xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก:หากเป็นอารมณ์ในฝ่ายรูปธรรมจะต้องรู้ลงอย่างเป็นปัจจุบัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

2. ความสุดโต่งในข้างตามใจกิเลส

เรามาพูดกันถึงเรื่องความสุดโต่งอย่างแรก คือ ความสุดโต่งในด้านการพัวพันด้วยกามสุขเสียก่อน ทางนี้เป็นวิธีหาความสุขหรือหนีความทุกข์ ที่ธรรมดาที่สุด กระทั่งสัตว์ต่างๆ ก็รู้จักหาความสุขด้วยวิธีนี้ ความคิดพื้นฐานของวิธีการนี้ก็คือ หากเราได้รับอารมณ์ที่ดีเราจะมีความสุข แต่หากได้รับอารมณ์ที่ไม่ดีเราจะมีความทุกข์ มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายจึงวิ่งหาแต่อารมณ์ที่ดี และพยายามหลีกหนีจากอารมณ์ที่ไม่ดี

อารมณ์ที่ดีได้แก่อารมณ์ที่น่าชอบใจ เช่นรูปที่สวยงามหรือรูปของสิ่งที่เรารัก เสียงที่เพราะหรือ เสียงที่เราพอใจเช่นเสียงของคนที่รักหรือเสียงยกย่องสรรเสริญ กลิ่นที่หอมหรือกลิ่นที่ชอบใจ รส ที่อร่อยหรือรสที่ชอบใจ สัมผัสที่นุ่มนวลหรือถูกอก ถูกใจ ทั้งนี้รวมไปถึงความคิดนึกในเรื่องที่พึงพอใจ ด้วย เช่นคนที่อายุมากได้คิดถึงความหลังแล้วพอใจ ส่วนเด็กวัยรุ่นได้ฝันถึงอนาคตแล้วพอใจเป็นต้น ทั้งนี้ อารมณ์ที่ดีของคนคนหนึ่ง อาจจะเป็นอารมณ์ ที่เลวของอีกคนหนึ่งก็ได้

ถ้าใครได้อารมณ์ที่น่าเพลิดเพลินพอใจก็จะมี ความสุข แต่ถ้าไม่ได้ ก็จะมีความทุกข์ และเมื่อมีความสุข ราคะก็มักจะแทรกตัวเข้ามาคือเกิดความ พึงพอใจในอารมณ์และความสุขนั้น เมื่อมีความทุกข์ โทสะก็จะแทรกตัวเข้ามาคือเกิดความไม่พอใจ ในอารมณ์และความทุกข์นั้น ดังนั้นวิธีหาความสุข หรือหนีความทุกข์ด้วยการเที่ยวแสวงหาอารมณ์ที่ดี และหนีอารมณ์ที่ไม่ดี จึงเป็นความสุดโต่งไปในข้าง การสนองกิเลส การตามใจกิเลส และทำให้เราเดินทางสายกลางไม่ได้

ถึงตรงนี้ขอกล่าวถึงทางสายกลางไว้เสียเลยว่า ทางสายกลางอันเป็นข้อปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนั้น ได้แก่ การเจริญวิปัสสนา หรือการมีสติตามรู้รูปนามหรือกายใจของ ตนตามความเป็นจริงนั่นเอง

อารมณ์รูปนามเป็นอารมณ์ชนิดที่เรียกว่าอารมณ์ปรมัตถ์ คือเป็นอารมณ์ที่มีอยู่จริงๆ ตรงข้ามกับอารมณ์อีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่าอารมณ์บัญญัติ อันได้แก่เรื่องที่คิดนึกปรุงแต่งขึ้นเอง ยกตัวอย่างเช่นสีที่เราเห็นอยู่ตรงหน้าเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ การตีความสีนั้นว่าเป็นรูปผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก ผู้ใหญ่ คน สัตว์ สิ่งของ ฯลฯ เป็นสิ่งที่สมมติ บัญญัติกันขึ้นเพื่อสื่อความเข้าใจกันในชนกลุ่มต่างๆ ซึ่งบัญญัติออกมาแตกต่างกันไปได้ หรือเสียง ที่หูได้ยินเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ การตีความเสียงนั้นว่าเสียงผู้หญิง เสียงผู้ชาย เสียงลมพัด เสียงสุนัขเห่า เสียงนกร้อง ถ้อยคำนั้นสุภาพ ถ้อยคำนี้ไม่สุภาพ ฯลฯ เป็นสมมติ-บัญญัติ ความรู้สึกทางใจเช่นความโกรธ ความโลภ ความหดหู่ เป็นอารมณ์ ปรมัตถ์ การเรียกขานว่านี่คือความโกรธ นี่คือความ โลภ นี่คือความหดหู่ เป็นอารมณ์บัญญัติ คือคนแต่ละชาติแต่ละภาษาก็บัญญัติเรียกขานแตกต่างกันออกไป ทั้งที่เป็นความรู้สึกอย่างเดียวกัน เป็นต้น

การเจริญวิปัสสนานั้นต้องมีสติระลึกรู้อารมณ์ปรมัตถ์ หากเป็นอารมณ์ในฝ่ายรูปธรรมจะต้องรู้ลงอย่างเป็นปัจจุบัน แต่หากเป็นอารมณ์ ในฝ่ายนามธรรมเช่นความรู้สึกต่างๆ จะต้องตามรู้ คืออารมณ์นั้นเกิดขึ้นก่อนจึงค่อยรู้ในภายหลัง แต่เป็นภายหลังที่กระชั้นชิดโดยไม่มีอารมณ์ อย่าง อื่นมาคั่นเสียก่อน เมื่อรู้อารมณ์ปรมัตถ์แล้ว อารมณ์ปรมัตถ์จะแสดงความจริงคือไตรลักษณ์ให้ดู การรู้ความจริงของรูปนามนี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่าวิปัสสนาปัญญา เมื่อจิตรู้ความจริงแล้วว่ารูปนามไม่เที่ยง หรือเป็นทุกข์ หรือเป็นอนัตตาแล้ว จิตจะปล่อยวางความถือมั่นในรูปนาม ซึ่งก็คือการ ปล่อยวางก้อนทุกข์ลงได้นั่นเอง เพราะรูปนามนั่นแหละคือตัวทุกข์ตามนัยของอริยสัจจ์ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้

เมื่อใดจิตของเราสุดโต่งไปในข้างวิ่งตามกิเลส เสียแล้ว เราจะตามรู้กายหรือตามรู้ใจของตนเองอันเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ภายในไม่ได้ และแม้แต่อารมณ์ปรมัตถ์อันเป็นอายตนะภายนอกอันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์ก็เห็น ไม่ได้ จะเห็นได้ก็เฉพาะอารมณ์บัญญัติเท่านั้น เช่น เราเห็น 'คน' เดินมา เราได้ฟังเสียง 'นก' ร้อง เรา ได้กลิ่น 'ดอกมะลิ' เรารู้รส 'ก๋วยเตี๋ยว' เท้าของเรากระทบ 'ก้อนหิน' และเราคิดถึง 'เพื่อน' เป็นต้น ทั้งนี้เพราะเมื่อเกิดอยากได้อารมณ์ที่ดีทางตาหรืออยากดู จิตก็จะส่งออกไปดูแล้วลืมรูปนามหรือกายใจของตนเอง เมื่ออยากฟัง จิตก็ส่งไปฟังแล้ว ลืมรูปนามหรือกายใจของตนเอง และเมื่ออยากรู้เรื่องจิตก็กระโจนเข้าไปในโลกของความคิด ไปรู้เรื่องที่คิด แล้วลืมรูปนามหรือกายใจของตนเอง เป็นต้น เมื่อใดลืมกายลืมใจของตนเอง เอาแต่รู้อารมณ์บัญญัติที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เมื่อนั้นเราก็ไม่สามารถเจริญวิปัสสนาอันเป็นทางสายกลางได้

อย่างไรก็ตามการรู้อารมณ์ภายนอกนั้น หาก มีสติปัญญารู้ลักษณะของรูปนามภายนอก ไม่ไปหลงอยู่เพียงบัญญัติ ก็เป็นทางเจริญวิปัสสนาได้เช่นกัน เพราะจะเห็นโลกภายนอกเป็นความว่างเปล่า ปราศจากสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา แล้วจึงค่อย เห็นรูปนามภายในหรือกายใจของตนเป็นความว่างเปล่าในภายหลัง อย่างนี้ก็สามารถกระทำได้ เพียงแต่อ้อมค้อมมากไปสักหน่อย เพราะสิ่งที่เรายึดถือว่าเป็นตัวตนของเราอย่างเหนียวแน่นนั้น ได้แก่กายใจของตนนี้เอง ไม่ใช่สิ่งภายนอกซึ่งถึงจะยึดถือก็ไม่มากเท่ากับความยึดถือตนเอง

อนึ่งเรื่องวิปัสสนา เรื่องอารมณ์ปรมัตถ์ และอารมณ์บัญญัติที่กล่าวมานี้ หากเพื่อนนักปฏิบัติยังไม่เข้าใจก็ขอให้กลับไปอ่านหนังสือ ประทีปส่องธรรม ที่เคยแจกให้เพื่อนนักปฏิบัติได้อ่านมาก่อนหน้านี้แล้ว

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/
ความสุดโต่งในข้างการบังคับกดข่มตนเอง)
กำลังโหลดความคิดเห็น