xs
xsm
sm
md
lg

ปลูกผักปลอดสารพิษไว้กินเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ว่ากันว่า สิ่งที่เราเป็น มักสะท้อนไป ถึงสิ่งที่เราเลือกกินเข้าไปด้วย กระแสความเอาใจใส่สุขภาพจึงมาแรง จนมุมสบายฉบับนี้ อดไม่ได้ที่จะพาทุกท่านไปผ่อนคลายกับวันว่างเขียวชอุ่ม ที่จะนำเราเข้าถึงแหล่งที่มาของพืชผักปลอดสารพิษของจริง ที่ไม่ว่าใคร ก็สามารถปลูกขึ้นเองได้ ตามวิถีเกษตรธรรมชาติเพื่อสุขภาพนี้
ปัจจุบัน มีคนจำนวนไม่น้อยขานรับกระแสรักสุขภาพกันขนานใหญ่ แต่จะมีใครบ้างที่เคยปลูกพืชผักไว้กินเองกับคนใน ครอบครัว และไม่ว่าคำตอบจะเป็นเช่นไร... สำหรับคนรักสุขภาพแล้ว คงต้องตั้งใจอ่านกันสักหน่อย เพราะสิ่งที่กำลังจะกล่าวถึง นับเป็นการถ่ายทอดความรู้สู่ภูมิต้านทานตามธรรมชาติให้มาถึงชีวิตเราได้ ด้วยพืชผักต้นเล็กๆ เหล่านี้ ที่พร้อมวางลงบนจาน เพื่อทำหน้าที่เสริมสร้างให้ร่างกายของเราแข็งแรงขึ้นทุกวันๆ จากวิตามิน เกลือแร่ ตามธรรมชาติของพืชผักกันแบบเต็มๆ
‘แขลดา จิตตปัญญา’ หนึ่งในทีมงานฝึกอบรมโครงการอบรมห้องเรียนเกษตรตามธรรมชาติเพื่อสุขภาพ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง แห่งเลมอนฟาร์ม ย้ำว่า โครงการนี้แม้จะเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการปีละ 2-3 ครั้งเท่านั้น แต่สำหรับผู้สนใจที่ยังไม่มีโอกาสเข้าร่วมอบรม ก็สามารถนำแนวคิดและแนวทางปฏิบัติไปทดลองปลูกเองได้ พยายามทำให้เกิดการพึ่ง พาธรรมชาติมากที่สุด เพราะจุลินทรีย์ที่มีอยู่ ทั่วไป พร้อมเสมอที่จะทำหน้าที่ของมัน โดย ที่เราเองแทบไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีใดๆ เลย
“ผลลัพธ์จากกิจกรรมที่จะนำกลับไปทดลองปลูกเองที่บ้าน มันยิ่งกว่าผักที่เราจะเก็บกินเสียอีก แต่ยังหมายถึงการดูแลธรรมชาติ ด้วยดิน ด้วยปุ๋ย วิธีการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ทำให้ชีวิตของเรากลับไปสู่วิถีของธรรมชาติ เพื่อเก็บเกี่ยวเอาผลผลิต ปลอดสารพิษเหล่านี้มาประกอบเป็นอาหาร ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการอย่างครบถ้วน” แขลดากล่าว
แนวคิดหลักของเกษตรธรรมชาติ คงไม่มีอะไรที่ซับซ้อนเกินไปกว่า ความต้องการเห็นทุกคนกลับมาสู่วิถีธรรมชาติได้โดยตรง จากการปลูกผักกินเองที่บ้าน เพื่อจะมีความ เข้าใจเกษตรกรและเห็นคุณค่าธรรมชาติมากขึ้น เพราะชีวิตที่แสนจะเร่งรีบของคนในยุคนี้ น้อยคนที่จะได้สัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด
ส่วนวิธีการของห้องเรียนเกษตรธรรมชาติ ที่จะช่วยสร้างความเข้าใจให้กับเรา โดยการปลูกผักปลอดสารพิษ ด้วยเทคนิคจุลินทรีย์นั้น อย่าเพิ่งคิดว่าจะยุ่งยากเกินไป เพราะห้องเรียนแห่งนี้ มีผู้สนใจเข้ามาเก็บเกี่ยวความรู้และรับประสบการณ์จริงจากธรรมชาติไปกับพืชผักใบเขียวได้แบบสบายๆ ภายใน 1 วันเท่านั้น
โดยครึ่งวันเช้าจะเป็นการอบรมภาคทฤษฎี ทำความเข้าใจในแนวคิด และวิธีการ ที่จะพาทุกคนไปสู่วิถีเกษตรอย่างใกล้ชิดธรรมชาติที่สุด จากนั้นในช่วงบ่ายก็จะเป็นภาคปฏิบัติกับ 7 ขั้นตอน ที่ทุกคนต้องลงมือทำทุกขั้นตอนด้วยตัวเอง โดยมีครูพี่เลี้ยง ประจำแปลงปลูกคอยเป็นผู้ช่วยอีกหนึ่งแรง
เมื่ออาหารเที่ยงกับมื้อสุขภาพสิ้นสุดลง กิจกรรมภาคปฏิบัติจึงถูกเริ่มขึ้นจากการปรับโครงสร้างดิน
“ต้องทำกันขนาดนี้เลยเหรอ!” บางคนที่เริ่มเข้ามาสัมผัสอาจสงสัย แต่ในทางเกษตร ธรรมชาติแล้ว ถือว่าขั้นตอนนี้สำคัญมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นหัวใจที่จะช่วยให้การเติบ โตของผักปลอดสารพิษสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงต้องพิจารณาถึงความชื้น ปริมาณจุลินทรีย์ และค่าความเป็นกรด-ด่างของดินที่พอเหมาะควบคู่กันไปด้วย
ฉะนั้น ขั้นตอนนี้จึงละเลยไม่ได้เด็ดขาด เพราะจะทำให้รากหาอาหารไม่ได้ ซึ่งหลักง่ายๆ ของขั้นตอนนี้ ก็ให้เราเลือกปรับสภาพ ดินตามความเหมาะสมหากดินเสียน้อย แต่ถ้าดินเสียมากให้ผสมแกลบดำอย่างน้อย 12 ก.ก. และใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพ ไม่ต่ำกว่า 12 ก.ก./พื้นที่ 5 ตร.ม.
ถัดมาเป็นการเพาะต้นกล้า ก่อนนำลงปลูกในแปลง ขั้นตอนนี้ เหมือนเป็นการเตรียมระยะอนุบาลให้ต้นกล้าแข็งแรง ก่อนจะลงไปหยั่งรากในแปลงปลูกของจริง การ เตรียมสนามในแปลงเพาะกล้าจึงต้องเพิ่มสารอาหารด้วยปุ๋ยหมักชีวภาพ แกลบดำ อย่างละ 1 ปีบ/พื้นที่ 2 ตร.ม. ก่อนจะหว่าน เมล็ด คลุมด้วยฟางห่างๆ และรดน้ำให้ชุ่มชื้นทุกวัน ประมาณ 15-20 วัน ก็สามารถย้ายกล้าไปปลูกได้
ส่วนการเตรียมแปลงปลูก ต้องไม่ลืมยกร่องระบายน้ำเวลาที่ฝนตก ควรใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพประมาณ 1 กำมือต่อหลุมที่เตรียมไว้สำหรับการปลูกผักที่ต้องใช้เวลาในการเติบโตเกิน 2 เดือน อาทิ กะหล่ำ บลอคโคลี่ ในแต่ละจุดที่จะปลูก หรืออาจจะใช้วิธีการโรยปุ๋ยไว้เป็นแนวยาวตลอดแปลง จากนั้นคลุมด้วยฟางให้ทั่วแปลงและรดน้ำให้ชุ่ม
เมื่อดินในแปลงพร้อมแล้วการแต้มกล้า (การนำต้นไม้มาปลูก)ก็มาถึง ในขั้นตอนนี้เทคนิคที่ตกหล่นไปไม่ได้คือ ควรปลูกผักให้ มากกว่า 1 ชนิดในพื้นที่ 1 แปลง เพื่อป้อง กันโรคและแมลงศัตรูพืช ที่อาจจะเข้าใจว่า ตรงนี้เป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ก็เลย พากันขนพรรคพวกมารุมกัดกินกันเป็นกอง ทัพ เช่น ใน 1 แปลง อาจจะเลือกปลูกผักกาดขาว สลับแถวกันกับผักกาดหอม
หลังจากแต้มกล้าสัก 7 วันควรใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพระหว่างแถวปลูกเข้าไปอีก ตารางเมตรละ 200-400 กรัม และต้องไม่ลืมรดน้ำผสมสารสกัดชีวภาพทุกครั้งที่ใส่ปุ๋ยเพิ่มลงในแปลงผัก เพื่อช่วยให้เกิดการย่อยสลายสารอาหารในดินได้ดียิ่งขึ้น
จากนั้นก็มาถึงช่วงเวลาที่ต้องบริหารสายตาและสภาพจิตใจของผู้ปลูก นั่นคือ การดูแลรักษาแปลงผัก ให้ผักเติบโตทีละเล็ก ทีละน้อย ซึ่งจะทำให้ผู้ปลูกภาคภูมิใจกับผล ของการปลูกผักใบเขียวเหล่านี้ขึ้นมาด้วยความตั้งใจ
ส่วนการหลีกเลี่ยงปัญหาวัชพืชและแมลงรบกวนต่างๆ ก็ยังคงใช้วิธีแบบธรรมชาติเช่นกัน โดยเลือกใช้น้ำหมักสะเดา ยาสูบ ข่า ตะไคร้ เพื่อป้องกันการรบกวนจากแมลง ต่างๆ
นอกจากนี้...ว่าที่เจ้าของผักปลอดสารพิษทุกคน ควรหมั่นรดน้ำผสมน้ำยาสกัดชีวภาพด้วย (อัตราส่วน 10 ซีซี. หรือประมาณ 1 ช้อนแกง/น้ำ 10 ลิตร) เพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ในดิน และต้องไม่ละเลยการดักจับแมลงต่างๆ ที่มารบกวนด้วย
จากนั้นก็ตั้งตารอจนกว่า ช่วงเวลาอีกเพียงอึดใจ (ไม่เกิน 30 วัน) จะมาถึงพร้อม กับผักมากคุณค่าต้นอวบอ้วน ใบเขียวสด ให้เราได้อิ่มตา อิ่มใจและอิ่มท้องร่วมกับทุกคนในบ้านไปตลอด ตราบที่ธรรมชาติยังทรงคุณค่าไม่เคยเปลี่ยน
สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมอบรมห้องเรียนเกษตรธรรมชาติ สามารถขอรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ส่วนส่งเสริมสุขภาพ เลมอนฟาร์ม โทร.0-2575-2222 ต่อ 261, 263 หรือติดต่อ ได้ที่ร้านเลมอนฟาร์มทุกสาขา






กำลังโหลดความคิดเห็น