รายงานข่าวการขึ้นลงของราคาน้ำมันในบ้านเรา แทบจะไม่สร้างความตื่นเต้นให้เกิดขึ้นอีกแล้ว แต่ในความเคยชินกับราคาน้ำมันที่ผันผวน ยังส่งผลกระทบไปทุกหย่อมหญ้า จนเกิดกระแสพึ่งพาตนเองรูป แบบต่างๆ เพื่อที่คนไทยจะได้อยู่ดีกินดีท่ามกลางวิกฤต พลังงานที่เป็นอยู่
แนวทางการผลิตน้ำมันขึ้นใช้เอง เพื่อลดต้นทุนการครองชีพสำหรับชุมชนจึงเกิดขึ้นควบคู่กันไป โดยความ ร่วมมือจากทุกฝ่ายและชาวบ้าน เตรียมปูทางให้ ‘แหล่งพลังงาน’ ของชุมชน เป็นเรื่องใกล้ตัว ที่เราสามารถร่วม กันบริหารจัดการได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องรอความช่วย เหลือจากใคร ตราบที่ความคิดริเริ่มดีๆ ยังมีอยู่ในแหล่ง ชุมชน และวัดยังจะรักษาบทบาทผู้นำชุมชนได้แข็งขัน ไม่เสื่อมคลายไปตามกาลเวลา
ถึงวันนี้การเข้าไปมีส่วนผลักดันคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในสังคมไทย ยังพบได้และปรากฏที่มาจาก ‘วัด’ แหล่งเรียนรู้ที่ยังคงทำหน้าที่ของตนตลอดมา ดังเช่น วัดพยัคฆาราม อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี หรือที่ชาวบ้านรู้จักและเรียกขานกันว่า ‘วัดเสือ’ แหล่งเรียนรู้และสาธิต การผลิตไบโอดีเซลระดับชุมชน (จากสบู่ดำและน้ำมันพืชใช้แล้ว) แห่งแรกของประเทศ ที่ยังเดินหน้าสะท้อนบทบาทของวัดในสังคมไทย คอยเป็นแหล่งความรู้และภูมิปัญญาให้ชาวบ้านได้พึ่งพา ตลอดช่วงที่ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นแบบไร้เพดาน
จุดเริ่มของ ‘สบู่ดำ’ ในวัด
พระครูโสภณ สิทธิการ หรือ หลวงพ่อวสันต์ อนุ-ปตโต วัย 69 ปี พรรษา 50 เจ้าอาวาสวัดพยัคฆาราม วัดเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงของอำเภอศรีประจันต์ ที่ประชาชน
ชาวจังหวัดสุพรรณบุรีให้ความเคารพนับถืออย่างมาก หลวงพ่อวสันต์เป็นนักคิดและนักพัฒนาที่ไม่เคยหยุดนิ่ง สรรหาสิ่งที่ดีต่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนมาถ่าย ทอดให้ชาวบ้านอยู่เสมอ ท่านได้เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของต้นสบู่ดำภายในวัดว่า
ความที่ท่านสนใจพืชสมุนไพร และเคยมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องต้นละหุ่งเมื่อวัยเด็ก ดังนั้นเมื่อรู้ว่าต้นสบู่ดำ เป็นพืชสายพันธุ์เดียวกับละหุ่ง จึงได้เริ่มศึกษาและทดลองปลูก แล้วก็พบว่า พืชชนิดนี้มีแต่ประโยชน์ ไม่ต้องดูแลรักษามากนัก แต่ละส่วนของต้นสามารถใช้ประโยชน์ได้มากมาย อาทิ กิ่ง ก้าน นำมาผลิตกระดาษ ให้ความเหนียวของเยื่อกระดาษที่คุณภาพเทียบเท่าต้นยูคาลิปตัส ส่วนใบ สามารถใช้ปรับสภาพน้ำเน่าเสียได้ดีกว่าจุลินทรีย์ หรือจะนำมาต้มรับประทานแก้โรคเบาหวานก็ได้
“หลังจากศึกษาจนมั่นใจว่าพืชชนิดนี้มีประโยชน์กับชาวบ้าน จึงเริ่มนำมาปลูกในบริเวณวัดส่วนหนึ่งและตามหัวไร่ปลายนาในอำเภอด่านช้าง เพราะเห็นว่าต้นไม้นี้ปลูกแล้วขึ้นง่าย โตเร็ว ปลูกคลุมดิน ป้องกันน้ำ ท่วม ซึ่งที่ผ่านมาก็จะนำส่วนต่างๆ ของลำต้นมาใช้ประโยชน์บ้าง ตามสรรพคุณที่คนรุ่นก่อนเคยสอนกันมา”
รัฐประกาศ ‘สบู่ดำ’ พืชน้ำมันทางเลือก ชาวบ้านแห่ปลูกแล้วกว่าแสนต้น
จากปี 2547 ที่พระครูโสภณ สิทธิการ เริ่มนำสบู่ดำ มาปลูกตามพื้นที่ต่างๆ จนถึงปัจจุบัน รวมพื้นที่ปลูกทั้งหมดหลายพันไร่ ซึ่งไม่ใช่พื้นที่ของวัดอย่างเดียว
กระทั่งกลางปี 2548 ภาครัฐได้ประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของของสบู่ดำ ว่าเป็นพืชน้ำมันทางเลือก เพราะน้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำ 100 % สามารถใช้งานได้ดีกับเครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำ ยิ่งไปกว่า นั้น น้ำมันที่สกัดได้จากสบู่ดำยังนำมาผสมกับน้ำมันดีเซล ในอัตราส่วน 10 : 90 ผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล พลังงานทดแทนตามมาตรฐานสากล ที่กำลังอยู่ในความสนใจจากภาครัฐและเอกชนถึงคุณค่าทางเศรษฐกิจต่อประเทศ ทำให้เกิดการตื่นตัวในการหาต้นสบู่ดำมาปลูกกันอย่างมากมาย จุดนี้เองที่วัดพยัคฆาราม กลายเป็นวัดที่มีผู้คนให้ความสนใจเดินทางจากทั่วสารทิศ เพื่อมาขอพันธุ์ไปปลูก
“กล้าพันธุ์ทั้งหมดที่เรามีอยู่ ถึงตอนนี้ก็แจกจ่ายให้ชาวบ้าน สถานศึกษา หน่วยงานราชการที่สนใจนำไปปลูก แล้วเป็นแสนๆต้น อาศัยการให้เมล็ดไปปลูกบ้าง ให้ต้นกล้าพันธุ์ไปปลูกบ้างตามพื้นที่ของชาวบ้าน เพื่อให้ปริมาณสบู่ดำในพื้นที่ต่างๆ มีมากขึ้น นี่เพียงเฉพาะในเขตสุพรรณบุรีเท่านั้น ตามภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้ ก็มีเหมือนกันที่เดินทางมาขอกล้าพันธุ์จากเราไปปลูกในพื้นที่ของตนเอง” เจ้าอาวาสวัดพยัคฆาราม กล่าว
ปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว นับจากการริเริ่มของ พระครูโสภณ สิทธิการ ที่ทำให้พืชชนิดนี้ฝังรากลงดินไปแล้วกว่าแสนต้นทั่วประเทศ
กระทรวงพลังงานเข้าต่อยอดความรู้ ให้วัดเสือนำร่องศูนย์เรียนรู้ผลิตไบโอดีเซล
แต่ความเป็นพระเอกของสบู่ดำที่ทำให้วัดเสือโด่งดังไปทั่วสารทิศ คือ ส่วนของเมล็ดที่อัดแน่นไปด้วยน้ำ มันคุณภาพเยี่ยม สามารถใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลในเครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำได้ทั้งหมด ที่ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาคุณภาพวิถีชีวิตของคนในละแวกนั้นตามมาทันที
ปลายปี 2548 ศักยภาพของวัดและจำนวนสบู่ดำที่มีอยู่ในครอบครอง ได้รู้ไปถึงกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ที่เมื่อได้เข้ามาพูดคุยตรวจสอบกับเจ้าอาวาสแล้ว ก็เล็งเห็นความพร้อมรอบด้านของวัดเสือ จึงได้ชวนเข้าร่วม โครงการผลิตไบโอดีเซลระดับชุมชน ซึ่งนับเป็นแห่งแรก ของประเทศ ทั้งนี้เพราะเล็งเห็นว่าโครงการนี้น่าจะมีความก้าวหน้า อันเนื่องมาจากความมุ่งมั่นของเจ้าอาวาส ทีมงาน และเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็งในอำเภอศรีประจันต์ นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯจึงได้เร่ง เข้ามาต่อยอดสิ่งเหล่านี้ โดยการส่งเสริมให้วัดพยัคฆาราม เป็นศูนย์การเรียนรู้การผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันสบู่ดำ เพื่อนำร่องอนาคตด้านพลังงานที่สดใสให้ชาวบ้าน นอกจากนี้ยังให้การสนับสนุนองค์ความรู้และอุปกรณ์ผลิตไบโอดีเซล เช่น เครื่องหีบสบู่ดำขับด้วยไฟฟ้า และระบบผลิตไบโอดีเซลขนาด 100 ลิตร/ Batch (รอบกำลังการผลิต) ที่สามารถผลิตไบโอดีเซลสำหรับเครื่อง ยนต์รอบสูง จากน้ำมันพืชใช้แล้ว และน้ำมันสบู่ดำที่มีอยู่ในชุมชน รวมทั้งจัดส่งเจ้าหน้าที่และผู้รู้ด้านพลังงานมาพัฒนาบุคลากรในท้องถิ่นให้มีความรู้ เข้าใจการผลิตและการใช้น้ำมันสบู่ดำและไบโอดีเซลอย่างถูกต้อง ด้วยภาษาและวิธีการที่เข้าใจง่าย เพื่อให้การดำเนินงานด้านพลังงานทดแทน เกิดผลเป็นรูปธรรม นำไปสู่การสร้างการพึ่งพาตนเอง เพื่อการเกษตรและภาคขนส่งของชุมชนต่อไป
ในโครงการนำร่องนี้ วัดพยัคฆาราม รับหน้าที่เป็นผู้จัดหาอาคารสำหรับติดตั้งระบบผลิตไบโอดีเซลพร้อม อุปกรณ์ จัดหาอาสาสมัครเพื่อรับการถ่ายทอดความรู้ จัดหาวัตถุดิบ ดำเนินการผลิต และที่ขาดไม่ได้ คือ การมีส่วนร่วมบริหารจัดการโครงการและเป็นวิทยากรเครือข่ายให้กับชุมชนใกล้เคียง
จากการขายเมล็ดสบู่ดำ หันมาสู่การผลิตน้ำมันใช้
แรกเริ่มเดิมที เมื่อรู้ว่า ‘สบู่ดำ’ กลายเป็นพืชที่มีมูลค่า เพิ่มขึ้นหลายเท่า ในฐานะแหล่งน้ำมันบนดิน เจ้าอาวาส วัดพยัคฆารามจึงตั้งใจอยากให้ชาวบ้านปลูกสบู่ดำกันให้มาก เพื่อนำมาทำน้ำมันใช้เอง อันเป็นวิถีชีวิตแบบพอเพียงโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ แต่ว่าที่ผ่านมาชาวบ้าน สนใจปลูกต้นสบู่ดำ เพียงเพื่อจะนำเมล็ดไปขาย ทั้งนี้เพราะเพราะขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการพัฒนาบริหารจัดการผลผลิตจากพืชชนิดนี้อยู่มาก
กระทั่งเมื่อระลอกวิกฤตพลังงานลุกลามมาถึง การปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่องของน้ำมันดีเซล เชื้อเพลิงหลักของเหล่ารถอีแต๋นและรถไถนาของชาวไร่ชาวนา ทำให้กลุ่มชาวบ้านได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก และเริ่ม หันมาตระหนักถึงมูลค่าของน้ำมันในเมล็ดมากกว่าการชั่งขายเมล็ดกลับคืนสู่วัดและพ่อค้าคนกลาง
“แรกๆ ที่ชาวบ้านมาขอไปปลูก ไม่มีใครคิดว่าจะหีบ เอาน้ำมันมาใช้หรอก กลัวแต่จะขายไม่ได้ จะไม่มีใครรับซื้อ ทางวัดก็ประกาศเลยว่าจะรับซื้อในราคากิโลกรัม
ละ 4 บาท ก็มีไม่น้อยที่นำมาขาย เพราะสบู่ดำปลูกขึ้นง่าย แทบไม่เสียต้นทุนมากมายในการปลูก ผิดกับเดี๋ยวนี้ พอได้เมล็ดก็ไม่ขายแล้ว นำไปขยายพื้นที่ปลูกต่อไป หรือไม่ก็นำมาเมล็ดมาขอหีบน้ำมันสบู่ดำ ไปใช้กับรถไถนา รถอีแต๋นของตัวเอง”
เน้นแบบอย่างพระพุทธเจ้า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
หลังจากเริ่มโครงการมาร่วม 1 ปี พระครูโสภณสิทธิการ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชนก็แทบจะหายเหนื่อย (แม้หนทางของโครงการจะยังอีกไกล) เมื่อแนว คิดของชาวบ้านเริ่มปรับเปลี่ยน มีจำนวนไม่น้อยที่เห็นคุณค่าการพึ่งพาตัวเองมากขึ้น และตระหนักถึงความเป็นอยู่แบบพอเพียงตามแนวพระราชดำริ
“พอเห็นชาวบ้านที่รับต้นกล้าสบู่ดำไปปลูก มาขอใช้ เครื่องหีบสบู่ดำ เพื่อเอาน้ำมันกลับไปใช้มากขึ้นทุกวันๆ ก็ดีใจมากแล้ว เพราะที่เราเริ่มมาแต่แรกนั้น วันนี้มันเริ่มเห็นผล ไม่สายเกินไปต่อการรับมือน้ำมันแพง ขอแค่ชาวบ้านฉุกคิดถึงความเป็นอยู่ของตัวเองมากขึ้น อย่ามัวแต่รอขอความช่วยเหลือจากคนอื่น จนขาดการพัฒนาวิถีความเป็นอยู่ด้วยการพึ่งพาตนเองไปจนถึงคนรุ่นหลัง” เจ้าอาวาสวัดเสือกล่าว ก่อนที่จะตบท้ายว่า
“พระพุทธเจ้าท่านเป็นแบบอย่างในเรื่องนี้ เราเองเป็นภิกษุสงฆ์ ก็ควรคำเนินรอยตามพระพุทธองค์ และอะไรก็ตามที่เป็นประโยชน์กับชาวบ้าน พระต้องเสียสละ เป็นผู้นำ ต้องมีบทบาท โดยเฉพาะในต่างจังหวัด หยุดนิ่งไม่ได้ เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือ”
จากอดีต-ปัจจุบัน ‘วัด’ ศูนย์รวมองค์ความรู้และภูมิปัญญา ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อวิถีชุมชนอย่างร่วมสมัย ไม่เคยเสื่อมคลาย ดังเช่นวัดพยัคฆารามแห่งนี้
ทำความรู้จัก ‘สบู่ดำ’
สบู่ดำ เป็นพืชน้ำมันชนิดหนึ่ง น้ำมันที่ได้จากเมล็ดสบู่ดำสามารถใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลที่เกษตรกรใช้อยู่ได้ โดยไม่ต้องใช้น้ำมันชนิดอื่นผสมอีก ใช้เป็น สมุนไพรรักษาโรค ปลูกเป็นแนวรั้วเพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงเข้าทำลายผลผลิตเนื่อง จากมีสารพิษ Hydrocyanic มีกลิ่นเหม็นเขียว
สบู่ดำ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Jatropha curcas Linn. อยู่ในวงศ์ไม้ยางพารา เป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอเมริกาใต้
ปัจจุบัน มีปลูกอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น ภาคเหนือเรียกว่า ‘ละหุงฮั้ว’ ภาคอีสานเรียกว่า ‘มะเยา’ หรือสีหลอด ส่วนภาคใต้เรียกว่า ‘หงเทศหรือมาเคาะ’
ลักษณะของต้นสบู่ดำ
สบู่ดำเป็นไม้พุ่มยืนต้น ความสูง 2-7 เมตร เจริญเติบโตง่าย ทนความแห้งแล้ง ปลูกได้ทุกภาคในประเทศ มีอายุไม่น้อยกว่า 20 ปี ลำต้นและยอดคล้ายละหุ่ง แต่ไม่มีขน สามารถใช้มือหักได้ง่าย เนื้อไม้ไม่มีแก่น ใบหยักคล้ายใบละหุ่ง แต่หยักตื้นกว่า มี 4 หยัก ใบที่โตเต็มที่จะมีขนาดใหญ่เท่ากว่ามือ
ลักษณะของผลสบู่ดำ
ผลมีลักษณะเป็นพู ส่วนมากจะมี 3 พู (หนึ่งผลมี 3 เมล็ด) สีเขียวอ่อน เวลาสุกจะมีสีเหลือง ผลโตเกลี้ยง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 ซม. รูปทรงไม่กลม เป็นเหลี่ยมเล็กน้อย (รูป 6 เหลี่ยม) เมื่อผลแก่ เปลือกผล จะเป็นสีดำ อายุของผลสบู่ดำตั้งแต่ออกดอก จนถึงผลแก่ ประมาณ 60-90 วัน
การขยายพันธุ์
พันธุ์สบู่ดำที่ปลูกกันส่วนใหญ่ ยังเป็นพันธุ์พื้นบ้านที่เรียกกันตามแหล่งปลูก ซึ่งการขยายพันธุ์ที่นิยมทำกัน มี 2 วิธี คือ การเพาะเมล็ด และ การปักชำด้วยกิ่งของต้นสบู่ดำ
ประโยชน์จากสบู่ดำ
นอกจากการหีบน้ำมันจากเมล็ด เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน(ที่กำลังดีรับความสนใจ)แล้ว ลำต้นของสบู่ดำ ยังสามารถนำมาตัดเป็นท่อนต้มน้ำให้เด็กกินแก้ซางตาลขโมย อาบแก้โรคพุพอง ส่วนยางจากก้านใบ ใช้ป้ายรักษาโรคปากนกกระจอก ห้ามเลือด แก้ลิ้นเป็นฝ้าขาวโดยผสมกับน้ำนมแม่ป้ายลิ้น