xs
xsm
sm
md
lg

พร ๑๐ ประการที่ไม่เคยล้าสมัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อปีใหม่ได้ผ่านเข้ามาในชีวิตอีกครั้งหนึ่ง หลายท่าน คงจะได้รับพรและของขวัญปีใหม่ จากบุคคลอันเป็นที่รักเคารพนับถือ มีพ่อ แม่ ญาติสนิทมิตรสหายทั้งหลาย เป็นต้น และคงปลื้มใจ และมีความสุขกับของขวัญและพร ที่ได้รับไม่มากก็น้อย และจะเป็นขวัญและกำลังใจในการต่อสู้กับชีวิตในปีใหม่ คนที่เคยท้อแท้ต่อชีวิตก็จะมีความมุ่งมั่นเอาชนะความท้อแท้ และมีความกระตือรือร้นที่จะต่อสู้ต่อไปให้ชีวิตประสบความสำเร็จดังที่ปรารถนาไว้ ส่วนคนที่มีขวัญกำลังใจดีอยู่แล้ว ก็ยิ่งจะเพิ่มพูนพลังความเชื่อมั่นในการดำเนินชีวิตให้มากยิ่งขึ้นไป จนนำไปสู่ความสำเร็จ ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ สมกับพรปีใหม่ที่ใครๆ ได้ส่งมาให้
คำว่า ‘พร’ นี้ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานท่านได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ คือ น. (นาม)คำแสดงความ ปรารถนาดี สิ่งที่ขอเลือกเอาตามประสงค์
ดังนั้น พรที่ได้รับโดยตรงจากปากพ่อ แม่ ญาติสนิทมิตรสหาย หรือรับโดยอ้อม คือ ผ่านมาทางจดหมายบ้าง บัตรอวยพรบ้าง ก็ล้วนเป็นพรในความหมายที่หนึ่ง คือเป็น คำแสดงความปรารถนาดี
ส่วนพรในความหมายที่สอง เป็นพรที่ผู้น้อยขอเลือกเองตามประสงค์ คือ ขอพรจากผู้ใหญ่ว่าต้องการอะไรบ้าง และขอแล้วมั่นใจว่าจะต้องได้ เพราะผู้ที่จะให้พรนั้นพร้อมจะให้อยู่แล้ว
ในกรณีนี้มีตัวอย่างให้เห็นได้ คือ ในเรื่องเวสสันดรชาดก กล่าวถึงพระนางผุสดี ได้ขอพรจากพระอินทร์ ก่อนที่จะจุติลงมาเกิดในมนุษยโลก พรที่พระนางผุสดีทูลขอนั้น มี ๑๐ ประการ คือ
๑. ขอให้พระนางได้ประทับในปราสาทพระเจ้าสีวีราช
๒. ขอให้มีดวงเนตรคมงาม และดำขลับดั่งลูกเนื้อทราย
๓. ขอให้ขนคิ้วเรียวงามขำบริสุทธิ์ดุจสร้อยคอนกยูง
๔. ขอให้มีนามว่า ผุสดี
๕. ขอให้มีพระโอรสที่ทรงเกียรติยิ่งกว่ากษัตริย์ทั้งหลาย และมีพระราชศรัทธาในการกุศล
๖. ขออย่าให้พระครรภ์ปรากฏนูนดังสตรีสามัญ
๗. ขออย่าให้พระถันทั้งคู่หย่อนยาน
๘. ขอให้พระเกศาดำขลับตลอดไป
๙. ขอให้มีพระฉวีวรรณผุดผ่อง
๑๐. ขอให้มีอำนาจปลดปล่อยนักโทษประหารให้พ้นโทษได้ ตามพระวินิจฉัยอันรอบคอบของพระนาง

การที่พระนางผุสดีขอพร ๑๐ ประการ จากพระอินทร์ นั้น ในอดีตชาติพระนางผุสดีเคยโปรยผงจันทน์แดงถวาย พระวิปัสสีพุทธเจ้า และอธิษฐานให้ได้เกิดเป็นพระมารดาของพระพุทธเจ้า และพระนางก็ได้รับพร ๑๐ ประการจาก พระอินทร์ตามที่ทูลขอทุกประการ
ผู้เขียนขอแสดงทัศนะในพร ๑๐ ประการ ดังนี้
๑. พระนางผุสดีได้เกิดเป็นพระธิดาของเจ้ากรุงมัทท-ราช และได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าสญชัย เจ้ากรุงสีพีนคร ซึ่งกษัตริย์ในสีพีนครนั้นครองเมืองโดยทศพิธราชธรรมมา ทุกรัชกาล จนเป็นที่ยกย่องของอาณาประชาราษฎร์ และแว่นแคว้นทั้งปวงในชมพูทวีป เพราะฉะนั้นพระนางได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าสญชัย จึงถือเป็นพระเกียรติยศยิ่ง ใหญ่ที่สตรีเพศจักพึงมีพึงได้ เพราะไม่สตรีใดจะไม่พึงพอ ใจในความเป็นคนดี มีอิสริยยศของสามี
๒. การที่พระนางขอให้มีดวงเนตรดำขลับดั่งลูกเนื้อทรายนั้น เพราะว่าคนเราที่มีนัยน์ตาดำสดใส ไม่ขุ่นมัว หรือนัยน์ตาไม่พิการไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมจะทำให้มีเสน่ห์แก่ผู้พบเห็น เพราะดวงตานั้นเป็นหน้าต่างของดวงใจ ถ้าดวงตาหม่นหมองไม่ผ่องใส ก็บอกให้รู้ถึงจิตใจที่ขุ่นมัว เพราะฉะนั้นใครๆ ก็อยากมีนัยน์ตาที่ดำขลับแจ่มใส แม้ใน ปัจจุบันเราก็ต้องหายามาหยอดให้ตาสดใสอยู่ตลอด บางรายหยอดไปหยอดมาตาบอดเสียก็มี
๓. คิ้วของพระนางผุสดีมีสีเลื่อมสลับดุจสร้อยคอนกยูง ในปัจจุบันก็มีคนแต่งหน้าแต่งคิ้วให้มีสีสันประกายเรืองรอง นี่แสดงว่าพรข้อนี้ไม่ได้ล้าสมัย แม้จะกล่าวขานกันมามาก กว่าสองพันปีมาแล้ว
๔. ที่ต้องการใช้ชื่อว่า ผุสดี เพราะเป็นสตรีที่งดงาม และพระนางก็งดงามด้วยรูปสมบัติ และคุณสมบัติ
๕. มีพระราชโอรส คือ พระเวสสันดร เป็นยอดของพระราชาที่ทรงคุณธรรม และมีความปรารถนาอันแรงกล้า ในอันที่จะไปเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ใน‘หิโตปเทศ’ ท่านจึงกล่าวไว้ว่า “มีบุตรฉลาดคนเดียว ย่อมดีกว่าบุตรที่โง่ตั้งร้อยคน อันว่าดวงจันทร์แม้ขึ้นแต่ดวงเดียว ย่อมกำจัดความมืดให้หายไปได้ แต่ดวงดาวนับร้อย ย่อมไม่อาจกำจัดความมืดให้สว่างได้เพียงพอ”
พรข้อที่ ๖ , ๗ , ๘ และ ๙ เป็นเรื่องความสวยความงามที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ เพราะสตรีทุกคนก็อยากสวยอย่าง พระนางผุสดี และชี้ให้เห็นว่าความงามที่จดจารึกไว้ในพระพุทธศาสนา เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว ไม่ได้เป็นความ งามที่ล้าสมัย หรือตกยุคแต่ประการใด แต่ยังทันสมัยอยู่เสมอ แต่ขาดการศึกษาค้นคว้าในหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับคำสอนทางพระพุทธศาสนา คนจึงมักทึกทักเอาว่า ศาสนาเป็นเรื่องล้าสมัย ครึ โบราณ แต่เอาเข้าจริง โลกปัจจุบันเดิน ตามหลักโลกในอดีตอย่างไม่น่าเชื่อ
พรข้อที่ ๑๐ ขอให้มีอำนาจปลดนักโทษประหาร โดยมีวินิจฉัยด้วยสติปัญญาอันรอบคอบ อันจะไม่ก่อให้เดือดร้อนในระยะหลัง ก็คือให้เว้นโทษประหารแต่คงโทษจองจำ ไว้ เป็นต้น ทั้งนี้ ทรงเห็นว่า ผู้ต้องโทษประหารนั้นอาจไม่ได้ ทำผิดจริงก็ได้ เพราะมีการพิพากษาที่ผิดพลาดเกิดขึ้น หรือผู้พิพากษาไม่ตั้งอยู่ในยุติธรรม ตัดสินคนผิดให้เป็นถูก ตัดสินคนถูกให้เป็นคนผิด การที่ปลดปล่อยนักโทษประหารเยี่ยงนี้ จึงเป็นเรื่องที่ชอบธรรม
อนึ่ง เมื่อพิจารณาเห็นว่า นักโทษประหารนั้น เมื่อเว้น การประหารแล้วจะกลับตนเป็นคนดี ก็ควรให้มีชีวิตอยู่ เพื่อทำคุณถ่ายโทษ เป็นต้น
พรทั้ง ๑๐ ประการ ที่พระนางผุสดีทูลขอจากพระอินทร์นั้น จงพิจารณาให้แยบคายจะเห็นว่า ไม่ใช่ความสวยอัน เป็นรูปสมบัติอย่างเดียว แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรมของ ความเป็น ‘แม่’ คุณธรรมของความเป็นนักปกครองที่ ต้องการให้สังคมมีความสงบสุข จะพบได้ในพร ๑๐ ประการนี้แหละ !

(จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 74 ม.ค. 50 โดย ธมฺมจรถ)
กำลังโหลดความคิดเห็น