นับแต่ตัวอย่างภาพยนตร์แอนิเมชันสามมิติ หรือ หนัง 3D เรื่องแรกของไทย ‘ก้านกล้วย’ ปรากฏแก่สายตาผู้ชม เมื่อเข้าฉายในโรงภาพยนตร์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจและเป็นที่ถูกกล่าวถึงไปทั่วประเทศ เสียงตอบรับที่ผู้ชมมีต่อ ‘ก้านกล้วย’ การันตีได้อย่างดีว่า แอนิเมชันแนวแฟนตาซีดราม่า อิงประวัติศาสตร์ ฝีมือคนไทยที่สร้างสรรค์โดยทีมกันตนา ภายใต้การดูแล ของ ‘อัจฉรา กิจกัญจนาสน์’ โปรดิวเซอร์ ได้กลายเป็นขวัญใจของคนไทยหลายล้านคนไปแล้ว
จากเหตุการณ์จริงของ ‘พระนเรศวรมหาราช’ กษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่และช้างศึกคู่พระทัย ซึ่งถูกบันทึกในพระราชพงศาวดาร ก่อแรงบันดาลใจให้เกิดการสร้างสรรค์เป็นภาพยนตร์เรื่องนี้
เรื่องราวของลูกช้างตัวกลมป้อมสีฟ้าน่ารักน่าชังที่ชื่อ ก้านกล้วย นี้ มีเส้นทางชีวิตน่าสนใจไม่น้อย นับแต่วันถือกำเนิดลืมตาขึ้นดูโลก ด้วยลักษณะอันงดงาม หลังโค้งแป ดังก้านกล้วยนี่เอง ผู้เป็นย่า จึง ตั้งชื่อว่า ‘ก้านกล้วย’ เป็นที่มาของชื่อเสียงเรียงนามเจ้าลูกคชสารตัวน้อย ก้านกล้วยเกิดมาในสมัยราชอาณาจักรอโยธยาอันรุ่งเรือง ซึ่งปกครองด้วยกองทัพอันยิ่งใหญ่ห้าวหาญของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กษัตริย์นักรบผู้เกรียงไกร แต่ใครเลยจะคาดคิดว่า วันหนึ่ง เส้นทางของมหาบุรุษ และคชสารรูปงามจะมาบรรจบกัน ด้วยชะตาลิขิต
ก้านกล้วยเป็นลูกช้างกำพร้าพ่อ มีแม่ช้างชื่อแสงดา คอยดูแลด้วยความรักความเอาใจใส่ กระนั้นด้วยสายใยแห่งสายเลือด ก้านกล้วยก็มักจะคอยถามแม่ถึงเรื่องราวของผู้เป็นพ่อเสมอ แต่แม่มักจะ ปิดบัง ไม่ให้ก้านกล้วยรู้อะไรเกี่ยวกับพ่อ ลูกช้างจึงได้แต่เก็บความสงสัยเอาไว้ การดำเนินเรื่องในภาพยนตร์ชุดนี้ นอกจากชีวิตของก้านกล้วยและครอบครัวในป่าดงพงไพรแล้ว หนังยังแสดงให้เห็นถึงยุคสมัยของราชอาณาจักรอโยธยา ที่ถูกพม่าเข้ารุกรานมากขึ้นเรื่อยๆด้วย ทหารพม่าได้ใช้กำลังเข้าข่มเหงรุกรานผู้คนในราชอาณาจักร ไม่เว้นแม้กระทั่งสิงสาราสัตว์ สร้างความแค้นเคืองให้แก่ชาวบ้าน และเหล่าสัตว์น้อยใหญ่ยิ่งนัก จึงเกิดการตั้งกองกำลังขึ้นมาเพื่อฝึกฝนวิชาการสู้รบ เอาไว้คอยป้องกันภัยจากการรุกรานของข้าศึกเรื่อยมา
เวลาหมุนผ่านไป กระทั่งถึงวันที่เจ้าช้างน้อยก้านกล้วย เติบใหญ่เป็นช้างสารรูปงาม ด้วยความสามารถและความร่วมแรงร่วมใจ เหล่าสัตว์แห่งพงไพรและชาวบ้านก็สามารถขับไล่ทหารพม่าที่เข้ารุกรานออกไปจากหมู่บ้านได้ เมื่อมีพลกำลังเป็นที่เกรงขาม กอปรกับลักษณะดีมีความงดงาม ไม่นาน จากนั้น ก้านกล้วยจึงถูกนำเข้าวัง และเมื่อเดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาด้วยคุณสมบัติอันครบถ้วน ก้านกล้วยจึงได้รับคัดเลือกให้เป็นช้างศึกคู่พระบารมีสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้รับพระราชทานนามว่า ‘พระยาปราบหงสาวดี’ เป็นช้างทรงของจักรพรรดิผู้เกรียงไกร ในการทำศึกยุทธหัตถีครั้งสำคัญ กับพระมหาอุปราชาของพม่า
นอกจากความสนุกสนานที่ได้รับแล้ว จิตใจอันห้าวหาญมุ่งปกป้องชาติบ้านเมืองให้พ้นภัยข้าศึก ความซื่อสัตย์ และความจงรักภักดี รวมทั้งคุณธรรมจริยธรรมอีกมากมาย ก็เป็นอีกสาระสำคัญหนึ่งที่หนังต้องการถ่ายทอดแก่ผู้ชม
‘ก้านกล้วย’ จึงเหมาะสำหรับคนทุกเพศทุกวัย ที่ต้องการร่วมซึมซับและประทับใจกับความดีงามของเจ้าช้างน้อยคู่บารมี
หากพอมีเวลาก็น่าจะแวะเวียนไปชมได้ที่โรงภาพยนต์ทุกแห่งทั่วประเทศ