xs
xsm
sm
md
lg

พุทธประวัติ'มารวิชัย' ที่ฐานพระพุทธรูป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นที่ทราบแล้วว่าฐานพระพุทธรูปที่มีการประดับตกแต่งให้มีความวิจิตรงดงามต่างไปจากฐานบัว ซึ่งมีมาแต่ดั้งเดิมในศิลปะล้านนามีความนิยมอย่างมาก และได้แผ่อิทธิพลการตกแต่งฐานอย่างงดงามนี้ให้กับ ศิลปะอยุธยาเช่นกัน
พระพุทธรูปในศิลปะอยุธยาอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๓ โดยแบ่งยุคออกเป็น ๓ ยุคด้วยกัน
พระพุทธรูปยุคต้น หมายรวมถึงพระพุทธรูปที่เรียกว่า พระพุทธรูปอู่ทอง
พระพุทธรูปยุคกลาง ซึ่งเป็นยุคที่เรียกว่าการพระศาสนารุ่งเรืองโดยร่วมสมัยกับความรุ่งเรืองของอาณาจักรล้านนา มีพระพุทธรูปที่ได้รับอิทธิพลจากภายนอกทางด้านรูปแบบเกิดขึ้นแล้วในช่วงเวลานี้
พระพุทธรูปยุคปลาย มีการกำเนิดพระพุทธรูปทรงเครื่อง ทั้งทรงเครื่องน้อย และทรงเครื่องใหญ่ อีกทั้งยังส่งผลต่อการสร้างพระพุทธรูปในสมัยรัตนโกสินทร์ ด้วยลักษณะอันโดดเด่นของการประดับตกแต่งด้วยลวดลายที่วิจิตรบรรจง
การประดับฐานพระพุทธรูปที่ปรากฏในศิลปะอยุธยามีความแตกต่างไปจากแบบแผนดั้งเดิมนั้นอยู่ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ฐานพระพุทธรูปได้มีรูปแบบ ที่แตกต่างออกไปจำนวนหนึ่ง กล่าวคือมีงานประดับฐานพระพุทธรูปที่แสดงถึงเรื่องราวตามพระพุทธประวัติ
หลักฐานที่น่าสนใจคือ พระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย ประทับบนฐานบัวซึ่งต่อจากชั้นที่มีการสร้างเป็นกองทัพพญามาร ในส่วนหน้าของฐานพระ พุทธรูปนั้นสร้างเป็นรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม เป็น การเพิ่มเติมรายละเอียดของพุทธประวัติตอนนี้ซึ่งสอดคล้องกับการแสดงปางของพระพุทธรูป
ความนิยมในการสร้างและประดับฐานพระพุทธรูป เพื่อเน้นเรื่องราวในพระพุทธประวัติตอนนี้มีความนิยม อยู่ไม่น้อย พระพุทธรูปที่มีการประดับด้วยพระแม่ธรณี และกองทัพมารนี้ อาจเป็นที่แพร่หลายในรัชสมัยของ สมเด็จพระชัยราชาธิราช โดยเฉพาะระหว่าง พ.ศ. ๒๐๘๘-๒๐๘๙ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระองค์ทรงยกกอง ทัพขึ้นไปโจมตีนครเชียงใหม่ จนได้อาณาจักรล้านนาเป็นประเทศราช
รูปแบบฐานพระพุทธรูปที่มีงานประดับแสดงพระพุทธประวัติตอนมารวิชัย ซึ่งตามพระพุทธประวัติตอนนี้เป็นการแสดงในฉากที่พระพุทธองค์ทรงเรียก พระแม่ธรณีเป็นพยานการบำเพ็ญเพียรบารมีของพระองค์ ตรงกันข้ามกับฝ่ายมารที่กล่าวว่าตนได้บำเพ็ญเพียรบารมีมากกว่า โดยพยานนั้นคือเหล่าพลมารนั่นเอง
จากพระปฐมสมโพธิกถา ของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสได้กล่าวถึงเนื้อเรื่องตอนมารวิชัยเนื้อความตอนนี้กล่าวว่า
ในขณะนั้น นางสุนธรีวนิดา ก็มิอาจดำรงกายาอยู่ได้ ด้วยโพธิสมภารานุภาพยิ่งใหญ่ แห่งพระมหาสัตว์ก็อุบัติบันดาลเป็นรูปนารี ผุดขึ้นจากพื้นปฐพี ประดิษฐานเฉพาะพระพักตร์พระพุทธริงกุรราช เหมือนร้องประกาศกราบทูลพระกรุณาว่า ข้าแต่พระมหาบุรุษ ข้าพระบาททราบซึ่งสมภารบารมี ที่พระองค์สั่งสอนอบรมบำเพ็ญ มาแต่นิ้วทักษิโณทกตกลงชุ่มอยู่ในเกศาข้าพระพุทธเจ้านี้ก็มากกว่ามากประมาณมิได้ ข้าพระองค์จะบิดกระแสให้สินโธทกให้ตกไหลหลั่งลง จงเห็นประจักษ์แก่นัยนาในครานี้ และนางพระธรณีก็บิดน้ำในโมลีแห่งตน
ซึ่งเมื่อกล่าวถึงตอนนี้ การประดับฐานพระพุทธรูป จึงสร้างเป็นสตรียืนบิดมวยผมเฉพาะเบื้องหน้าพระพุทธรูปซึ่งแสดงปางมารวิชัย
นอกจากนี้ พบว่าพื้นที่รอบฐานบัวของพระพุทธรูปนั้น มีการสร้างภาพเหล่ามาร หรือกองทัพมารเต็มพื้นที่ กำลังวุ่นวายโกลาหลอยู่นั้น เป็น การแสดงภาพต่อเนื่อง เมื่อพระแม่ธรณีบีบมวยผมแล้ว กระแสธารได้ไหลท่วมเหล่ามารทั้งกองทัพ เพื่อเป็นการประกาศชัยชนะเหนือเหล่ามารทั้งหลาย ด้วยพยานแห่งการบำเพ็ญเพียรของพระพุทธองค์ เนื้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า
ครั้งนั้น หมู่มารเสนาทั้งหลายมิอาจดำรงกายอยู่ได้ ก็ลอยไปตามกระแสน้ำปลาสนาการไปสิ้น ส่วนคิรีเมฆ ลคชินทรที่นั่งทรงองค์พระยาวัสวดีที่มีบาทาอันพลาด มิอาจตั้งกายตรงอยู่ได้ก็ลอยตามชลธารไปตราบเท่าถึง มหาสมุทร
จากที่กล่าวมา การประดับฐานพระพุทธรูปในศิลปะอยุธยานั้น มีการสร้างตามพระพุทธประวัติและเลือกใน ตอนที่มีความสำคัญอย่างมาก นั่นคือเป็นการประกาศชัยชนะเหนือเหล่ามารทั้งหลายก่อนการตรัสรู้
ความหมายของพระพุทธประวัติตอนนี้ยังสะท้อนถึงการให้ความสำคัญของบารมี และการสั่งสมบุญ ซึ่งการแสดงออกมาในงานประดับนี้ ทำให้พุทธศาสนิกชนตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณความเพียรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
นับว่าฐานพระพุทธรูปที่มีการประดับด้วยภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติในศิลปะอยุธยานี้แสดงความเชื่อมโยงและอิทธิพลต่องานประติมากรรมในสมัยต่อมา กล่าวคือเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางด้านศิลปกรรมที่มีต่ออาณาจักรล้านนา และการส่งต่อมายังราชธานี รัตนโกสินทร์อีกด้วย

เอกสารอ่านประกอบ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส. พระปฐมสมโพธิกถา : (ฉบับกรมการศาสนา)กรุงเทพฯ : มูลนิธิ “ทุนพระพุทธยอดฟ้า” ในพระบรมราชูปถัมภ์ และคณะวัดพระเชตุพน, ๒๕๓๗.
สันติ เล็กสุขุม.ศิลปะอยุธยา : งานช่าง หลวงแห่งแผ่นดิน.กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๔๒.
หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล.ศิลปะในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๖.
หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์. พระพุทธรูปสมัยต่างๆในประเทศไทย. พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์, ๒๕๐๓.

(จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 73 ธ.ค. 49 โดย นฤมล สารากรบริรักษ์)
กำลังโหลดความคิดเห็น