xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก:หลักการสำคัญของการเจริญวิปัสสนา คือต้องรู้อารมณ์ที่ถูกต้องมีวิธีการรู้ที่ถูกต้องและต้องรู้เนืองๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

4.3.2 วิธีทำให้เกิดวิปัสสนาปัญญา

วิปัสสนาปัญญาเป็นปัญญารู้ความจริงของรูปนามว่าเป็นไตรลักษณ์ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ทางเดียวที่จะทำให้เกิดวิปัสสนาปัญญาได้ ก็คือการตามรู้รูปนามตามความเป็นจริง หรือการเจริญวิปัสสนานั่นเอง ไม่ใช่เพ่งหรือกำหนดหรือบริกรรมเพื่อให้จิตนิ่ง ไม่ใช่ตรึงความรู้สึกไว้ที่กาย หรือใจเพราะกลัวจะขาดสติ ไม่ใช่คิดเพื่อจะทำความเข้าใจ และไม่ใช่พยายามเข้าไปแสวงหา ควบคุม หรือดัดแปลงรูปนามเพื่อบังคับรูปนามให้เป็นไปตามใจปรารถนา

เมื่อพูดถึงคำว่า "การเจริญวิปัสสนา" แล้ว จะพบว่าพระพุทธศาสนาอยู่ในภาวะที่น่าห่วงใยทีเดียว เพราะชาวพุทธจำนวนมากไม่รู้จักวิปัสสนา แม้กระทั่งคนที่ชอบเข้าวัดบางคนก็ยังตั้งคำถามว่า "จะนั่งวิปัสสนาได้อย่างไร?" ที่ถามอย่างนี้ก็เพราะคิดว่าวิปัสสนาคือการนั่งหลับตาแล้วออกรู้เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ พอตอบว่า "ให้นั่งด้วยความรู้สึกตัวและรู้สึกว่าสิ่งที่อยู่ในอิริยาบถนั่งนี้ไม่ใช่ตัวเรา" ก็มักจะงงไปเลยเพราะไม่เคยศึกษาเรื่องวิปัสสนามาก่อน หรือบางท่านก็มาถามว่า "ควรจะเดินวิปัสสนาท่าไหนจึงจะถูกต้อง?" ที่ถามอย่างนี้ก็เพราะคิดว่าวิปัสสนามีท่าเดินที่เหนือธรรมดา พอตอบว่า "เดินท่าไหนก็ได้ที่เคยเดินอยู่นั่นแหละ แต่ให้เดินด้วยความรู้สึกตัวและรู้สึกว่าสิ่งที่เดินอยู่นี้ไม่ใช่ตัวเรา" พอตอบซื่อๆอย่างนี้บางคนกลับเห็นว่าพระไม่เต็มใจสอนกรรมฐานให้ก็มี

ขอให้เพื่อนชาวพุทธสนใจศึกษาเรื่องการเจริญวิปัสสนาให้มากๆ เพราะวิปัสสนาเป็นมรดกธรรมอันล้ำค่าที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้ให้พวกเรา นานๆพระพุทธเจ้าจึงเสด็จอุบัติขึ้นมาสักพระองค์หนึ่ง ต่อเมื่อมีพระพุทธเจ้าจึงจะมีคำสอน เรื่องการเจริญวิปัสสนา ดังนั้นเมื่อมีโอกาสศึกษาเรื่องวิปัสสนาแล้ว ก็ควรตั้งใจศึกษาให้ดี อย่าหยุด การพัฒนาตนเองอยู่เพียงขั้นการทำทาน การรักษาศีล และการทำความสงบจิต โดยไม่สนใจที่จะศึกษาเรื่องการเจริญวิปัสสนา

แท้จริงการเจริญวิปัสสนาไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยาก อะไรเลย ถ้าเข้าใจหลักการที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ไว้แล้ว จะพบว่าวิปัสสนาเป็นเรื่องที่ทำง่ายที่สุด และทำได้แทบตลอดเวลา ยกเว้นในเวลาที่หลับและในเวลาที่ต้องใช้ความคิดเท่านั้น

หลักการสำคัญของการเจริญวิปัสสนา มีดังนี้คือ

1) ต้องรู้อารมณ์ที่ถูกต้อง เมื่อการเจริญวิปัสสนาทำไปเพื่อให้เกิดปัญญารู้ความเป็นจริงว่า สิ่งที่ประกอบกันเป็นตัวเรานั้น แท้จริงก็คือสิ่งที่เป็น รูปธรรมและนามธรรมนี่เอง ดังนั้นการเจริญวิปัสสนาจึงต้องทำด้วยการคอยตามรู้รูปนามหรือกายกับใจของตนเองเนืองๆ เพื่อให้เห็นความจริงว่า เราไม่มี มีแต่รูปกับนาม และรูปนามก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาด้วย ดังนั้นอารมณ์ของวิปัสสนา หรือสิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะต้องมีสติตามรู้เนืองๆ ก็คือรูปนาม/ขันธ์ 5 หรือกล่าวตามภาษาสามัญซึ่งไม่ตรงกับคำว่ารูปนามทีเดียวนักว่า กายกับใจ ซึ่งเรามีกันอยู่แล้วนี่เอง จะไปรู้อย่างอื่นแทนรูปนามไม่ได้

พระพุทธเจ้าทรงประมวลอารมณ์รูปนามไว้ให้ พวกเราใช้เจริญวิปัสสนาหลายอย่าง ปรากฏใน คำสอนเรื่องสติปัฏฐาน ได้แก่ (1) กายานุปัสสนาสติปัฏฐานบางบรรพ ที่ขอแนะนำให้เพื่อนนักปฏิบัติสนใจให้มากคืออิริยาบถบรรพและสัมปชัญญบรรพ ส่วนที่เจริญได้ยากคืออานาปานสติบรรพเพราะพลิกเป็นสมถะได้ง่าย กับธาตุมนสิการบรรพ ซึ่งรู้ได้ยาก ส่วนอารมณ์ในบรรพอื่นใช้ทำสมถกรรมฐาน (2) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานทุกบรรพ (3) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานทุกบรรพ แต่ให้ระวังอย่าไปหลงเพ่งช่องว่างและเพ่งความไม่มีอะไรเข้า เพราะจะกลายเป็นการทำสมถะไป และ (4) ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทุกบรรพ

เรื่องอารมณ์ในสติปัฏฐานนี้พวกเราต้องระวังเหมือนกัน เพราะมีอารมณ์ของสมถกรรมฐานปนอยู่ด้วย ไม่ใช่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาทั้งหมด เนื่องจากบุคคลบางท่านเหมาะที่จะดำเนินในแนวทางของสมถยานิก พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนอารมณ์ของสมถะไว้ด้วยบางอย่าง ซึ่งเมื่อ ปฏิบัติไปแล้วจิตจะรวมเข้าถึงอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ เมื่อจิตถอนออกจากอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิแล้ว ก็ให้มีสติระลึกรู้ลักษณะของ รูปนามเพื่อเจริญวิปัสสนาต่อไป

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/การเลือกอารมณ์กรรมฐานให้เหมาะกับจริตนิสัย)
กำลังโหลดความคิดเห็น