xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก:ปปัญจธรรม 3 คือ มานะ ทิฏฐิ และตัณหาเป็นกิเลสเครื่องเนิ่นช้าทำให้คิดปรุงแต่งยืดเยื้อพิสดารก่อให้เกิดปัญหา ขัดขวางไม่ให้เข้าถึงความจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

3. เครื่องขัดขวางการเรียนรู้ธรรม

ก่อนที่เราจะพิจารณาว่าต้นทางของเส้นทาง การปฏิบัติธรรมอยู่ที่ตรงไหน ผู้เขียนขอเสนอให้เพื่อนนักปฏิบัติขจัดสิ่งที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ 3 ประการ เรียกว่า ปปัญจธรรม อันเป็นกิเลสเครื่องเนิ่นช้า เป็นตัวการทำให้คิด ปรุงแต่งยืดเยื้อพิสดาร ทำให้เขวห่างออกไปจากความเป็นจริงที่ง่ายๆ และเปิดเผย ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ และขัดขวางไม่ให้เข้าถึงความจริง กิเลส 3 ประการนี้ ได้แก่

3.1 มานะ คือความถือตัวว่าเรารู้ดีแล้ว เราเก่งแล้ว หรือผู้แสดงธรรมท่านอื่นก็รู้พอๆ กันกับเรา หรือเรามันโง่เขลาเบาปัญญาไม่มีทางที่จะเรียนรู้ธรรมได้เลย

3.2 ทิฏฐิ คือการมีความเชื่อมั่นหรือปักใจเชื่อในแนวทางปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดที่มีอยู่เดิม คิดว่าแนวทางของเราที่ทำอยู่นี้เท่านั้นถูกต้อง แนวทางอื่นๆ ไม่ถูกต้อง ความรู้สึกอย่างนี้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างมาก พอได้ฟังสิ่งใดที่ขัดแย้งหรือแตกต่างจากความเชื่อเดิมก็เกิดโทสะเสียแล้ว ทำให้การพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ของตนเองทำไม่ได้ หรือพอได้รับฟังสิ่งใหม่ๆ ก็คิดเปรียบเทียบกับข้อมูลเดิมอยู่ตลอดเวลา ทำให้ขาดความตั้งใจมั่นที่จะศึกษาสิ่งใหม่ๆ ด้วยเหตุนี้เองพวกเราจึงควรทำตนให้เป็นเสมือน ถ้วยชาที่ว่างเปล่าเสียก่อน จึงจะเข้าใจในสิ่งที่ ผู้เขียนจะกล่าวต่อไปนี้ได้อย่างง่ายดาย และเมื่อเข้าใจแล้วจะไม่เชื่อถือก็ไม่ว่ากัน อย่าเพิ่งปฏิเสธทั้งที่ยังไม่เข้าใจก็ขอบคุณมากแล้ว

3.3 ตัณหา คือความอยาก ในที่นี้หมายถึงความอยากที่จะปฏิบัติธรรม และความอยากที่จะบรรลุธรรม เมื่อมีความอยากก็เกิดการกระทำตาม อำนาจของความอยากต่างๆ นานา ตรงกับคำสอน ของพระพุทธเจ้าที่ว่า "ตัณหาเป็นผู้สร้างภพ" คือสร้างความปรุงแต่งหรือการงานทางใจที่เรียกว่า "กรรมภพ' ขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพียรทำอะไรบางอย่างเพื่อละอกุศล และการเพียรทำอะไรบางอย่างเพื่อเจริญกุศล เช่นการพยายามทำสติ สมาธิ ปัญญา และวิมุตติให้เกิดขึ้น โดยเชื่อว่าถ้ามีความเพียรปฏิบัติและสร้างความปรุงแต่งฝ่ายกุศลให้เต็มที่แล้ว จะรู้ธรรมได้ในที่สุด

แท้จริงการมีความเพียรชอบนั้น ไม่ใช่เพียรโดยเอากำลังเข้าหักหาญกับกิเลสหรือพยายามบังคับให้กุศลเกิดขึ้น เพราะธรรมทั้งปวงทั้งฝ่ายกุศลและอกุศลต่างก็เป็นอนัตตาคือไม่อยู่ในอำนาจ บังคับของใคร ความเพียรเช่นนั้นจึงไม่ใช่สัมมาวายามะหรือความเพียรชอบ เพราะยังประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ ว่าเราจะละอกุศลและทำให้ธรรมฝ่ายกุศลเกิดขึ้นได้ตามใจปรารถนา แต่เป็น มิจฉาวายามะอันมีตัณหาอยู่เบื้องหลังการปฏิบัติธรรมและมีความหลงผิดเป็นเครื่องชี้นำ ส่วนความเพียรชอบนั้นเพียงมีสติก็เกิดความเพียรชอบแล้ว คือทันทีที่สัมมาสติเกิดขึ้น อกุศลก็เป็นอันถูกละ ไปแล้ว และกุศลก็เริ่มเจริญขึ้นแล้ว สมดังที่ หลวงปู่ มั่น ภูริทัตตเถระ ท่านสอนว่า "เมื่อใดมีสติเมื่อนั้นมีความเพียร เมื่อใดขาดสติเมื่อนั้นขาดความเพียร" ดังนั้นแม้จะพยายามเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิตลอดวันตลอดคืน ถ้าไม่มีสติก็ยังไม่ได้ชื่อว่าทำความเพียรชอบ

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/
การปรุงแต่งฝ่ายดีหรือปุญญาภิสังขาร)
กำลังโหลดความคิดเห็น