xs
xsm
sm
md
lg

บทความจาก นสพ. ผู้จัดการ

x

หมุนใจให้ตรง:ยอมให้เป็น แล้วจะเย็นได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรื่องที่ 008 ธรรมคมคายจากจิตรลดา

ตอนที่ 3 รู้ทันโกรธ รู้ปล่อยวาง

เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงเคยเจอคนประเภท มีความหวังดี แต่่แสดงท่าทีประสงค์ร้าย กันมาบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่คนเลือดร้อนประเภทนี้ใช่ว่าจะเลวร้ายอะไรนักหนา เพียงทว่า..ไฟธาตุของเขาขาดความสมดุลเท่านั้น แต่กว่าจะรู้ใจกัน ได้ถึงขั้นประกาศแขวนนวม ก็ได้ผ่านสังเวียน เวทีการชกกันมาหลายยกแล้ว

คนที่จริงจังกับทุกเรื่องราวในชีวิต มักทำให้คนอยู่ใกล้เข็ดขยาด แม้ยามเมื่อเจ้าเงาะถอดรูปจะงดงามเพียงไร แต่ดิฉันคนหนึ่งล่ะ ขณะไฟกำลังลุก ใครจะทนนั่งพับเพียบให้เผาเล่นอยู่ได้ ต้องรอให้เขาสงบเป็นและเย็นได้ เสียก่อนค่อยมาว่ากันใหม่

วันนี้ กัลยาณมิตรจิตรลดา คมคาย มีประสบการณ์เชิงบวกมาเล่าสู่กันฟังเช่นเคย ซึ่งเป็นข้อคิดส่วนหนึ่งจากเรือนธรรม เมื่อวันพุธที่ 5 เม.ย. 2549 โดย พระอาจารย์มานพ อุปสโม

และก่อนจะเข้าเรื่อง เธอได้เกริ่นกรุยทางไว้ก่อนว่า......

*เวลาที่เราโกรธ เรามักจะเพ่งโทษว่า ใครมาทำให้เราโกรธ แล้วก็วิ่งไปหาคนจุดไฟ เรามัวไปเสียเวลาให้หมดไปกับคนจุดไฟ

อันที่จริงแล้วในเมื่อเรากลัวว่าไฟจะลามไหม้บ้านของเราเสียหายจนต้องหมดตัว ขั้นตอนแรกที่เราต้องทำคือ เราควรดับไฟเสียก่อน หันมารักษาบ้านหลังใน คือใจของเราดีกว่า จะไปตามหาว่าใครเป็นคนจุดไฟ และเขาจุดทำไม???

นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ครูบาอาจารย์ได้เมตตาแสดงธรรมไว้เตือนสติ เรื่องของ การรู้เท่าทันใจและการระงับความโกรธที่เกิดขึ้น

จะเห็นได้ว่า เรามักมองไปยังคนที่ทำให้เราโกรธ กังวลใจไปสารพัด เก็บมาผูกเอามาโยงเป็นเรื่องราว เเล้วก็ปรุงแต่งไปต่างๆ นานา บางรายถึงกับเครียดลงกระเพาะอาหาร หน้าตาบึ้งตึง ไม่ยิ้มแย้มแจ่มใส เพราะอารมณ์ใจไม่เบิกบาน ผลร้ายที่ตามมาจึงเกิดเป็นทุกขเวทนาทั้งร่างกายและจิตใจ

ซึ่งโดยปกติแล้วคนที่โมโหและฉุนเฉียวง่าย พอค่อยๆ เริ่มหัดมาเฝ้าดู.....มาตามรู้ใจแล้ว จิตที่ส่งออกไปปรุงนอกใจจะลดน้อยลง เพราะได้หันกลับเข้ามามองภายในจิตใจตัวเองมากยิ่งขึ้น เป็นพัฒนาการทางใจที่เปลี่ยนไปในทางที่ดี นิ่งและดูใจเย็นมากขึ้น พูดจามีเหตุผลกว่าเก่า ทำให้การติดต่อ งานเป็นไปอย่างสะดวกและราบรื่นขึ้น ผิดจากแต่ก่อนที่ไม่มีใครกล้าเข้ามาคุยด้วย เพราะกลัวใจ นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างของประโยชน์อันเกิดจากการรู้จักหันมามองดูใจ ซึ่งทำให้เกิดความปล่อยวาง

พระอาจารย์มานพ อุปสโม
ได้เมตตาขยายความให้รายละเอียด เพิ่มเติมอีกว่า

เราควรตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท เพราะทุกสรรพสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เมื่อเราได้พิจารณาแล้วจะทำให้เกิดข้อคิดว่า การเกิด แก่ เจ็บ ตาย และการอุบัติขึ้นของมนุษย์ มีจุดมุ่งหมายปลายทางคือ ความตาย เหมือนกันหมด เมื่อเราเห็นตรงนี้แล้วจะได้รักการปฏิบัติธรรมมากยิ่งขึ้น เวลาปฏิบัติธรรมหากรู้สึกเกียจคร้าน หรือเบื่อหน่ายแล้ว พระพุทธเจ้าท่านทรงให้พิจารณาถึงความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตาย และภัยที่เรา ยังไม่พ้น นั่นคือ เรายังมีโอกาสในการไปเกิดในอบายภูมิได้ ตายจากโลกนี้จะไม่ได้อะไรเลย แล้วจะทำให้เราปรารถนาความเพียรยิ่งขึ้น

ดังนั้น เราเกิดมาแล้วควรพิจารณาในสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก 4 ประการ ด้วยกัน คือ

1. การเกิดเป็นมนุษย์เป็นของยาก

2. เมื่อเราเกิดแล้วการรักษาชีวิตให้อยู่รอดก็ยาก

3. การได้พบสิ่งที่ประเสริฐ สิ่งที่ดี ได้แก่ การพบพระพุทธเจ้าเป็นของยาก (พระพุทธเจ้าท่านต้องทรงบำเพ็ญบารมี 30 ทัศ จึงตรัสรู้เป็นอนุตระสัมโพธิญาณได้)

4. การได้ฟังธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสิ่งยาก

แต่ที่พระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงไว้นั้นเราได้ครบบริบูรณ์เลยนะ คือ ได้เกิดเป็นมนุษย์ แม้ว่าเราไม่ได้พบพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าได้แสดงไว้กับท่านพระอานนท์ว่า "ธรรมวินัยจะเป็นตัวแทนของตถาคต" ถ้าเรานึกถึงธรรมวินัยให้เป็นเครื่องเตือนใจให้ทำความดี ให้ระลึกถึงความไม่ประมาท แม้ไม่ได้พบพระองค์ก็ได้พบพระธรรมวินัย และการฟังธรรม ก็ได้ฟัง ได้อ่านในตำรา ได้ฟังจากซีดีหลักคำสอนในพระไตรปิฎกมีอยู่ในซีดีแผ่นเดียว สะดวก เดินทางไปไหนก็ฟังได้ง่าย ไม่ลำบาก

และสิ่งที่พวกเราน่าจะภูมิใจคือ ชีวิตเราได้มายาก เราดำรงมาอยู่ทุกวันนี้ และเราก็มาใฝ่ธรรม โดยไม่ได้ปล่อยชีวิตอย่างไร้ประโยชน์ อย่างเปล่าประโยชน์ เรามาทำสมาธิ ภาวนา ถ้าเราตั้งใจทำจริงๆ ผลจะมี ผลจะเกิดขึ้นทางใจ ทำให้ใจของเรารู้จักการยับยั้ง รู้จักการปล่อยวาง คลายจากความเร่าร้อน มีความเยือกเย็น เป็นความสุขที่แท้จริงเกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรม เรียกว่าเป็นสันติสุข คือ สุขที่เกิดขึ้นจากความสงบ ไม่มีความเร่าร้อนแฝงอยู่ เช่น การที่เราไปมองของที่เราพอใจแล้วเกิดความสุข สุขที่ได้รับยังไม่ใช่สันติสุข แต่ทว่า การปฏิบัติธรรมเป็นสุขจากการภาวนา การที่เรานั่งนิ่งๆ นั่งเฉยๆ แล้วสังเกตลมหายใจกันวันละประมาณครึ่งชั่วโมง จะพบว่าจะทำให้ใจของเรานิ่ง ใจไม่พล่าน ใจเราไม่ฟุ้งซ่าน เป็นความสุขอันเกิดจากความสงบ เรียกว่า สมาธิ และมีความสุขอีกตัวหนึ่ง คือ การไปรู้เท่าทันทุกข์ที่เกิดขึ้น แล้วปล่อยวาง

- การรู้เท่าทันทำให้ใจปล่อยวาง

- การรู้ไม่เท่าทันทำให้ใจยึดถือ


การเข้าไปยึดถือทำให้เกิดทุกข์ ถ้าเราทำใจให้ยอม ใจก็จะเย็น แต่ถ้าเรา ทำใจให้ไม่ยอม ใจก็จะเป็นทุกข์ "ยอมเป็นแล้วเย็นได้.....ถ้ายอมไม่เป็นก็เย็น ไม่ได้" ยิ่งมีสามีภรรยาที่ทะเลาะกันเพราะไม่ยอมกัน แล้วใจก็เร่าร้อน พอเรารู้จักยอมกัน เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข อย่างมีความสุข ถ้าเขาร้อนมาให้เอาเย็นต้อนรับ เย็นแล้วค่อยแก้ไข อย่างน้อยให้ดูใจให้เป็น

คือการเข้าไปเห็นใจตนเองก็จะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ ยุติได้ แต่กว่าเราจะมองใจเราเป็นก็เล่นเอาเลือดตาแทบกระเด็น มันต้องฝึกดูใจ

ขอคุณของพระรัตนตรัย คุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรมเจ้า คุณพระสงฆเจ้า คุณทาน ศีล ภาวนา ที่ได้สั่งสมกันมา จงมารวมเป็น เดช เป็นตบะ เป็นพละปัจจัย เป็นนิสัยตามส่ง ให้ทุกท่านมีสติ มีปัญญารู้แจ้งในธรรมของ พระพุทธเจ้า ให้ผู้ฟังทุกท่านได้พบความสุข ความเจริญก้าวหน้าในชีวิต ทุกท่านเทอญ *
กำลังโหลดความคิดเห็น