xs
xsm
sm
md
lg

คนรู้ใจ:ฝึกจิตให้ได้ผลต้องตรงต่อเวลา สัจจะ และขันติธรรม จึงคือสุดยอด 2 จุดของเคล็ดลับ How to

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทุกมนุษย์เกิดมา ใครๆ ก็อยากประสบความสำเร็จ ตอนเด็กก็อยากเรียนเก่ง โตขึ้นอยากทำงานดี เมื่อมีครอบครัวอยากมีครอบครัวที่อบอุ่น ไปด้วยภรรยาที่เพียบพร้อมและลูกๆ ที่น่ารักเชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่

ทุกวันนี้เราจึงเห็นพ็อกเกตบุ๊กประเภทฮาวทู ในการสอนวิธีพิชิตความสำเร็จออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จด้านไหนล้วนมีทุกด้าน คอร์ส อบรมต่างๆ เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดฤดูฝน บางคอร์สตกหลายหมื่นเพียงอบรมไม่กี่ชั่วโมง จากวิทยากรต่างประเทศที่มีชื่อเสียง

เราล้วนคิดที่จะเริ่มจากภายนอก แต่เคยคิดที่จะเริ่มจากภายในตัวเราเองหรือไม่ เพราะต่อให้มีนักอบรม นักปฏิบัติฝีมือเยี่ยมระดับโลก หนังสือบอกเคล็ดลับดีเพียงใด แต่เราไม่เริ่มที่ตัวเราเองก่อน โดยเริ่มที่ "ใจ" ยากครับที่จะประสบความสำเร็จ

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) กล่าวว่า เคล็ดลับสู่ความ สำเร็จสุดยอดในทางธรรม คือ จะต้องมีสัจจะอันแน่วแน่และมีขันติธรรมอันมั่นคง จึงจะฝ่าฟันอุปสรรค บรรลุความสำเร็จได้

"อาตมามีกฎอยู่ว่า เช้าตีห้าไม่ว่าฝนจะตก ฟ้าจะร้อง อากาศจะหนาว ต้องตื่นทันที ไม่มีการผัดเวลา แล้วเข้าสรงน้ำ ชำระกายให้สะอาด แล้วจึงได้สวดมนต์และปฏิบัติสมถกรรมฐานหนึ่งชั่วโมง พอหกโมงตรงก็ออกบิณฑบาต เพื่อปฏิบัติตามปฏิปทาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า"

ฝึกจิตให้ได้ผลต้องตรงต่อเวลา กลับจากบิณฑบาตแล้ว ก็เอาอาหารตั้งไว้ ตักน้ำใส่ตุ่ม เสร็จแล้วฉันอาหารเช้า โดยปกติอาตมาฉันมื้อเดียวเว้นไว้มีกิจนิมนต์จึงฉันสองมื้อ สี่โมงเช้าถึงเที่ยง ถ้ามีรายการไปเทศน์ก็ไปเทศน์ตามที่นัดไว้ วันไหนไม่ติดเทศน์ก็จะปิดประตูกุฏิทันที ไม่ให้ใครๆ เข้าไป ใน ช่วงเวลานั้นเป็นเวลาศึกษาตำรา เวลาบ่ายโมงจึงออกรับแขก บ่ายสามโมง ไม่ว่าใครจะมาอาตมาจะให้ออกจากกุฏิไปหมด เพราะถึงเวลาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ฉะนั้น จุดสำคัญจงจำไว้ เราจะปฏิบัติเพื่อหลุดพ้น ต้องมีสัจจะเพื่อตนโดยไม่เห็นแก่หน้าใคร ถึงเวลาทำสมาธิต้องทำ ไม่มีการผัดผ่อนใดๆ ทั้งสิ้น

หลักการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

1. จะต้องมีสัจจะต่อตนเอง

2. จะต้องไม่คล้อยตามอารมณ์ของมนุษย์

3. พยายามตัดงานในด้านสังคมออก และไม่นัดหมายใครในเวลาปฏิบัติกรรมฐาน

ดังนั้นเมื่อจะเป็นนักปฏิบัติธรรมจำเป็นจะต้องมีกฎเกณฑ์ของเราเพื่อฝึกจิตให้เข้มแข็ง

ทางแห่งความหลุดพ้น

เจ้าประคุณสมเด็จฯ มักจะกล่าวกับสานุศิษย์ทั้งหลายอยู่เสมอว่า ชีวิตมนุษย์อยู่ได้ไม่ถึงหนึ่งร้อยปีก็ต้องตายและถูกหามเข้าป่าช้า ดังนั้นจึงควรประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีล สมาธิ และปัญญา เพื่อให้หลุดพ้นจากสังสารวัฏ ท่านเปรียบเทียบว่า มนุษย์อาบน้ำชำระกายวันละสองครั้งเพื่อกำจัดเหงื่อไคล สิ่งโสโครกที่เกาะร่างกาย แต่ไม่เคยคิดจะชำระจิตให้สะอาดแม้เพียงนาที ด้วย เหตุนี้ ทำให้จิตใจของมนุษย์ยุคปัจจุบันเศร้าหมองเคร่งเครียดและดุดัน ก่อให้เกิดปัญหาความพิการในสังคม ความแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน จนกระทั่งเกิดความขัดแย้ง และกลายเป“นสงครามมนุษย์ฆ่ามนุษย์ด้วยกัน

แต่งใจ

ขอให้ท่านได้พิจารณาไตร่ตรองให้จงดีเถิดว่า ร่างกายของเรานี้ไฉนจึงต้อง ชำระทุกวันทั้งเช้าและเย็นจะขาดเสียไม่ได้ ทั้งที่หมั่นทำความสะอาดอยู่เป็นนิจ แต่ยังมีกลิ่นไม่น่าอภิรมย์ออกมา แม้จะพยายามหาของหอมมาทาทับ ก็ปกปิด กลิ่นนั้นไม่ได้ ...ใจของเราล่ะ ซึ่งเป็นใหญ่กว่าร่างกาย เป็นผู้สั่งบัญชางานให้กายแท้ๆ มีใครเอาใจใส่ชำระสิ่งสกปรกออกบ้าง ตั้งแต่เล็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มันสั่งสมสิ่งไม่ดีไว้มากเพียงใด หรือว่ามองไม่เห็นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำความสะอาดหรือ

กรรมลิขิต

เราทั้งหลายเกิดมาเป็นมนุษยชาติแล้ว ล้วนแต่มีกรรมผูกพันกันมาทั้งสิ้น ผูกพันในความเป็นมิตรบ้างเป็นศัตรูบ้าง แต่ละชีวิตก็ย่อมที่จะเดินไปตาม กรรมวิบากของตนที่ได้กระทำไว้ ทุกชีวิตล้วนมีกรรมเป็นเครื่องลิขิต อดีตกรรม ถ้ากรรมดี เสวยอยู่ ปัจจุบันกรรม สร้างกรรมชั่ว ย่อมลบล้าง อดีตกรรม กรรมแห่งอกุศล วิบากตน ปัจจุบัน สร้างกรรมดี ย่อมผดุง

เรื่องกฎแห่งกรรม ถ้าเป็นชาวพุทธแล้ว เขาถือว่าเป็นกฎแห่งปัจจัตตัง ผู้ที่ต้องการรู้ ต้องทำเอง รู้เอง ถึงเอง แล้วจึงจะเข้าใจ

นักบุญ

การทำบุญก็ดี การทำสิ่งใดก็ดี ถ้าเป็นการทำตนให้ละทิฏฐิมานะทำเพื่อให้ จิตเบิกบาน ย่อมเสวยบุญนั้นในปรภพ มนุษย์ทุกวันนี้ทำแบบมีกิเลส ดังนั้น บางคนนึกว่าเขาสร้างโบสถ์เป็นหลังๆ แล้วเขาจะไปสวรรค์หรือเปล่า เขาตายไปอาจจะต้องตกนรก เพราะอะไรเล่า เพราะถ้าเขาสร้างด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์ เป็นการทำเพื่อเอาบุญบังหน้าในการเสวยความสุขส่วนตัวก็มี บางคนอาจเรียก ได้ว่าหน้าเนื้อใจเสือ คือข้างหน้าเป็นนักบุญ ข้างหลังเป็นนักปล้น

ละความตระหนี่มีสุข

ดังนั้นบุญที่เขาทำนี้ถือว่าไม่เป็นสุข หากมาจากการก่อกรรม บุญนั้นจึงมีกระแสคลื่นน้อยกว่าบาปที่เขาทำเอาไว้ หากมีใครเข้าใจคำว่า บุญ นี้ดีแล้ว การทำบุญนี้จุดแรกในการทำก็เพื่อไม่ให้เรานี้เป็นคนตระหนี่ รู้จักเสียสละเพื่อ ความสุขของผู้อื่น ธรรมดาเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เมื่อมีทุกข์ก็ควรจะทุกข์ด้วย เมื่อมีความสุขก็ควรสุขด้วยกัน

คัดลอกจากหนังสือเรียนธรรมะบูชาพระสุปฏิปันโน เล่มของ สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี

(อ่านต่อสัปดาห์หน้าครับ)
กำลังโหลดความคิดเห็น