xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก : ต้องให้สติเกิดเองเพราะจิตจำสภาวะของรูปนามได้ จึงจะเกิดความรู้สึกตัวที่แท้จริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครั้งที่ 017 บทที่ 3 ทางผิดที่ติดตาม
ตอน จะเข้าสู่ทางสายกล่งได้อย่างไร

อนึ่ง การถกเถียงกันว่าอารมณ์กรรมฐานอันใดดีกว่าอันใด หรือกรรมฐานสายไหนดีกว่าสายไหน เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดมีขึ้นในวงการของผู้ปฏิบัติ และจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยสำหรับผู้ที่ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถ่องแท้แล้ว เพราะอารมณ์กรรมฐานนั้นเราต้องรู้จักเลือกใช้ให้เหมาะสมกับจริตนิสัยของตน คือถ้าเป็นผู้มีตัณหาจริตก็ควรเลือกใช้กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยควรทำสมถกรรมฐานให้จิตตั้งมั่นเสียก่อนจึงค่อยใช้จิตที่ตั้งมั่นแล้วนั้นตามรู้กายและเวทนาตามความเป็นจริงต่อไป ส่วนผู้มีทิฏฐิจริตก็ควรเลือกใช้จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานและธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยตามรู้จิตและธรรมไปได้เลยไม่ต้องทำฌานก่อน เพียงแค่ทำความสงบจิตเพื่อพักผ่อน บ้างเป็นระยะๆ ก็พอแล้ว

ดังนั้น สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้จักเลือกอารมณ์กรรมฐานที่เหมาะสมกับตนเอง ซึ่งจะทำให้สติและสัมมาสมาธิเกิดขึ้นได้บ่อยๆ และต้องรู้วิธีการ รู้อารมณ์อย่างถูกต้องโดยไม่หลงสุดโต่งไปด้านใด ด้านหนึ่งด้วย เช่น (1) ถ้าจะรู้กาย ก็อย่าหลงลืมกายไปหาอารมณ์อื่น หรือแม้แต่หลงคิดฟุ้งซ่านเรื่องกาย และอย่าเพ่งกาย (2) ถ้าจะรู้เวทนา ก็อย่าหลงลืมเวทนาไปหาอารมณ์อื่น หรือแม้แต่หลงคิดฟุ้งซ่านเรื่องเวทนา และอย่าเพ่งเวทนา และ (3) ถ้าจะรู้จิต ก็อย่าหลงลืมจิตไปหาอารมณ์ อื่น หรือแม้แต่หลงคิดฟุ้งซ่านเรื่องจิต และอย่าเพ่งจิต ทำได้อย่างนี้เราจึงจะประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ได้ในเวลาที่ไม่นานนัก เพราะไม่หลงไปตามทางที่สุดโต่ง ทั้งสองสายนั้น

8. อาการของจิตที่รู้สึกตัว ไม่เผลอและไม่เพ่ง เป็นอย่างไร

พวกเราหลายท่านเมื่อปฏิบัติไปช่วงหนึ่งแล้วเกิดสงสัยว่าที่ปฏิบัติอยู่นั้นตนเองรู้สึกตัวได้ถูกต้องแล้วหรือยัง ถ้าถูกต้องแล้วจะได้ตามรู้รูปนามกายใจเพื่อให้เกิดปัญญาตามทางสายกลางต่อไป วิธีสังเกตว่าเรารู้สึกตัวได้ถูกต้องแล้วหรือไม่ ให้สังเกตดังนี้

8.1 ความรู้สึกตัวนั้นเกิดขึ้นเองเพราะเราไปรู้ทันรูปนามของตนเอง หรือเกิดจากความจงใจและพยายามจะรู้สึกตัว หากสติเกิดไปตามรู้ทันรูปนามเข้าเองก็ใช้ได้ เช่น กำลังเผลอคิดเรื่องหนึ่ง เรื่องใดอยู่ แล้วเกิดสติระลึกขึ้นได้ว่า อ้าวเผลอไปแล้ว หรือกำลังโกรธอยู่ แล้วเกิดสติระลึกขึ้นได้ว่า อ้าวโกรธไปแล้ว อย่างนี้มักจะเกิดความรู้สึกตัวที่แท้จริง แต่ถ้ากายเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ จิตเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ จู่ๆ ก็นึกขึ้นได้ว่าจะต้องปฏิบัติธรรม แล้วเกิดความสงสัยว่ากายหรือจิตกำลังเป็น อย่างไร เกิดความอยากรู้ และเกิดอาการจงใจไปรู้กาย หรือรู้จิต อย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้ ต้องให้สติเกิดเอง เพราะจิตจำสภาวะของรูปนามได้ จึงจะเกิดความรู้สึกตัวที่แท้จริง

8.2 ในขณะที่คิดว่ารู้สึกตัวนั้นจิตเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าจิตเป็นกุศลแสดงว่ามีความรู้สึกตัวเกิดขึ้นจริง จิตที่เป็นกุศลจะมีความเบา อ่อนโยน ปราศจากกิเลสและนิวรณ์ คล่องแคล่ว และรู้อารมณ์อย่างซื่อตรงโดยไม่เข้าไปแทรกแซง แต่ถ้า ในขณะนั้นจิตเป็นอกุศล มีอาการหนัก แน่น แข็ง มีกิเลสและนิวรณ์ ซึมทื่อ หรือพยายามเข้าไปแทรกแซงจิตและอารมณ์ อย่างนี้แสดงว่าไม่ได้เกิดความรู้สึกตัวที่แท้จริง

9. เมื่อรู้สึกตัวได้แล้วจะต้องทำอะไรต่อไป
เมื่อจิตเกิดความรู้สึกตัวแล้ว หน้าที่ของผู้ปฏิบัติก็คือจะต้องใช้จิตที่รู้สึกตัวแล้วนั้นไปเจริญวิปัสสนา อันได้แก่การมีสติระลึกรู้รูปที่กำลังปรากฏ ในปัจจุบัน และมีปัญญาเข้าใจลักษณะของรูปนั้นว่าเป็นไตรลักษณ์ หรือมีสติตามระลึกรู้นามที่เพิ่งดับไปสดๆ ร้อนๆ และมีปัญญาเข้าใจลักษณะของ นามนั้นว่าเป็นไตรลักษณ์ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดพัฒนาการทางวิปัสสนาปัญญา คือรู้รูปนามตรงตาม ความเป็นจริงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ แล้วบรรลุมรรคผลนิพพานถึงความพ้นทุกข์ได้ ในที่สุด (13 พฤษภาคม 2548)

(อ่านต่อสัปดาห์หน้าบทที่ 4 จากต้นสายถึงปลายทาง)
กำลังโหลดความคิดเห็น