้วยเงินจำนวน มหาศาล ถึง 30 ล้านบาท เพื่อให้เลิกกับลูกชายตัวเองเพียงเพราะว่าลูกสะใภ้เคยมีสามีมาแล้ว และคิดว่าชอบแย่งสามีคนอื่น แต่ท้ายที่สุดความดีและความรักของพระเอกก็เอาชนะทุกสิ่งได้ เมื่อผกาลินอยากแก้แค้น แม่ผัวเท่าไหร่ คธาก็ยิ่งรักเธอมากเท่านั้น แม้จะโกหกคนอื่นว่าเหมือนเธอไม่ได้รักคธา แต่ก็โกหกหัวใจตัวเองไม่ได้ ร้ายกับแม่เขาเท่าไหร่ ลูกชายกลับรักเธอมากขึ้นเป็นทวีคูณ
ตอนจบของละครเรื่องนี้แม่ผัวที่คอยกีดกันลูกชายท้ายที่สุดก็ต้องลงเอยด้วยการ มองทุกอย่างแบบเป็นกลาง แม้จะดีกันไม่ได้ ลูกสะใภ้แม้มิใช่ลูกตัวเองแต่ก็คือคนที่ลูกรัก แม่ผัวก็ต้องยอมลูกสะใภ้ ปล่อยให้ใช้ชีวิตคู่กัน ซึ่งสะท้อนว่าพ่อแม่ทุกคนรักลูกทั้งนั้น
ดูละครเรื่องนี้แล้วได้แง่คิดในมุมกลับว่า แทนที่จะให้เงินมากมายมหาศาลจ้างลูกสะใภ้ แล้วเปลี่ยนเป็นให้อย่างอื่นเสีย ‘การให้’ ในทีนี้คือการ‘ให้อภัย’เสียบ้าง เรื่องราว วุ่นๆ ก็คงจะไม่เกิดแน่ๆในชีวิตจริง
การให้อภัยเป็นหนึ่งในการให้ ที่มีค่ายิ่ง คนเราเกิดมาบางคนรวยมากก็มีกำลังทรัพย์พอที่จะจุนเจือช่วยเหลือคนอื่น นั่นคือ การให้ทานด้วยสิ่งของ บางคนเกิดมาใฝ่ธรรม ชอบให้ข้อคิด นั่นก็เป็นทานอีกข้อหนึ่งที่ดีเลิศ ส่วนใครที่เกิดมาไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองออกมา ไม่ได้ร่ำรวย ก็อย่าไปน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะเราก็ให้ได้เหมือนกัน นั่นคือให้อภัย ซึ่งนับว่าเป็นทานข้อที่ไม่ต้องพึ่งพาเงินทอง ไม่ต้องพึ่งพาใครเลย แค่ใจเราไม่อาฆาตพยาบาท ไม่หมกมุ่นแก้แค้น ให้โอกาสใครสักคน ก็คือทานที่มีอานิสงส์มหาศาลแล้ว
‘บัวปริ่มน้ำ’ สะท้อนภาพนางเอกที่ลึกๆแล้วคือคนจิตใจดีคนหนึ่ง เพียงแต่ชอบทำอะไรวูบไหวไปตามอารมณ์ตัวเองเท่านั้น เป็นแค่บัวปริ่มน้ำ ยังไม่ใช่บัวใต้น้ำหรือติดอยู่ใต้โคลนตม เพราะเธอเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ ประกอบอาชีพด้วยความสุจริต และรับรู้ถึงความรู้สึกผิดชอบชั่วดีได้ในตอน ท้าย เป็นเพียงบัวปริ่มน้ำเท่านั้น รอคอยวันที่จะโผล่พ้นน้ำ และสิ่งที่ทำให้เธอโผล่พ้น น้ำได้ คือความดีที่พระเอกทำให้กับเธอ และความรักอย่างบริสุทธิ์ใจที่มีให้เธอ (ว่าแล้ว ความดีชนะทุกอย่าง)
เหมือนที่พระพุทธเจ้าทรงบรรลุธรรมได้ตรัสรู้หลังจากที่เกิดการท้อกับการแสดงธรรมต่อบุคคลหลายประเภท พระองค์จึงได้ ข้อสรุป และทรงเห็นว่าแท้ที่จริงแล้วโลกนี้มีคนอยู่หลายจำพวก จึงจัดแบ่งคนออกเป็น บัว 4 เหล่า บางพวกสอนได้ บางพวกสอนไม่ได้
บัวจำพวกแรกคือ ‘อุคฆฏิตัญญู’ พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้และเข้าใจได้รวดเร็ว เปรียบเสมือนบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานได้ในทันที
บัวจำพวกที่สอง ‘วิปจิตัญญู’ คือพวกที่มีสติปัญญาปานกลาง ฟังธรรมแล้วพิจารณา ตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม จะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำซึ่งจะบาน ในวันถัดไป
บัวจำพวกที่สาม ‘เนยยะ’ คือพวกที่มีสติปัญญาน้อย เมื่อได้ฟังธรรม แล้วพิจารณาตาม และได้รับการอบรมอยู่สม่ำเสมอ ต้องอาศัยความขยันหมั่นเพียร ก็จะสามารถเข้าใจได้ เปรียบเสมือนบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อยๆโผล่ขึ้นมาเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง
บัวจำพวกที่สี่ ‘ปทปรมะ’ พวกที่ไร้สติปัญญา แม้ได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ไร้ซึ่งความเพียร เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม จะต้อง ตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้น มาเบ่งบานเหนือน้ำ
หากวันนี้ใครยังเป็น ‘บัวปริ่มน้ำ’ (เหมือนนางเอก) ก็ยังถือว่าไม่สาย ลดความอาฆาต พยาบาท เคียดแค้น ชิงชัง ออกจากใจเสีย บ้าง ไม่นานบัวก็จะบานชูช่อพ้นน้ำขึ้นมาหยอกล้อแสงอาทิตย์ได้อีกแน่ๆ แสงอาทิตย์ มีไว้รอดอกบัวทุกช่อ มันอยู่ที่ว่าดอกบัวจะโน้มต่ำไปหาโคลนตมหรือจะมุ่งหาสิ่งใด แต่เชื่อว่าบัวที่โผล่พ้นน้ำมาแล้วไม่มีทางวนกลับสู่โคลนตมอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับคนที่มีสติ มีศีลธรรมประจำใจ จะทำการสิ่งใดก็ต้องรอบคอบและอยู่ในกรอบของคุณงามความดีเสมอ ไม่เดินไปในทางหายนะ ฉันใดก็ฉันนั้น...
(จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 75 ก.พ. 50 โดย ศุพัศจี)