อโรมาเธอราพี (AromaTherapy) มาจากคำว่า Aroma หมายถึง กลิ่น หรือความหอม กับคำว่า Therapy หมายถึง การบำบัด เมื่อรวมกันจึงหมายถึงการบำบัดโดยใช้กลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหย เพื่อการผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสังคมแห่งการแข่งขันทำให้ผู้คนต้องเผชิญกับความเครียดที่รุมเร้าในทุกๆด้าน หลายคนจึงหันมาสนใจศาสตร์การบำบัดดังกล่าวเพื่อช่วยให้สุขภาพกายและอารมณ์ กลับคืนสู่ความสมดุล
มุมสบายฉบับนี้ จึงขอผ่อนคลายเบาสบายกันแบบอโรมาเธอราพี
มีไม่กี่คนนักที่ทราบว่า ‘อโรมา’ เป็นน้ำมันหอมระเหยที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกได้อย่างน่าอัศจรรย์ ‘อาจารย์สาวิตรี ศิริวุฒิ’ แพทย์แผนไทยซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านอโรมาเธอราพี ให้ความรู้ในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
“ปัจจุบันถ้าพูดถึงอโรมา คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงการนวดในสปา หรือการนำน้ำมันหอมระเหยมาจุดในตะเกียงเพื่อให้เกิดกลิ่นหอม ช่วยคลายเครียด แต่จริงๆแล้วอโรมามีคุณสมบัติในการรักษาโรคต่างๆได้มากมายและเป็นศาสตร์ที่มีมาแต่โบราณ จะเห็นได้ว่าในสมัยคุณย่าคุณยายของเรานั้นมักจะนำน้ำมันหอมระเหยต่างๆมาใช้ในการบำบัดโรค เช่น ใช้น้ำมันกานพลู เพื่อลดอาการจุกเสียด พิมเสนน้ำแก้อาการเวียนหัว ดังนั้นถ้าเรารู้ถึงคุณสมบัติของ อโรมาแต่ละตัวอย่างลึกซึ้ง เราก็สามารถนำน้ำมันหอมระเหยเหล่านี้มาใช้รักษาโรคได้เช่นกัน” อาจารย์สาวิตรี กล่าว
น้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติและสรรพคุณแตกต่างกันไป ซึ่งมีทั้งสารสกัดที่มาจากพืชและสัตว์ เช่น
กานพลู มีสารยูจีนอล ซึ่งมีสรรพคุณหลายอย่าง ตั้งแต่ช่วยลดอาการอักเสบ มี ฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของอาการจุกเสียด เป็นยาชาเฉพาะที่ ช่วยขับลม ลดอาการบีบตัวของลำไส้จึงช่วยลดอาการปวดเกร็ง มีฤทธิ์ในการกระตุ้นการหลั่งสาร mucin ในกระเพาะอาหาร ซึ่งจะช่วยป้องกันเยื่อบุกระเพาะอักเสบ
ลาเวนเดอร์ (Lavender) มีสรรพคุณ ช่วยลดอาการซึมเศร้า บำรุงหัวใจ ช่วยให้จิตใจสงบ และสร้างสมดุลในร่างกาย
โรสแมรี่ (Rosemary) มีสรรพคุณ ทำ ให้จิตใจแจ่มใส ช่วยคลายเครียด ลดอาการ ไมเกรน แก้ปวดหัว แก้หวัด และบำรุงปอด
ทีทรี (Tea Tree) มีสรรพคุณ ช่วยแก้หวัด แก้เจ็บคอ ทำให้รู้สึกสดชื่น กระตุ้นความต้านทาน ลดอาการคัน และแก้สิว
ยูคาลิปตัส มีสรรพคุณ แก้หวัด ทำให้ปอดโล่ง คลายกล้ามเนื้อ แก้ปวดเมื่อย
เปปเปอร์มิ้น (Peppermint) หรือสาระแหน่ มีสรรพคุณแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
มะนาว (Lemon) มีสรรพคุณ ทำให้รู้สึกสดชื่น ลดไมเกรน ลดความดันโลหิต ช่วยให้หลับสบาย และแก้เส้นเลือดขอด
ส้ม (Orange) มีสรรพคุณ ช่วยคลายเครียด ลดอาการซึมเศร้า แก้หวัด ขับเหงื่อ แก้ไข้ ช่วยฟื้นฟูพลังงาน
น้ำกุหลาบ มีสรรพคุณ ช่วยลดริ้วรอย
น้ำมันชะมด มีสรรพคุณ บำรุงหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นเป็นปกติ และช่วยให้จิตใจสงบ
อาจารย์สาวิตรี ยังบอกด้วยว่า “อโรมาที่มีสรรพคุณหลากหลายและช่วยรักษาโรคต่างๆได้มากมายชนิดที่เรียกว่าครอบจักรวาลนั้นมีอยู่ 2 ตัวด้วยกันคือ ลาเวนเดอร์ (Lavender) และทีทรี (Tea Tree) ลาเวนเดอร์จะช่วยลดอาการซึมเศร้า บำรุงหัวใจ ทำให้รู้สึกสงบ และสร้างสมดุลในร่างกาย ส่วนทีทรีมีสรรพคุณในการแก้หวัด แก้เจ็บคอ ทำให้รู้สึกสดชื่น กระตุ้นความต้านทาน ลดอาการคัน รวมทั้งช่วยแก้สิวได้ด้วย และที่สำคัญคืออโรมาทั้ง 2 ตัวนี้ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้”
ทั้งนี้ การบำบัดด้วยวิธีอโรมาเธอราพี ซึ่งเป็นที่เป็นที่นิยมกันนั้นทำได้ 2 วิธี คือ
1.การสูดดม โดยปกติมนุษย์เราจะมีความสามารถในการแยกกลิ่นที่แตกต่างกัน ได้ถึง 10,000 กลิ่น เมื่อได้สูดดมน้ำมันหอมระเหย จะส่งผลโดยตรงต่อจิตใจและอารมณ์ของผู้บำบัด โดยผ่านทางประสาทการรับกลิ่น และส่งต่อไปยังจิตใจและอารมณ์ จะช่วยปลดปล่อยและสร้างความรู้สึกผ่อนคลายแก่ผู้บำบัดได้อย่างดี ซึ่งจะเห็นผลได้เร็วมาก เพียง 5-10 นาที ในกรณีที่น้ำมันหอมระเหยนั้นถูกผลิตมาเพื่อใช้สูดดมโดยตรง แต่หากเป็นแบบที่นำมาใช้จุดกับตะเกียงก็จะออกฤทธิ์ภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 นาที
2.การนวดให้ซึมซาบสู่ผิวหนัง ด้วยโมเลกุลของน้ำมันหอมระเหยซึ่งมีขนาดเล็กมาก จึงสามารถซึมผ่านรูขุมขนบนผิวหนังได้ง่าย ซึ่งจะส่งผลต่อการไหลเวียนของโลหิตและส่งผลต่อสมองและทั่วทั้งร่างกายในที่สุด เชื่อกันว่าวิธีนี้เป็นการบำบัดที่ให้ผลดีที่สุด โดยน้ำมันหอมระเหยจะซึมผ่านเข้าไปและส่งผลต่อร่างกายเฉลี่ยแล้วจะใช้เวลาประมาณ 90 นาที ก็จะเห็นผล
ซึ่งด้วยระยะเวลาการออกฤทธิ์ที่ค่อนข้างรวดเร็วและไม่มีผลข้างเคียงเหมือนกับการใช้ยาปฏิชีวนะจึงทำให้การนำอโรมามาใช้รักษาโรคนั้นมีผลดีต่อผู้ป่วยมากกว่าการใช้ยาแผนปัจจุบัน ส่วนอโรมาตัวใดจะใช้โดยวิธีสูดดมหรือนวดให้ซึมสู่ผิวหนังก็ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคและคุณสมบัติของน้ำมันหอมระเหยชนิดนั้นๆ ถ้าจะให้แน่ใจก็ควรศึกษาให้ละเอียดหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้เสียก่อน
อย่างไรก็ดี มีคนบางกลุ่มที่ต้องระมัดระวังในการใช้อโรมาบำบัด คือ ‘ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์’ และ ‘ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง’ ซึ่งในกลุ่มของ ‘หญิงตั้งครรภ์’ นั้น ไม่ควรใช้อโรมาบำบัดเลย ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันหอมระเหยกลิ่นใดทั้งสิ้น เนื่องจากในช่วงที่ตั้งครรภ์ร่างกายจะไวต่อปฏิกิริยาต่างๆได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วง 1-3 เดือนแรก ส่วน ‘ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง’ ไม่ควรใช้น้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากผิวส้ม มะนาว และทีทรี เนื่องจากอโรมาเหล่านี้มีสรรพคุณในการกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีเป็นโรคความดันสูง
นอกจากนั้นหากจะใช้ การบูร หรือพิมเสน ก็ไม่ควรใช้โดยการสูดดมโดยตรง หรือใช้สารสกัดเดี่ยวๆ โดยไม่มีการนำไปผสมกับอโรมาตัวอื่น เนื่องจากอโรมาทั้ง 2 ตัวนี้มีคุณสมบัติร้อน หากสูดดมเป็นประจำอาจ ทำให้เยื่อหุ้มปอดอักเสบหรือบางลงได้ วิธีใช้ จึงควรนำไปคลุกกับดอกไม้ให้ชนิดต่างๆ, ใช้ผสมกับน้ำมันหอมระเหยอื่นๆ เพื่อให้ฤทธิ์ของการบูรและพิมเสนเจือจางลง หรือใช้จุดกับตะเกียง
อาจารย์สาวิตรี อธิบายถึงข้อควรระวังในเรื่องนี้ว่า “สำหรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์นั้นไม่ อยากให้ใช้น้ำมันหอมระเหยกลิ่นใดๆเลย เพราะเราไม่รู้ว่าเขาแพ้อะไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างน้ำมันตะไคร้หอม ซึ่งบางบ้านก็อาจจะนำมาใช้ไล่ยุง ตัวนี้จะมีคุณสมบัติอย่างหนึ่ง คือบีบกล้ามเนื้อเรียบ โดยเฉพาะมดลูก ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแท้งบุตรได้ หรือแม้แต่ โรสแมรี่ซึ่งปกติจะช่วยคลายเครียดก็ไม่เหมาะกับคนท้อง”
ยังมีน้ำมันหอมระเหยอีกมากมายที่สามารถนำมาใช้ในการรักษาโรคได้ และเป็น อีกทางเลือกหนึ่งในการดูแลตัวเองของผู้ป่วยที่ไม่ต้องการพึ่งพายาปฏิชีวนะซึ่งจัดเป็นสารสังเคราะห์ทางเคมีที่ส่วนใหญ่จะมีผล ข้างเคียงตามมาหากมีการใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
อย่างไรก็ดี หากยังไม่รู้วิธีการใช้ ยังไม่แน่ใจว่าอโรมาตัวไหนใช้รักษาโรคใดได้บ้าง หรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม ก็สามารถติด ต่อสอบถามได้ที่ ชมรมอัศจรรย์สุขภาพและ
ความงาม เลขที่ 794 อาคารไทยรวมทุน ชั้น 7 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100 โทร. 0-2628-2580
(จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 72 พ.ย. 49 โดย จินตปาฏิ)