xs
xsm
sm
md
lg

นิตไตจิ วัดแห่งความสัมพันธ์ ‘ไทย-ญี่ปุ่น’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วัดนิตไตจิ (Nittaiji) เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นวัดที่จารึกประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่นให้กระชับแน่นมากว่าร้อยปีแล้ว
วัดนี้มีชื่อเต็มว่า คาคูโอ-ซาน นิตไตจิ (Kakuo-san Nittaiji) ถือเป็นวัดแรกที่เป็นศูนย์รวมของทุกนิกายในญี่ปุ่น ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2447 ตามประวัติกล่าวว่า พระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐาน ณ วัดแห่งนี้มีที่มาที่สำคัญต่อประวัติศาสตร์อย่างมาก โดยมีการจารึกไว้ว่าใน พ.ศ.2441 ที่เมือง ปีปราวาห์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายแดนระหว่างทิศเหนือของประเทศอินเดียใกล้กับประเทศเนปาล ได้มีการขุดสำรวจสถูปเก่า ระหว่างนั้น หนุ่มชาวอังกฤษชื่อ William C. Peppe ได้พบผอบบรรจุกระดูกของมนุษย์ ซึ่งด้านข้างของผอบใบนี้ได้มีจารึกภาษาอินเดียโบราณในช่วงก่อนศตวรรษที่ 3
เมื่อเขาได้ถอดข้อความทั้งหมดอย่างสมบูรณ์ก็ได้ประจักษ์ว่าเขาได้ค้นพบสิ่งที่ยิ่งใหญ่สำหรับชาวพุทธทั่วโลก นั่นก็คือ พระบรมสารีริกธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า การค้นพบครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดทางด้านประวัติศาสตร์ของชนชาติตะวันออก เพราะนั่นคือหลักฐานชิ้นสำคัญในการยืนยันว่าพระพุทธเจ้ามีจริงตามประวัติศาสตร์
รัฐบาลอินเดียได้ตระหนักถึงความเคารพ เลื่อมใส ศรัทธาของชาวพุทธในประเทศไทยที่มีต่อพระบรมสารีริกธาตุ จึงได้ถวายพระบรมสารีริกธาตุองค์นี้ให้กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5) ซึ่งพระองค์โปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่ภูเขาทอง วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร
ต่อมาใน พ.ศ.2443 รัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งมีความศรัทธาใน พุทธศาสนาอย่างมาก ได้ขอพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุองค์ดังกล่าวจากรัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุบางส่วนให้ เพื่อเป็นมิ่งขวัญแก่ชาวพุทธในญี่ปุ่น โดยได้เสด็จมาพระราชทานด้วยพระองค์เอง ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และได้พระราชทานพระพุทธรูปสำริดอายุกว่าหนึ่งพันปีให้ด้วย
รัฐบาลญี่ปุ่นรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ จึงดำริ ที่จะสร้างวัดขึ้นใหม่เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริก-ธาตุ และเห็นว่าวัดแห่งใหม่ควรสร้างขึ้นในเมืองนาโกย่า ด้วยเหตุผลว่าประชาชนในเมืองนี้มีความนับถือและ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง และตั้งชื่อวัดนี้ว่า ‘Nittaiji’ ซึ่งคำว่า ‘Ni’ มาจากคำว่า Japan ‘TAi’ มาจาก คำว่า Thailand และ ‘Ji’ แปลว่า Temple หรือวัด และได้สร้างสถูปหินแกรนิตสูงกว่า 15 เมตร ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
ต่อมา ใน พ.ศ.2506 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ และได้เสด็จฯเยี่ยมวัดนิตไตจิด้วย ทรงร่วมในพิธีปลูกต้นราชพฤกษ์สองต้นไว้เป็น อนุสรณ์ในบริเวณลานพระอุโบสถ
ครั้นถึงปี พ.ศ.2527 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้บูรณะพระอุโบสถ และได้พระราชทานพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งให้กับวัด เมื่อ พ.ศ.2532 เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในวิหาร พร้อมทั้งได้พระราชทานป้ายจารึก พระพุทธศากยมุนี และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ ใช้พระปรมาภิไธยย่อ จปร. และ ภปร. บนป้ายจารึก
และในโอกาสที่มีการฉลองครบรอบ 100 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ.2530 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธี เปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งวัดแห่งนี้ได้สร้างขึ้นไว้ ณ บริเวณหน้าพระวิหาร
สถาปัตยกรรมของวัดค่อนข้างสมัยใหม่ ภายนอกของ อาคารต่างๆ เป็นศิลปะสไตล์ญี่ปุ่น แต่ภายในอาคารเป็น การตกแต่งสไตล์ไทยๆ และมีบรรยากาศที่สงบเงียบ วัดนิตไตจิจึงอบอวลไปด้วยมิตรภาพอันงดงามระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ที่ดำรงอยู่มาช้านานและจะคงอยู่ตลอดไป





กำลังโหลดความคิดเห็น