xs
xsm
sm
md
lg

โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ สังคมที่มีแต่ ‘ให้’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ขณะที่ผู้ปกครองในยุคดิจิตอลพยายามดิ้นรน หาโรงเรียนสอนพิเศษในวันหยุด เพื่อหวังสร้างให้ลูกหลานของตัวเองเป็นยอดอัจฉริยะฉลาดเป็นเลิศ พูดภาษาอังกฤษคล่องเหมือนเจ้าของภาษา สามารถบวกเลขได้ไวแข่งกับเครื่องคิดเลข ฯลฯ
แต่ก็มีผู้ปกครองกลุ่มเล็กๆ ที่มีความฝันเพียงแค่ให้ลูกเป็นคนดี มีศีลธรรม และเป็นเด็กที่มีสัมมาคารวะตามแบบวัฒนธรรมไทยที่ดีเท่านั้น
.......
“นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ.......” เสียงเด็กเล็กสวดมนต์แว่วมาจากห้องเรียนของโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดมหาธาตุ กทม. โดยมีพระอาจารย์ยืนสำรวมอยู่หน้าชั้น เป็นภาพที่คุ้นตามานานกว่า 48 ปีแล้ว
เด็กชายหญิงกว่าสามหมื่นคนที่ผ่านการศึกษาจากโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์มาแล้ว แม้ว่าจะไม่ ได้มีใครโดดเด่นเป็นพิเศษในวงสังคม แต่เด็กทุกคนที่ผ่านการเล่าเรียนธรรมะจากที่นี่ ต่างก็ได้รับคำชมเชยจากผู้ปกครอง รวมถึงคนรอบด้านในเรื่องของการมีสัมมาคารวะและอยู่ในศีลในธรรม
และที่แห่งนี้คือแหล่งที่พึ่งของบรรดาผู้ปกครองจำนวนหนึ่งที่มีฐานะปานกลาง ไม่มีกำลังทรัพย์พอที่จะส่งเสียให้ลูกได้เรียนกวดวิชาในสถาบันดีๆแพงๆ พวกเขาจึงหันมาส่งลูกหลานเข้าเรียนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ซึ่งนอกจากจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาแล้ว ยังได้ความรู้ด้านวิชาการควบคู่ไปอีกด้วย

กำเนิดโรงเรียนพุทธศาสนาฯ
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2500 พระพิมลธรรม (อาจ อาสภมหาเถร) สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ได้เดินทางไปดูกิจการพระพุทธศาสนาที่ประเทศพม่าและศรีลังกา ท่านได้เห็นเยาวชนของประเทศเหล่านั้นใส่ชุดขาวไปวัดในวันอาทิตย์ โดยมีพระสงฆ์ในประเทศเหล่านั้นจัดการเรียนการสอนให้แก่เยาวชน
ท่านเห็นภาพเหล่านั้นแล้วก็เกิดความประทับใจอยากจะให้เยาวชนไทยได้เรียนรู้เช่นนั้นบ้าง เมื่อกลับมาจึงได้ปรารภให้แก่พระสงฆ์ในวัดได้รับทราบ
สมัยนั้นที่วัดมหาธาตุจะมีประชาชนมาฟังเทศน์ฟังธรรมที่วัดทุกวันอาทิตย์อยู่แล้ว ซึ่งผู้ปกครองหลายคน ที่มาก็จะนำลูกหลานมาด้วย ขณะที่ผู้ใหญ่ฟังเทศน์ฟังธรรมจากพระ บรรดาเด็กๆ ก็วิ่งเล่นอยู่แถวนั้น พระอาจารย์ก็จับเด็กมาเล่าพุทธประวัติให้ฟังบ้าง เล่าเรื่อง ธรรมะบ้าง ก็มีเด็กมาเรียนมาฟังเยอะขึ้นเรื่อยๆ
“ทางเราก็เลยคิดที่จะเปิดโรงเรียนสอนเด็กในวันอาทิตย์ให้เป็นเรื่องเป็นราวบ้าง จึงตั้งเป็นชมรมผู้ปกครองขึ้น ในช่วงแรกก็มีคนสนใจเข้าเรียนเป็นพันคน ต่อมาเราต้องขยายสาขาโรงเรียนสอนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ออกไปทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด” พระอาจารย์ธวัชชัย ซึ่งเป็นพระอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้มานานกว่า 22 ปีเล่าปฐมบทของการตั้งโรงเรียนแห่งนี้ขึ้น
โรงเรียนสอนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจึงถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2501 และ ถือเป็นโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์แห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งขึ้นตรงกับแผนกธรรมวิจัย จุดมุ่งหมายของการเปิดโรงเรียนแห่งนี้ขึ้นมาก็เพื่อให้การศึกษาอบรมศีลธรรมแก่กุลบุตรกุลธิดาให้ความรู้ด้านพระพุทธศาสนา ปัจจุบันโรงเรียนสอนพุทธศาสนาวันอาทิตย์มี สาขาถึง 170 แห่งทั่วประเทศซึ่งใช้หลักสูตรเดียวกัน

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) ผู้ประสาทหลักสูตรฯ
หลักสูตรการเรียนการสอนนั้นมีท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เป็นผู้ร่างหลักสูตรขึ้นตั้งแต่ครั้งที่ท่านยังจำวัดอยู่ที่วัดมหาธาตุฯ และหลักสูตรนี้ก็ได้ริเริ่มใช้ตั้งแต่เริ่มต้นและใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้โดยไม่มีการปรับเปลี่ยน ซึ่งวิชาหลักที่สอนคือ ธรรมะ พุทธประวัติ สมาธิกรรมฐาน นอกจากนี้ก็มีกิจกรรมเสริมในภาคบ่ายเพื่อให้นักเรียนได้เลือกเรียนตามความชอบ อาทิ ดนตรีไทย นาฏศิลป์ ภาษาจีน ภาษาฝรั่งเศส เป็นต้น
โดยจะแบ่งระบบการศึกษาเป็น 3 ระดับคือ ป.1- 3, ป.4-6, ม.1-3 ซึ่งจะมีการวัดผลโดยตัดเกรดมาตั้งแต่เริ่มทำการสอนเมื่อ 48 ปีก่อนแล้ว
“ตอนวางหลักสูตรของโรงเรียนแห่งนี้ ท่านพระพรหมคุณาภรณ์มองการณ์ไกลมาก เราจะวัดผลเป็นระบบหน่วยกิตหรือตัดเกรดมานานแล้ว และสิ่งที่ท่านเน้นคือการใช้ธรรมะสอนเพื่อช่วยขัดเกลาจิตใจของเด็ก” พระอาจารย์ธวัชชัยกล่าว
ทุก 8 โมงเช้าของวันอาทิตย์บริเวณด้านหน้าของโรงเรียนจะเต็มไปด้วยบรรดาเด็กชายหญิงนักเรียนทุกชั้นเรียนอยู่ในชุดขาว/ชมพู เพื่อเข้าแถวอยู่ที่หน้าโรงเรียน พร้อมกับสวดมนต์ ตามด้วยร้องเพลงมาร์ชของโรงเรียนอย่างพร้อมเพรียงกัน จากนั้นก็เป็นการให้ โอวาทโดยพระอาจารย์ และทุกครั้งที่จะทำการกราบพระเด็กทุกคนจะท่องจำขึ้นใจว่า “อัญชลี-วันทา- อภิวาท” ก่อนที่จะแยกย้ายกันเข้าห้องเรียน
และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ก่อนพระอาจารย์จะสอนทุกครั้งเด็กจะต้องสวดมนต์อาราธนาศีล พร้อมกับนั่งสมาธิ 5-10 นาที และเมื่อเรียนจบแต่ละวิชาแล้ว เด็กๆ จะต้องสวดมนต์และนั่งสมาธิอีกครั้ง
สำหรับบุคลลากรที่จะมาสอนนั้น แต่เดิมก็ให้บุคคลภายนอกมาช่วยสอน แต่มีผู้ปกครองหลายคนเสนอแนะว่าที่นำบุตรหลานมาเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ ก็เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสใกล้ชิดกับพระมากขึ้น ทางโรงเรียนจึงปรับนโยบายให้พระมาสอนทุกวิชา ยกเว้นการเรียนภาคบ่ายซึ่งเป็นกิจกรรมเสริม จะเป็นฆราวาสอาสาสมัครมาช่วยสอนให้

จรรยานำวิชาการ
“เป้าหมายประการหนึ่งที่บรรดาผู้ปกครองส่งลูกหลานมาฝึกอบรมกับเราคือต้องการให้ลูกมีมรรยาทและมีสัมมาคารวะ มากกว่าที่จะเน้นเรื่องวิชาการ” พระอาจารย์ธวัชชัยกล่าวถึงเป้าหมายหลักของโรงเรียนสอนพุทธศาสนาวันอาทิตย์แห่งนี้
ซึ่งนโยบายหลักของการตั้งโรงเรียนแห่งนี้ตั้งแต่เริ่มแรกคือ ‘จรรยานำวิชาการ’ ดังนั้นการเรียนการสอน จึงไม่เข้มงวดในเรื่องวิชาการมากนัก แต่จะเน้นหนักไป ทางด้านศีลธรรม จริยธรรม การประพฤติปฏิบัติตัวให้งดงามตามอย่างวัฒนธรรมไทย รวมถึงการกตัญญูต่อบุพการี
วิธีการสอนของพระอาจารย์แต่ละรูปจึงเน้นไป สอนเรื่องคติธรรมที่เป็นประโยคสั้นๆ เพื่อให้เด็กท่องจำและเข้าใจง่ายขึ้น เพื่อหวังว่าจะช่วยขัดเกลาจิตใจดวงน้อยๆ ของเด็กในวันนี้ให้เป็นคนดีในวันข้างหน้าได้
หลักการนี้ไปโดนใจผู้ปกครองหลายคนที่ตั้งเป้าหมายในชีวิตของลูกน้อยเพียงให้เป็นคนดีของสังคม ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข และมีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ ผู้ปกครองหลายคนดีใจเมื่อลูกเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีหลังจากที่เข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ได้เพียงปีแรกเท่านั้น
“นอกจากนี้เรายังเน้นเรื่องความเคารพรักและกตัญญูต่อพ่อแม่ อย่างเช่นตอนกลางวันทางโรงเรียน จะมีอาหารกลางวันให้กินฟรีทั้งผู้ปกครองและเด็ก โดยรอบแรกจะให้เด็กไปเข้าแถวเพื่อรับอาหารมาให้ตัวเองก่อน จากนั้นก็ให้ไปเข้าแถวอีกรอบเพื่อนำมาให้ผู้ปกครอง เราจะได้เห็นภาพพ่อแม่ลูกนั่งกินข้าวกลางวันกันอย่างอบอุ่น เพราะเราคิดว่าในวันธรรมดาผู้ปกครอง ก็ต้องยุ่งกับการทำงาน บางครอบครัวไม่มีโอกาสกินข้าวพร้อมหน้ากันตลอดอาทิตย์ พอถึงวันอาทิตย์เมื่อนำลูกมาเรียนกับเรา เราจึงสร้างบรรยากาศอบอุ่นให้ครอบครัวได้กินข้าวกันพร้อมหน้าบ้าง” พระอาจารย์ธวัชชัยกล่าวเสริม
ในสภาพสังคมยุคเกมคอมพิวเตอร์แทรกซึมไปสู่สังคมของเด็กๆ ส่งผลให้เด็กเป็นจำนวนมากติดเกมและมีสมาธิสั้นลง มีความอดทนน้อยลง โรงเรียนแห่งนี้จึงกลายเป็นที่พึ่งสำหรับพ่อแม่กลุ่มหนึ่งที่ต้องการใช้ธรรมช่วยให้ลูกมีสมาธิดีขึ้น
“ผู้ปกครองหลายคนบอกเจตนาที่นำลูกมาเรียนเพราะลูกสมาธิสั้นเนื่องจากติดเกมคอมพิวเตอร์ เด็กพวกนี้จะมีความอดทนน้อยลงไปเรื่อยๆ ทางเราก็จะใช้ การสวดมนต์ ฝึกนั่งสมาธิ และสอนว่าทำอะไรให้เขาใช้สติและปัญญาในการแก้ปัญหา” พระอาจารย์ธวัชชัยกล่าว

สังคมที่มีแต่ ‘ให้’
การส่งบุตรหลานมาเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้แทบจะไม่มีค่าใช้จ่ายเลย สิ่งที่ผู้ปกครองต้องจ่ายเงินก็มีเพียงอุปกรณ์การเรียน อาทิ สมุด หนังสือ ที่พระอาจารย์จัดทำกันเองและจำหน่ายในราคาถูก ส่วนอาหารกลางวันจะมีประชาชนที่มีจิตศรัทธาบริจาคให้
และที่สำคัญคือพระอาจารย์กว่า 10 รูปที่สอนนั้นก็ไม่มีเงินเดือนเหมือนอาจารย์ทั่วไปหรืออาจารย์สอน พิเศษตามสถาบันชื่อดัง แต่ละรูปได้รับเพียงค่าพาหนะสำหรับเดินทางมาสอนซึ่งเป็นจำนวนเงินเพียงน้อยนิดเท่านั้น
ส่วนอาจารย์พิเศษที่มาสอนในช่วงบ่าย ซึ่งมีทั้งอาจารย์นาฏศิลป์ที่มาสอนการรำและอาจารย์ดนตรีไทยนั้น ก็เป็นศิษย์เก่าที่เคยเรียนจากโรงเรียนแห่งนี้ และทุกคนก็ไม่ได้รับเงินค่าจ้างเช่นกัน แต่มาสอนด้วยใจรักจริงๆ
สำหรับงบประมาณประจำปีของการดำเนินงานของโรงเรียนสอนศาสนาวันอาทิตย์แห่งนี้ใช้ปีละล้านกว่าบาท ซึ่งส่วนหนึ่งได้จากงบประมาณของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ส่วนที่เหลือได้รับจากน้ำใจของบุคคลทั้งภายในและภายนอก
นอกจากผู้ปกครองจะไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนแล้ว ในแต่ละปีทางโรงเรียนยังมีการแจกทุนการศึกษาให้สำหรับเด็กที่ความประพฤติดี ทุนสำหรับเด็กที่ขยันหมั่นเพียรมาเรียนไม่เคยขาด เป็นต้น
สำหรับชีวิตที่อยู่ในร่มกาสาวพัสตร์กว่า 20 พรรษาของพระอาจารย์ธวัชชัย และเวลาที่มีอยู่ก็อุทิศให้กับการเผยแผ่พุทธศาสนาให้แก่เยาวชนผ่านโรงเรียนสอน พุทธศาสนาวันอาทิตย์ สิ่งที่พระอาจารย์ตั้งความหวังจากความพากเพียรคือ
“แรกๆ ก็รู้สึกว่าทำแล้วได้กุศล จึงได้ทุ่มเททำงาน ทุกวันกว่าจะเสร็จงานก็ 5 ทุ่มเกือบทุกคืน มีความสุข ในการให้ เวลาไปสอนเด็กก็หวังว่าอย่างน้อยพวกเขาจะได้คิดเมื่อตอนโตก็ถือว่าสำเร็จแล้ว เพราะตอนนี้พวกเขายังเด็กอยู่ ธรรมะก็เหมือนเกลือ จะแกงเมื่อไหร่ ถ้าแกงไม่จืดก็ไม่ต้องใส่เกลือ แต่ถ้าแกงแล้วจืดก็จะเรียกหาเกลือ”
นางพิมพร เจืออุปถัมภ์
นานาทัศนะจากผู้ปกครอง
การที่จะต้องตื่นขึ้นมาแต่เช้าตรู่ ซึ่งเป็นวันหยุดเพียงวันเดียวในรอบสัปดาห์ของผู้ปกครองหลายคน เพื่อที่จะพาลูกมาเรียนโรงเรียนสอนพุทธศาสนาวันอาทิตย์นั้น ถื่อเป็นเรื่องยากลำบากที่จะกระทำได้อย่าสม่ำเสมอ แต่ผู้ปกครองกลุ่มหนึ่งก็พยายามจะสลัดความเกียจคร้านและความเหน็ดเหนื่อยเพื่ออนาคตของลูก
เบื้องหลังของความมุ่งมั่นนั้นแต่ละคนมีเหตุผลเช่นไร ลองมาฟังทัศนะจากผู้ปกครองกันดู

• นางพิมพร เจืออุปถัมภ์ คุณแม่ของ ด.ช.พุฒิพงษ์ บอกว่าตนเองมีลูกเมื่ออายุมากแล้วและเป็นลูกชายเพียงคนเดียวเท่านั้น “เราไม่ได้ตั้งความหวังให้ ลูกเรียนเป็นเลิศอะไรหรอก เพียงแต่อยากให้ลูกหลีก เลี่ยงอบายมุขได้ เลยอยากให้เขาอยู่ใกล้ธรรมะ” ด.ช.พุฒิพงษ์ มาเรียนที่นี่ได้ 3 ปีแล้ว จากเด็กที่ฝักใฝ่เรื่อง ธรรมะมาตั้งแต่เล็กๆ และเมื่อมีโอกาสได้เรียนใกล้ชิด พระ ทำให้เขาสนใจใฝ่ศึกษาธรรมะมากขึ้นจนถูกเพื่อนๆ ตั้งฉายาว่า ‘ท่านมหา’
นางยุพาพร นามสุดตา
• นางยุพาพร นามสุดตา คือแม่ของน้องมายด์ และน้องพลอย ก็เป็นคนหนึ่งที่นำลูกสาวทั้ง 2 คนมาเรียนได้ปีกว่าแล้ว ซึ่งคุณแม่ยุพาพรเปิดเผยว่าลูก ทั้ง 2 มีความสุขและสนุกที่ได้มาเรียนที่นี่โดยเฉพาะการเรียนนาฏศิลป์ โดยขณะนี้น้องมายด์ลูกสาวคนโตสอบนักธรรมตรีได้แล้ว แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดหลังจากลูกสาวทั้ง 2 คนได้รับคือการมีกริยามารยาทที่ดีขึ้น มีสัมมาคารวะผู้ใหญ่
นางอัญชลี แก้วสุวรรณ
• นางอัญชลี แก้วสุวรรณ คุณแม่น้องเพ่ย-เพ่ย บอกถึงสาเหตุที่ส่งลูกมาเรียนว่าไม่อยากให้ลูกใช้เวลาว่างหมดไปกับการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ “ประทับใจเมื่อวันแม่ที่โรงเรียนจัดกิจกรรม พอพระอาจารย์พูดถึงพระคุณของพ่อแม่ เพ่ย-เพ่ยฟังแล้วก็ร้องไห้ออกมา แสดงว่าเด็กคิดตามคำสอนของ พระในเรื่องการกตัญญูต่อพ่อแม่”
นางจินดา ปิ่นเกษร
• นางจินดา ปิ่นเกษร คุณแม่ของน้องต้า นำลูกชายคนเดียววัย 6 ขวบมาเรียนได้หนึ่งปีแล้ว จากความที่อยากให้ลูกมีสมาธิในการเรียนมากขึ้น แม้จะยังไม่บรรลุถึงความตั้งใจ แต่น้องต้าก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นจากเดิมมาก พูดจามีหลักการเหตุผลมากขึ้น และทุกคืนน้องต้าจะต้องไปกราบพระและสวดมนต์ ก่อนนอน

(จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 74 ม.ค. 50 โดย ปาณี)
กำลังโหลดความคิดเห็น