xs
xsm
sm
md
lg

สิ่งที่เป็นเหตุใกล้ให้เกิดขณิกสมาธิก็คือความสุขแต่เป็นความสุขอันเกิดจากการมีสติไประลึกรู้สภาวะของอารมณ์ปรมัตถ์คือรูปนามเข้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

4.5.2 สัมมาสมาธิสำหรับวิปัสสนายานิก

ผู้เป็นวิปัสสนายานิกแม้มีสัมมาสมาธิในระดับขณิกสมาธิก็สามารถเจริญวิปัสสนาได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องทำความสงบลึกในระดับอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิเหมือนผู้เป็นสมถยานิก ที่ต้องทำความสงบลึกเสียก่อน จึงค่อยเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานหรือเวทนานุปัสสนาสติ-ปัฏฐาน อันเป็นกรรมฐานที่เหมาะกับผู้มีตัณหาจริตหรือคนโลภมาก ทั้งนี้ กรรมฐานที่เหมาะกับวิปัสสนายานิกหรือผู้ที่เจริญสติเจริญปัญญาไปเลย โดยไม่ต้องทำฌานก่อน ได้แก่ จิตตานุปัสสนาสติ-ปัฏฐานหรือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันเป็นกรรมฐานที่เหมาะกับผู้มีทิฏฐิจริตหรือคนคิดมากนั่นเอง

ขณิกสมาธิเป็นสมาธิที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ ไม่ตั้งอยู่นาน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วพร้อม กับจิตและสติทีละขณะๆ เป็นสมาธิที่จำเป็นที่สุดสำหรับการเจริญวิปัสสนา เพราะเป็นความตั้งมั่น ของจิตชั่วขณะที่สติเกิดไประลึกรู้สภาวะของรูปหรือนามเข้า ทำให้ (1) จิตไม่หลงคลาดเคลื่อนไปจากอารมณ์รูปนาม ในขณะเดียวกันก็ (2) ไม่หลงเพ่งรูปนาม แต่ (3) ทำให้จิตสักว่าระลึกรู้รูปนามตามความเป็นจริงเท่านั้น

การที่จิตสักว่าระลึกรู้รูปนามตามความเป็นจริงมากเข้าๆ เป็นทางให้เกิดปัญญาคือเกิดความรู้ความเข้าใจรูปนามตรงตามความเป็นจริง ซึ่งหาก ขาดขณิกสมาธิเสียแล้ว ถ้าจิตไม่เผลอหรือคลาดเคลื่อนไปจากอารมณ์รูปนามอันเป็นปัจจุบันทำให้รู้รูปนามไม่ได้ ก็ต้องเพ่งรูปนาม ทำให้รูปนามแข็งทื่อ ผิดความจริงไม่สามารถแสดงไตรลักษณ์ให้จิตเห็นได้

สิ่งที่เป็นเหตุใกล้ให้เกิดขณิกสมาธิก็คือความสุขเช่นเดียวกับเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิอื่นๆนั่นเอง แต่ความสุขอันเป็นเหตุใกล้ของขณิกสมาธิ กลับไม่ได้เกิดจากการมีสติไประลึกรู้อารมณ์บัญญัติดังที่ใช้ในการทำให้เกิดอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ แต่เป็นความสุขอันเกิดจากการมีสติ ไประลึกรู้สภาวะของอารมณ์ปรมัตถ์คือรูปนามเข้า กล่าวให้เข้าใจง่ายๆ ขณิกสมาธิก็คือสมาธิที่เกิดขึ้น ร่วมกับสัมมาสตินั่นเอง ถ้ามีสัมมาสติเมื่อใด ก็มีขณิกสมาธิเมื่อนั้น เรื่องนี้จะได้กล่าวเพิ่มเติมในหัวข้อถัดไป

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/
จิตที่มีสติคุ้มครองย่อมมีความสุข)
กำลังโหลดความคิดเห็น