xs
xsm
sm
md
lg

หนทางสู่ความเป็น ‘วัดปลอดเหล้า’ ของ‘วัดลองตอง’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วที่วัดลองตอง ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง จ. นครราชสีมา ได้เริ่มรณรงค์ให้วัดเป็นเขตปลอดเหล้า โดยค่อยๆดำเนินการเรื่อยมา จนกระทั่งในปี 42 ถือเป็นปีที่วัดลองตองประกาศเป็นเขตปลอดเหล้าเหล้าอย่างเด็ดขาด
วัดลองตองเป็นวัดเก่าแก่มีอายุครบ 300 ปี เมื่อปี 2548 และเคยเป็นวัดที่มี ชื่อเสียงดีงาม ด้วยบารมีของหลวงพ่อจันทร์และหลวงพ่อทอง สืบต่อมาตั้งแต่ 100 ปีก่อน ซึ่งเป็นสถานศึกษาของพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา แต่มาในระยะหลังการณ์กลับปรากฏว่า วัดแห่งนี้เต็มไปด้วยการ เสพสุรา เล่นการพนันกันอย่างโจ่งแจ้ง ทุกครั้งที่มีการจัดงานวัด ไม่ว่าจะเป็นงาน บวช งานศพ งานทอดกฐิน ถวายผ้าป่า
สภาพที่เป็นอยู่เช่นนี้ได้ยังความสลด ใจแก่ พระครูจันทสรานุยุต(หลวงพ่อสมาน จันทรโพธิ์) เจ้าอาวาสวัดลองตอง รูปปัจจุบัน ท่านจึงตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะทำให้วัดแห่งนี้ปลอดเหล้า ปลอดอบายมุขให้ได้ โดยมีผู้ช่วยคนสำคัญคือ นายกิตติ อินทร์จอหอ มัคนายกวัด วัย 68 ปี ซึ่งติดเหล้ามากว่า 20 ปี และก็เลิกได้ กว่า 20 ปีแล้ว เมื่อเข้ามาช่วยงานในวัด

หาแนวร่วมช่วยผลักดัน
หลวงพ่อสมานมองว่าลำพังตัวท่านคนเดียวมิอาจทำได้สำเร็จ จึงต้องหาแนว ร่วมจากพระผู้ใหญ่ พระเถระที่มีผู้นับถือศรัทธา รวมทั้งคนที่มีบทบาทเป็นผู้นำชุมชนและได้รับการยอมรับ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มัคทายก ครู เป็นต้น เข้ามา ช่วยกันรณรงค์ผลักดัน ด้วยเหตุนี้ หลวงพ่อสมานจึงเริ่มจากการไปปรึกษาหารือกับหลวงพ่อดี เจ้าคณะตำบลบ้านโพธิ์ และเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองจอก ที่อยู่ใกล้ เคียง ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่ที่ชาวบ้านเคารพ นับถือมาก เพื่อให้ท่านช่วยนำในเรื่องนี้ หลวงพ่อดีได้แนะนำว่า เริ่มแรกพระต้อง ทำเป็นตัวอย่างก่อน จากการห้ามถวายบุหรี่แก่พระ และห้ามไม่ให้พระเล่นหวย เล่นการพนัน หลังจากนั้นก็พยายามเทศน์ และสอนถึงโทษภัยของการกินเหล้า ซึ่งหลวงพ่อสมานก็ได้รับมาปฏิบัติ โดยเพียรพยายามเทศน์สอนชาวบ้านในเรื่อง นี้อย่างสม่ำเสมอ
“บางคนเราก็ไปเยี่ยมเวลาเขาเจ็บป่วย ได้เข้าไปแนะนำเรื่องการดูแลบ้านให้สะอาด เพราะไปเห็นบ้านเรือนสกปรก ชี้ให้เห็นโทษหรือผลของการกินเหล้าทำ ให้เจ็บป่วยอย่างไร หรือเวลาคนมาทำ บุญที่วัดเราก็จะพูดสอน แต่ก็จะใช้วิธีคุย ส่วนตัวกับคนที่กินเหล้าด้วย เพื่อให้เขาคิดถึงครอบครัว ก็ทำทุกวิถีทาง”
การรณรงค์ที่ต้องต่อสู้กับค่านิยมของ คนที่ยังมองว่าการดื่มเหล้าเป็นเรื่องของสังคม และการที่รัฐบาลเปิดเสรีเรื่องสุราพื้นบ้าน ให้ผลิตให้ขายกันได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งการโฆษณาที่ทำให้เห็นว่าการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เป็นเรื่องเท่ ทำให้หลวงพ่อสมานต้องหาแนวร่วมเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยกันยืนหยัดต้านกระแสร้ายให้ได้ โดยได้ เข้าไปพูดคุยกับเจ้าอาวาสวัดต่างๆในตำบลเดียวกันและตำบลใกล้เคียง เพื่อสร้าง สัมพันธ์และจัดกิจกรรมต่างๆร่วมกัน เช่น เมื่อมีการทอดกฐิน ผ้าป่า หรืองานบุญต่างๆ ก็จะมีชาวบ้านจากหลายๆวัดมา ร่วมกัน ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดกระแสการเรียนรู้ในสิ่งที่ดีงามร่วมกัน และพร้อมอก พร้อมใจที่จะประสานพลังร่วมกันในการ สู้กับกระแสร้ายจากภายนอก
“ก็ประสานกับวัดต่างๆ แลกเปลี่ยนกัน ปรึกษาหารือกัน และกับมัคทายกก็มาตกลงกันทำให้วัดเป็นเขตปลอดเหล้า ประกาศให้การจัดงานในวัดไม่ให้มีเหล้า และรณรงค์ให้คนมาจัดงานที่วัด เพื่อประหยัดและสะดวก วัดมีที่มีทางกว้างขวาง มีข้าวของเครื่องใช้ที่จัดงานได้เลย ที่สำคัญคือประหยัดเพราะไม่ต้องเลี้ยงเหล้า” หลวงพ่อสมานกล่าว

สื่อสารผ่านนักเรียน
ในขณะเดียวกัน อีกช่องทางหนึ่งที่หลวงพ่อสมานใช้ในการรณรงค์ทำความ เข้าใจเรื่องพิษภัยของเหล้าก็คือ การสอน ผ่านเด็กนักเรียนในโรงเรียนหลายแห่งที่ท่านได้เข้าไปสอนธรรมศึกษา เพราะเห็นว่าเด็กจะช่วยเป็นสื่อที่ส่งสารไปสู่คน ในครอบครัวของตัวเอง รวมทั้งเพื่อป้อง กันมิให้เยาวชนหันไปหาอบายมุข เพราะปัจจุบันเริ่มมีเยาวชนตั้งแต่อายุ 15-20 ปี หันมากินเหล้ากันมากขึ้น
“ในการสอนเด็กหลวงพ่อจะค่อยสอนสอดแทรก บางทีก็ใช้เพลงธรรมะ เป็นเพลงสมัยนิยมแต่มาดัดแปลงเนื้อสอนธรรมะ หาวิธีสอนให้เด็กสนุกเข้าถึง ธรรมะได้ง่ายๆ”
จากการสอนผ่านเด็กอยู่บ่อยๆนี้ ทำ ให้ครูที่ได้ยินได้ฟังไปด้วยนั้น ก็เริ่มคิดได้ และมีการปรับตัว โดยบางคนก็งดสูบบุหรี่ และเลิกเหล้าไปในเวลาไม่นาน พร้อมๆกับหันมาเป็นแนวร่วมของหลวงพ่อในการรณรงค์เรื่องอบายมุข จนกระทั่งทุกวันนี้หลายโรงเรียนไม่มีเหล้าเลี้ยงเวลามีงานโรงเรียนอีกแล้ว
นอกจากนั้นท่านยังจัดค่ายจริยธรรม ให้กับเด็กๆได้เข้ามาเรียนรู้หลักธรรมให้มากขึ้น รวมทั้งการให้ชาวบ้านมาร่วมกันรักษาศีลอุโบสถในวันพระ และฟังธรรมร่วมกันตลอดเข้าพรรษา เพื่อให้บท บาทของวัดในการพัฒนาคุณธรรมกลับมาเข้มแข็ง ให้ผู้ที่เข้าวัดได้เรียนรู้ว่าจะนำ หลักธรรมไปใช้กับชีวิตประจำวันได้อย่าง ไร เพราะท่านมองว่าปัจจุบันคนเห็นวัดส่วนใหญ่เป็นเพียงสถานที่ทำพิธีกรรมเท่านั้น จึงทำให้คนเบี่ยงเบนจากหลักธรรม ไปติดที่พิธีกรรมอย่างเดียว มาวัดเพื่อมาเอาวัตถุมงคล สะเดาะเคราะห์ ซึ่งจริงๆแล้วพิธีกรรมเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือหลักธรรม ที่พระสงฆ์จะต้องสอนให้ชาวบ้านได้มีหลักธรรมในการพัฒนาจิตใจ

สร้างความยอมรับให้เกิดขึ้น
หลากหลายแนวทางที่ท่านนำมาใช้นั้นนับว่าได้ผลดี แต่เหนืออื่นใดก็คือวิธีการของท่านในการดึงคนมาร่วมมือ หรือร่วมงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เริ่มจาก ค่อยๆสร้างความยอมรับให้เกิดขึ้น โดยงานของวัดที่ทำจะเน้นช่วยเหลือสังคม สงเคราะห์ชุมชน และสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนในด้านต่างๆ เช่น การทำประปา ทำถนนให้หมู่บ้าน ซึ่งท่านจะลงมือทำก่อน หรือทำให้ดูก่อนทุกครั้งไป เมื่อชาว บ้านหรือครูเห็นก็จะเข้ามาร่วมมือด้วย
และด้วยความที่ท่านเป็นพระที่มีความเมตตาสูง ชอบช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้คนอยู่เสมอ เช่น เวลาได้รับนิมนต์ไปไหนก็ตาม ไม่ว่าตามบ้าน โรงเรียน ท่านก็มักจะนำขนม นมกล่อง หรือบางครั้งก็ เป็นสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ไปให้ชาวบ้าน ให้เด็ก ให้ครู และยามที่พระเณรจากวัดที่ขาดแคลนมาที่วัดลองตอง ท่านก็จะจัดหาของใช้ต่างๆให้กลับไปวัดด้วย หรือแม้กระทั่งสิ่งของต่างๆที่มีคนนำมา บริจาคจำนวนมาก และทางวัดเหลือใช้ เช่น หลอดไฟ ที่มีคนแนะนำให้ขายเอาเงินเข้าวัด แต่ท่านก็ไม่ขาย แถมยังจัดส่ง ไปให้โรงเรียน หรือวัดที่ขาดแคลนได้ใช้ ผลจากความเมตตานี่เองที่ทำให้ท่านเป็น ที่เคารพรักใคร่ของชาวบ้าน และพร้อมที่ จะให้ความร่วมมือด้วยดี

พูดย้ำเตือนถึงพิษภัยของสุรา และยาเสพติด
นายกิตติ มัคนายกวัดลองตอง ได้เล่าถึงสภาพก่อนที่จะมีการณรงค์เรื่อง การงดดื่มเหล้าว่าสมัยก่อนกินเหล้า มี 2 อย่าง คือกินเพื่อสังคม อย่างเช่น พอแดด ร่มลมตก มีเพื่อนมาหามีญาติจากต่างบ้านต่างถิ่นมาเยี่ยมก็ต้องต้อนรับ หรือกิน เพื่อสังสรรค์ แต่กินแล้วก็เลิกกันไป แต่ระยะหลังมากินกันเยอะขึ้น ผู้หญิงก็กินเยอะ โดยเฉพาะช่วงที่มีการจัดงานบอลที่วัด เพื่อหาเงินเข้าหมู่บ้าน มีโต๊ะ 100 โต๊ะ แต่ละโต๊ะจะต้องมีเหล้า 1 ขวด น้ำอัดลม กับแกล้ม และก็มีเหล้าเบียร์ขายเสริมเข้ามาอีกนอกเหนือจากที่วางไว้ให้แล้วบนโต๊ะ พวกแม่บ้านก็จะมานั่งเป็นโต๊ะๆ โดยที่โรงเรียนจะทำของขายมีลาบ มีเหล้า มีกับแกล้มอย่างอื่นขายเพิ่มเติม แม่บ้านจะไปช่วยอุดหนุน ถือเป็นการเข้า สังคม ก็เลยกินเหล้ากันเก่ง ทำให้ผัวเมีย บางคู่ทะเลาะกัน เพราะเมียไปเมาในงาน บอล
ส่วนวิธีการรณรงค์เรื่องวัดปลอดเหล้าที่ได้ทำร่วมกับท่านพระครูฯเจ้าอาวาสนั้น นายกิตติบอกว่า
“ผมนำเรื่องสมัยที่หลวงพ่อทอง(เจ้าอาวาสองค์ก่อนซึ่งชาวบ้านนับถือมากและได้หล่อรูปของท่านไว้บูชาที่ศาลาวัดด้วย) ท่านยังมีชีวิตอยู่มาเล่าให้ชาวบ้านฟัง บอกว่าหลวงพ่อทองท่านไม่ชอบคนเมา เห็นคนเมาเมื่อไหร่ท่านจะเอาไม้ตะพดไล่ตี และขอร้องชาวบ้านให้งดเหล้า ในวัด เพราะวัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เราควรเชิดชูไว้ ผมก็จะพูดไปเรื่อยๆเหมือนกับน้ำไหลเรื่อย ให้คิดเอง เก็บไป คิดเอาเอง โดยเฉพาะหน้าเข้าพรรษาจะพูดตลอดพรรษา คือหลังจากที่ท่านพระครูเทศน์เสร็จเราก็พูดต่อ การพูดให้ชาวบ้านฟัง ต้องพูดด้วยเหตุด้วยผล และตรง ไปตรงมา ด้วยความจริงใจ”

จากกลยุทธ์ไม้นวมสู่ไม้แข็ง
ในช่วงรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษานั้น มัคทายกก็ได้งัดกลยุทธ์ของรางวัลเป็นเครื่องล่อ โดยหากใครที่ตั้งใจจะงดเหล้า เข้าพรรษาและได้ลงชื่อไว้ มีผู้ใหญ่บ้าน กำนันรับรอง และสามารถเลิกได้ตลอดพรรษาจริงๆ ทางวัดจะให้ผ้าขาวม้า 1 ผืน และก็จะประกาศยกย่องคนที่งดเหล้าได้ ในช่วงเข้าพรรษา
“เป็นผลดีกับเขาเอง เขาจะได้ลดค่าใช้จ่าย มีเงินไปซื้อข้าวซื้อน้ำซื้ออาหารให้ลูกให้เมียได้”
แต่ก็มีบางครั้งเหมือนกันที่คนที่มาจากหมู่บ้านอื่นมาจัดงานศพ แล้วมีการกินเหล้ากันโดยไม่รู้กฎข้อห้ามของวัด ซึ่งมัคทายกรวมทั้งชาวบ้านก็ต้องเข้าไปพูดคุยให้รู้ว่าวัดนี้ห้ามกินเหล้า ซึ่งที่ผ่านมาก็ ได้รับความร่วมมืออย่างดี
นอกจากนี้ ยังได้มีการเรียกกรรมการ วัดมาประชุมเกี่ยวกับเรื่องไม่ให้มีอบาย-มุข ไม่ให้มีเหล้าภายในวัด และแจ้งกรรมการวัดว่าการจัดงานวัดไม่ให้เบิกเงินค่าเหล้าเวลาเลี้ยงต้อนรับแขก ให้เบิกเฉพาะค่าอาหาร ซึ่งเมื่อขาดเงินที่จะซื้อเหล้ามาเลี้ยงแขก ก็ทำให้งานเลี้ยงงดเหล้าไปโดย ปริยาย
“ที่วัดได้ขึ้นป้ายบอกไว้ว่าไม่ให้มีเหล้า ในวัดในงานต่างๆ ขณะเดียวกันก็ได้แจ้ง ตำรวจที่มาดูแลงานว่า วัดนี้ไม่ให้มีเหล้า หากใครเอาเหล้าเข้ามาก็ให้ดำเนินการได้ เลย”
มัคนายกวัดลองตองบอกว่า การรณรงค์ที่ผ่านมาไม่มีปัญหา และไม่มีคนมาต่อต้านขัดขืน
“ใครมีปัญหาก็บอกให้มาคุยที่บ้านผม ได้เลย ผมไม่กลัวปัญหา เพราะผมทำเพื่อ ส่วนรวม ทำในทางที่ถูก ทำเพื่อให้วัดอยู่ รอด การณรงค์ที่ผ่านมาไม่ยาก เพราะถ้า คิดว่ายากก็ไม่ต้องทำ เราก็ทำของเราไป แต่ไม่ต้องไปคาดหวังว่าจะต้องได้อย่างนั้นๆ ทุกวันนี้ต้องอย่าให้บ้านกับวัดมันสลายก็แล้วกัน เราต้องช่วยกัน”
สำหรับหลักในการทำงานตรงนี้ นายกิตติบอกว่า เอาแต่ความถูกต้อง ไม่เอา แต่ใจตัวเอง ต้องยึดเจ้าอาวาสเป็นหลัก เพราะเมื่อมีผู้นำดี แต่ผู้ตามไม่ดีก็ไปลำบาก จึงต้องเป็นผู้ตามที่ดี
“พระครูสมานท่านเป็นผู้นำที่ดี ท่านอยู่แบบสมถะ เป็นพระที่ปฏิบัติดี นำพระใหม่เณรน้อยสวดมนต์ทำวัตรอยู่ตลอด ชาวบ้านก็เลยสนับสนุนและให้ความร่วม มือด้วยดี”
แม้ว่าทุกวันนี้ วัดลองตองจะเป็นวัดปลอดเหล้าได้แล้ว แต่พระครูจันทสรานุยุต กับมัคนายกก็ยังคงเดินหน้ารณรงค์ ให้ผู้คนในสังคมหมู่บ้านลด ละ เลิก สิ่งเสพติดและของมึนเมาทั้งหลาย รวมทั้งอบายมุขต่างๆ ซึ่งนอกจากจะทำลายตัวเองและครอบครัวแล้ว ยังทำร้ายสังคม และประเทศชาติอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น