xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก:เมื่อใด จิตมีสัมมาสมาธิ คือ มีความตั้งมั่นอยู่กับกายกับใจตนเอง เมื่อนั้น ย่อมมีการเจริญวิปัสสนา แม้ไม่จงใจจะเจริญวิปัสสนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สัมมาสมาธิ 3 ระดับ

ได้กล่าวแล้วว่าสมาธิมีอยู่ 2 ประเภท คือมิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิ คราวนี้จะกล่าวให้เพื่อน นักปฏิบัติฟังต่อไปอีกว่า สัมมาสมาธิยังจำแนกออกไปตามระดับของความตั้งมั่นในอารมณ์ได้อีก 3 ระดับคือ (1) ขณิกสมาธิ เป็นความตั้งมั่นชั่วขณะของจิตในการรู้อารมณ์รูปนามซึ่งเกิดดับอยู่ตลอดเวลา (2) อุปจารสมาธิ เป็นความตั้งมั่นของจิตในการรู้ปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ แต่ยังไม่สงบแนบแน่นถึงระดับฌาน และ (3) อัปปนาสมาธิ เป็นความตั้งมั่นของจิตในการรู้ปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ มีความสงบแนบแน่นถึงระดับฌาน ซึ่งยังแยกออกไปได้เป็นรูปฌานกับอรูปฌาน

บุคคลผู้มีตัณหาจริตคือผู้ที่มีความอยากในอารมณ์มากๆ เหมาะสมที่จะเจริญสติด้วยการตามรู้กาย สมควรฝึกฝนอบรมจิตให้ได้อัปปนา-สมาธิซึ่งมีลักษณะที่จิตเป็นหนึ่ง มีอารมณ์เป็นหนึ่ง มีปีติสุข อุเบกขา เอกัคคตา หรืออย่างน้อยก็ควรทำอุปจารสมาธิให้ได้ เมื่อจิตถอดถอนออกจากสมาธิ จิตจะเกิดมีธรรมชาติอันหนึ่ง เป็นธรรมชาติ รู้ที่ตั้งมั่นเด่นดวงแยกออกจากอารมณ์ นักปฏิบัติบางท่านนิยมเรียกว่า "จิตผู้รู้" จากนั้นจึงตามรู้ลักษณะของรูปกายโดยมีจิตผู้รู้ ย่อมจะเห็นในทันทีว่า กายเป็นรูป ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน เราเขา แต่ถ้าไม่อบรมจิตจนเกิดจิตผู้รู้ เมื่อสติระลึกรู้กายก็มักจะกลายเป็นการเพ่งกาย เช่น เพ่งลมหายใจ เพ่งมือ เพ่งเท้า เพ่งท้อง เพ่งกายทั้งกาย ที่กำลังยืนเดินนั่งนอน เป็นต้น ในคัมภีร์อรรถกถา ท่านจึงสอนว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมาะสม กับสมถยานิก คือผู้ที่ทำฌานเสียก่อนแล้ว ค่อยเจริญวิปัสสนา คือมีสติระลึกรู้รูปในภายหลังจึงจะเห็นลักษณะของรูปได้ชัดเจน

ส่วนบุคคลผู้มีทิฏฐิจริตคือผู้คิดมาก เหมาะสมที่จะเจริญสติด้วยการตามรู้จิต โดยให้หัดสังเกตความรู้สึกและอาการของจิตอยู่เนืองๆ ต่อมาเมื่อความรู้สึกหรืออาการของจิตอย่างใดที่จิตจดจำได้แม่นยำแล้วเกิดขึ้น สติจะเกิดขึ้นเอง เมื่อสติเกิดขึ้นแล้ว จิตจะตั้งมั่นมีขณิกสมาธิขึ้นเองชั่วขณะ เพียงเท่านี้ก็จะเห็นลักษณะของจิตที่เพิ่งดับไป เป็นการเจริญวิปัสสนาได้แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องทำฌานก่อน ในคัมภีร์อรรถกถาท่านจึงสอนว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมาะสมกับวิปัสสนายานิก คือผู้ที่เจริญปัญญาไปก่อน แล้วจิตค่อยเกิด สมาธิแนบแน่นทีหลัง กระทั่งอัปปนาสมาธิก็เกิดขึ้นได้เองพร้อมๆกับอริยมรรค

4.4.3 บทบาทของสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิเป็นเรื่องที่สำคัญมาก สำคัญถึงขนาดเป็นหนึ่งในสามของบทเรียนทางพระพุทธศาสนา คือเรื่อง จิตสิกขา เป็นสิ่งที่เพื่อนชาวพุทธจำเป็นต้องศึกษาให้ถ่องแท้อีกบทเรียนหนึ่งทีเดียว

เมื่อใดจิตมีสัมมาสมาธิ คือมีความตั้งมั่นอยู่กับกายกับใจตนเอง เมื่อนั้นย่อมมีการเจริญวิปัสสนาแม้ไม่จงใจจะเจริญวิปัสสนา เพราะเมื่อจิตไม่หลงไปสู่อารมณ์บัญญัติทางทวารทั้ง 6 จิตย่อมจะรู้กายรู้ใจ เมื่อรู้กายรู้ใจหรือรูปนามได้แล้ว ถึงไม่พยายามจะเห็นไตรลักษณ์ก็ต้องเห็นอยู่วันยังค่ำ แต่ถ้าเมื่อใดจิตไม่ตั้งมั่นอยู่กับกายกับใจ ลืมกาย ลืมใจ เมื่อนั้นย่อมไม่สามารถเจริญวิปัสสนาได้ เพราะไม่สามารถจะรู้อารมณ์รูปนาม ได้ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า การเจริญวิปัสสนาและวิปัสสนาปัญญามีสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิด

ถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่งซึ่งซับซ้อนยิ่งขึ้นก็กล่าว ได้ว่า การเจริญวิปัสสนาเป็นการเจริญมัคคปฏิปทา หรือปุพพภาคมรรค อันเป็นต้นทางให้เกิดอริย-มรรค เครื่องมือที่ใช้ในการเจริญปุพพภาคมรรคมี อยู่เป็นอันมาก ได้แก่ องค์ธรรมในฝ่ายการตรัสรู้ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์แห่งมรรคทั้ง 7 ที่เหลือ เช่น สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาสติ และสัมมาวายามะ เป็นต้น สัมมาสมาธินี่แหละทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในขณะที่รู้อารมณ์รูปนาม และทำ ให้องค์มรรคทั้ง 7 ที่เหลือพร้อมทั้งเจตสิกธรรมในฝ่ายที่สนับสนุนการตรัสรู้สามารถประชุมลงที่จิต เพื่อช่วยกันทำงานสนับสนุนจิตให้เกิดปัญญารู้รูปนามตามความเป็นจริงได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้จึงกล่าวได้ว่า ปัญญาเกิดจากการเจริญวิปัสสนาหรือการตามรู้รูปนาม ด้วยจิตที่ตั้งมั่นมีสัมมาสมาธิ

ในชั้นนี้จะขอกล่าวถึงเรื่องสัมมาสมาธิแต่เพียงเท่านี้

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/สัมมาสมาธิมีความสุขอันเนื่องมาจากความมีสติเป็นเหตุใกล้ให้เกิด)
กำลังโหลดความคิดเห็น