ช่วงวันว่าง หลายคนคงมองหากิจกรรมสร้างความผ่อนคลาย ปฐมฤกษ์คอลัมน์ ‘มุมสบาย’ ขอเบิกทางสร้างความผ่อนคลายในรูปแบบไลฟ์สไตล์ ด้วยการเลี้ยง บัว ดอกไม้ที่ผูกพันกับวิถีพุทธมายาวนาน เป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ คุณงามความ ดีที่เกี่ยวพันกับความเลื่อมใสศรัทธา จนกลายเป็นสิ่งที่ตกหล่นไปไม่ได้...เมื่อเข้าสู่ความเป็นพุทธศาสนา
เสน่ห์แห่งบัว
ดอกไม้แต่ละชนิดมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดดเด่นในแบบของตัวเอง ด้วยช่อดอก สี กลิ่น และใบ แต่ในวิถีของชาวพุทธ ‘บัว’ กลับมีคุณค่ายิ่งกว่านั้น เพราะสะท้อนถึงลักษณะคนที่พระพุทธเจ้าเปรียบเทียบกับบัว 4 เหล่า และบัวยังเป็นเครื่องแสดงถึงความเคารพบูชาด้วย
ด้วยคุณสมบัติที่เพียบพร้อมจากความงามตามธรรมชาติ ประกอบกับคุณค่าทางจิตใจที่พันธุ์ไม้ชนิดนี้มีต่อผู้คน จึงทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยหันมานิยมปลูก‘บัว-ราชินีแห่งไม้น้ำ’ กันมากขึ้น จนแหล่งซื้อขายบัว ก็พลอยคึกคักตามไปด้วย คำยืนยันจาก ‘เรียน’ อาทิตยา บุญส่ง แม่ค้าขายต้นไม้ร้านกิ่งกมล ตลาดต้นไม้เทเวศน์ กทม.
“ปัจจุบันการซื้อขายบัวกระถางตามร้านค้าปลีก ที่ตลาดเทเวศน์ เริ่มต้นที่กระถางละ 40 บาทไปจนถึงหลักพัน มีทั้ง บัวหลวง บัวสาย บัวกระด้ง(วิคตอเรีย) ยิ่งช่อดอกมีสีสันสวยแปลกตาไปจากสีทั่วไป ราคาก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย แหล่งซื้อขายบัวใหญ่ๆ จะอยู่ที่ตลาดนัดต้นไม้จตุจักร เปิดขาย 24 ชั่วโมง ทุกวันพุธ-พฤหัส และอีกแหล่งที่มีนานาพันธุ์ดอก บัวให้เลือก คือสองข้างทางตลอดแนวของถนนกาญจนาภิเษก ช่วงจากอำเภอบางใหญ่ถึงแยกที่ตัดกับถนนบรมราชชนนี มีร้านขายบัว ไม้น้ำ และไม้ประดับอื่นๆ ที่ราคาสามารถตกลง กันได้”
นอกจากนี้ ‘เรียน’ ยังแนะนำถึงการปลูกบัว ไม้น้ำที่ต้อง การความเอาใจใส่อย่างสูง ด้วย 3 สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ แสง วัชพืช และการให้ปุ๋ย
“เพราะแสงแดด จำเป็นมากต่อพืชน้ำ ช่วยให้ใบปล่อยออกซิเจนออกมาสร้างสมดุลให้กับน้ำ ส่วนพวก แหน ตะไคร่น้ำ หรือหนอนต่างๆ ที่คอยรบกวนนั้น การหมั่นสอดส่องด้วยสายตาและใช้มือหยิบออกจะเป็นวิธีที่ดีกว่าใช้ยาฆ่าแมลง เพราะศัตรูพวกนี้มาเองตามธรรมชาติอยู่แล้ว ทำยังไงก็ไม่หมด แต่สำหรับการให้ปุ๋ยควรใช้สูตรทั่วไปที่เน้นเร่งดอก ให้เพียงเดือนละ 2 ครั้งก็พอแล้ว”
ปลูกบัว..ไม่ยากอย่างที่คิด
จากคำบอกเล่าข้างต้น การปลูกบัวคงไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด สามารถรวบใจความสำคัญของการปลูกให้มือสมัครเล่นได้ลองเลี้ยงบัวกระถางหลากสีไว้เชยชมไปได้อีกนาน... แต่ก่อนอื่นต้องไม่ลืมว่า การปลูกต้นไม้ คือ การให้ความเอาใจใส่ หมั่นเดินไปเยี่ยมดูต้นไม้ ที่ปลูกทุกวัน เพราะหากขาดสิ่งเบื้องต้นเหล่านี้ไป ก็คงเป็นการยากที่จะเลี้ยงบัวให้ยอมออก ดอกกันตลอดปี
เริ่มที่การเลือกสถานที่ปลูกบัว เมื่อคิดจะเลี้ยงบัว ต้องทำความรู้จักกับบัวที่จะนำมาปลูกเสียก่อนว่าเป็นพันธุ์อะไร ต้องการที่อยู่แบบไหน ใส่น้ำลึกเท่าไหร่ ซึ่งเกณฑ์กลางๆ ของการเตรียมกระถางปลูกบัว โดยทั่วไปควรบรรจุดินได้ ไม่ต่ำกว่า 1 ลูกบาศก์ฟุต ขนาดบรรจุดินปลูกจะใหญ่เล็ก แค่ไหน ขึ้นอยู่กับความต้องการของบัวแต่ละพันธุ์ เพราะถ้าเป็นบัวหลวง บัวฝรั่ง ที่เติบโตในแนวนอน กระถางปลูก ควรมีหน้ากว้างๆ เข้าไว้ ตรงกันข้ามกับบัวผันบัวเผื่อนและบัวสาย ที่เติบโตในแนวดิ่ง ก็ควรปลูกในกระถางทรงสูงจะเข้าท่ากว่า
ความเอาใจใส่ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบัว การปลูกบัวไม่ใช่เพียงการเอาต้นบัวใส่ดินแล้วเทน้ำลงไป แต่บัวกลับต้องการความเอาใจใส่อย่างพอดีๆ ไม่มากหรือน้อย จนเกินไป ขอให้ระวังเรื่องน้ำเป็นสำคัญ เพราะน้ำเสียเป็น สาเหตุหลัก ทำให้บัวไม่สบาย ล้มตายมานักต่อนักแล้ว เนื่องจากปล่อยให้ใบแก่และกลีบดอกที่ร่วงโรยทิ้งซากอยู่ในกระถางบัว ไม่เพียงเท่านั้น...การหมั่นเปลี่ยนดิน คอยรื้อเหง้าบัวที่ตายแล้วออกจากกระถาง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงตายให้บัวได้เช่นกัน
ถึงแม้จะย้ำว่า ต้องเอาใจใส่แบบพอดี แต่บางคนก็ยังเลือกรักบัวมากไป เร่งให้ปุ๋ยเกิน กว่าที่บัวจะกินหมด แทนที่จะเป็นประโยชน์ตามที่ตั้งใจ กลับกลายเป็นอาหารให้ไม้น้ำอื่นๆ ที่เจริญเร็วกว่าบัว ซึ่งนอกจากจะแย่งออกซิเจนไปจากบัวแล้ว เมื่อวัชพืชเหล่านี้แก่ตายก็จะทำให้น้ำเน่าเสียอีกด้วย และหากฝันร้ายนี้เกิดขึ้นจริงกับต้นบัวกระถางของเรา ทางแก้ ที่ปลอดภัยที่สุด คือ การใช้ด่างทับทิมละลายในน้ำปลูกบัว ทิ้งไว้ 2-3 วัน แล้วใช้ท่อยาง ดูดน้ำเก่าออกเพียงบางส่วนเพื่อรักษาสภาพ (ช่วยให้บัวปรับตัวได้ดีขึ้น) ก่อนการเติมน้ำ ใหม่ลงไป
อย่า! ปล่อยให้บัวอด อาหารของบัว คือ ปุ๋ย การใช้ปุ๋ยสูตรสมดุลหรือชนิดเร่งดอกก็เพียงพอแล้วสำหรับบัวกระถาง ห่อปุ๋ยด้วยกระดาษ 2 ชั้นแล้วอัดใต้ต้นบัวลึก 3-4 นิ้ว ก็จะช่วยสร้างความอิ่มให้กับบัวได้ แต่สำหรับความถี่-ห่างในการให้ปุ๋ย ผู้เลี้ยงบัวต้องพิจารณาว่าควรทิ้งช่วงนานเท่าไหร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของการ ปลูกที่เจ้าของต้องหมั่นสังเกต
ป้องกันและปราบศัตรูตัวฉกาจ ศัตรูหมายเลขหนึ่งของบัวนอกจาก หนอน เพลี้ย หอย และพืชน้ำตามธรรมชาติในระบบนิเวศน์แล้ว การเลี้ยงบัวตามใจผู้ปลูกจนหลงลืมคิดถึงความต้องการของบัว ก็เป็นภัยเงียบต่อบัวกระถางที่ยากจะควบคุม หากผู้เลี้ยงยังชอบตามใจตัวเองเป็น ใหญ่ เช่น การปล่อยปลาลงไปเลี้ยงในกระถางบัว เพราะปลาพวกนี้ มักใช้ปากขุดคุ้ยหาอาหาร ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับบัวและทำให้เกิดน้ำเสียได้เร็วขึ้น แต่ถ้าความชอบตรงนี้ไม่อาจห้ามได้ วิธีแก้ง่ายๆ ที่อยากแนะนำ คือให้โรยหินหรือทรายกลบหน้าดิน เพื่อป้องกันน้ำเสียที่เกิดจากการคุ้ยดินของปลา
ฤดูกาลที่ไม่อาจมองข้าม แม้ฤดูกาลที่ผันเปลี่ยนจะเป็นของต้องห้าม ไม่อาจบังคับให้ เป็นไปตามใจเราได้ ซึ่งอุณหภูมิที่ลดลงตามฤดูกาลจะส่งผลกระทบกับวงจรชีวิตของบัว โดยเฉพาะในหน้าหนาว บัวจะพากันสลัดใบทิ้ง พักการเติบโต และลดการคายออกซิเจน จากการปรุงอาหารของใบ ทำให้สภาพสมดุลของน้ำเปลี่ยนไป สภาพนี้ถือเป็นภาวะเสี่ยงต่อบัวอย่างมาก ผู้เลี้ยงจะต้องเอาใจใส่เรื่องน้ำเสียเป็นพิเศษ หรืออาจจะเลียนแบบการปลูก บัวในเมืองหนาว ที่ใช้วิธีเก็บหน่อหรือหัวบัว(ที่สลัดใบทิ้งไป แล้ว) เข้าตู้เย็นที่ อุณหภูมิ 5-10 องศาเซลเซียส พอพ้นช่วงหนาวไปแล้ว จึงเอาออกมาปลูกใหม่
หลักเบื้องต้นทั้งหมดนี้ หากผู้เลี้ยงบัวหมั่นเอาใจใส่อย่างไม่บกพร่องอยู่เสมอ การเลี้ยงบัวให้งอกงามก็เป็นเรื่อง แค่เอื้อม ภายในเวลา 3 เดือน ราชินีแห่งไม้น้ำก็จะยอมออก ดอกให้ได้ชื่นชมสมกับที่รอคอย