ในเทศกาลปีใหม่ 2550 นี้ ผู้เขียนขอหยิบยกภาพยนตร์เรื่อง Happy Feet หรือในชื่อภาษาไทยว่า ‘เพนกวินกลมปุ๊ก ลุกขึ้นมาเต้น’ ซึ่งเข้าฉายในบ้าน เราเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว และทำรายได้อันดับ 1 ใน อเมริกาติดต่อกัน 4 สัปดาห์ มาเล่าสู่กันฟัง เพราะ Happy Feet เป็นหนังที่สามารถดูได้ทั้งครอบครัว แถมมีสาระเหมาะแก่การสอนให้เด็กได้รู้จักการพัฒนาตนเองด้วย
Happy Feet เป็นภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่น ที่ใช้เวลาสร้างนานถึง 4 ปี เป็นเรื่องราวของนกเพนกวินจักรพรรดิ ในทวีปแอนตาร์กติค ที่ซึ่งเพนกวินทุกตัวจะต้องร้องเพลงเป็น แต่นับเป็นโชคร้ายสำหรับ มัมเบิล เพนกวินหนุ่มน้อย ผู้เกิดมาเป็นนักร้องที่แย่ที่สุดในโลก เขาเกิดมา เพื่อเต้นตามจังหวะของตนเอง เต้นแท็ป แม้ว่าแม่ของมัมเบิล คือ นอร์มา จีน จะมองว่ามันเป็นนิสัยที่ออกจะน่ารักก็ตาม แต่พ่อของเจ้ามัมเบิล คือเมมฟิส บอกว่า การเต้นนี้ “ไม่ใช่พวกเพนกวิน” ทั้งพ่อและแม่ของมัมเบิลรู้ดีว่าหากลูกไม่มีเพลงประจำตัว ก็อาจจะไม่มีวันได้พบรักแท้ เพราะเสียงเพลงเท่านั้นที่จะช่วยเป็นสื่อได้ ในขณะที่เพื่อน ของมัมเบิล คือ กลอเรีย เพนกวินสาวสวยที่เกิดมาเป็นนักร้องยอดเยี่ยมของฝูง มัมเบิลและกลอเรียสื่อถึงกันได้นับแต่วินาทีที่ออกจากไข่ แต่เธอต้องอดทนกับรูปแบบการเต้นอันแปลกประหลาดของมัมเบิล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเพนกวินผู้เฒ่าอย่าง โนอาห์ ผู้นำหัวแข็งแห่งดินแดนจักรพรรดิ ซึ่งขับไล่มัมเบิลออกจากฝูง เพราะถือว่าการที่มัมเบิลร้องเพลงไม่ได้ ทำให้เทพเจ้าไม่ประทานอาหาร ที่อุดมสมบูรณ์มาให้ ดังนั้นเมื่อต้องจากบ้านเป็นครั้งแรก มัมเบิลได้พบกับพวกอะเดอลี อามีโกส์ กลุ่มเพนกวินที่ไม่เหมือนเพนกวินจักรพรรดิ นำทีมโดยเรมอน พวกอะเดอลีอ้าแขนรับแนวเต้นสุดเจ๋งของมัมเบิลและเชื้อเชิญให้เข้าร่วมกลุ่ม และในดินแดนของพวกอะเดอลีนี่เองที่มัมเบิลขอคำปรึกษาจากเลิฟเลซ เพนกวินขนฟูผู้เป็นปรมาจารย์เรื่องรัก ที่จะตอบทุกคำถามแห่งชีวิตเพื่อแลกกับการได้หินสักก้อนเป็นรางวัล มัมเบิลร่วมออกเดินทางไปกับเลิฟเลซ และพวกอามีโกส์ ข้ามดินแดนแสนกว้างใหญ่ จนในที่สุดมัมเบิลก็ตัดสินใจออกไปค้นหาคำตอบเพียงลำพังว่าเหตุใดอาหารของเหล่าเพนกวินจึงเหลือน้อยลงทุกที และเขาก็ ได้คำตอบว่าต้นเหตุมาจากมนุษย์ หรือที่มัมเบิลเรียกว่า “พวกเอเลี่ยน” นั่นเอง
เชื่อว่าหลายคนที่มีโอกาสได้ดู Happy Feet คงจะได้ ข้อคิดที่หลากหลายไปตามอารมณ์ สำหรับผู้เขียนแล้วสิ่งแรกที่คิดได้คือ อย่าไปน้อยใจในโชคชะตา เพราะคนเราไม่จำเป็นต้องมีความสามารถเหมือนคนอื่น แต่การรู้จักพัฒนาสิ่งที่ตนเองมีให้เกิดประโยชน์นั้นจะดีกว่า ความมั่นใจในสิ่งนี้จะเป็นพลังที่หนุนนำให้เกิดความเพียรพยายามแสวงหาความสำเร็จในชีวิต
มัมเบิล เกิดมาพร้อมกับความสามารถในการเต้นแท็ป แต่ไม่มีพรสวรรค์ในการร้องเพลง ทว่าด้วยกำลังใจจากแม่ที่เข้าใจลูกและยอมรับความเป็นตัวตนของลูก มัมเบิลจึงเติบโตมาด้วยความสุข แม้พ่อจะมีความรักในตัวลูกมากเพียงใด แต่การยอมรับกฎเกณฑ์ของสังคมมีผลต่อตนเองมากกว่า ดังนั้นจึงไม่สามารถเปิดใจยอมรับความจริงของลูกได้ แม้สิ่งนี้จะสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในครอบครัวก็ตาม พัฒนาการของมัมเบิล ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการเรียนรู้ด้วยตนเองในความแปลกแยกที่ตนมี มัมเบิลมีพลังแห่งการแสวงหาความรู้ เพื่อนำมาพัฒนาสังคมของตน ให้ดำรงอยู่ได้ตลอดไป
ส่วน โนอาห์ เพนกวินเฒ่าคร่ำครึ มีพฤติกรรมที่ชวนให้ระลึกถึง พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙ ความตอน ที่ว่า “...คนอายุมาก ถ้ารักษาความดี รักษาคุณสมบัติ คุณธรรมก็ได้เปรียบคนอายุน้อย ในประเทศชาติถ้ามีคนที่มี อายุมากได้เปรียบ ถ้ามีแต่คนเด็กๆ ไม่ถือว่ามีความสามารถ ชาติบ้านเมืองไม่ก้าวหน้า จะต้องพูดอย่างนี้ ท่านผู้ใหญ่อาจจะบอกว่า ดีแล้วคนที่อายุมากมีประโยชน์ แต่คนที่อายุมาก แต่ว่าไม่ใช้ความได้เปรียบของความที่อายุมาก ก็เป็นเด็ก เป็นคนที่เยาว์ในความคิด และอันตรายมาก และที่มีคนที่เขาบอกว่าแก่แล้ว แล้วน้อยใจว่าแก่ เมื่อน้อยใจว่าแก่ คนอย่างนี้ เป็นคนที่ไม่เป็นผู้ใหญ่ และคนที่เป็นผู้ใหญ่ทำให้บ้านเมืองล่มจมได้ มัวแต่ไปน้อยใจว่าอายุมาก แก่ และก็ไม่ใช้ความมีอายุมากเป็นประโยชน์น่าอนาถ ถ้าคนที่อายุมากแล้วใช้ความอายุมากเป็นประสบการณ์ ความมีประสบการณ์ช่วยคนอื่นได้มากกว่าคนที่เยาว์ไม่มีประสบการณ์ ซึ่งทำให้บ้านเมืองล่มจมได้ เพราะว่าคนจะเชื่อว่าคนอายุมากเป็นคนหงำเหงือก เป็นคนไม่มีประสบ-การณ์ เพราะว่าคนที่อายุมากมีประสบการณ์ จะมีประสบการณ์มากน้อยแค่ไหนแต่ก็มีประสบการณ์ เราเรียนมากหรือน้อยแต่ก็มีประสบการณ์...”
ขณะเดียวกันภาพยนตร์เรื่องนี้ได้พยายามชี้ให้เห็นถึง เรื่องของสิ่งแวดล้อม ที่มนุษย์มักจะเป็นผู้ทำลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแหล่งอาหารธรรมชาติที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ หรือแม้แต่การจับสัตว์มาขังไว้ในกรง เหมือนที่เจ้ามัมเบิลโดนกระทำ และที่สุดแล้วมนุษย์ด้วยกันเองนั่นแหละที่จะต้องหาทางแก้ไขดังที่เจ้ามัมเบิลบอกไว้
Happy Feet หากจะแปลตรงตัว ก็คงแปลได้ว่า ‘เท้าแห่งความสุข’ แต่นัยยะของเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่หนทางแห่งความสุขของแต่ละคน ที่จะต้องก้าวไปแสวงหาด้วยสองเท้าของเขาเอง
Happy Feet and Happy New Year to you
(จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 74 ม.ค. 50 โดย ประภัสสรา)