จากข้อมูลในพจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้พูดถึงเรื่องกัลปพฤกษ์ไว้ว่า
“ตามคติโบราณเชื่อกันว่าต้นกัลปพฤกษ์ มีอยู่ในแดน สวรรค์ หากผู้ใดปรารถนาสิ่งใด ก็อาจจะไปนึกเอาจากต้นไม้นี้ได้
ดังนั้น สมัยโบราณจึงได้มีการทำรูปแบบจำลองต้นกัลปพฤกษ์ต้นไม้สารพัดนึก ขึ้นโดยเกี่ยวเนื่องกับงานที่เป็น พิธีหลวงบางโอกาส เพื่อใช้เป็นที่ติดเงินปลีกสำหรับทิ้งทานให้แก่คนยากจน ตัวอย่างเช่น งานพระราชทานเพลิงพระศพหรือศพ เช่น การพระราชทานเพลิงศพท้าวสมศักดิ์ที่วัดสุวรรณารามในรัชกาลที่ 1 มีหมายรับสั่งว่า “อนึ่ง ให้สมุห์บัญชีจัตุสดมภ์เบิกไม้ ไปทำโรงโขนโรงหุ่น แล้ว ให้จัดแจงต้นกัลปพฤกษ์ไม้เสียบลูกกัลปพฤกษ์ แลกระไดขึ้นต้นกัลปพฤกษ์ให้พร้อม” กับ “ให้เกณฑ์ผลมะกรูดผลมะนาว ขุนหมื่นเข้าส้มทิ้งทาน ตำรวจรักษาต้นกัลปพฤกษ์วันละ 2 ต้น”
ทั้งนี้ โครงพุ่มของต้นกัลปพฤกษ์ โดยทั่วไปมักทำเป็นโครงไม้ผูกเป็นพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ แต่ละชั้นจะติดลูกมะนาว มะกรูด ซึ่งเจาะให้เป็นรูใส่เงินปลีกไว้ข้างใน ใต้ พุ่มทำยกพื้นขึ้นเสมอระดับตา ใช้เป็นที่ยืนทิ้งทาน เมื่อถึงเวลาทิ้งทาน พนักงานซึ่ง “นุ่งสมปักลายเสื้อครุย สวมลอมพอก” จะพาดกระไดขึ้นไปยืนอยู่บนยกพื้นใต้พุ่ม ต้นกัลปพฤกษ์ แล้วดึงลูกส้ม มะนาว มะกรูดที่ เสียบปลายไม้ที่เหลาเรียวยาวคล้าย คันเบ็ด วัดเหวี่ยงให้ลูกส้มปลิวไปตกห่างๆต้นกัลปพฤกษ์ คนที่รออยู่ข้างล่างก็จะกลุ้มรุมเข้าชิงลูกส้มกันอย่างสนุกสนาน กัลปพฤกษ์หรือต้นไม้สารพัดนึกจำลองนี้ จัดเป็นสิ่งปลูกสร้างประกอบด้วยศิลปลักษณะประเภทหนึ่ง เป็นประเพณีนิยมที่มี แต่โบราณ แล้วค่อยเสื่อมความนิยมลงในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”
ต่อมาในระยะหลังๆก็ยังจัดทำต้นกัลปพฤกษ์จำลองขึ้นอีก ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้อง กับงานศพแล้ว แต่จะเป็นงานเทศกาลรื่นเริง เช่น ปีใหม่ ก็จะนำสลากของขวัญไปติดไว้ที่ต้นกัลปพฤกษ์ ให้ผู้ร่วมงานได้สอยกัลปพฤกษ์รับของขวัญกันเป็นที่สนุกสนาน
สำหรับปัจจุบันต้นไม้ที่เรียกกันว่า กัลปพฤกษ์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cassia bakeriana Craib อยู่ในวงศ์ Leguminosae เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางผลัดใบสูงราว 12-15 เมตร เรือนยอดแผ่กว้าง เปลือกสีเทา ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ปลายคู่เรียงสลับมีขนนุ่มปกคลุมทั้งสองด้าน และจะทิ้งใบหมดยาม ออกดอกระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน เป็นไม้ขนาดเล็กที่มีดอกดกมาก ออกเป็นพวงห้อยลง หรือเป็นช่อตั้งขึ้นตามกิ่งหรือซอกใบ ดอกมี 5 กลีบมีเกสรตัวผู้สีเหลืองอยู่ตรงกลาง ออกดอกสะพรั่งทั่วทุกกิ่งก้าน แลดูสวยงามไปทั้งต้น มีกลิ่นหอม ยามแรกบานเป็นสีชมพูอ่อนสดใสและค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีขาว ไปเรื่อยๆจนใกล้ร่วงโรย ส่วนผลเป็นฝักกลมสีน้ำตาลดำ ยาวประมาณ 20-30 ซม. ภายในมีเมล็ดแบนๆกลมรีสีน้ำตาลเป็นมันเรียงตัวอยู่ราว 30-40 เมล็ด
เนื่องจากกัลปพฤกษ์มีดอกดกสวยงาม จึงมักปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารบ้านเรือนและถนนหนทางต่างๆ แต่ประโยชน์ทางด้านพืชสมุนไพรก็มีเช่นกัน โดยเฉพาะเนื้อในฝัก ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ เมล็ด ใช้บำรุงธาตุ แก้ไข้จับสั่น หืด ริดสีดวง แน่นหน้าอก ขับลม โลหิตพิการ ถ่ายพยาธิ และแก้ปวดแสบปวดร้อนตามผิวหนัง และร่างกาย เป็นต้น
ปัจจุบัน ต้นกัลปพฤกษ์เป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลในจังหวัดขอนแก่น
(จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 74 ม.ค. 50 โดยเรณุกา)